DIT warns on pig cheating

พาณิชย์ปรามพ่อค้าหมูเร่โกงตาชั่งเริ่มระบาด หลังจับได้ 15 ราย รับโทษฉ้อโกงและโทษตาม พรบ.มาตราชั่งตวงวัด เร่งทุกภูมิภาคเตือนภัยถึงผู้เลี้ยงสุกร

9 กันยายน 2565 กระทรวงพาณิชย์ - กรมการค้าภายใน เรียกประชุมด่วนและแถลงข่าวเตือนภัยพ่อค้าเร่โกงตาชั่งให้ ผู้เลี้ยงสุกรเร่งกระจายข่าวเพื่อป้องปรามหลังดำเนินคดีแล้ว 15 ราย

          นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยมอธิบดีกรมการค้าภายในเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค เข้ารับฟังการชี้แจงจากหน่วยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค บก.ปคบ. มาร่วมแถลงข่าวการจับกุมพ่อค้าเร่ที่ทำการโกงตาชั่งตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด 2542 หลังกรมการค้าภายในพบปัญหากลุ่มพ่อค้ารถเร่โกงครึ่งชั่งตระเวนรับซื้อหมูในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และมีการร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้ากรมการค้าภายในสายด่วน 1569 อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเพิ่มอีกหนึ่งสายด่วน 1135 สายด่วนแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเอาเปรียบผู้บริโภค 

          นายวัฒนศักย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้หารือร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบป้องปรามการรับซื้อหมูของเกษตรกร หลังจากได้รับรายงานมีการโกงตราชั่งในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดจากการตรวจสอบ ช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพ จำนวน 15 ราย ซึ่งมีพฤติกรรมฉ้อโกงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูโดยเฉพาะรายย่อยในเรื่องของน้ำหนัก ส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย โดยพฤติกรรมการฉ้อโกง อาทิ การเปลี่ยนตุ้มถ่วงสำหรับใช้อ่านน้ำหนัก ทำให้น้ำหนักการซื้อผิดไปจากความเป็น ปรับแต่งเครื่องชั่ง กรง ทำให้น้ำหนักหมูของเกษตรกรลดลง  ซึ่งทางกรมฯ ได้มีการตั้งชุดเฉพาะกิจพิเศษขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ หลังจากการระบาดช่วงนี้มีเพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรรายย่อยที่เคยหยุดเลี้ยงจากการระบาดของโรค ASF เริ่มกลับมาเลี้ยงใหม่อีกครั้ง

          จากสถานการณ์ราคาเนื้อหมูยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 190-200 บาท ทำให้เป็นแรงจูงใจของกลุ่มมิจฉาชีพในการล่อลวงเกษตรกร ในขณะที่ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มเวลานี้กรมการค้าภายในยังขอความร่วมมือให้ขายอยู่ที่กิโลกรัมละไม่เกิน 100 บาท

          อย่างไรก็ตาม ในข้อหากระทำการใดๆ ที่ทำให้เครื่องชั่งแสดงค่าน้ำหนักเอาเปรียบประชาชนและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบทางการค้า เป็นความผิดตามมาตรา 75 และ มาตรา 79 แห่ง พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 120,000 บาท(ซึ่งต้องโทษทั้งจำคุกและปรับ) และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ประมวลกฎหมายอาญา“มาตรา 270 ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ขอให้เกษตรกรระมัดระวังและสังเกตพฤติกรรมการชั่งน้ำหนักของผู้รับซื้อ ถ้าพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบหรือสงสัยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือศูนย์ชั่งตวงวัดและสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดทั่วประเทศ และขอเตือนพ่อค้าแม่ค้าที่มีพฤติกรรมใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ถูกต้องเอาเปรียบประชาชนหรือเกษตรกร หากตรวจพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างเคร่งครัด

          โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีผู้นำกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในแต่ละภูมิภาคเข้าร่วมประชุมออนไลน์ทุกภูมิภาค ประกอบด้วย  

1)      นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม  อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี

2)      นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3)      นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้

4)      นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ

5)      นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา

6)      นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา

7)      นางสุนิศา ชุมนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก จำกัด

โดยผู้นำผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคกล่าวขอบคุณกรมการค้าภายในที่เข้มงวด การแจ้งข่าวในครั้งนี้จะนำไปประชาสัมพันธ์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในทุกพื้นที่  

จากข้อสังเกตจากพฤติการณ์ที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่าพ่อค้าโกงตาชั่งมีพฤติการณ์

1)      ให้ราคาสูงกว่ารายอื่นกว่า 5-10 บาท ต่อกิโลกรัม

2)      ไม่มาตามเวลาที่นัดหมายโดยจะเลื่อนเวลานัดหมาย 2-3 ครั้ง เพื่อให้เกษตรกรไม่ทันตั้งตัวและจะเข้ามารับซื้อช่วงที่ไม่มีคนอยู่ที่เล้าสุกร

3)      มีรถคนแปลกหน้าคอยสังเกตการณ์วนดูบริเวณเล้าสุกร หากไม่พบเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปรับซื้อ

4)      กลุ่มพ่อค้ามักจะเลือกใช้เครื่องชั่งของผู้เลี้ยงสุกร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

วิธีกลโกงน้ำหนักของกลุ่มพ่อค้ารถเรรับซื้อสุกร ช่วงปี 2563-2565 มีดังนี้ 

1)      ใช้เท้าเหยียบหรืองัดแท่นชั่งเพื่อให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งผิดไปจากค่าน้ำหนักจริง

2)      ใช้วัสดุ (ยางรถยนต์/ไม้) รองใต้แท่นชั่ง ทำให้การชั่งน้ำหนักสุกรพร้อมกรงได้น้ำหนักน้อยลง

3)      ใช้นิ้วกดหรืองัดบริเวณท้ายคันชั่งเพื่อให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งผิดไปจากค่าน้ำหนักจริง

4)      ใช้ตุ้มถ่วงที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติ และไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด หรือใช้เครื่องชั่งที่มีความเที่ยงผิดเกินที่กฎหมายกำหนด

5)      ใช้วิธีการสับเปลี่ยนกรงโดยการนำกรงที่มีน้ำหนักมากเวียนมาชั่งแทนกรงที่มีน้ำหนักเบาเพื่อให้น้ำหนักของกรงเปล่าทั้งหมดมีน้ำหนักมากกว่าความเป็นจริง

6)      ในช่วงขานน้ำหนักกลุ่มพ่อค้าจะนำตุ้มถ่วงพิกัด 50 กิโลกรัมมาแทนตุ้มถ่วงพิกัด 100 กิโลกรัม เพื่อขานน้ำหนักให้น้อยลงกว่าเดิม 50 กิโลกรัม

          พ.ต.อ.ธรากร  เลิศพรเจริญ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ (ผบก.ปคบ.) กล่าวถึงพฤติกรรมผู้กระทำผิด จะมีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน และสำรวจล่วงหน้า จนเหลือเฉพาะผู้สูงอายุอยู่บ้าน โดยจะมีการนัดหมายวันเข้าซื้อ เสนอราคาให้สูงกว่าปกติกิโลกรัมละ 5-10 บาท แต่จะผิดนัดเวลา เพื่อไม่ให้มีคนเยอะมาช่วยกันตรวจสอบการขาย           โดยให้ความสบายใจใช้เครื่องชั่งของเกษตรกรเอง แต่เวลาชั่งจะมีหลายวิธีโกง อาทิ เหยียบตราชั่งให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังเฝ้าติดตามในหลายพื้นที่

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคขอให้ผู้เลี้ยงสุกรช่วยกันสอดส่องพฤติการณ์ดังกล่าว และช่วยกันแจ้งให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศระมัดระวังเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ด้วย

Visitors: 396,728