Pig Industry Overview 2024 2025
สมาคมหมู ชี้ตัวเลขความต้องการบริโภค Demand Side ของกรมปศุสัตว์ต่อวัน 64,000 ตัว ในขณะที่ Supply Side จากผู้เลี้ยง ทั้งหยุดเลี้ยง ทั้งลดกำลังการผลิต 40-50% จะให้ลดแม่พันธุ์ หรือ ชะลอการขยายฟาร์มครบวงจร ตัวเลขต้องชัดเจน
3 ตุลาคม 2567 โรงแรม โฟร์พอยท์ กรุงเทพฯ - อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจสุกรไทย ปี 2567 ต่อ 2568 ในงาน The Best Protection ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะความไม่ชัดเจน คลุมเครือของตัวเลขการผลิต การบริโภค การหยุดเลี้ยง การลดกำลังการผลิตแล้ว ตัวเลขเข้าเชือดต่อวันสูงมาก จากไหนบ้างมีการขยายการผลิตมากเกินไปหรือเปล่า
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี บรรยายพิเศษหัวข้อ “ภาพรวมธุรกิจสุกร ปี 2567-2568” ในงานThe Best Protection ที่จัดขึ้นเปิดตัว FMD Vaccine “BIOAFTOGEN” ของบริษัท แอ๊ดว้านซ์ฟาร์ม่า จำกัด โดยชี้ให้เห็นปัญหาและอุปสรรค ที่ต้องรีบแก้ไข มิฉะนั้นปี 2568 อุตสาหกรรมสุกรไทยเดินต่อยาก
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาตื ชี้ตัวเลขความต้องการบริโภค Demand Side หรือตัวเลขเข้าเชือดของกรมปศุสัตว์ปี 2567 เฉลี่ย 1.93 ล้านตัวต่อเดือน หรือ 64,000 ตัวต่อวัน ในขณะที่ Supply Side จากผู้เลี้ยง ทั้งหยุดเลี้ยง ทั้งลดกำลังการผลิต 40-50% จะให้ลดแม่พันธุ์ หรือ ชะลอการขยายฟาร์มครบวงจร ตัวเลขต้องชัดเจน Big Data ต้องชัดเจนทั้ง Demand Supply เพื่อวางแนวทางกลยุทธ์ได้ถูกทางมากขึ้น
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมสุกรให้กับผู้เลี้ยงทั่วประเทศกับทุกขนาดฟาร์ม กับ ข้อเสนอการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกเนื้อแดงพื้นฐาน สะโพก หัวไหล่ ตามโครงสร้างต้นทุนฟาร์ม ที่มีการยื่นขอเรียกร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 กับ 3 ห้างดังและ 2 บริษัทครบวงจรที่มีธุรกิจจำหน่ายปลีกเนื้อสุกร
โดยเกณฑ์ดังกล่าว เริ่มต้นจากต้นทุนการผลิตสุกรตามการประชุมคาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรแต่ละไตรมาสของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรของ Pig Board ซึ่งเป็นส่วนของราชการซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องของตัวเลข ที่ควรจะนำไปใช้ต่อเนื่อง โดยราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรส่วน สะโพก หัวไหล่ โดยเกณฑ์ราคาจำหน่ายปลีกจะเริ่มต้นตั้งแต่ 1.7 เท่าของราคาต้นทุนสุกรขุนหน้าฟาร์ม
ซึ่งได้มีการส่งรายละเอียดต่างๆ ให้กับห้างค้าปลีกทั้ง 5 แห่งที่เป็นเจ้าใหญ่ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นโดยมีการส่งสำเนาหนังสือให้กับกรมปศุสัตว์ และกรมการค้าภายใน ที่จะเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อห่วงโซ่การผลิตสุกร ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการตัวเองของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร โดยขอให้ภาครัฐทั้งกรมปศุสัตว์ และกรมการค้าภายใน เข้ามาใช้เครือข่ายช่วยกำกับดูแลเพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมสุกรในทุกกลุ่มอยู่ได้
โดยข้อมูลในสไลด์นำเสนอกล่าวถึง 3 ปัจจัยที่ต้องแก้ไขด่วนตั้งแต่
1) โครงสร้างราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งกลุ่มพืชพลังงาน และ พืชโปรตีนที่มีเงื่อนงำในส่วนต่างนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ที่ผสมโรงหลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงมีส่วนต่างราคาที่สูงเกินกว่าปกติ ที่ทำให้ภาคปศุสัตว์ ภาคอาหารสัตว์บางส่วนของไทยแบกภาระกันมากว่า 3 ปี โดยเฉพาะฟาร์มรายย่อย รายกลาง ที่พึ่งพาอาหารเม็ดจากโรงงานอาหารสัตว์ ถ้าไม่แก้ปัญหานี้ จะอยู่ยากมาก
2) Supply เนื้อสุกรจากแหล่งที่มองไม่เห็น และ
3) กลุ่มอาชญากรรมทางเศรษฐกิจด้านอาหาร ในขบวนการหมูเถื่อน ที่ต้องเร่งจัดการทั้ง 3 ข้อเพื่อให้ธุรกิจสุกรไทยเดินต่อได้
ประเด็นสำคัญธุรกิจสุกรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 3 ปี นอกเหนือจากการเผชิญกับการระบาดของโรคอหิวาแอฟริกาในสุกรตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2563 ต่อ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่กระบวนการหมูเถื่อนเริ่มก่อตัว หลังจากเห็นโอกาสในการที่จะนำเนื้อสุกรจากยุโรปและอเมริกาใต้ เข้ามาสร้างผลตอบแทนที่สูงมากเนื่องจากเป็นช่วงที่เนื้อสุกรมีผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอเพราะเกษตรกรได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคในช่วงนั้นไปประมาณ 30-40%
ผลกระทบจากการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเริ่มปรากฏเด่นชัดตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2565 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันถึงแม้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ก้าวข้ามต้นทุนซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การปล่อยให้เนื้อสุกรเถื่อนจากต่างประเทศมาเป็นราคาอ้างอิงของตลาด กลับกลายเป็นเรื่องที่น่าอับอายมากกว่าในเรื่องของการบริหารจัดการของภาครัฐ ในขณะที่ปัญหาส่วนเกินราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นโครงสร้างที่น่าจะมีเงื่อนงำ ที่มีการดูแลกันอย่างดี ตั้งแต่การประกันราคา การขอความร่วมมือรับซื้อขั้นต่ำ การกำหนดราคาและมีปัจจัยบวกต่างๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยและเพิ่มแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คาดว่ามีการทับซ้อนในกลุ่มของผู้ใช้ซึ่งฟาร์มครบวงจรมีจำนวนหนึ่งที่ผันตัวมาเป็นผู้ค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วยตัวเอง เพาะปลูกเอง จึงทำให้การเรียกร้องในเรื่องของโครงสร้างวัตถุดิบที่แพงตั้งแต่ปี 2563 เสมือนว่าไม่ได้มีความเดือดร้อนขึ้นจริง เพราะบางส่วนได้ประโยชน์จากโครงสร้างราคาที่สูงจากการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของผู้รวบรวม
เรื่องโครงสร้างการตั้งราคาของวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดูจากเส้นกราฟมีความสอดคล้องกับราคาในต่างประเทศซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย เป็นผลผลิตภายในประเทศและประเทศรอบบ้านเป็นหลักโดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์
ในขณะที่รัฐบาลไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวโพดตามกรอบ WTO ซึ่งจะมีภาษีนำเข้าอยู่ที่ 20% ตามโควต้า 54,700 ตันแรก แต่กลับกลายเป็นว่าโครงสร้างราคาที่ตั้งขึ้นในบ้านเราดูเหมือนมีการบวกภาษีนำเข้า 20% เข้าไปด้วยในโครงสร้างราคาทำให้เกิดส่วนต่างมหาศาล นับจากความชื้นประมาณ 30% จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจนถึงปลายทางหน้าโรงงานอาหารสัตว์ ณ ความชื้นไม่เกิน 14.5 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขไม่ว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายหรือ กระบวนการทางการบริหารของรัฐบาลก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะยอมแก้ไขหรือไม่
ประเด็นซัพพลายที่มองไม่เห็นของเนื้อสุกรที่เข้ามาแทรกตลาดแล้วทำให้ราคาหมูโดนรบกวนอยู่ตลอดเวลาไปเกี่ยวโยงกับกลุ่มอาชญากรทางเศรษฐกิจด้านอาหารหรือไม่ ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่มีการเข้าถึงตัวและเปิดเผยรายชื่อถึงแม้จะมีการส่งเป็นส่งสำนวนให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปหลายสำนวนแล้วก็ตาม
ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข มิฉะนั้นอุตสาหกรรมสุกรไทยจะอยู่ในมือของฟาร์มครบวงจร ซึ่งบางกลุ่มมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการเป็นผู้ค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ซะเอง มีต้นทุนที่สูงเหมือนกับที่มีการตั้งเกณฑ์ราคาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวข้างต้น แต่กลับได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคากลุ่มนี้ด้วย