Pig Small Holder Seminar
ชมรมหมูรายย่อยอีสานหวังฟื้นเศรษฐกิจอีสานผ่านการฟื้นผู้เลี้ยงรายย่อย จัดอบรมการจัดการฟาร์มเสริมความรู้รายย่อยที่ขอนแก่น
วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น – ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือระดมคณาจารย์ให้ความรู้แบบองค์รวมแก่ผู้เลี้ยงสุกร เขต 4 และเสริมด้วยความรู้ด้านเศรษฐกิจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานปศุสัตว์ เขต 4 กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "การควบคุมและป้องกันโรคที่สำคัญในสุกร" พร้อมทั้งมีการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ด้านปศุสัตว์สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นที่คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีคณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.บัณฑิต แก้วเจริญกุล กล่าวให้การต้อนรับ และยินดีกับการให้บริการทางด้านวิชาการ ด้านสัตวแพทย์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร นอกเหนือจากการให้การศึกษาด้านสัตวแพทย์
โดยมีนายสัตวแพทย์ชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นให้เกียรติมาเปิดการอบรม ซึ่งได้กล่าวถึงมาตรฐานฟาร์ม GAP มีความแตกต่างจาก GFM ในด้านชีวภาพอย่างชัดเจน เช่น การเคลื่อนย้ายสู่โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป การได้รับมาตรฐานฟาร์มสามารถเดินทางเคลื่อนย้ายได้ไกลมากขึ้น จนถึงการได้รับการรับรองเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตามโรค ASF สำหรับประเทศไทย ได้รับการเฝ้าระวังเป็นอย่างดี ซึ่งเกษตรกรเองต้องทำความเข้าใจระบบการควบคุมทางชีวภาพของฟาร์ม
ศาสตราจารย์ ดร.ฮอนยู จอง ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ เทคนิคการสุขาภิบาลเพื่อควบคุมและป้องกันโรคที่สำคัญในสุกร โดยให้แนวทางอย่างละเอียด พร้อมลงรายละเอียดด้านการจัดระบบเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการฟาร์ม ข้อมูลจำนวนสุกรพันธุ์ สุกรขุน ต้องทราบชัดเจน เพื่อนำฐานข้อมูลไปใช้ต่อเนื่อง การเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อที่ตรงกับที่ฟาร์มต้องการฆ่าเขื้อ ความเข้มข้นของยาฆ่าเขื้อ กับ เชื้อไวรัสแต่ละชนิด โดยต้องคำนึงถึงระยะเวลาประกอบ เพื่อผลสูงสุดกับการทำลายเชื้อโรค
Dr.จอง เน้นให้อ่านใบประกอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในฟาร์มให้ละเอียด เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ กับ โรคแต่ละชนิดที่ปริมาณ เงื่อนไขที่สามารถได้ประโยชน์กับฟารฺ์มมากที่สุด
นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดถึงเส้นทางการติดเชื้อของโรคชนิดต่างๆ ซึ่งจะต้องให้คนในฟาร์มเข้มงวดกับช่องทางในการติดต่อของโรคต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น PRRS FMD และโรคสุกรอื่นๆ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนชนิดที่ไม่ใช้เข็ม ซึ่งก็จะเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นมาในอดีต เช่นกัน
การฝึกอบรมพนักงานในฟาร์มควรมีการจัดเป็นระยะๆ การจัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบสะดวกเก็บสะดวกใช้เก็บเวชภัณฑ์ให้เป็นระเบียบเครื่องมือเครื่องใช้ พร้อมทั้งสถานที่ และอุปกรณ์ต่างๆ อำนวยความสะดวกในเรื่องของการกักกัน และ พักระยะของสุกร เขตต่างๆ ในฟาร์ม ควรมีสัญลักษณ์ชัดเจน เช่น มีแถบสีที่ระบุว่าบุคคลภายนอกห้ามเข้าเขตดังกล่าว ซึ่งควรจะทำทั้งฟาร์มเล็ก หรือฟาร์มใหญ่ นอกเหนือจากการเขียนป้ายไว้ระบุ "บุคคลภายนอกห้ามเข้า"
รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงด็อกเตอร์ กชกร ดิเรกศิลป์ ได้ให้รายละเอียดความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีน ASF โดยสามประเด็นหลักของการต่อสู้ ASF ประกอบด้วย
1. Biosecurity ที่ดีในฟาร์ม
2. การสร้างภูมิคุ้มกัน
3. การคัดเลือกพันธุ์สุกร
โดยมีชนิดของวัคซีน ASF ที่กำลังเร่งพัฒนา โดยแนวที่ศึกษาไปแล้วประกอบไปด้วย
1) วัคซีนเชื้อตายไม่มีความคุ้มโรค
2) เชื้อเป็นแบบดั้งเดิม พบมีผลข้างเคียงหรือไม่คุ้มโรคเลยเพราะไวรัสแปรสภาพเกินที่จะกระตุ้นภูมิต่อไวรัสในฟาร์มเนื่องจากยังไม่มี CELL LINE ที่เหมาะสมกับ ASFV
3) เชื้อเป็นที่ทำมาจาก ASFV สายพันธุ์รุนแรงน้อยในธรรมชาติ นำมาใช้เป็นวัคซีน ยังพบมีผลข้างเคียงหรือไม่ค่อยคุ้มโรคข้ามสายพันธุ์
4) Sub-unit vac/Virus-vectored vaccines ทดลองทำวัคซีนทั้งแบบโปรตีนชนิดเดียว และผสมหลายโปรตีน เช่น P30, p72, p54, CD2v
5) DNA/RNA/mRNA vaccines ยังไม่สามารถผลิตได้ จนกว่าจะรู้ทุกหน้าที่ของยีนอย่างชัดเจน จึงจะเลือกยีนมาใช้ได้
6) เชื้อเป็น ตัดยีนรุนแรง ผลิตโดยวิธีทางพันธุวิศวกรรม ตัดยีนรุนแรงออกจากไวรัส ไวรัสยังคงมีชีวิตแต่ไม่ก่อโรค
หลายประเทศกำลังมุ่งพัฒนาการตัดยีนต่างๆ โดยการตัดยีนตัวเดียวกันใน ASFV ต่างสายพันธุ์ ให้ผลแตกต่างกันดังนั้นเราต้องศึกษาไวรัสในแต่ละพื้นที่เพื่อจะได้ออกแบบวัคซีนให้ตรงกันกับตัวที่ก่อโรคในฟาร์ม
วัคซีน ASFV ตัดยีนที่กำลังใช้ในขณะนี้ ตัวหนึ่งที่ผ่าน Regulatory Approval ของกระทรวงเกษตรของสหรัฐเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 มี 3 วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนการค้าในเวียดนาม โดยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2567 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้นำ AVAC ของเวียดนามไปทดสอบใช้แบบฉุกเฉินในกลุ่มของฟาร์มย่อย โดยของไทยมีการทดสอบ เช่นกัน ยังไม่ผ่าน Potency Test
โดยการบรรยายของ ดร.กชกรทำให้ผู้เข้าฟังรับทราบความเคลื่อนไหวและรู้จักกลไกการวิจัยและแนวทางการทดลอง ซึ่งวิจัยทั่วโลกยังคงมองว่าน่าจะมีวัคซีนที่ประสบความสำเร็จอย่างต่ำอีก 5 ปีขึ้นไป ซึ่งสุดท้ายแล้วความปลอดภัยทางชีวภาพจะเป็นเรื่องที่ต้องมาอันดับหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร
ในขณะนี้คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงศ์ เลขานุการ ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “รายย่อยทำอย่างไรจึงรอดพ้นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”
โดยคุณอุดมศักดิ์เริ่มบรรยายให้เห็นภาพถึงธุรกิจการเลี้ยงสุกรด้วยแนวคิดบันได 3 ขั้น ตั้งแต่คนเลี้ยงหมู หมูเลี้ยงหมู หมูเลี้ยงคน และมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าเกือบจะสิ้นสุด เมื่อมีกระบวนการหมูเถื่อนลักลอบเข้ามาจำหน่ายแย่งตลาดผู้ผลิตสุกรในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นขั้นของคนเลี้ยงหมูตกต่ำ ที่ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยต้องหยุดและออกจากอาชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับวงการสุกรไทยถ้าไม่มีรายย่อยเป็นกันชนให้กับวงการ โดยมองว่าการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันของไทยอยู่ในภาวะถดถอย เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาขายให้กับตัวเองได้ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง มีโรคระบาดร้ายแรงที่สร้างความเสียหายสูง
แต่อย่างไรก็ตามข้อดีของรายย่อยสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรรายใหม่ๆ ขึ้นมาในอุตสาหกรรม เพราะรายใหญ่ๆ ในปัจจุบันก็เริ่มมาจากรายย่อย
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรสูงขึ้นในเรื่องของการป้องกัน โดยผู้บรรยายมองว่าการพ่นยาเหมือนพิธีกรรม ไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างเห็นผล จึงต้องแยกอุปกรณ์ต่างๆแต่ละแผนกอย่างชัดเจน เช่น รองเท้า 3 คู่ที่แบ่งแยกเขตพื้นที่อย่างชัดเจน รถเข็นหมู 5 คัน โดยที่ผ่านมาการจับหมูในคอกเลี้ยงสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมากเพราะเป็นเรื่องที่อันตรายที่สุด เกษตรกรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยน ตัดจุดของ Contact Transmission อย่างเด็ดขาด โดยตัวอย่างที่คุณอุดมศักดิ์นำเสนอสามารถเป็นข้อตระหนักอย่างยิ่งกรณีจุดไหนที่มีการเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งและมีตัวกลางในการนำโรค ให้ตัดให้เด็ดขาด
คุณมนัสชัย จึงตระกูล รองผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพเศรษฐกิจของอีสานขึ้นอยู่กับภาคเกษตรเป็นหลัก ตัวเลขการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเมื่อเทียบจากการกราฟการขึ้นลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะแปรผันตามภัยแล้ง โดยแรงงาน 53% อยู่ในภาคเกษตร แต่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียง 1 ใน 5 ของภาคอีสาน ประชากร 6.4 แสนครอบครัว มีรายได้ต่อครัวเรือนต่อปีเฉลี่ย 94,300 บาท
ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคเกษตรอีสาน ประกอบด้วย
1. แหล่งน้ำต้นทุนมีจำกัด ต้องพึ่งพาฟ้าฝน
2. นโยบายภาครัฐไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัว เกษตรกรปลูกพืชหลักไม่กี่ชนิด ผลิตภาพมีแนวโน้มถดถอยลงเรื่อยๆ
3. ภาระหนี้สินฉุดรั้งการพัฒนา เกษตรกรอีสานกว่า 93% มีภาระหนี้ และมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง สะท้อนให้เห็นชัดถึงความเปราะบางและรูปแบบของการพัฒนาที่ผ่านมา
คุณมนัสชัย ได้นำเสนอกรณีศึกษาตัวอย่างการปรับตัวของเกษตรกรบางกลุ่ม เช่น โครงการ "ศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด" จังหวัดร้อยเอ็ด ทำน้อยแต่ได้ผลผลิตมาก ลดต้นทุน เพิ่มกำไรผลผลิตต่อไร่สูง เปลี่ยนแปลงการใช้ข้าวหว่านนา เปลี่ยนเป็นใช้วิธีหยอดสามารถลดพันธุ์ข้าวจากไร่ละ 30 กิโลกรัม เหลือแค่ไร่ละ 1 กิโลกรัมและสามารถเพิ่มผลผลิตได้ 2 เท่า ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 300 ครัวเรือน ได้ประโยชน์ ช่วยลดต้นทุนในการทำเกษตรกว่า 23 ล้านบาท
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าว ตำบลบ้านผึ้ง จังหวัดนครพนม รวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ สร้างผลผลิตอินทรีย์มาตรฐานสากล เคยมีสมาชิกเครือข่ายภายในจังหวัด 28 เครือข่าย 500 ครัวเรือน เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ 8 จังหวัดอีสานครอบคลุมพื้นที่กว่า 25,000 ไร่
ไทบ้านฟาร์มเมอร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำเกษตรแบบไทบ้าน บริหารกิจการแบบสมัยใหม่ “ต้นทุนต่ำ ทำกำไรสูง” คว้าโอกาสจาก “กระแสและวิกฤต” มาปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เป็นรายได้ที่มั่นคง
ใช้ความคิดสร้างสรรค์ยกระดับสินค้าเกษตรอีสานจาก “local สู่เลอค่า” เช่น ดีไซน์เสื่อกกไทย ยกระดับให้โมเดิร์น เปลี่ยนเสื่อกกจักสาน เป็นของแต่งบ้านมีสไตล์ สร้างสรรค์วัตถุดิบธรรมชาติให้ “มีคุณค่าเพิ่มการจ้างงานแบ่งปันรายได้สู่ชุมชน”
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลงานวิจัยที่สามารถนำไปเป็นประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือการปรับเปลี่ยนแนวคิดการบริหารเศรษฐกิจในแต่ละปี มีจำนวนมากที่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
นายสัตวแพทย์ปัญญาวัฒน์ ใสกาง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นำเสนอในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสุกรและด้านปศุสัตว์
สุดท้ายจะเป็นการบรรยายของสัตวแพทย์หญิงเกศวดี โคตรภูเวียง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ จะเป็นในเรื่องของการขอใบอนุญาตผลิตสัตว์ การค้าด้านการเกษตร หรือ มกษ.2 ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ใน TAS license ทั้งหมด สัตวแพทย์หญิงเกศวดี โคตรภูเวียง ให้ความรู้ในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ.6403-2565) ซึ่งเป็นบทบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ 2566 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ 2551 ที่มีระดับมาตรฐานทั่วไป มาตรฐานบังคับ โดยในการอบรมจะเป็นมาตรฐานภาคบังคับ มีกฎกระทรวงกำหนดให้สินค้าเกษตรต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ผลิตต้องดำเนินการเพื่อได้รับเอกสารดังนี้
1. ใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตจากสำนักงาน มกอช.
2. ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAPที่มีอายุใบอนุญาตอายุ 3 ปี
3. แสดงใบอนุญาต เครื่องหมายการรับรอง
สำหรับฟาร์มในเกณฑ์มาตรฐานบังคับซึ่งได้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์มจะมีการติดแผ่นป้ายเครื่องหมาย Q เป็นภาคบังคับไว้ ที่เรียกว่า กษ.02 ในการบรรยายจะพูดถึงคุณสมบัติผู้ประกอบการที่ขอรับรอง GAP ขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานฟาร์มตั้งแต่การยื่นแบบคำขอ จนกระทั่งถึงเรื่องเข้าประชุมคณะกรรมการเพื่อให้การรับรอง ข้อปฏิบัติต่างๆ สำหรับผู้ได้รับการรับรอง รูปแบบการตรวจประเมินมาตรฐานฟาร์ม การพักใช้ใบรับรอง กรณีไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จนกระทั่งถึงการเพิกถอนใบรับรอง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องทำความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติกรณีได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเรียบร้อย รายละเอียดเอกสารประกอบผู้ร่วมสัมมนาจะได้รับเพื่อนำไปปฏิบัติที่ฟาร์มเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นตอนและแนวทางในการตรวจสอบเพื่อการประกอบการฟาร์มทั้งหมด
โดยช่วงท้ายของการสัมมนาคุณเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้กล่าวปิดการสัมมนาโดยขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมให้งานในวันนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี เกษตรกรได้รับความรู้หลากหลาย มีมุมมองด้านการประกอบอาชีพที่ดีขึ้นในด้านการยกกรณีศึกษาที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมๆ ที่เคยทำกันมา รวมถึงอัพเดทความรู้ด้านการจัดการฟาร์มสุกร
ในนามของชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอขอบพระคุณผู้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทุกท่าน ทุกหน่วยงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนเพื่อวงการสุกรไทยได้เดินหน้าด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจของประเทศชาติสืบไป