GLP Pig

สมาคมจับมือกระทรวงแรงงานเดินหน้าร่าง GLP สุกร ตั้งเป้าเริ่มอีก 6 เดือน ตามสมัครใจ

7 ธันวาคม 2565: กระทรวงแรงงาน – กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเจ้าภาพอัพเดท GLP ปีงบประมาณ 2565 พร้อมเริ่มคณะทำงาน GLP สุกร เป้าหมาย 6 เดือน แบบสมัครใจ

           กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมประชุมเป็นนัดแรก หลังจากเมื่อ 18 ตุลาคม 2565 มาพบหารือเพื่อรื้อฟื้นการจัดทำร่างแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในฟาร์มสุกร ซึ่งเคยประสานงานมาในช่วงปี 2560 แต่ทิ้งช่วงไปเนื่องจากปัญหาการระบาดของโรค ASF ในสุกรในเอเชียตะวันออกตั้งแต่ปี 2561 ทำให้ผู้ประกอบการฟาร์มสุกร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในระดับภูมิภาคต่างไปทุ่มเทเวลาให้กับการเฝ้าระวังป้องกันโรค และการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์ม รวมถึงการระดมสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ตามด่านกักกันสัตว์ๆ บริเวณชายแดน 

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการประชุมหารือในการคณะกรรมการบริหารที่ผ่านมา มอบหมายทีมคณะทำงานของสมาคมฯ ประกอบด้วย คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ประธานคณะทำงาน ร่วมด้วยคุณดิลก สฤกพฤกษ์ จากตรังวัฒนาฟาร์ม คุณกฤษขจร พงษ์วัฒนกุล จากพนัสพันธุ์สัตว์ และคุณสุธรรม โรจนวราพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคม เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะทำงานดำเนินงานแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี :Good Laboratory Practice  (GLP) สำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทย เพื่อร่วมร่าง GLP สุกร

โดยการประชุมครั้งนี้ คุณสุพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานการประชุม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนคณะทำงานของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมในระบบออนไลน์ และออนไซด์ ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 3 ท่าน คือ

1) คุณดิลก สฤกพฤกษ์ จากตรังวัฒนาฟาร์ม

2) คุณกฤษขจร พงษ์วัฒนกุล จากพนัสพันธุ์สัตว์

3) คุณสุธรรม โรจนวราพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคม

คุณกฤษขจร กล่าวว่า “ช่วงเวลาและชั่วโมงการทำงานสำหรับฟาร์มสุกรมีความแตกต่างจากสภาพการทำงานทั่วไป โดยจะมีการปรับเปลี่ยนเวลาตามสภาพงานในฟาร์ม แต่ก็จะมีกรอบเวลาการทำงานตามกฎหมายแรงงานกำหนด”

คุณสุธรรม กล่าวว่า “ฟาร์มสุกรจะมีการแบ่งกลุ่มตามขนาดฟาร์ม ตามเกณฑ์ของกรมปศุสัตว์ ที่กำหนดขนาดการเลี้ยงสุกร” ไว้ดังนี้

  1. ฟาร์มขนาดเล็ก จำนวน 50 - 500 ตัว หรือ มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ ตั้งแต่ 6 - 60 หน่วย ปศุสัตว์ (หนึ่งหน่วยปศุสัตว์ = 500 กิโลกรัม)
  2. ฟาร์มขนาดกลาง จำนวน 500 -  5,000 ตัว หรือ มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ ตั้งแต่ 60 - 600 หน่วยปศุสัตว์
  3. ฟาร์มขนาดใหญ่ จำนวน 5,000 ตัว ขึ้นไป หรือ มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ มากกว่า 600 หน่วยปศุสัตว์

และต่อไปฟาร์มเลี้ยงสุกรจะต้องทำมาตรฐาฟาร์ม ซี่งเป็นกฏหมายใหม่ที่บัญญัติให้ฟาร์มปฏิบัติ โดยแยกเป็นระบบฟาร์มมาตรฐาน GFM และ GAP

นายศิลปชัย โฉมเผือก นักวิชาการสัตวบาลปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานฟาร์มภาคบังคับคาดว่าจะออกประกาศเป็นกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2566  

ประธานการประชุม ได้วางเป้าหมายการจัดทำคู่มือแนวทางใช้ปฏิบัติสำหรับแรงงานในฟาร์มสุกร ให้แล้วเสร็จ และจะเริ่มใช้เป็นภาคสมัครใจภายใน 6 เดือน

ในการประชุมครั้งนี้ สมาคมฯ ได้ประสานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร 2 แห่ง เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน และเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วย คือ

  1. คุณเสน่ห์ นัยเนตร จากชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออก จำกัด ที่มีสมาชิกครอบคลุมทั้งภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
  2. คุณสมร อินทร์ภักดี จากสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์พัทลุง จำกัด  ซึ่งเป็นตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรจำนวนมาก

คุณสุธรรม ได้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานเพิ่มเติม คือ จากกลุ่มบริษัทครบวงจร และสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ  

          ปัจจุบันแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีได้มีการนำไปปฏิบัติในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น โรงงานทั่วไป กลุ่มฟาร์มสัตว์ปีก กลุ่มอาหารทะเล เป็นต้น เนื่องจากมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรปที่จะมีข้อกีดกันทางการค้า และมีการใช้เหตุผลต่างๆ เป็นข้ออ้างด้านแรงงาน เช่น การใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก ไปจนถึงการค้ามนุษย์ ถึงแม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุกรไทยมีการส่งออกบ้าง แต่ยังคงเป็นประเทศในกลุ่มเอเชียที่ไม่ค่อยมีประเด็นการกีดกันทางการค้ามากนัก โดยวัตถุประสงค์หลักของกระทรวงแรงงานจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับสภาพการจ้าง สภาพการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมาย เพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน และส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งเป็นการป้องกัน และแก้ไขแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  

Visitors: 395,068