Pig Board Meeting 1 2568

สมาคมหมูยื่นกรมปศุสัตว์ในที่ประชุม Pig Board ให้ใช้หนังหมูจากผู้ผลิตในประเทศก่อนการอนุมัตินำเข้า เผย 4 รายชื่อผู้แทนภาคเอกชน 4 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการโหวต
4 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ในที่ประชุม Pig Board ให้ใช้หนังหมูจากผู้ผลิตในประเทศก่อนการอนุมัตินำเข้า โดยที่ประชุมร่วมคัดเลือก 4 ผู้แทนภาคเอกชน และ 4 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการโหวตในวันดังกล่าว
            ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2568 ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 134

โดยที่ประชุมได้รับทราบ
           • สถานการณ์การผลิตเนื้อสุกรของโลกในปี 2568 จะลดลงร้อยละ 1 เป็น 115.1 ล้านตัน จากเดิมปี 2567 ผลิตได้ 116.02 ล้านตัน เนื่องจากแหล่งผลิตเนื้อสุกรลำดับต้นของโลก (จีนและสหภาพยุโรป) มีการปริมาณแม่พันธุ์และการบริโภคเนื้อสุกรลดลงในปี 2567 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และบราซิลมีการผลิตเพิ่มขึ้น
           • สถานการณ์การผลิตสุกรขุนของไทย ปี 2567 ผลิตได้ 23.46 ล้านตัว ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 14.67 หรือ 20.46 ล้านตัว เป็นผลจากการปรับตัวของฟาร์มสุกรที่ทำระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และราคาสุกรมีชีวิตมีเสถียรภาพในปี 2566 สำหรับปี 2567 สุกรมีชีวิต มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 72.91 บาท เนื้อสุกรชำแหละ มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 132.26 บาท และคาดว่าปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
           • สำหรับผลการดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร มีการปราบปรามเนื้อสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง และตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหัน ปี 2567 จำนวน 43,262 ตัว รวมถึงเปิดตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาสุกร
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือคุมปริมาณสุกรให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ระหว่างกรมปศุสัตว์ และผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ 16 ราย ซึ่งมีสาระสำคัญให้
                 o หยุดการขยายฟาร์มแม่พันธุ์ใหม่ คงระดับจำนวนแม่พันธุ์สุกรให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.2 ล้านตัว ในปี 2568 เพื่อลดความผันผวนของราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใรภาพรวมทั้งประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมาย โดยสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์

             นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรรมการผู้แทนภาคเอกชน ได้ยื่นหนังสือขอให้ชะลอการอนุมัตินำเข้าหนังสุกร ผ่านนายอิทธิ ศิริลัทธยากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขอให้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงชำแหละในประเทศก่อน โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า “ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของประเทศไทย ผลิตสุกรเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยข้อมูลล่าสุดคณะอนุกรรมการวิเคราะห์การผลิตและการตลาดสุกร ได้ประเมินผลผลิตสุกรในประเทศ ปี 2567 อยู่ที่ 23.49 ล้านตัว จะสามารถผลิตหนังสุกร(หนังบางไม่ติดมัน) อยู่ที่ 65,000 ตัน โดยสมาคมฯ ยินดีเป็นตัวกลางประสานผู้ประกอบการฟาร์มครบวงจรขนาดใหญ่ในประเทศ ที่มีโรงฆ่าชำแหละสุกรและมีศักยภาพในการผลิตสินค้าฯ รองรับความต้องการของบริษัทผู้นำเข้า ได้พิจารณาซื้อสินค้าภายในประเทศแทนการนำเข้าสินค้าฯ จากต่างประเทศ
             โดยช่วงท้ายของหนังสือที่ยื่นระบุว่าขอให้แจ้งบริษัทผู้นำเข้าติดต่อมายังสมาคมฯ เพื่อนัดหมายผู้ซื้อและผู้ผลิตภายในประเทศ ร่วมหารือในรายละเอียดลักษณะสินค้าหนังสุกร และจำนวนที่ต้องการ เพื่อสนับสนุนสินค้าฯ จากผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารับรองผลบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการภาคเอกชนและพิจารณาคัดเลือกเสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการฯ (Pig Board) ดังนี้

1. รับรองผลการคัดเลือกคณะกรรมการผู้แทนภาคเอกชน จำนวน 4 ท่านดังนี้
1.1 นายสุทัศน์ ตั้งธโนปจัย เป็นผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกร
1.2 นายกฤตภัค ธอุ่นเรือน เป็นผู้แทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร
1.3 นายพรชัย เอี่ยมสงวนจิตต์ เป็นผู้แทนผู้ค้า
1.4 นายวรรณา ตุ้มบุตร เป็นผู้แทนผู้ประกอบการ

2. ร่วมกันคัดเลือกกรรมการภาคเอกชนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ โดยการลงคะแนนเสียง จำนวน 4 ท่าน โดยมีผลการลงคะแนนดังนี้

2.1 นายชยานนท์ กฤตยาเชวง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการ
2.2 นายสุเจตน์ ชื่นชม เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์
2.3 นายดำเนิน จตุรวิธวงศ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตสุกร
2.4 นายเนรมิต สุขมณี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตสุกร

          โดยประธานกรรมการฯ ขอให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันทำหน้าที่ ประสานงาน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ร่วมกับภาครัฐอย่างเต็มความสามารถ ต่อไป

Visitors: 463,491