TSVA 2

เสวนาขันน๊อต ASF เกษตรกรอีสานใต้สู้ต่อ หลังราคาฟาร์มเกินทุน กับ คณาจารย์ชั้นนำครบทีม
13 พฤษภาคม 2568 สุรินทร์ - นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ทีมผู้บริหารและที่ปรึกษาร่วมอัพเดทความรู้ในการดูแลฟาร์ม และชี้จุดเสี่ยงต่างๆ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอีสานใต้ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
          นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ กับ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กรมปศุสัตว์ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


          คุณอาทิตย์ อังคสิทธิ์ กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต้อนรับสมาชิกและผู้เข้าร่วมเสวนา และรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ให้กับประธานในพิธีเปิด โดยนายสัตวแพทย์อภิชัย นาคีสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ ประธานกล่าวขอบคุณผู้จัดงาน กล่าวถึงโรค ASF แม้จะเริ่มเบาบางลงแต่ก็ยังคงต้องตื่นตัว เฝ้าระวังโรคต่อไป โดยขอให้เกษตรกรที่เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้นำความรู้ไปปรับใช้กับฟาร์ม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ด้วย


          คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ เลขานุการชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอในหัวข้อรายย่อยทำอย่างไรจึงรอดพ้นโรคอหิวาแอฟริกาในสุกร โดยกลุ่มของผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีจำนวนเกษตรกรถึง 85% แต่มีผลผลิตเพียง 15% ยังคงเป็นเกราะกำบังให้อุตสาหกรรมสุกรทั้งประเทศให้ยังคงอยู่ได้ แม้องค์ประกอบหลัก เช่น ต้นทุนการผลิตยังคงสูงกว่าประเทศต่างๆ มาก


          อุตสาหกรรมสุกรของไทยเพิ่งรอดพ้นจากวิกฤต ASF แต่ก็ต้องมาเผชิญกับวิกฤตหมูเถื่อน ที่เป็นตัวทำลายล้างอย่างแท้จริง ราคาหมูเถื่อนเป็นราคาอ้างอิงในตลาดทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยไม่รู้ว่าจะว่าจะไปขายหมูของตัวเองที่ไหน
          เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรหลักๆจะมีอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยประเด็นหลักของการดูแลฟาร์ม ยังคงต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่สามารถปรับขนาดให้เล็กลงตามขนาดของฟาร์มได้ โดยจะเน้นไปที่การลดการต่อเชื้อในฟาร์ม เช่น แยกจุดขายหมู แยกอุปกรณ์ที่ใช้ในแต่ละส่วนงานของฟาร์มอย่างชัดเจน โดยต้องเข้าใจองค์ประกอบทางระบาดวิทยา เน้นการซื้อหมูเข้าฟาร์มและการจับออกขายเป็นกลุ่มๆ ไป


          หลังจากนั้นเป็นช่วงของ TSVA ขันน็อต...ไบโอซีเคียวริตี้สู้ ASF โดย ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช ที่ปรึกษาสมาคมสัตว์แพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ได้ให้ความรู้เรื่องต้นกำเนิดของโรค ASF จนถึงปัจจุบัน จากวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป ความรุนแรงของโรค จุดเสี่ยงต่างๆ ในฟาร์ม โดยเฉพาะจุดขายที่มีความเสี่ยงสูงถึง 63% ทำให้การจัดการจุดขายของแต่ละฟาร์มเปลี่ยนไป ความเสี่ยงที่มาจากคนจะมีถึง 25% ตัวหมูเองที่ 7% และยานพาหนะ 4%
          การเปรียบเทียบความรุนแรงของเชื้อใน 3 ชนิดของโรคตั้งแต่ ASF CSF และ FMD
          การพัฒนาวัคซีนยังคงได้ผลดีเฉพาะในห้องปฏิบัติการ โดยปัจจัยความสำเร็จของการกลับมาเลี้ยงใหม่จะอยู่ที่
 การเพิ่มพูนความรู้เรื่องโรค ASF
 โครงสร้างฟาร์มแบบระบบปิด
 การป้องกันสัตว์พาหะ
 ตรวจเชื้อในสุกรทดแทน
 ระยะห่าง กับ ฟาร์มข้างเคียง

          สัตวแพทย์หญิง ดร.เมตตา เมฆานนท์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยได้อัพเดทสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในบ้านและประเทศรอบบ้าน โดยประเทศศรีลังกาเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียที่มีรายงานการระบาดของโรค เป็นลำดับที่ 20
          ประเทศฟิลิปปินส์มีความพยายามป้องกันโรคภายใต้นโยบายที่มีการควบคุมของรัฐบาลในการให้วัคซีน โดยมีเงื่อนไขว่าสุกรที่จะได้รับวัคซีนจะต้องมีสุขภาพที่ดี และมีผลตรวจเป็นลบก่อนการทำวัคซีน
          ประเทศอินโดนีเซียมีฟาร์มเป็นจำนวนมากที่คุมโรคสำเร็จ ซึ่งมาจากการปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพและเปลี่ยนเป็นระบบปิด การเข้มงวดกับคนงาน เช่น การอาบน้ำก่อนเข้าฟาร์ม และงดรับแขก บุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม
          ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มีความต้องการการรับรองระบบคอมพาสเม้นท์ เนื่องจากปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศ และแหล่งกำเนิดเดิมที่ส่งเนื้อสุกรเข้าไปในประเทศมีจำนวนน้อยกว่าความต้องการ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ระบบคอมพาสเม้นท์อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำอย่างเร่งด่วน
          ประเทศเวียดนามมีการกลายพันธุ์ของเชื้อซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก อาการมีหลายระดับมีความรุนแรงและเรื้อรังจนถึงขั้นที่ไม่แสดงอาการ เป็นประเทศที่ผลิตวัคซีนออกมาในเชิงพาณิชย์ และมีการอนุญาตให้ใช้ แต่ว่าไม่ได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันเชื้อยังคงอยู่ในธรรมชาติและในสุกรพันธุ์ และสุกรขุน โดย
     1) เชื้อธรรมชาติจะเรียกว่าเชื้อ G2
     2) เชื้อ G2 เป็นเชื้อลูกผสม จากเชื้อธรรมชาติผสมกับเชื้อจากวัคซีน
     3) เชื้อ G1 + G2 รวมตัวกัน

สถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย

 ประเทศไทยรายงานการตรวจพบเชื้ออหิวาแอฟริกาในสุกรครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565
 กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการและกิจกรรมการเฝ้าระวังโรคทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี พ.ศ. 2566 และพ.ศ. 2567 สถานการณ์การเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีแนวโน้มลดลง

          โดยในกลุ่มของฟาร์มที่ปรับไบโอซีเคียวริตี้สำเร็จ มีการขยายขนาด จำนวนประชากรสุกร ส่วนฟาร์มที่ไม่สำเร็จมีการลดขนาดและเลิกกิจการ

ปัญหาและอุปสรรคในประเทศไทย

 ช่วงแรกเป็นโรคอุบัติใหม่ เกษตรกรไม่รู้จักโรค จึงเกิดสุกรป่วยและตายเป็นจำนวนมาก
 การป้องกันโรคไม่ดี เช่น ฟาร์มมีสัตว์พาหะ หรือขาดไบโอซีเคียวริตี้ที่ดี
 ทำลายสุกรไม่ถูกวิธี เช่น ทิ้งสุกรลงในน้ำ หรือการฝังที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ
 ลักลอบขายสุกรป่วย ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อที่รวดเร็ว
 เกษตรกรปกปิดไม่แจ้งข้อมูล
 พบการลักลอบใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยส่วนมากพบในสุกรพ่อพันธุ์ที่รับจ้างผสม โดยเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรสามารถติดต่อไปยังลูกสุกรได้
 ประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้า ขาย และใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค ASF
 การพัฒนายังไม่ประสบความสำเร็จ บางชนิดฉีดแล้วสุกรตายทันที บางชนิดไม่สามารถป้องกันโรคได้ วัคซีนเชื้อเป็นกลายพันธุ์ผสมกับเชื้อธรรมชาติ

          รองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ณัฐวุฒิ รัตนวณิชโรจน์ ผู้บริหารฟาร์ม RMC ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ใช้กรณีศึกษาจากประสบการณ์ตรงมานำเสนอ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการใช้บริหารด้านสุขภาพ และการป้องกันโรคในฟาร์ม โดยประเด็นแรกจะพูดถึง 3 สิ่งที่ต้องทำเพื่อหยุดการแพร่กระจายเมื่อความติดเชื้อ ASF
1. Early Detection (ตรวจพบเร็ว)
 ทำไมต้องตรวจพบเร็ว
     o ระยะฟักตัว 4-22 วันสามารถแพร่เชื้อก่อนแสดงอาการป่วย
     o การแพร่เชื้อต่ำ กำจัดตัวป่วยได้เร็ว
     o ประเมินอย่างไร
     o รอยโรคและอาการ
     o ในพื้นที่ระยะเวลาและสถานที่การเกิดตัวป่วยที่ 2 ในโรงเรือนเดียวกัน
     o การตรวจพบเร็ว แต่เท่าไหร่จึงเรียกว่าเร็ว
     o Routine Surveillance
     o นับจากมีอาการหรือ แม่ตาย
 วิธีการ
     o ความเห็นผู้บรรยาย ยอม False Positive ดีกว่า False Negative
     o ตรวจโดย ATK
     o ตรวจโดย qPCR
 Early detection
     o ตรวจโดย ATK
     o ตรวจโดย qPCR
     o ตรวจตัวแรกและตัวป่วยใหม่
 Isolation
     o "แยก" ตัวที่ป่วยหรือสงสัยว่า ASF+ ทันที
     o ประเมินการลุกลามของโรค
     o คัดทิ้งในปริมาณที่เพียงพอ
2. Logistics (Flow) Analysis (วิเคราะห์การเคลื่อนที่ภายในฟาร์ม)
 โลจิสติกส์ หรือ ลอจิสติกส์ (Logistics) เป็นระบบการจัดการการส่งสินค้าข้อมูลและทรัพยากร จากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับการผสมผสานของ ข้อมูล การขนส่ง การบริหารวัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ โลจิสติกส์เป็นช่องทางหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์ของเวลาและสถานที่
3. Algorithm (กำหนดขั้นตอนการทำงานเมื่อเกิดการระบาด) : การวางแผนเพื่อรับมือการแพร่กระจายของ ASF เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในฟาร์ม
 วัตถุประสงค์
     o วางแผนล่วงหน้า รวดเร็ว ตัดเรื่องความรู้สึก(เสียดาย สงสาร)
     o สามารถแก้ปัญหาถูกต้อง เป็นลำดับขั้นตอนความเสียหาย
     o ลดความสับสน
     o สื่อสารชัดเจนและครอบคลุม
 Algorithm ที่ควรจะเป็น
     o กำหนดลำดับขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเมื่อเกิดปัญหา (SOP หรือ Standard Operating Procedure)
     o กำหนดระดับของความรุนแรงของปัญหา (จำนวนป่วย การแพร่กระจาย)
     o กำหนดวิธีการ ผู้รับผิดชอบ เครื่องมือ ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดชัดเจน (SOP)
     o ถูกต้องตามหลักวิชาการและทำได้จริง เช่น การใช้ยาฆ่าเชื้อ
     o มีงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสม
     o มีการปรับปรุงเป็นระยะตามความเหมาะสม

          ช่วงท้ายของการเสวนา ศ.น.สพ.ดร. รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช ชี้แจงเรื่องโรคแอนแทรกซ์ ที่มีข่าวการระบาดในวัวว่า เกิดจากกลุ่มแบคทีเรียที่มีสปอร์ สามารถตกค้างในพื้นที่ธรรมชาติได้นาน 40-50 ปี จึงมีความเสี่ยงกับปศุสัตว์ที่เลี้ยงแบบไล่ทุ่ง ต่างจากสุกรที่เลี้ยงในระบบฟาร์มแบบโรงเรือน (ที่มีทั้งมาตรฐานฟาร์ม และ กฎหมายการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่าย) โดยแนะนำให้บริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุกทุกชนิด

          กรมปศุสัตว์ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอขอบพระคุณผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ให้ลุล่วงและบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ซึ่งความรู้ที่ได้จากงานเสวนาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการฟาร์มสุกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ และผู้เข้าร่วมงานเสวนาทุกท่าน

 

 

Visitors: 472,851