ชาวหมูยื่นแล้ว ใช้อำนาจ ทั้ง ปปท. และศาลปกครองสั่ง มกอช.แก้ปมโคเด็กซ์ ปี 2555

ชาวหมูยื่นแล้ว ใช้อำนาจ ทั้ง ปปท. และศาลปกครองสั่ง มกอช.แก้ปมโคเด็กซ์ ปี 2555

27 ธันวาคม 2560 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรใช้อำนาจรุกราชการไทยแก้ปมอื้อฉาว MRLs ของ Ractopamine ที่วางเฉยเป็นกลางในการลงคะแนนรับมติสารตกค้างสูงสุดของสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มแรคโตพามีน ในการประชุมโคเด็กซ์ ครั้งที่ 35 ปี 2555

หลังจากศึกษาแนวทางเพื่อใช้ช่องทางกฎหมายมาได้สักระยะ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรตกผลึกยื่นใช้อำนาจศาลประเด็นปมปัญหาก่อน คือ เรื่องข้อกำหนด MRLs ของแรคโตพามีน ที่สหรัฐล็อบบี้ยื่นและผ่านมติที่ประชุมโคเด็กซ์ในการประชุมครั้งที่ 35 เมื่อปี 2555 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยคณะผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยไม่ได้ทำการคัดค้านข้อเสนอนี้แต่ประการใด ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงที่เป็นทั้งประกาศกระทรวงเกษตร ปี 2545 และประกาศที่ 269 ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546 อันเป็นที่มาของการนำมาเป็นข้ออ้างกดดันไทยให้รับเนื้อสุกรจากสหรัฐตลอดระยะ 5 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุดท้ายจะอยู่ที่ความต้องการของผู้เลี้ยงสุกรไทยที่ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมสุกรไทย ไม่ต้องการให้มีการนำเข้าสุกรจากประเทศใดๆ เข้ามาเลย ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงก็ตาม ซึ่งกรณีนี้ยังมีความไม่ชัดเจนของอำนาจรัฐที่ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ข้อมูลว่ามติหรือการอนุมัติจะออกมาจากหน่วยงานใดเป็นอันดับแรก ซึ่งสุดท้ายจะต้องผ่านความเห็นชอบและเป็นมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้น กลุ่มผู้เลี้ยงก็จะสามารถยื่นค้านมติผ่านศาลปกครองสูงสุดได้

ในวันที่ 25 ธันวาคม 2560 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจที่นำโดยนายชูชาติ กันภัย รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และคุณสมพร กมลพรสิน ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เริ่มต้นด้วยการยื่นคำร้องตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อให้สอบสวนและชี้มูลฐานความผิดเพื่อส่งให้พนักงานอัยการต่อไป โดยในคำร้องได้แจงรายละเอียดการงดเว้นกระทำการของผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในขณะนั้นที่เป็นหัวหน้าคณะที่เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทย โดยการชี้มูลถ้าเข้าองค์ประกอบความผิดจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจที่นำโดยนายชูชาติ กันภัย รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และคุณสมพร กมลพรสิน ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวยื่นฟ้องต่อที่ศาลปกครองเพื่อขออำนาจศาลสั่งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และผู้อำนายการท่านเดิม ให้ดำเนินการ

”ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการยื่นบันทึกความไม่เห็นชอบในการรับรองหรือตั้งข้อสงวน หรือดำเนินการคัดค้านข้อมติผลการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ [Codex Alimentarius Commission] ครั้งที่ 35 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555 เรื่อง รับรองร่างมาตรฐานค่าปริมาณยาสัตว์ตกค้างสูงสุดสำหรับแรคโตพามีน [Ractopamine]”

อย่างไรก็ตามทีมงานกฎหมายและทีมทนายจะเกาะติดหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด กรณีมีการพิจารณาอนุญาตให้มีการนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรโดยไม่มีการแจ้งให้กลุ่มผู้เลี้ยงทราบ จะใช้ช่องทางกฎหมายตามเขตอำนาจศาลและช่องทางการร้องเรียนที่บังคับโดยอำนาจศาลและกฎหมายเป็นหลักเพื่อคุ้มครอง  ควบคู่การคัดค้านผ่านแนวทางอื่นๆ เพื่อปกป้องอาชีพเกษตรกรรมและเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับผลกระทบอย่างถึงที่สุด

สำหรับผลของคำสั่งที่จะเกิดขึ้นหลังศาลพิพากษา หรือ มีคำสั่งให้มกอช. ดำเนินการยื่นโคเด็กซ์ตามคำขอท้ายฟ้อง ผลคือ สหรัฐจะเอาข้อกำหนด MRLs ของแรคโตพามีนมากดดันเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยในการเจรจาการค้าเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรไม่ได้ ซึ่งปกติไทยกับสหรัฐก็ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ทั้งระดับพหุพาคี หรือ ทวิภาคีใดๆ อยู่แล้ว โดยรัฐบาลไทยก็ไม่มีเหตุที่จะต้องมาตั้งคณะกรรมการใดๆ เพื่อมาศึกษาผลเสีย ความเสี่ยงใดๆ กับสารเร่งเนื้อแดงอีกต่อไป เพราะไทยยื่นเรื่องการไม่รับรองมติ เรื่อง รับรองร่างมาตรฐานค่าปริมาณยาสัตว์ตกค้างสูงสุดสำหรับแรคโตพามีน ไปแล้ว

ดาวน์โหลดสรุปรายงานการประชุม CODEX ข้อ 2.7 หน้า 3-4 MRLs ของแรคโตพามีน ครั้งที่ 35 ปี 2555 กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี 

 

Visitors: 396,829