Reborn Yasothon 05082022

ปศุสัตว์แจงประกาศหลังเว้นวรรค....กลับมาเลี้ยงใหม่ สอดรับระบบไบโอแบบประหยัดฟาร์มหมูเล็กกลางย่อยทั่วไทยเริ่มต้นขั้นต่ำ GFM

สิงหาคม 2565 ยโสธร – การสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดยโสธร เกษตรกร 230 รายร่วมงาน เป็นภาพการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่รัฐบาลเร่งส่งเสริม สอดรับกับประกาศกรมปศุสัตว์เกณฑ์การกลับมาเลี้ยงใหม่กับฟาร์มในทุกขนาดที่ต้องเริ่มต้นกับมาตรฐานฟาร์มเท่านั้น โดยขั้นต่ำที่ GFM  

              การสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดยโสธร ที่ดำเนินการร่วมจัดโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนที่รัฐบาลเร่งส่งเสริม ที่เป็นรากฐานทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง หลังการสนับสนุนทั้งปศุสัตว์และพาณิชย์จังหวัด และวิทยากรตรงกับการจัดการฟาร์มหลังการเผชิญกับโรคร้ายแรงในสุกร หรือแม้แต่การจะเลี้ยงใหม่ในปัจจุบัน กับ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ต้องเข้มงวด

              ในจังหวัดมีฟาร์มที่ถือว่าเป็นฟาร์มรายย่อยต้นแบบที่ดีของ คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ เจ้าของและผู้จัดการฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต ที่สามารถเป็นทั้งต้นแบบให้ฟาร์มรายย่อยในจังหวัด และทั้งประเทศ  โดยมีแนวทางปฏิบัติตามประกาศกรมปศุสัตว์กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ พ.ศ.2565

              การสัมมนาเริ่มจากเลขาธิการชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ จาก ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต กล่าวรายงาน  น.สพ.อภิชาติ ภวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธรที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานสัมมนา โดยท่านปศุสัตว์จังหวัดได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Pig Sandbox ที่เริ่มในพื้นที่นำร่องเขต 5ไปแล้วตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2565สิ้นสุด 4 พฤษภาคม2566 โดยจะมีการเริ่มต้นในเขต 2,8,9 และเขต 7 ในจังหวัดราชบุรีในลำดับต่อไป โดยการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยจากนี้ไปจะมีมาตรฐานชัดเจน ตั้งแต่ GFM GAP หรือเลี้ยงในระบบ Compartment โดยกรมปศุสัตว์เตรียมออกประกาศกรมปศุสัตว์กำหนดเกณฑ์การกลับมาเลี้ยงใหม่ของสุกร ตามภาพประกอบ สรุป Check list และร่างประกาศดังนี้

 

              คุณอลเวง ศรีหิรัญ พาณิชย์จังหวัดยโสธร ได้กล่าวถึงการดูแลการผลิต การค้าและการบริโภคของจังหวัดให้เป็นไปตามกลไกลของตลาดกับสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมู ไก่ ไข่  โดยติดตามการซื้อขายสุกรขุนหน้าฟาร์ม การค้าปลีกเนื้อสุกรทั้งห้างค้าปลีก และตลาดสด ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับการดูแลตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค ตามอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย จะมีการหารือเป็นระยะโดยกรมการค้าภายในและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  โดยได้กล่าวถึงการดูแลผู้บริโภคในจังหวัดผ่านโครงการพาณิชย์ลดราคา ที่มีกลุ่มสินค้าราคาพิเศษออกมาเป็นระยะ

              ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ให้มุมมองที่เพิ่มเติมจากระบบ Bio Security ที่เป็นทางรอดหลักกับแนวทางที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว ที่พลั้งเผลอไม่ได้เลย โดยให้มุมมองการให้สารเสริมชนิดต่างๆ และการคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านโรคได้ดี เพราะวัคซีนในอนาคตที่อาจมาจากทั้ง เวกเตอร์วัคซีน หรือ วัคซีนรีคอมบิแนนท์ ที่ตั้งต้นจากการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัส
              ถึงแม้ในอนาคตจะมีวัคซีน การต่อสู้กับ ASF ต้องใช้หลายอย่างรวมกันต่อสู้ โดยอาจารย์คัมภีร์มองว่าปลายปี 2567 อุตสาหกรรมสุกรไทยจะกลับมาเป็นปกติ จากธุรกิจที่เกี่ยงข้องหายไป 30-40%

               บทสรุป 3 ด้าน ใจความสำคัญประกอบด้วย

  1. การใช้วัคซีนที่เป็นทางเลือกในอนาคต และยังสามารถใช้ร่วมกับสูตรผสมตามข้อ 2 ได้  โดยวัคซีนจะเป็นใน 2 ลักษณะคือ เวกเตอร์วัคซีน และ วัคซีนรีคอมบิแนนท์
  2. การใช้สูตรผสมของสารเสริมต่างๆ เช่น วาโลซิน ที่สามารถต้านไวรัสได้ โดยผสมผสานกับ Fatty Acid และโมโนกลีเซอไรด์   และการใช้ Probiotics สู้ ASF กับบางฟาร์มดำเนินอยู่และประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยผลการให้อาหารกลุ่ม Fatty Acid และ Probiotics ที่มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับค่ายาสามารถเสริมคุณภาพการเลี้ยงได้  โดยสูตร Combination สามารถทำให้การตรวจเลือดสุกรเป็นลบได้
  3. ระบบ Bio Security ยังคงเป็นทางรอดหลัก

              ผศ.น.สพ.คัมภีร์ เน้นย้ำว่าตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงเอง คือ หนทางสร้างความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่การนำเข้าสุกรแช่แข็ง 

 

              คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต คุณอุดมศักดิ์มุ่งเน้นไปในเรื่องของความเสี่ยงในฟาร์มเกษตรกรรายย่อย โดยมี 3 กลุ่มที่สามารถสร้างความเสี่ยง ประกอบด้วย 1) เกษตรกรเอง 2) พ่อค้าและเขียงสุกร 3) กลุ่มจำหน่ายอาหารสัตว์  โดยความเสี่ยงสำหรับฟาร์มรายย่อยเองจะมี   5 จุดอ่อน จุดตายของรายย่อย ประกอบด้วย
จุดอ่อนที่ 1 รายย่อยขายหมูในฟาร์ม ไม่มีอุปกรณ์การขาย ปล่อยให้พ่อค้าเป็นคนดำเนินการเอง
จุดอ่อนที่ 2 รายย่อยซื้อหมูทดแทน ไม่มีคอกกักระยะฟักตัวยาว จะเป็นปัญหาในการทดแทนหมู
จุดอ่อนที่ 3 รายย่อยต้องพึ่งพาหมอรักษาหมูป่วยจากคนภายนอก มีโอกาสนำเชื้อมาสัมผัสหมูสูง

จุดอ่อนที่ 4 รายย่อยไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีคนเฝ้า คนนอก พ่อค้า เข้ามาคอกหมูได้ตลอดเวลา

จุดอ่อนที่ 5 รายย่อยมักขาดความตระหนักเข้าใจอย่างจริงจังว่าต้องทำ BioSecurity ขนาดไหนอย่างไรจึงจะ รอดพ้นจาก ASF

              ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงรายย่อย ที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ จากการบรรยายของคุณอุดมศักดิ์ก็คือ ในเรื่องของการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เหมาะกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เช่น รองเท้า 3 คู่สู้ ASFที่หน้าฟาร์มนอกพิกโซน คู่ที่ 2 รองเท้าในบริเวณฟาร์มจุ่มยาฆ่าเชื้อใส่เฉพาะในบริเวณฟาร์ม  คู่ที่ 3 รองเท้าเฉพาะในโรงเรือนใส่ทำงานภายในโรงเรือนเท่านั้น  ทำงานเสร็จจะกลับบ้านถอดรองเท้า ย้อนกลับคู่ที่ 3 ถึงคู่ที่ 1 ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับรถขนหมูภายในฟาร์มที่จะขนถ่ายสุกรไปตามจุดต่างๆ ที่ไม่ให้สัมผัสกันและแยกตามส่วนต่างๆ ของงานในฟาร์ม
              อีกส่วนหนึ่งก็เป็นในเรื่องของฟาร์มเปิดในระบบปิด  ซึ่งมีการใช้มุ้งเขียวกั้นป้องกันแมลงและสัตว์ที่เคลื่อนย้ายตัวจากที่อื่น  เพื่อไม่ให้มีการเข้ามาในฟาร์มที่จะเป็นสาเหตุของการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม  และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในเล้า  เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดก็จะต่อด้ามให้ยาว  โดยเน้นให้คนห่างจากตัวหมูมากที่สุดไม่ให้สัมผัสตัวหมู

              คุณอุดมศักดิ์ ย้ำว่า ASF เป็นโรคที่กลัวคนรู้ทัน กลัวการเอาจริงเอาจัง พิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วน โดย ASF จะมาเปลี่ยนรูปแบบ “การเลี้ยงหมูแบบเดิมๆ”  สามารถสรุปแนวทางเข้มงวดให้ฟาร์มต้อง ปิด-เปิด-ปรับ-เปลี่ยน ดังนี้

  • ปิด - ปิดประตูฟาร์ม ปิดประตูคอกและบริเวณคอกให้มิดชิด ปิดรับปัจจัยเสี่ยงและปิดจุดอ่อน เลี้ยงระบบปิด การปิดฝูง
  • เปิด - เปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับข่าวสาร วิชาการ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • ปรับ - ปรับรูปแบบการเลี้ยงรางแยก ลดการสัมผัสหมู ลดมื้ออาหาร ลดการเข้าคอกหมู ลดกิจกรรมกับหมู หรือลดการขายหมูบ่อยๆ
  • เปลี่ยน - เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง AI เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง ผสมพันธุ์เอง ทำคลอดเอง ฉีดยาเอง ตอนหมูเอง จับหมูขายเอง(พ่อค้ารอจ่ายเงิน)

สพ.ญ.สุภัทรศร ฉัตรศิริยิ่งยง ผู้ชำนาญการ บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่ถือว่ามาจากกลุ่มบริษัทที่เป็นพี่ใหญ่สุดของวงการสุกรไทย ที่นำเสนอแนวทางความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มที่สามารถเป็นต้นแบบกับฟาร์มในทุกระดับ  การที่จะเริ่มใหม่การทำความสะอาดโรงเรือนจะต้องมีระยะพัก และใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นระยะ การเลี้ยงใหม่แนะนำให้ใช้ระบบ Sentinel หรือการใช้สุกรปลอดโรคเข้าเลี้ยงที่ 10% ของความจุปกติของฟาร์มก่อน งดรถขนส่งทุกประเภทเข้าฟาร์ม แยกฟาร์มขายออก โดยการจัดการทั่วไปด้านคนงานในฟาร์มจะมีลักษณะเดียวกันกับวิทยากรท่านอื่นๆ โดยเพิ่มเติม Farm Quarantine เพื่อปล่อยเวลาคัดกรองการปลอดเชื้อเพื่อให้มั่นใจการปลอดเชื้อก่อนเข้าฟาร์มขุน ฟาร์มแม่พันธุ์

              จากการสัมมนาครั้งที่ 9 ถือได้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงที่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่สามารถสร้างอนาคตใหม่ให้ผู้เลี้ยงสุกรได้อย่างจริงจัง

              สัมมนาสัญจร ครั้งที่ 10 ครั้งสุดท้าย จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่จังหวัดมุกดาหาร  ซึ่งทั้งโครงการได้มีการให้ความรู้รวม 10 จังหวัด ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการกลับมาเลี้ยงใหม่ และการเริ่มต้นการเลี้ยงสุกรเพื่อให้การเลี้ยงสุกรของไทยเป็นเศรษฐกิจหนึ่งของชุมชนที่สามารถสร้างผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้

Visitors: 396,605