TSVA NE Pig Farmers

ปิดท้าย TSVA สัญจรอีสาน อุดรธานี หมูอีสานพร้อมเดินหน้าต่อกับมาตรฐานใหม่ GAP สุกรแม้ต้องเผชิญสารพัดวิกฤตในปัจจุบัน

25 สิงหาคม 2566 อุดรธานี - ผู้เลี้ยงสุกรอีสานตอนบน ยังไม่ทิ้งอาชีพการเลี้ยงสุกรเข้าร่วมการอบรมหลักสูตร "การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับผู้ประกอบความสุกร" จำนวนมากและตั้งใจตลอดการอบรม

คุณกษาณ ปิยะชาติสกุล กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เป็นผู้ประสานจัดงานได้กล่าวรายงานให้กับประธานในการจัดงาน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในการจัดการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นหนึ่งใน TSVA สัญจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณสิทธิพันธ์กล่าวเปิดงาน โดยขอบคุณสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมความสุกรไทย ที่ให้ความร่วมมือ กับ ผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาด้วยดี เพื่อ จัดการอบรมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับความรู้

สัตวแพทย์หญิง ดร.เมตตา เมฆานนท์ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากร สำหรับโครงการ สัญจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือในทุกครั้ง ได้นำเสนอในหัวข้อ “การยกระดับ Biosecurity สู้ ASF จากฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันฟาร์มสุกรในประเทศไทยเกษตรกรมีความรู้ด้านนี้มากขึ้น และมีความมั่นใจในการนำแนวทางไปปฏิบัติ ทำให้การต่อสู้กับ ASF ในประเทศไทย ไม่ได้สร้างความกังวล เช่นเดียวกับตอนเริ่มการระบาดเท่าไรนัก

ดร.เมตตา นำเสนอปัญหาหลักๆ ของเชื้อ ASF ที่เข้าสู่ฟาร์ม ยังคงเป็นปัญหาจากคนงานอันดับ 1 ซึ่งสามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งฟาร์มในระบบเปิดและระบบปิด โดยปัจจุบันหลายฟาร์มได้เริ่มเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าฟาร์ม ของคนงาน ไม่ใช่การพ่นฆ่าเชื้อแบบสมัยก่อนโดยเน้นให้เป็นการอาบน้ำสระผมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจจะต้องมีการติดเครื่องทำน้ำอุ่นเพิ่มเติมสำหรับบางพื้นที่   การเพิ่มความเข้มงวดกับกลุ่มพาหะที่เป็นสัตว์ต่างๆ ที่เข้ามาในฟาร์ม โดยเฉพาะหมาแมว ที่เคยมีการทดสอบ SWAB เชื้อจากหมาแมว ปรากฏว่ามีเชื้อสูงมาก เช่นกัน  การจัดการระบบระบายน้ำต่างๆ ในฟาร์ม การใช้เข็มฉีดวัคซีนป้องกันโรคชนิดต่างๆ เช่น PRRS Circovirus ต้องเข้มงวดในแต่ละกลุ่มวัยของสุกรไม่ให้มีการใช้ข้ามกลุ่ม การคัดเลือกสุกรเพื่อการจำหน่ายมีการใช้ CCTV ในการคัดเลือกสุกรให้กับผู้ซื้อทำการคัดเลือกแทนการเข้าฟาร์ม

การให้ความสำคัญกับการตรวจสอบติดตาม ทั้งทีมงาน Audit ภายในและทีมงาน Audit จากภายนอก ที่มีการตั้ง Checklist ในการ Audit อย่างชัดเจนและเข้มงวดตามรอบที่กำหนด การเพิ่มความเข้มงวดกับการคุมมุ้งกันนกและแมลงที่เป็นจุดหนึ่งที่อาจเกิดช่องโหว่หรือจุดชำรุดของมุ้งคลุม ซึ่งต้องมีการตรวจตราเป็นประจำและมีการใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมในการที่จะไม่ให้จุดคุมมุ้งมีการเปิดหรือเป็นช่องโหว่ได้ ซึ่งรวมถึงจุดที่เป็นพวกแผง Cooling pad ต่างๆ การวางจุดกาวดักหนูดักแมลงต้องเปลี่ยนเสมอๆ  ปัจจุบันหลายฟาร์มเริ่มนำแนวทางการให้เบี้ยขยัน และการทำโทษที่เกี่ยวกับการทำตามระบบ Bio Security มาใช้กับคนงาน การจัดการแหล่งน้ำของฟาร์มและระบบประปาฟาร์ม เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นจุดที่จะติดเชื้อไม่ได้เลย เช่นกัน เพราะเป็นจุดที่เกิดการติดและกระจายเชื้อได้ง่าย มากจุดหนึ่ง

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอขอบพระคุณทีมงาน TSVA ASF CPG ที่ประกอบไปด้วย หมอเมตตา หมอวิลาศ หมอระพี หมอเติมสิทธิ์ หมอกิรนันท์ และหมอยมุนา มา ณ ที่นี้ กับการเตรียมข้อมูลมาให้ความรู้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการอบรมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร

หัวข้อ "มาตรฐาน กับ การอยู่รอดจาก ASF สำหรับรายย่อย" นำเสนอโดยนายอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต จังหวัดยโสธร อีกตำแหน่งหนึ่งของคุณอุดมศักดิ์ที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน คือ การเป็นเลขาธิการชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ถือว่ากลุ่มดังกล่าวมีการเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมให้ กับ ผู้ประกอบการการเลี้ยงสุกรรายย่อย โดยเฉพาะการเดินหน้ากับคณะกรรมการการแข่งขันและการค้าในเรื่องของ การผลักดันในเรื่องของข้อห้ามที่จะควบคุมไม่ให้มีการขยายตัวของ Pork Shop และการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกที่ต่ำมากซึ่งเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมที่เกิดจากความสามารถในการแข่งขันที่ต่างกันของผู้ค้าปลีกเนื้อสุกรในชุมชนต่างๆ  

การนำเสนอของคุณอุดมศักดิ์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับกลุ่มฟาร์มรายย่อยที่ยังคงอยู่ในระบบของ GFM โดยในกรณีที่ฟาร์มถึงเกณฑ์ที่จะขอการยื่นรับรอง GAP ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน โดยประโยชน์ที่จะได้ประกอบด้วย

  1. ระบบ Bios Security เข้มแข็ง เป็นระบบชัดเจนมากขึ้น
  2. การเคลื่อนย้ายสัตว์ การประเมินความเสี่ยงสะดวกขึ้น
  3. เพิ่มความมั่นใจของคู่ค้า เกิดความปลอดภัยของผู้บริโภค
  4. เป็นผลดีกับธุรกิจการเลี้ยงสุกร ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  5. เป็นการปรับตัวของธุรกิจให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ส่งผลต่อความอยู่รอด

คุณอุดมศักดิ์ได้สรุป ทางลอดของรายย่อย เป็น 4 ป คือ ปิด - เปิด - ปรับ - เปลี่ยน

  1. ปิดประตูฟาร์ม ปิดประตูคอกและบริเวณคอกให้มิดชิด ปิดรับปัจจัยเสี่ยงและปิดจุดอ่อน เลี้ยงระบบปิด การปิดฝูง "สุขภาพสำคัญกว่าประสิทธิภาพ"
  1. เปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดโอกาส รับข่าวสารวิชาการให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  1. ปรับรูปแบบการเลี้ยง ใช้รางแยก ลดการทำงานสัมผัสหมู ลดมื้ออาหาร ลดการเข้าคอกหมู ลดกิจกรรมกับหมู หรือรถการขายหมูบ่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานที่เหมาะสม
  1. เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง ใช้ AI เลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เอง ผสมพันธุ์เองในฟาร์ม ทำคลอดเอง ฉีดยาเอง ตอนหมูเอง จับหมูขายเอง เปลี่ยนแนวคิด "เกษตรกรรายย่อย สู่ นักธุรกิจ"

และการนำเสนอมุมมองการจัดการระบบ Biosecurity ในต้นทุนที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับฟาร์มรายย่อย เพราะ ASF จะมาเปลี่ยนรูปแบบ "การเลี้ยงหมูแบบเดิมๆ โดยสิ้นเชิง"

สำหรับหัวข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำฟาร์มปศุสัตว์ ที่นำเสนอโดย นายสัตวแพทย์ปัญญาวัฒน์ ใสกาง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 และ หัวข้อการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร โดยสัตวแพทย์หญิงเกตุวดี โคตรภูเวียง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 สามารถอ่านได้โดยละเอียดจากไฟล์ที่แนบท้าย 3 ไฟล์ 

 

 

Visitors: 422,972