Reborn Buriram 09072022
หมูอีสานโมเดล ภาพชัดเจนหลังเว้นวรรค กับ ฟาร์ม GFM+AI หลังวิศวเครื่องกล มข. ผนวกแนวทางไบโอฯ ฟาร์มย่อย
9กรกฎาคม 2565 บุรีรัมย์ – การสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 8 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภาพการบูรณาการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังระดมวิทยากรหลายองค์ความรู้ เพื่อสร้างความมั่นในในการกลับมาใหม่ของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ที่เสมือนเส้นเลือดฝอยที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง
การสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 8 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ดำเนินการร่วมจัดโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพการบูรณาการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังระดมวิทยากรหลายองค์ความรู้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการกลับมาใหม่ของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ที่เสมือนเส้นเลือดฝอยที่แข็งแรงมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศเดินหน้าในมุมมองของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยภาพที่ชัดเจนเริ่มมาตั้งแต่ช่วงครั้งต้นๆ ของการสัมมนาสัญจร ที่เป็นการนำตัวอย่างรูปแบบการสร้างระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในราคาประหยัด ทั้งจากการนำเสนอแนวทางปฏิบัติของระบบฟาร์มจ้างเลี้ยงโดยคุณศราวุฒิ รัตนวนิชโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ RMC Farm ที่มีทั้งคู่มือและระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน และแนวทางจัดการฟาร์มตัวเองโดย คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ผู้จัดการฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต โดยการสัมมนาครั้งที่ 7 ที่อุดรธานี และครั้งที่ 8 ที่บุรีรัมย์นี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.อภิชาติ อาจนาเสียว จากคณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่นำความรู้จากการปฏิบัติจริงของการใช้อุปกรณ์อิเลคโทรนิคแบบง่ายๆ มาทำหน้าที่ซ้ำๆ แทนแรงงานคน ที่มีความแม่นยำสูง ลดค่าใช้จ่าย จนเป็นต้นแบบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. แนะนำให้เกษตรกรที่จะขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการเลี้ยงถือปฏิบัติ เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อง่ายต่อการอนุมัติมากขึ้น
การสัมมนาเริ่มจากกรรมการในพื้นที่บุรีรัมย์ คุณอาทิตย์ อังคสิทธิ์ จาก บริษัท ฟาร์มพรประเสริฐ จำกัดกล่าวรายงาน น.สพ.อภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานสัมมนา โดยท่านปศุสัตว์จังหวัดได้กล่าวถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมสุกรในจังหวัดที่มีประวัติยาวนานกว่า 70 ปี เช่น RMC Farm ฟาร์มพรประเสริฐ รวมทั้งฟาร์มจากส่วนกลางในจังหวัด เช่น CPF และเครือเบทาโกร โดยการสัมมนาครั้งนี้มีปศุสัตว์อำเภอ และเกษตรกรมาร่วมงานทั้ง 23 อำเภอ ผลผลิตสุกรของบุรีรัมย์ไม่เพียงแต่รองรับการบริโภคภายในจังหวัดเท่านั้น ยังรองรับการบริโภคของประเทศอีกด้วย โดยเน้นว่าการกลับมาเลี้ยงใหม่ต้องเริ่มต้นขั้นต่ำที่มาตรฐาน GFM ถึงแม้ ASF ไม่ติดคน แต่คนจะนำ ASF มาหาหมู ท่านได้เล่าประสบการณ์การไปตรวจฟาร์มสุกรในสหรัฐ ที่ทั้งรัฐมีสัตวแพทย์เพียง 3 คน เวลาเกิดความเสียหายจะไม่มีการชดเชยเหมือนบ้านเรา ไม่มีการอบรมมาตรฐานฟาร์ม เช่น อบรมฟาร์ม GFM แบบบ้านเรา จึงถือเป็นความโชคดีของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทย
ดร.อภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 1 ที่มาร่วมพบปะเกษตรกรได้กล่าวขอบคุณนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการจัดสัมมนาสัญจรเพื่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เป็นครั้งที่ 8 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้มีการเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์การป้องกัน การจัดการที่สำเร็จมาให้แนวทางปฏิบัติ โดยท่านได้หารือกับท่าน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางให้การสันับสนุนเกษตรกรรายย่อย
ดร.อภิศักดิ์ กล่าวขอบคุณปศุสัตว์จังหวัดที่ให้การสนับสนุนด้วยดี โดยฝากให้เกษตรกรดูแลฟาร์มเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับชุมชนสัมพันธ์ ฝากเรื่องปุ๋ยจากน้ำขี้หมูที่มีค่ายูเรียสูง ไม่ต่างจากปุ๋ยยูเรียสูตร 40-0-0 ที่มีราคาปัจจุบันสูงถึง 1,700-1,800 บาทต่อกระสอบ ขณะที่ราคาช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว อยู่เพียงกระสอบละ 700 บาทเท่านั้น และท่านได้กล่าวถึงนาหญ้าเทียบกับนาข้าว ที่สามารถนำผลผลิตมาเลี้ยงสัตว์ได้เช่นกัน เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าดาย หญ้าแดงการ่า ที่ทำผลผลิตรอบสูงสุดถึง 8 รอบต่อปี ให้ผลผลิตต่อไร่ทั้งปีสูงมาก ที่จะมาเป็นทางเลือกอาหารสัตว์ได้
คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่มาร่วมพบปะเกษตรกรได้กล่าวชื่นชมท่านปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ ที่ช่วยการกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการออกร่างประกาศแนวทางออกมาให้เกษตรกรช่วยออกความเห็นภายใน 15 กรกฎาคมนี้ โดยเรื่องการระบาดของโรค ASF ในสุกร ท่านนายกได้กล่าวถึงการจัดสัมมนาครั้งแรกที่จัดร่วมกันกับภาครัฐ มีการเชิญวิทยากรจากประเทศที่มีประสบการณ์การระบาดมาให้ความรู้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีการดูแลป้องกันตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร่วมระดมทุนจัดสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ทั้งบริเวณชายแดนและพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ และจ่ายค่าเยียวยาเกษตรกรที่ประสบความเสียหายจากโรคระบาดร้ายแรงในช่วงต้น ก่อนที่จะมีงบประมาณแผ่นดินมาเยียวยาในภายหลัง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 140 ล้านบาท
นายกสุรชัยเน้นเรื่องความสามัคคีระหว่างผู้เลี้ยงสุกรด้วยกัน โดยมั่นใจว่าราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มจะอยู่ในระดับเลขสามหลักไปอีกนาน เพราะปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสูงมาก เฉลี่ยประมาณ 96-100 บาทต่อกิโลกรัม โดยทิศทางการบริหารงานของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จะเริ่มเชิญผู้บริหารฟาร์มรุ่นใหม่เข้ามาร่วมผลักดัน โดยจะมีการเปิดตัวเป็นทางการในการประชุมใหญ่ปลายปี 2565 นี้ โดยกรรมการปัจจุบันยังคงเคียงคู่เพื่อเป็นพี่เลี้ยงต่อเนื่อง
คุณสมทัด บุญทะพาน บริษัท บุญทะพาน จำกัด จังหวัดนครพนม มีการประกอบการฟาร์มทั้งไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ได้บรรยายในหัวข้อแนวโน้มสถานการณ์ ASF ในอาเซียนโดยมีการสรุปสถานการณ์ในลาวกับไทยที่เริ่มผ่อนคลายลง ส่วนหนึ่งมาจากประชากรหมูรายย่อยน้อยลง ฟาร์มใหญ่มีระบบการป้องกันที่ดี การบริหารจัดการของบุญทะพานฟาร์ม เน้นในเรื่องของการพบโรคเร็วจบเร็วโดยเน้นหัวใจหลักอยู่ที่การบล็อกคนที่เป็นส่วนสำคัญที่สามารถเป็นพาหะนำโรคมาสู่ฟาร์มได้ตลอดเวลา เข้มงวดการอาบน้ำก่อนการเข้าฟาร์มของคนงาน โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ห่วงความสวยงามของผมของผิว กลัวยาฆ่าเชื้อ ที่ฟาร์มจะมีการเข้มงวดถึงขนาดฉีดยาสระผมขณะก่อนเข้าฟาร์มของคนงานหญิง เพื่อมั่นใจว่าจะต้องมีการสระผมอย่างแน่นอน ย้ำเรื่องการสังเกตหมูถ้ามีอาการต่างๆ ให้คัดออกทันที การใช้รางยาวมีโอกาสติดเชื้อยกเล้า ที่ฟาร์มทำรางบล็อก 5 เว้น 1 โดยเฉพาะเล้าอุ้มท้องให้กินกับรางเฉพาะตัว กรณีติดเชื้อห้ามฉีดล้างพื้นเด็ดขาดเพราะเชื้อมันจะกระจาย
คุณสมทัดกล่าวถึงสภาวะราคาสุกรขุนในเวียดนามที่เคยสูงถึง 130-150 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันประมาณ 90 กว่าบาท ในลาว 80 กว่าบาท เน้นว่า ASF สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเกิดการระบาดไม่น่ากลัวถ้าจัดการอย่างมีสติ ไม่สะเปะสะปะ
รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ นายกสมาคมนักอาหารสัตว์ไทย ให้ความรู้เรื่อง “เทคนิคการให้อาหารสุกรเมื่อต้นทุนสูง”ได้กล่าวถึงช่วงเริ่มต้นการเลี้ยงสุกร ไทยจะมีชื่อเสียงมาก แถวนครปฐม ราชบุรี โดยภาคอีสานมีการเริ่มต้นตั้งแต่ ชัยยุทธ์ฟาร์ม RMC ฟาร์ม ฟาร์มพรประเสริฐ อนันต์ฟาร์ม ซึ่งทำให้ฟาร์มสุกรไทยแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับสำหรับกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้พันธุ์สุกรจาก เดนมาร์ก นอร์เวย์ และแคนาดา
การใช้ยาปฏิชีวนะช่วงต้นมีความจำเป็น แต่ช่วงปลายจะต้องมีการปลอดยา การใช้สารเสริมโปรตีนมีความจำเป็น โดยต้องมีความเข้าใจความแตกต่างแหล่งของโปรตีนจากประเทศต่างๆ ทั้งกลุ่มอาหารโปรตีนต่ำ โปรตีนสูง และการให้โปรตีนแต่ละช่วงอายุสุกร โดยในการสัมมนามีการแจกเอกสารประกอบการให้ความรู้อย่างละเอียด
คุณศราวุธ รัตนวนิชย์โรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์.เอ็น.ซี. ฟาร์ม จำกัด และรองประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่าในส่วนของฟาร์ม RMC มองว่าโรคสามารถเข้ามาได้ทุกทางดังนั้นกลยุทธ์สำหรับฟาร์มในระบบจ้างเลี้ยงที่เป็นฟาร์มรายย่อยที่จำเป็นต้องดูแลอย่างเข้มงวด คือ การสร้างเป็น “ฟาร์มเปิดในระบบปิด” ป้องกันด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ระบบ Bio Security แบบที่ไม่ใช้เงินลงทุนมากนัก แต่ต้องมั่นใจประสิทธิภาพการป้องกันโรค โดยมีการจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน ระบบการตรวจสอบการปฏิบัติงานของฟาร์ม โดย
- ให้การสนับสนุนวัสดุมุ้งฟ้าป้องกันแมลงวันและสัตว์ที่เป็นพาหะต่างๆ โดยจะมีการตรวจสอบหลังการติดตั้งเป็นระยะ มีระบบค่าปรับและการให้รางวัลจากผลของการปฏิบัติบกพร่อง/ดีเลิศ จากการปฏิบัติตามคู่มือ
- มีการติดตั้งพัดลมระบายอากาศหลังการติดตั้งมุ้งฟ้าเพื่อระบายแก๊สแอโมเนียจากมูลสุกร ที่จะช่วยการหายใจของสุกรในฟาร์ม
- มีการให้สารเสริมเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น และวัดผลตามสายพันธุ์ อย่างใกล้ชิด
- เปลี่ยนเข็มทุกโรงเรือน สำหรับการทำวัคซีน
- เทปูนรอบทางเดินเล้า มีห้องอบโอโซนสำหรับอาหารและอุปกรณ์ที่นำเข้าฟาร์ม ปรับปรุงห้องอาบน้ำ ถังขยะในฟาร์มต้องมีฝาปิด
- การทำความสะอาดโรงเรือน จะใช้ไม้ม็อบในการขนขี้หมูขนาดยาวโดยไม่ต้องเข้าคอก
- การติดมุ้งฟ้ากับรถขนส่งลูกสุกรพันธุ์เข้าฟาร์ม
- แยกเล้าขาย ที่สามารถประยุกต์โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์เก่าได้
- การเข้าเลี้ยงใหม่ต้องลงเลี้ยงเพียง 10% ของจำนวนการเลี้ยงปกติก่อน เพื่อความมั่นใจการปลอดโรค เพื่อลดความเสียหายกรณีโรงเรือนที่ยังไม่ปลอดเชื้อ 100%
ตั้งแต่มีการจัดระเบียบฟาร์มโครงการจ้างเลี้ยงซึ่งปัจจุบันลดลงอยู่ที่ประมาณ 100 โครงการ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างเลี้ยง
สพ.ญ.สุภัทรพร ฉัตรศิริยืนยง สัตวแพทย์อาวุโส บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่ถือว่ามาจากกลุ่มบริษัทที่เป็นพี่ใหญ่สุดของวงการสุกรไทย ที่นำเสนอแนวทางความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มที่สามารถเป็นต้นแบบกับฟาร์มในทุกระดับ ได้กล่าวถึงสถานะการณ์ระบาดที่เบาบางลง เนื่องจากสุกรฟาร์มรายย่อยเสียหายจำนวนมาก ทำให้ไม่มีตัวต่อเชื้อ การที่จะเริ่มใหม่การทำความสะอาดโรงเรือนจะต้องมีระยะพัก การเลี้ยงใหม่แนะนำให้ใช้ระบบ Sentinel หรือการใช้สุกรปลอดโรคเข้าเลี้ยงที่ 10% ของความจุปกติของฟาร์มก่อน งดรถขนส่งทุกประเภทเข้าฟาร์ม แยกฟาร์มขายออก โดยการจัดการทั่วไปด้านคนงานในฟาร์มจะมีลักษณะเดียวกันกับวิทยากรท่านอื่นๆ โดยเพิ่มเติม GDU หรือ Gilt development units ที่เป็นฟาร์มสุกรสาวที่เตรียมตัวเป็นแม่พันธุ์ ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Farm Quarantine เพื่อปล่อยเวลาคัดกรองการปลอดเชื้อเพื่อให้มั่นใจการปลอดเชื้อของแม่พันธุ์สุกร
คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต คุณอุดมศักดิ์มุ่งเน้นไปในเรื่องของความเสี่ยงในฟาร์มเกษตรกรรายย่อย โดยมี 3 กลุ่มที่สามารถสร้างความเสี่ยง ประกอบด้วย 1) เกษตรกรเอง 2) พ่อค้าและเขียงสุกร 3) กลุ่มจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยความเสี่ยงสำหรับฟาร์มรายย่อยเองจะมี 5 จุดอ่อน จุดตายของรายย่อย ประกอบด้วย
จุดอ่อนที่ 1 รายย่อยขายหมูในฟาร์ม ไม่มีอุปกรณ์การขาย ปล่อยให้พ่อค้าเป็นคนดำเนินการเอง
จุดอ่อนที่ 2 รายย่อยซื้อหมูทดแทน ไม่มีคอกกักระยะฟักตัวยาว จะเป็นปัญหาในการทดแทนหมู
จุดอ่อนที่ 3 รายย่อยต้องพึ่งพาหมอรักษาหมูป่วยจากคนภายนอก มีโอกาสนำเชื้อมาสัมผัสหมูสูง
จุดอ่อนที่ 4 รายย่อยไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีคนเฝ้า คนนอก พ่อค้า เข้ามาคอกหมูได้ตลอดเวลา
จุดอ่อนที่ 5 รายย่อยมักขาดความตระหนักเข้าใจอย่างจริงจังว่าต้องทำ BioSecurity ขนาดไหนอย่างไรจึงจะ รอดพ้นจาก ASF
ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงรายย่อย ที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ จากการบรรยายของคุณอุดมศักดิ์ก็คือ ในเรื่องของการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เหมาะกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เช่น รองเท้า 3 คู่สู้ ASFที่หน้าฟาร์มนอกพิกโซน คู่ที่ 2 รองเท้าในบริเวณฟาร์มจุ่มยาฆ่าเชื้อใส่เฉพาะในบริเวณฟาร์ม คู่ที่ 3 รองเท้าเฉพาะในโรงเรือนใส่ทำงานภายในโรงเรือนเท่านั้น ทำงานเสร็จจะกลับบ้านถอดรองเท้า ย้อนกลับคู่ที่ 3 ถึงคู่ที่ 1 ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับรถขนหมูภายในฟาร์มที่จะขนถ่ายสุกรไปตามจุดต่างๆ ที่ไม่ให้สัมผัสกันและแยกตามส่วนต่างๆ ของงานในฟาร์ม
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นในเรื่องของฟาร์มเปิดในระบบปิด ซึ่งมีการใช้มุ้งเขียวกั้นป้องกันแมลงและสัตว์ที่เคลื่อนย้ายตัวจากที่อื่น เพื่อไม่ให้มีการเข้ามาในฟาร์มที่จะเป็นสาเหตุของการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในเล้า เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดก็จะต่อด้ามให้ยาว โดยเน้นให้คนห่างจากตัวหมูมากที่สุดไม่ให้สัมผัสตัวหมู
คุณอุดมศักดิ์ ย้ำว่า ASF เป็นโรคที่กลัวคนรู้ทัน กลัวการเอาจริงเอาจัง พิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วน โดย ASF จะมาเปลี่ยนรูปแบบ “การเลี้ยงหมูแบบเดิมๆ” สามารถสรุปแนวทางเข้มงวดให้ฟาร์มต้อง ปิด-เปิด-ปรับ-เปลี่ยน ดังนี้
- ปิด - ปิดประตูฟาร์ม ปิดประตูคอกและบริเวณคอกให้มิดชิด ปิดรับปัจจัยเสี่ยงและปิดจุดอ่อน เลี้ยงระบบปิด การปิดฝูง
- เปิด - เปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับข่าวสาร วิชาการ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- ปรับ - ปรับรูปแบบการเลี้ยงรางแยก ลดการสัมผัสหมู ลดมื้ออาหาร ลดการเข้าคอกหมู ลดกิจกรรมกับหมู หรือลดการขายหมูบ่อยๆ
- เปลี่ยน - เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง AI เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง ผสมพันธุ์เอง ทำคลอดเอง ฉีดยาเอง ตอนหมูเอง จับหมูขายเอง(พ่อค้ารอจ่ายเงิน)
ผศ.ดร.อภิชาติ อาจนาเสียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อ การเลี้ยงสุกรรายย่อยวิถีใหม่ (NEW NORMAL) ได้นำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีง่ายๆ กับการเลี้ยงสุกร หลังจากพิจารณาว่าจะกลับมาเลี้ยงใหม่ ให้สำรวจความพร้อมตั้งแต่
- หลักทรัพย์ที่จะเป็นหลักประกันสินเชื่อกับธนาคาร
- มีแนวทางวิธีการป้องกันโรคในฟาร์มอย่างไร?
ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. ยอมรับและแนะนำให้เกษตรกรรายย่อยที่จะขออนุมัติสินเชื่อต้องมีระบบการป้องกันโรคที่รัดกุม ระบบการเลี้ยงที่นำเทคโนโลยีที่แม่นยำมาใช้ เช่นเดียวกับที่ ผศ.ดร.อภิชาติ นำมาใช้เองเป็นผลสำเร็จ และนำมาถ่ายทอด ตั้งแต่
- การติดเซ็นเซอร์ควบคุมคนเข้าฟาร์ม
- การตั้งเวลาปิด-เปิดไฟควบคุมอุณหภูมิสูงต่ำในเล้าอนุบาล
- การตั้งเวลาเปิดปิดพัดลมอัตโนมัติระบายแก๊สในฟาร์ม
- ระบบการให้อาหารอัตโนมัติ ระบบหยอดน้ำผสมอาหารเม็ดเป็นระยะ
- การติดตั้งวงจรปิดเชื่อมสัญญาณ WIFI เปิดดูหมูในแต่ละเล้าได้ตลอดเวลาบนมือถือ
- ระบบเติมน้ำเข้าฟาร์มอัตโนมัติ
- ระบบเติมอาหารใส่ Hopper ข้างโรงเรือน
- ระบบซึ่งทั้งหมดเป็นการติดตั้งเองทั้งหมด สามารถประมวลผลผ่าน Smartphone ของเกษตรกรได้ โดยเงินลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งอาจารย์อภิชาติสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย และเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม แต่สามารถทำรายได้หลักมากกว่างานประจำ โดยผู้เลี้ยงสามารถติดตามแบบการติดตั้งต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube ในชื่อ Apichart Artnaseaw หรือ ขอคำปรึกษาระบบได้ที่ HP 081-266-7120
ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ให้มุมมอง 3 ด้าน ที่ประกอบด้วย
- การใช้วัคซีนที่เป็นทางเลือกในอนาคต ถึงสิ้นปีนี้ประเทศไทยอาจยังไม่ได้ใช้วัคซีน โดยเชื้อ ASF ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมภายในประเทศน้อยลง เนื่องจากไม่มีตัวต่อเชื้อ ในอนาคตถ้าวัคซีนผ่านการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยา ก็ยังสามารถใช้ร่วมกับสูตรผสมตามข้อ 2 ได้ โดยการค้นพบวัคซีนในเวียดนาม มีการจับตาว่าเมื่อมีการเริ่มใช้อย่างแพร่หลายแล้วจะมีการกลายพันธุ์หรือไม่ เช่นเดียวกับที่เกิดกับ หลังการใช้วัคซีน COVID-19 ในคน
- การใช้สูตรผสมของสารเสริมต่างๆ เช่น วาโลซิน ที่สามารถต้านไวรัสได้ โดยผสมผสานกับ Fatty Acid และโมโนกลีเซอไรด์ และการใช้ Probiotics ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในกลุ่มไก่ เคยสู้กับ PED ได้ สู้ ASF กับบางฟาร์มดำเนินอยู่และประสบความสำเร็จมาแล้ว ในรูปแบบผสมผสานแบบ Combination โดยน้ำเชื้อจากสุกรเพศผู้ที่รอดช่วงการระบาดสามารถนำมาใช้ได้ ที่ยังให้อาหารกลุ่มวาโรซินแต่ลดขนาดลง โดยผลการให้อาหารกลุ่ม Fatty Acid และ Probiotics ที่มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับค่ายาสามารถเสริมคุณภาพการเลี้ยงได้ โดยสูตร Combination สามารถทำให้การตรวจเลือดสุกรเป็นลบได้
- Bio Security ผศ.น.สพ.คัมภีร์ ให้รายละเอียดที่มีลักษณะเดียวกับวิทยากรทุกท่าน โดยระบบ Bio Security ยังคงเป็นทางรอดหลัก
ผศ.น.สพ.คัมภีร์ เน้นย้ำว่าตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงเอง คือ หนทางสร้างความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่การนำเข้าสุกรแช่แข็ง
จากการสัมมนาครั้งที่ 7 และ 8 ถือได้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) ที่ใช้ได้จริงของวิทยากร ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงที่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่สามารถสร้างอนาคตใหม่ให้ผู้เลี้ยงสุกรได้อย่างจริงจัง
สัมมนาสัญจรตั้งแต่ครั้งที่ 1-8 ดำเนินครบตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น โดยล่าสุดจะมีเพิ่มอีก 2 ครั้ง ที่จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดยโสธร โดยเป็นการแสดงความประสงค์เพิ่มเติมมาจากพื้นที่ ซึ่งมีการแจ้งกำหนดการในเบื้องต้น คือ วันที่ 5 และ 19 สิงหาคม 2565 รายละเอียดที่ชัดเจนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะผู้จัดงานจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป