GAP Pig Farm

ผู้เลี้ยงสุกรพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ปศุสัตว์ เขต 3 อีสานตอนใต้กว่า 300 ฟาร์มเข้าร่วมอบรม GAP สุกร

26 มิถุนายน 2566 สุรินทร์ - สำนักงานเขตปศุสัตว์สุรินทร์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมความสุกรไทย เปิดอบรมหลักสูตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร ที่เป็นหนึ่งในโครงการ TSVA สัญจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หลังจากที่ได้จัดครั้งแรกในเขต 3 ที่จังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566

          นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวรายงานประธานการอบรมและการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ความเข้าใจไปปฏิบัติกับฟาร์มตนเองซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 ฟาร์ม ในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และปศุสัตว์พื้นที่ เขต 3 โดยมีนายสัตวแพทย์อภิชัย นาคีสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์เป็นประธานการจัดอบรมในครั้งนี้ ได้กล่าวถึงเกณฑ์มาตรฐานความภาคบังคับที่เลิกบังคับใช้ใน 2 ช่วงของปีนี้คือพฤษภาคมและสิงหาคมเพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพความสุกรไทย โดยมาตรฐานดังกล่าวแบ่งกลุ่มของผู้ประกอบฟาร์มตามขนาดของฟาร์มโดยใช้จำนวนสุกรขุนและจำนวนแม่ฟาร์มแยกเป็น 2 ส่วนด้วยกันประกอบด้วย2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีผลบังคับใช้ 4 พฤษภาคม 2566 ในกลุ่มสุกรขุน 1,500 ตัวขึ้นไป หรือแม่พันธุ์ 120 ตัวขึ้นไป   ในเฟสที่ 2 เป็นกลุ่มสุกรขุนตั้งแต่ 500 ถึง 1,499 ตัว หรือ แม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 95-119 ตัว โดยจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายวันที่ 2 สิงหาคม 2566

          สัตวแพทย์หญิง ดร.เมตตา เมฆานนท์ วิทยากรจากสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการยกระดับไบโอซีเคียวริตี้เพื่อสู้ ASF จากของจริงซึ่งมีตัวอย่างฟาร์มที่นำแนวทางไปปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยดร.เมตตา ได้เน้นย้ำในเรื่องของสาเหตุของการติดเชื้อเข้าสู่ฟาร์มอันดับ 1 ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่อง คนงานซึ่งไม่เฉพาะฟาร์มเปิดเท่านั้น ฟาร์มปิด หรือ ฟาร์มในระบบ Evaporative cooling system ก็สามารถติดเชื้อได้ทั้งหมด แม้มีกฎเกณฑ์ที่ดีแต่ไม่ทำตามอย่างเข้มงวด

การอาบน้ำของคนงานก่อนเข้าฟาร์มเป็นสิ่งที่สำคัญมากซึ่งจำเป็นต้องมีการอ่านอาบน้ำอย่างเข้มงวดเพราะในอดีตการสเปรย์ยาฆ่าเชื้อไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อกับคนงานที่จะเข้าสู่ฟาร์มได้ ในส่วนของพาหะที่ประกอบไปด้วยหนู แมลงวัน นก หมา แมว ที่เป็นกลุ่มที่สามารถนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์มได้นั้น แมลงวันจะเป็นตัวหลักที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในฟาร์มในกรณีของการฉีดวัคซีนการปูพรมต่างๆ ในโรคสุกรทั่วไป เช่น ไซริงค์ เข็ม และอุปกรณ์การให้ยาร่วมกันก็มีส่วนและมีประวัติเคยทำให้การกระจายของเชื้อ ASF ส่งผลให้เกิดความเสียหายหลายฟาร์มมาแล้ว การเดินข้ามเขตของพนักงานแต่ละแผนกเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

          การยกระดับไบโอซีเคียวริตี้และการจัดการหลัก คือ ต้องทำเพื่อความสำเร็จโดยมี 3 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย 1) ตัดโอกาสเชื้อเข้าฟาร์ม 2) ตัดโอกาสเชื้อกระจายภายในฟาร์ม 3) กำจัดเชื้อหมดไปในฟาร์ม ซึ่งระบบจะเน้นไปที่ 3 เป้าหมายหลักเป็นส่วนใหญ่

 

การปรับโรงเรือนและโครงสร้างของฟาร์ม

  1. โรงเรือนป้องกันพาหนะ
  2. ทางเดินต้องเป็นปูนหรือคอนกรีตเพราะจะขจัดปัญหาในเรื่องของพื้นดินที่มีระบบอินทรีย์ที่ดูดซับฤทธิ์ของยาฆ่าเชื้อออกไป
  3. รั้วรอบฟาร์ม และรั้วรอบเขตเป็นสิ่งที่จำเป็น
  4. แยกเล้าขายออกนอกฟาร์มซึ่งประเด็นเหล่านี้หลายความก็ดำเนินการไปแล้ว
  5. ห้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เน้นการอาบอย่างละเอียด ฆ่าเชื้อที่มือ เท้าก่อนเข้าฟาร์ม
  6. จุดล้างฆ่าเชื้อรถนอกฟาร์ม และรถภายในฟาร์ม
  7. ไซโลอาหาร นอกและในเขตเลี้ยง
  8. ระบบฆ่าเชื้อน้ำดื่มน้ำใช้
  9. หอพักพนักงาน ควรอยู่นอกเขตเลี้ยง
  10. การจัดครัวของฟาร์มซึ่งจะแก้ปัญหาการที่คนงานออกไปจับจ่ายในตลาดนอกพื้นที่ หรือชุมชนรอบฟาร์ม
  11. ห้องแลปของฟาร์ม ถ้ามีงบควรพยายามจัดหาไว้ เพราะมีความจำเป็นต้องตรวจกันแทบทุกวัน
  12. ห้องแลปภายนอกควรส่งเป็นประจำ

ในการใช้มุ้งคุมกันนกและแมลงต้องเข้มงวดในเรื่องของจุดชำรุดเสียหายโดยปลายผ้าต้องสามารถที่จะปิดและยึดอย่างแน่นหนา ข้อจำกัดของการใช้ UV ในการฆ่าเชื้อ คือ สามารถฆ่าเชื้อได้เฉพาะผิวสัมผัสซึ่งจะต้องกลับด้านทำให้มีโอกาสในการหลุดรอดของเชื้อได้ ปัจจุบันแนะนำให้ใช้การอบโอโซนจะมีความครอบคลุมมากกว่า

การตรวจสอบติดตามถ้าเป็นไปได้เจ้าของควรจะลงมาตรวจอย่างสม่ำเสมอเพื่อความมั่นใจ เอกสารประกอบการอบรมสามารถดาวน์โหลดได้ในท้ายข่าว

คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต จะนำเสนอในลักษณะของการปรับมาตรฐาน จัดวางระบบ GFM เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ เพื่อการป้องกันโรค และระบบ Biosecurity ที่เป็นระดับที่เหมาะสำหรับฟาร์มเปิดซึ่งถือว่าเป็นความสมบูรณ์ที่เราเรียกว่าฟาร์มเปิดในระบบปิด โดยประเด็นในการสัมมนาในวันนี้จะเป็นในเรื่องของมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของกรมปศุสัตว์ หรือ มกอช.ที่จะเป็นภาคบังคับ กับฟาร์มระดับความขนาดใหญ่ และขนาดกลาง แต่ในส่วนของผู้เลี้ยงเองมีหลายระดับ หลายมาตรฐาน แม้กระทั่งฟาร์มรายย่อยที่ปัจจุบันมีระบบ GFM ซึ่งสื่อให้เห็นว่าปัจจุบันเรามีมาตรฐานกับฟาร์มทุกระดับ แต่อย่างไรก็ตาม การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องและเหมาะสม กับ งบประมาณ  ผลที่ได้รับก็อยู่ในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้โดยต้องมีความเข้มงวดเป็นหลัก เช่นเดียวกับที่ ดร.เมตตาได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้

นายสัตวแพทย์มาโนชญ์ วงศ์แวว นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์  สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 ได้มานำเสนอการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ ตาม มกษ 6403/2565 พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ รูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับตามมาตรฐานดังกล่าวนี้ที่ประกอบไปด้วย

มาตรฐานสินค้าเกษตร

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร(มกษ. 6403-2565)

1. ขอบข่าย

1.1  มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้กำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรตามที่กำหนดนิยามไว้ในข้อ 2.1 ครอบคลุมองค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้ได้สุกรท่ีมีความเหมาะสมในการนำไปเลี้ยง หรือนำไปใช้เป็นอาหารโดยคำนึงถึงความปลอดภัยอาหารสุขภาพสัตว์สวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม

1.2  มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ใช้กับฟาร์มที่เลี้ยงสุกรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sus scrofa ทั้งที่เป็นสุกรบ้านและสุกรป่า

 

 

2. นิยาม

ความหมายของคำที่ใช้ในมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้มีดังต่อไปนี้

2.1  ฟาร์มสุกร (pig farm) หมายถึง สถานประกอบการที่เลี้ยงสุกรพ่อแม่พันธุ์สุกรอนุบาลหรือสุกรขุน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน

  1. ข้อกำหนด

3.1 องค์ประกอบฟาร์ม

3.1.1 สถานที่ตั้ง

 

หลักการ

การเลือกสถานที่ตั้งเพื่อประกอบกิจการฟาร์มสุกรมีความสำคัญ ต้องคำนึงถึงการปนเปื้อนของอันตรายทางกายภาพ เคมีและชีวภาพจากสภาพแวดล้อม การคมนาคมที่สะดวก และการมีแหล่งนํ้าที่เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์สามารถขนส่งสุกร อาหารสัตว์เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ได้สะดวก และไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้

3.1.1.1 มีหลักฐานแสดงการยินยอมให้ประกอบกิจการจากราชการส่วนท้องถิ่น

3.1.1.2 ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เส่ียงต่อการปนเปื้อนของอันตรายทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งรวมขยะ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของสุกร และคน รวมทั้งสวัสดิภาพสัตว์ หรือมีมาตรการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม

3.1.1.3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นทางการคมนาคมที่สามารถขนส่งสุกร อาหารสัตว์เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ได้สะดวก ไม่อยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขังได้

3.1.1.4 มีแหล่งน้ำที่สะอาดและใช้เพียงพอ

3.1.2 ผังและลักษณะฟาร์ม

หลักการ

การวางผังฟาร์มและการจัดแบ่งพื้นที่ภายในฟาร์มอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันการปนเปื้อน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์สวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม

3.1.2.1 มีพื้นที่ขนาดเพียงพอและเหมาะสมในการเลี้ยงสุกร ไม่หนาแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์

3.1.2.2 มีรั้วหรือแนวกั้นธรรมชาติที่สามารถควบคุมการเข้า-ออกของคนและป้องกันสัตว์อื่นจากภายนอกได้

3.1.2.3 มีการวางผังฟาร์มสุกรที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานอย่างถูกสุขลักษณะ กำหนดพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นสัดส่วน เช่น  พื้นที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่เก็บอาหารสัตว์พื้นที่สำหรับแยกและรักษาสุกรป่วย พื้นที่รวบรวมขยะและมูล พื้นที่

ทําลายซาก และพื้นที่จําหน่ายสุกร จัดแบ่งพื้นที่อาคาร สำนักงานและที่พักอาศัยเป็นสัดส่วนแยกจากบริเวณเลี้ยงสัตว์

3.1.2.4 มีมาตรการในการป้องกันสัตว์ต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ส่วนการผลิต และมีการควบคุมการเข้า-ออกของคนผ่านทางช่องทางเข้า-ออกที่กำหนด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม

 

3.1.3 โรงเรือน

หลักการ

          โครงสร้างโรงเรือนที่แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ มีพื้นที่เพียงพอ และมีการจัดการให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสุกร จะส่งผลดีต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์

3.1.3.1 มีโครงสร้างแข็งแรง ถูกสุขลักษณะ มีการระบายอากาศที่ดีง่ายต่อการทําความสะอาดและบำรุงรักษา

3.1.3.2 มีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยงสุกร และมีสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนเหมาะสมกับสายพันธุ์ ขนาด และอายุของสุกร

3.1.3.3 กรณีโรงเรือนปิดซึ่งมีการควบคุมสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิความชื้น การระบายอากาศและแสงสว่างให้มีสัญญาณเตือนและมีมาตรการดำเนินการในกรณีอุปกรณ์อัตโนมัติไม่ทำงาน ไฟฟ้าดับหรือขัดข้อง

3.2      การจัดการฟาร์ม

3.2.1    คู่มือการจัดการฟาร์ม

หลักการ

          คู่มือการจัดการฟาร์มสุกรที่มีรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญของฟาร์มสุกร จะช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถนําคู่มือไปใช้ในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กําหนดไว้อย่างถูกต้อง และช่วยให้การจัดการฟาร์มสุกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

3.2.1.1 มีคู่มือการจัดการฟาร์มที่แสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม ได้แก่

          1) การเตรียมโรงเรือนก่อนนำสุกรเข้าเลี้ยง

          2)  การจัดการฟาร์ม

          3) ระบบการเลี้ยงสุกร

          4) การจัดการอาหารและน้ำสำหรับสุกร

          5) การทำความสะอาดและบำรุงรักษาโรงเรือน และอุปกรณ์

          6) การจัดการด้านสขภาพสุกร

          7)การควบคุมสัตว์พาหะ

          8)การจัดการด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม

          9)การจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์

          10)การบันทึกข้อมูล

3.2.1.2 มีการจัดทำเอกสารสำหรับขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานที่สำคัญ

 

3.2.2    การจัดการอาหารและน้ำ หลักการการจัดการให้สุกรได้รับอาหารและน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความ

ต้องการ จะส่งผลดีต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์

3.2.2.1 ใช้อาหารสัตว์ที่มีีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสุกร ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

3.2.2.2 ห้ามใช้สารต้องห้ามตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

3.2.2.3 การผสมยาลงในอาหารสัตว์ให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร แยกพื้นที่เก็บอาหารสัตว์ผสมยาออกจากพื้นที่เก็บอาหารทั่วไป และมีป้ายบ่งชี้

3.2.2.4 มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์ทางกายภาพเบื้องต้น

3.2.2.5 จัดภาชนะและอุปกรณ์ให้อาหารเหมาะสมกับอายุขนาด และจำนวนของสุกร และจัดวางในตำแหน่งที่สุกรทุกตัวเข้ากินอาหารได้

3.2.2.6 มีสถานที่เก็บอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สะอาด ระบายอากาศดีสามารถป้องกันความชื้น เชื้อราและสัตว์พาหะต่างๆ ได้โดยแยกออกจากสถานที่เก็บเครื่องมือ อุปกรณ์และสารเคมีเป็นพิษ

3.2.2.7 นำอาหารสัตว์ที่เก็บไว้ก่อนออกใช้ก่อน (first in - first out)

3.2.2.8 นํ้าที่ใช้ในฟาร์มได้รับการป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งที่เป็นอันตราย หรือมีมาตรการในการปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาใช้

3.2.2.9 มีน้ำสะอาดให้สุกรกินได้อย่างทั่วถึง

3.2.3    การจัดการโรงเรือน อุปกรณ์และการบำรุงรักษา

หลักการ

          การจัดการโรงเรือน อุปกรณ์ให้สะอาด เป็นการลดการสะสมของเชื้อก่อโรค และการบํารุงรักษาโรงเรือนอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจะช่วยให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อสุกรและ

บุคลากร

3.2.3.1 ทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์ให้ถูกสุขลักษณะ และบํารุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุกรและบุคลากร

3.2.3.2 นํามูลสัตว์ออกและทำความสะอาด ไม่ให้เกิดการหมักหมมภายในโรงเรือนและบริเวณรอบๆ

3.2.3.3 ภายหลังจากย้ายสุกรออกจากโรงเรือน ให้ทําความสะอาด ฆ่าเชื้อคอกและอุปกรณ์และปิดพักไว้ก่อนนำสุกรรุ่นใหม่เข้าเลี้ยง ตามระยะเวลาที่กรมปศุสัตว์กำหนด

3.2.3.4 มีมาตรการควบคุมและกำจัดสัตว์พาหะที่เหมาะสม

 

3.3 บุคลากร

หลักการ

บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตามหน้าที่ความรับผิดชอบ มีสุขลักษณะส่วนบุคคลและสุขภาพดีจะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสุกรได้รับการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพอย่างถูกต้อง

3.3.1    มีจํานวนบุคลากรเพียงพอ จัดแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยคํานึงถึงจำนวนสุกรที่เลี้ยง

3.3.2    บุคลากรมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการปฏิบัติงาน บุคลากรที่ทําหน้าที่เลี้ยงสุกรต้องมีความรู้โดยได้รับการฝึกอบรม หรือการฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานในการเลี้ยงสุกร

3.3.3    มีสัตวแพทย์ที่มีใบรับรองเป็นสัตว์แพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรจากกรมปศุสัตว์

3.3.4    บุคลากรมีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดีและได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ที่สำคัญ

3.3.5    มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคเข้าสู่ส่วนการผลิตผ่านทางบุคลากร เช่น การจัดเตรียมห้องอาบน้ำ เครื่องแต่งกายและรองเท้าสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

3.3.6    บุคลากรที่เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อซึ่งอาจปนเปื้อนสู่ระบบการผลิต ห้ามเข้าปฏิบัติงานภายในส่วนโรงเรือนเลี้ยงสุกร

3.4      สุขภาพสัตว์

3.4.1    การป้องกันและควบคุมโรค

หลักการ

มาตรการป้องกันและควบคุมโรค เช่น ความปลอดภัยทางชีวภาพ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีความสำคัญต่อสุขภาพของสุกร ช่วยให้

สามารถป้องกันการแพร่กระจายและควบคุมเชื้อก่อโรคผ่านทางคนสัตว์ และยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.4.1.1 มีมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเหมาะสม ภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร

3.4.1.2 มีมาตรการป้องกันโรคที่อาจมากับสุกรรุ่นใหม่ที่นำเข้าฟาร์ม

3.4.1.3 มีการป้องกันและควบคุมโรคที่มากับยานพาหนะ อุปกรณ์และบุคคลก่อนเข้า-ออกฟาร์ม รวมถึงมีการจดบันทึกการผ่านเข้า-ออกฟาร์มที่สามารถตรวจสอบได้

3.4.1.4 มีโปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงการกำจัดพยาธิภายในและภายนอก ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร

3.4.1.5 กรณีที่เกิดโรคระบาดหรือสงสัยว่าเกิดโรคระบาดต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และคำแนะนำของกรมปศุสัตว์

3.4.2    การบำบัดโรคสัตว์

หลักการ

การบำบัดโรคสัตว์จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรเพื่อให้สุกรได้รับการตรวจวินิจฉัย การรักษา การป้องกันการเกิดโรคอย่างถูกต้องและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์รวมทั้งไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

3.4.2.1 การบําบัดโรคสัตว์ต้องอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรโดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

3.4.2.2 การใช้เข็มฉีดยาสุกร ต้องมีวิธีปฏิบัติงานในการป้องกันไม่ให้เข็มฉีดยาหักค้างในตัวสัตว์และมีมาตรการแก้ไขในกรณที่เกิดปัญหา

3.5      สวัสดิภาพสัตว์

หลักการ

การจัดการการเลี้ยงสุกรต้องคํานึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์เพื่อให้สุกรสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ มีความเป็นอยู่ที่ดีีและไม่เกิดความทุกข์ทรมาน

3.5.1    เลี้ยงหรือดูแลให้สุกรมีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขอนามัยที่ดีมีที่อยู่ อาหารและนํ้าอย่างเพียงพอ โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

3.5.2    กรณีที่สุกรป่วย บาดเจ็บ หรือพิการ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ให้ปฏิบัติอย่างเหมาะสมไม่ให้เกิดความทุกข์ทรมาน โดยการพิจารณาทำการุณยฆาตให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรหรือบุคลากรที่ได้รับมอบหมายจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร

3.6 สิ่งแวดล้อม

หลักการ

การจัดการซาก ขยะ ของเสีย และนํ้าเสียจากฟาร์มสุกรจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงต้องมีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง

3.6.1    จัดเก็บขยะมูลฝอยในภาชนะที่มี ฝาปิดมิดชิด นำไปกำจัดอย่างเหมาะสมและถูกสุขลักษณะ

3.6.2    มีวิธีการจัดการมูลฝอยติดเชื้อและขยะอันตราย แยกจากขยะทั่วไป

3.6.3    กำจัดและทำลายซากสุกรด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยอยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร

3.6.4    มีระบบบําบัดนํ้าเสียเพื่อปรับปรุงคุณภาพของนํ้าทิ้ง โดยนํ้าทิ้งจากฟาร์มสุกรต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการกำหนดให้การเลี้ยงสุกรเป็นแหล่งกําเนิดมลพิษที่

จะต้องถูกควบคุมการปล่อยนํ้าเสียลงสู่แหล่งนํ้าสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร

3.6.5    มีการจัดการมูลสุกรและการป้องกันกลิ่นรบกวน

3.7 การบันทึกข้อมูล

หลักการ

การบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลมีความสำคัญที่จะช่วยในการวิเคราะห์หาสาเหตุที่มาของปัญหาหรือข้อผิดพลาดในการจัดการ และตามสอบการทำงานในแต่ละขั้นตอนว่ามีความถูกต้องตามวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้

3.7.1    มีการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สําคัญในการจัดการฟาร์ม ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสุกรและการควบคุมโรค การจัดการด้านการผลิต รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดังนี้

1)ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสุกร เช่น หมายเลข อายุ เพศ พันธุ์ประวัติการผสมพันธุ์การคลอดการได้รับวัคซีน และการรักษาพยาบาล

2)การจัดการอาหารและน้ำ เช่น แหล่งที่มาของอาหารและน้ำ การให้อาหารและน้ำ

3)การรับสุกรที่แสดงแหล่งที่มา

4)การจำหน่ายและกระจายสุกร

5)การเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะ

6)การใช้สารเคมียาฆ่าเชื้อ หรือวัตถุอันตราย

7)การใช้วัคซีนและยาสัตว์ เช่น ใบส่งยาสัตว์ ใบมอบหมายการใช้ยาสัตว์

8)ข้อมูลบุคลากร เช่น ประวัติบุคลากร ประวัติการฝึกอบรมหรือการถ่ายทอดความรู้หน้าที่ความรับผิดชอบ และผลการตรวจสุขภาพประจำปี

9)บันทึกที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำเสีย

3.7.2ให้เก็บรักษาบันทึกข้อมูลเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

     การขอใบรับรองอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับของสุกรผ่านระบบ  TAS License (กดลิงค์เข้าระบบ TAS-license) 

ตอนท้ายของการอบรม มีการทดสอบจากการอบรม ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรม ต่างจริงจังการอบรมในครั้งนี้อย่างมาก จึงสะท้อนให้เห็นว่าอีกไม่นาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการผลิตสุกรเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ หลังกลุ่มฟาร์มครบวงจร เริ่มเข้ามาใช้ระบบฟาร์มสมาชิกครอบคลุมมากขึ้น  ที่จะเป็นผลดีต่อการดูแลกันและกันมากขึ้น 

 

 

Visitors: 422,979