GAP Training Ratchaburi

ผู้เลี้ยงสุกรกว่า 200 ราย ร่วมสัมมนา GAP จัดโดยสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

20 มิถุนายน 2566 ราชบุรี – สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีและสำนักงานบริษัทเขต 7 จัดให้มีการอบรมผู้ขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและการจัดการความเข้าสู่ระบบความมาตรฐาน GAP ที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

          นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์เขต 7 และ นายบุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี มาร่วมเปิดงานในการอบรม GAP สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร โดยนายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์เขต 7 ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของ GAP ว่ามีการดำเนินงานมากว่า 20 ปี แต่จะเป็นฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยเน้นไปในเรื่องของการป้องกันโรค การจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรให้เติบโตเท่าเทียมต่างประเทศ โดยในกลุ่มของภาคปศุสัตว์มีการประกาศเป็นภาคบังคับในกลุ่มของไก่ไข่ เมื่อปี 2563 สำหรับกรณีของสุกรได้มีประกาศเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีผลบังคับใช้ 4 พฤษภาคม 2566 ในกลุ่มสุกรขุน 1,500 ตัวขึ้นไป หรือแม่พันธุ์ 120 ตัวขึ้นไป   ในเฟสที่ 2 เป็นกลุ่มสุกรขุนตั้งแต่ 500 ถึง 1,499 ตัว หรือ แม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 95-119 ตัว โดยจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายวันที่ 2 สิงหาคม 2566

          ช่วงแรกของการอบรมจะเป็นการบรรยายในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ โดยวิทยากรจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 7 โดยมีเอกสารที่ใช้ในการเรียนรู้แจกให้กับผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 200 คน จากฟาร์มในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง สามารถดาวน์โหลดเอกสารท้ายข่าวนี้

          หัวข้อถัดมาจะเป็นการขอใบรับรองอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับของสุกรผ่านระบบ  TAS License (กดลิงค์เข้าระบบ TAS-license) โดยวิทยากรจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สามารถดาวน์โหลดเอกสารท้ายข่าวนี้

 

         ผศ.น.สพ.ดร.เดชฤทธิ์ นิลอุบลบรรยายในหัวข้อ “ตัวอย่างการปรับปรุงฟาร์มตาม GAP และการยกระดับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ" เพื่อป้องกัน ASF หลังการฟื้นตัวซึ่งเป็นข้อมูลในเชิงเทคนิคพูดถึงเกี่ยวกับการคัดเลือกน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ชนิดต่างที่เหมาะสม การปรับปรุงระบบไบโอ มาตรการวัด Performance ต่างๆ ในฟาร์มหลังการพื้นตัวของฟาร์มหลัง ASF มีข้อมูลที่น่าสนใจในด้านของข้อมูลอุตสาหกรรมสุกรในจังหวัดราชบุรี ซึ่งสามารถนำไปประเมินความเป็นไปหลังการระบาดของ ASF เพื่อประเมินภาพใหญ่ทั้งประเทศได้ดังนี้        

          การเลี้ยงและพื้นที่การเลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี จังหวัดราชบุรีถือเป็นเมืองหลวงการเลี้ยงสุกรของประเทศสุกรเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญอันดับแรก ปี พ.ศ 2564 มีประชากรสุกร 2,204,182 ตัว พื้นที่การเลี้ยงหลักประกอบด้วย อำเภอโพธาราม สหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด  อำเภอปากท่อมีฟาร์ม 3 ฟาร์มใหญ่ มีโรงฆ่าและโรงงานผลิตอาหารสัตว์มาตรฐาน อำเภอเมืองมีตำบลห้วยไผ่และตำบลพิกุลทอง  อำเภอบางแพมีพื้นที่ชำแหละซากสุกร ส่วนอำเภอจอมบึงมีลักษณะการเลี้ยงสุกรหลากหลาย เช่น เกษตรผู้เลี้ยงรายย่อย ฟาร์มสุกรขนาดเล็ก แขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และการเลี้ยงสุกรแบบหลุม รูปแบบเจ้าของเดียว

          ผลกระทบหลังการระบาดของ ASF จำนวนแม่พันธุ์สุกร จาก 209,700 หลังการระบาดเหลืออยู่ที่ประมาณ 130,950 บาทลดลง 37% จำนวนประชากรสุกรขุน ก่อนการระบาดจะมีประมาณ 1,822,239 ตัว หลังการระบาดจะมีประชากรสุกรขุนประมาณ 999,573 ตัว ลดลงไป 45%

          คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมสุกรในปัจจุบัน ว่าหลังการระบาดของ ASF ทำให้จำนวนประชากรสุกรทั้งประเทศลดลงไปประมาณ 30-40% ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงโดยเฉพาะในส่วนของ วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น 30-40% ราคาสุกรขุนในช่วงปี 2564-2565 มีราคาหน้าฟาร์มปรับตัวสูงตามต้นทุนการผลิตทำให้เป็นโอกาสของ ผู้ ลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรจากต่างประเทศเข้ามา แทรกในตลาดโดยผลกระทบเริ่มมีอย่างชัดเจนในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 หลังการร้องเรียนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ไปอย่างเป็นทางการ 2 ครั้งในช่วงปี 2565 แต่ไม่มีผลในการที่จะหยุดยั้งกระบวนการดังกล่าว

          ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรได้มีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลมากขึ้นมีการรวมตัวกว่า 3,000 คน หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 จนกระทั่งเริ่มรู้สาเหตุของการเข้ามาของสินค้าเนื้อสุกรลักลอบดังกล่าว ประกอบด้วยการสำแดงเป็นสินค้าปลาแช่แข็ง HS Code 0303 การผ่านพิธีการช่อง Green Line ที่ไม่ต้องตรวจตู้สินค้า ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 172/2560 ซึ่งเป็นประกาศเพื่ออำนวยความสะดวกให้การค้าระหว่างประเทศ แต่กลับเป็นช่องทางการประพฤติผิดต่อหน้าที่ราชการครั้งมโหฬาร  โดยตัวเลขนำเข้าที่สำแดงเป็นปลาทะเล มียอดสูง ในปี 2565 ประมาณ 77,000 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ประมาณ 16,600 ล้านบาท เทียบเป็นปริมาณสุกรจากราคาที่กรมศุลกากร ประเมินตามเอกสารการนำเข้าเป็นปริมาณถึง 330,000 ตัน โดยเทียบเป็นจำนวนตู้ มากถึง 11,000 ตู้ ในปี 2565 ดังกล่าว

          ทำให้มีการทำงานร่วม 5 ฝ่าย ซึ่งตั้งโดยสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี หลังการเรียกร้องวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันการดำเนินการในการกล่าวมีความคืบหน้า โดยคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่กรมศุลกากร ตามรายงานตู้สินค้าสุกรตกค้างที่สำนักงานท่าเรือแหลงฉบังที่สะสมมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2566 มียอดสินค้าสุกรตกค้างจำนวนทั้งสิ้น 161 ตู้ ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวได้ส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งก็จะมีการดำเนินการ เข้าสู่กระบวนการสอบสวนสืบสวน เพื่อส่งสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป

 

         

 

Visitors: 422,971