FAO Seminar Aug 15

เจ้าหน้าที่ FAO ร่วมสังเกตการณ์ 22 นี้ ที่ขอนแก่น หลังประสบผลสำเร็จที่โคราช 15 สิงหาที่ผ่าน หลังกรมปศุสัตว์ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เดินหน้าให้ความรู้ผู้เลี้ยงสุกรเขต 3-4 พร้อมอบรม GAP สุกร

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 โคราช – องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สัมมนาให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โรคสุกรจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย หวังลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ที่มาของเชื้อดื้อยาสู่คน โดยการสัมมนาที่ขอนแก่น 22 สิงหาคมนี้จะมีเจ้าหน้าที่ FAO ร่วมสังเกตุการณ์

          ที่สตาร์เวลล์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมสตาร์เวลล์ บาหลี รีสอร์ท จังหวัดนครราชสีมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมจัดสัมมนาพิเศษตามโครงการของ เอฟเอโอ ในปี 2567 ในหัวข้อ โรคสุกรจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย และอีกหนึ่งหัวข้อ เป็นการอบรมเก็บตก เรื่องของการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร

          นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อนำความรู้จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่มีสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยมาร่วมให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับโรคของแบคทีเรียที่เกิดในสุกรของประเทศไทย การควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพ ตลอดจนการอบรมในหัวข้อการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร โดยมีนายสัตวแพทย์ชุมพล บุญรอด ปศุสัตว์เขต 3 เป็นประธานกล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่องการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสุกรโดยกรมปศุสัตว์ ที่กล่าวถึงช่วงประสบการณ์ที่เป็นปศุสัตว์ เขต 7 มีการพบใบเคลื่อนย้ายปลอมเป็นจำนวนมาก ซึ่งแก้ไขโดยตรวจสอบในระบบ ก็จะพบความผิดปกติดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะเน้นความสมดุลของการเลี้ยงและการบริโภคในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเมื่อมีความสมดุลก็จะลดความเสี่ยงเรื่องการนำพาโรคระบาดกรณีการเคลื่อนย้ายข้ามเขต การดูแลพื้นที่รอยต่อ การวางแผนเรื่องการส่งออก ป้องกันการดั้มราคา ตรวจสอบจุดจำหน่ายที่มีราคาผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบย้อนกลับถึงต้นทาง

          สำหรับหัวข้อ โรคสุกรจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย เป็นการบรรยายสรุปโดย นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สพ.ญ.ดร.เมตตา เมฆานนท์และกรรมการสมาคม โดยประเด็นหลักที่เกี่ยวข้อง จะเป็นความเหมาะสมของการใช้ยาต้านจุลชีพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการดื้อยาของเชื้อในกลุ่มแบคทีเรียต่างๆ  โดยมีการบรรยายลงรายละเอียดของแต่ละโรคสุกรที่เป็นกลุ่มของแบคทีเรีย  ซึ่งรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาทดแทนในกลุ่มของยาต้านจุลชีพต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาต้านจุลชีพมากขึ้น เพื่อจะทำให้มีการลดการใช้ยาต้านจุลชีพ หรือ ถ้าจะใช้ก็เป็นในกลุ่มของการรักษาโรคมากกว่าที่จะใช้แบบไม่มีการควบคุม

 

โดยในกรณีการระบาดของโรค ASF สำหรับประเทศไทยถือว่าต่อสู้กับ ASF ในระดับที่ดีมาก ทั้งภาครัฐ เอกชนปัจจุบันมีผลผลิตมากขึ้น ต่างจากเวียดนามที่ประชากรแม่พันธุ์สุกรเท่าเดิม สุกรขุนยังมีผลผลิตออกมาต่ำ เพราะปัญหาเรื่องโรคระบาดที่ยังแก้ไม่ได้ ซึ่งทั้ง 3 วัคซีน ASF ของเวียดนาม ยังไม่ได้แสดงความสำเร็จอะไรออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งสุดท้ายก็อยู่ที่ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

          การบรรยายอีกส่วนหนึ่งจะเป็นในเรื่องของการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร บรรยายโดยนายสัตวแพทย์มาโนชญ์ วงศ์แวว นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 ซึ่งการบรรยายเป็นการให้เกษตรกรที่ตกหล่นจากช่วงการอบรมเมื่อปีที่แล้วได้เข้ามาสู่ระบบมาตรฐานการเลี้ยง ซึ่งในส่วนของ GAP ได้เป็นภาคบังคับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เลี้ยงสุกรในเขตปศุสัตว์ที่ 3 เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ที่เก็บตกในการสอบความรู้การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร เพิ่มเติมอีกประมาณ 100 ท่าน

          สำหรับการจัดครั้งต่อไปจะเป็นพื้นที่เขตปศุสัตว์เขต 4 จัดที่จังหวัดขอนแก่นในวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่เขต 4 สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมการอบรมทั้ง 2 หัวข้อได้

          และในวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 จะมีการจัดในพื้นที่ภาคตะวันตกที่จังหวัดราชบุรี ที่ห้องกัลปพฤกษ์ อาคารราชบุรีเกมส์ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่เวลา 8:30 น ถึง 13 :00 น. โดยผู้เข้าร่วมอบรมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าโดยการสแกนคิวอาร์โค้ดตามประกาศการรับสมัคร เพื่อยืนยันการเข้าร่วมเพราะหน้างานจะไม่มีการรับสมัครเพิ่มเติม

Visitors: 427,879