APC Spray Dried Plasma

คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน ASF : การระบาดอย่างต่อเนื่องของเชื้อไวรัสอหิวาตก์แอฟริกา (ASF) ที่เกิดขึ้นใน 5 ทวีป

แปลและเรียบเรียงโดย น.สพ. วัชรวรัชญ์ จันทร์จริยากุล

ผู้จัดการฝ่ายขายและวิชาการ – ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอพีซี

 

  การระบาดของโรคอหิวาตก์แอฟริกา (ASF) ยังคงสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสุกรอย่างต่อเนื่องยาวนาน เอพีซี (APC) จึงจัดงานสัมมนาออนไลน์ชุด “คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไวรัสอหิวาตก์แอฟริกา (ASF Expert Series)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออัพเดทสถานการณ์การระบาดของ ASF ทั่วโลก พร้อมทั้งให้ความรู้และนำเสนอแนวทางป้องกัน, รับมือ และฟื้นฟู  เพื่อลดความสูญเสียจากการระบาดให้น้อยที่สุด ในสัมมนาครั้งที่ 3 ของการสัมมนาออนไลน์ชุดนี้ เอพีซี (APC) ได้รับเกียรติจาก Prof. José Sánchez-Vizcaino DVM, Ph.D, DhC, ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการอ้างอิงโรค ASF จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health, OIE) มาร่วมพูดคุยอัพเดทสถานการณ์ปัจจุบันของ ASF ที่เกิดขึ้นใน 5 ทวีป รวมถึงแนวทางและเครื่องมือที่ควรเตรียมพร้อมสำหรับควบคุมการระบาดของโรค และการป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในฟาร์ม นอกจากนี้ Dr. Sánchez-Vizcaino ได้อัพเดทสถานการณ์ปัจจุบันของการพัฒนาวัคซีนที่จะช่วยควบคุมและป้องกัน ASF

ภาพรวมสถานการณ์การระบาดของ ASF ทั่วโลก

ASF ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสุกรใน 5 ทวีปเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 50 ประเทศกำลังประสบปัญหาการระบาดอย่างต่อเนื่อง  และประชากรสุกรมากกว่า 78% ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้  ในปัจจุบันการประเมินปัญหายังอยู่ในระดับต่ำเกินไปเนื่องจากการเฝ้าระวังและความรู้เกี่ยวกับ ASF ยังมีจำกัด ในทวีปแอฟริกามีรายงานการพบ ASF ครั้งแรกในประเทศเคนยาเมื่อปี 2464 และในปัจจุบันพบเชื้อไวรัส ASF มากถึง 24 สายพันธุ์ (genotypes)  วงจรการระบาดของโรคนี้มีพาหะคือสุกรป่า และแหล่งกักเก็บคือ เห็บอ่อน ตระกูล Ornithodoros spp.ที่ก่อให้เกิดการระบาดในสุกรป่าและสุกรเลี้ยง ส่วนประเทศในแถบยุโรปมีรายงานการระบาดของ ASF ครั้งแรกในประเทศจอร์เจียเมื่อปี 2550 ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกพบว่าเกิดการระบาดในกลุ่มสุกรเลี้ยงเป็นหลัก ในขณะที่ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกพบปัญหาการระบาดในกลุ่มสุกรป่ามากกว่า จากข้อมูลสรุปตั้งแต่ปี 2557 จนถึงมิถุนายน 2563 พบว่ามี 10 ประเทศจากกลุ่มยุโรป 27 ประเทศได้รับผลกระทบจาก ASF มากกว่า 5,300 ฟาร์ม และพบการติดเชื้อในสุกรป่ามากถึง 39,000 ตัว หรือคิดเป็น 12.1% และ 87.9% ของประชากรสุกรทั้งหมดตามลำดับ 64% ของกลุ่มที่ติดเชื้อเป็นสุกรป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนตามธรรมชาติ และ 32.4% พบในพื้นที่รอยต่อของการทำการเกษตรบริเวณใกล้กับป่าหรือรอยต่อของป่ากับเมืองซึ่งมีการสัมผัสกันระหว่างสุกรป่ากับสุกรเลี้ยง ส่วนในทวีปเอเชียแปซิฟิกพบการระบาดของ ASF ครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อปี 2561 และในปัจจุบันพบการระบาดใน 16 ประเทศจาก 28 ประเทศในทวีปเอเชียแปซิฟิก รายงานการระบาดพบในกลุ่มสุกรเลี้ยงมากกว่าสุกรป่า อาจเป็นได้ว่าการระบาดของโรคในกลุ่มสุกรป่าไม่ได้รับความสนใจในการติดตามหรือแจ้งรายงานการเกิดโรคที่เพียงพอ การติดตามเฝ้าระวังโรคในกลุ่มสุกรป่าอย่างใกล้ชิดจะช่วยป้องกันการระบาดครั้งใหญ่จากกลุ่มสุกรป่าได้ดังเช่นกรณีของทวีปยุโรป

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อและช่องทางการระบาดของ ASF

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง  ได้แก่  การเลี้ยงสุกรในชนบทหรือตามบ้านเรือนด้วยเศษอาหาร  การนำเลือดสุกรที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกไปผสมในอาหารและนำไปเลี้ยงสุกร (เลือดหนึ่งหยดจากสุกรที่ติดเชื้อสามารถปนเปื้อนเชื้อไวรัสได้มากถึง 3x106) ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับต่ำกว่ามาตรฐาน  การขนส่งสุกรติดเชื้อหรือสัตว์พาหะไปยังโรงฆ่าสัตว์ พาหนะขนส่งที่ไม่ทราบที่มาแน่นอนอาจมีการปนเปื้อนเชื้อ การขาดมาตรการชดเชยหรือชดเชยในระดับต่ำ การหมุนเวียนของเชื้อไวรัส และหมูป่าที่มีเป็นจำนวนมากในบางพื้นที่

ช่องทางการระบาดของ ASF มี 2 ช่องทาง  ได้แก่ ทางตรงและทางอ้อม  ทางตรงเกิดจากการสัมผัสกันระหว่างสุกรที่เลี้ยงภายในฟาร์มและสุกรที่ติดเชื้อและ/หรือสุกรป่าที่อาศัยตามธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียงหรือติดกับฟาร์ม และแนวพรมแดนติดต่อกันของพื้นที่เกษตรกับป่า เห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดแต่จะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสุกรแบบปล่อยเท่านั้น ส่วนช่องทางการระบาดทางอ้อมมาจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนอุจจาระ  เสื้อผ้า รองเท้าบู๊ท อุปกรณ์ที่ใช้ภายในฟาร์ม และการขนส่ง (รถบรรทุกและเครื่องบิน) ถึงแม้ว่า ASF จะไม่สามารถติดต่อผ่านทางอากาศได้เหมือนกับโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD)  โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS)หรือ โรคอหิวาตก์สุกร (Classic Swine Fever) แต่เชื้อไวรัส ASF มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ และ เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ด้วยปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้น การแพร่เชื้อผ่านทางเนื้อที่มีเลือดปนเปื้อนเชื้อ  การตกเลือด  รอยโรค การชันสูตรโรค การล่า และแมลงก็เป็นช่องทางก่อให้เกิดการระบาดของโรคเช่นกัน เชื้อไวรัส ASF มีความทนทานสูงโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสารอินทรียวัตถุ เชื้อสามารถอยู่ได้นานถึง 1 เดือนในคอกสุกรที่ปนเปื้อนนาน 18 เดือนในเลือดที่อุณหภูมิ 4°C นาน 110 วันในเนื้อสุกรแช่เย็นที่อุณหภูมิ 4°C และนาน 1,000 วันในเนื้อสุกรแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20°C ข้อแนะนำควรจัดทำรั้วกั้น 2 ชั้นสำหรับฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่ที่พบสุกรป่าอาศัยอยู่ สำหรับพื้นที่เลี้ยงเป็นฟาร์มหลังบ้านโดยการให้เศษอาหารควรดูแลหรือเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงยานพาหนะขนส่งสัตว์  อาหารสัตว์  และแรงงานต้องผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมและเข้มงวด

อาการของ ASF การเฝ้าระวัง และโปรแกรมการจัดการกรณีฉุกเฉิน

อาการทางคลินิกของ ASF แบบเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน ได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร มีเลือดออกตามผิวหนัง ท้องเสีย และพบปัญหาในระบบทางเดินอาหาร อาการและรอยโรคมีระดับแตกต่างกันตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงออกอาการเฉียบพลัน จากผลการผ่าซากซึ่งพบได้ทั่วไป มีอาการดังนี้ ม้ามโต (splenomegaly) เลือดออกที่ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง และลำไส้, ไตบวมน้ำ, ปอดบวมและมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด (hydrothorax), ตับโต (hepatomegaly) และมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (hydropericardium) การเกิดโรคแบบเรื้อรังอาจตรวจพบรอยโรคและการอักเสบของผิวหนังได้ แต่สุกรที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ไม่มีไข้ ทำให้ยากต่อการวินิจฉัย  แต่สามารถเก็บตัวอย่างเลือดซีรั่มต่อมน้ำเหลืองม้ามปอดไตของเหลวในช่องปากและอุจจาระนำมาตรวจวินิจฉัยได้ การเก็บตัวอย่างทำได้โดยการแช่ในแอลกอฮอล์อิ่มตัว เพื่อความปลอดภัยระหว่างการขนส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัย แอลกอฮอล์ทำให้ไวรัสตายแต่ไม่ส่งผลต่อ DNA ของเชื้อไวรัส ASF ตัวอย่างที่ได้สามารถนำไปตรวจหาจีโนมของเชื้อไวรัส ASF ด้วยวิธี RT-PCR การทดสอบหาแอนติบอดี (Ab) ต่อเชื้อสามารถทำได้เพื่อระบุสถานการณ์การระบาดของโรค ซึ่งในช่วงต้นของการติดเชื้อ (น้อยกว่า 12 วัน) การตรวจด้วย PCR ให้ผลเป็นบวก แต่การตรวจหา Ab อาจให้ผลเป็นลบหรือบวกได้ (PCR + ++ และ Ab +++) ในหลายกรณี  การตรวจพบโรคที่ล่าช้าอันเป็นผลมาจากมาตรการเฝ้าระวังที่ไม่เพียงพอ ความผิดพลาดในการวินิจฉัยอาการทางคลินิกหรือรอยโรค การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ไม่ได้มาตรฐาน ความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับต่ำ (อาจเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแบบฟาร์มหลังบ้านและการให้เศษอาหารในการเลี้ยง) และการขาดการชดเชยหรือชดเชยไม่เพียงพอและล่าช้าให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหา  ส่งผลให้เกษตรกรพยายามขายสุกรที่ติดเชื้อออกจากฟาร์ม สรุปว่าสิ่งสำคัญในการจัดการระบาดของ ASF คือ การสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำกับดูแลโปรแกรมการเฝ้าระวังโรค และการรับมือกับปัญหาฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง (ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของแต่ละประเทศซึ่งมีความแตกต่างกัน) และควรให้ความรู้เรื่อง ASF แก่สัตวแพทย์และเกษตรกรผู้เลี้ยงรวมถึงจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง

 

สถานการณ์ปัจจุบันและความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนที่จะช่วยควบคุมและป้องกัน ASF

ในปัจจุบันมีวัคซีน ASF หลายชนิดที่กำลังถูกพัฒนาและทดสอบทั่วโลก แต่ยังไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องทำการทดลองเป็นจำนวนมากเพื่อยืนยันความปลอดภัยประสิทธิภาพ และการป้องกันข้ามสายพันธุ์ของวัคซีน จากการศึกษาของ Dr. Sánchez-Vizcaíno พบว่าการใช้วัคซีนเชื้อเป็นทำให้เชื้ออ่อนกำลังลงและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ถึง 92 - 100% ในกลุ่มสุกรเลี้ยงและกลุ่มสุกรป่า แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ  ความสมดุลระหว่างความปลอดภัยในการใช้และประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อเป็น โดยโครงการ VACDIVA ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของสหภาพยุโรปเพื่อพัฒนาวัคซีน ASF แบบกินเป็นครั้งแรกสำหรับสุกรเลี้ยงและสุกรป่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญจาก 13 พันธมิตรในสหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรปอีกจำนวน 3 ราย โดย MSD และ Innasa ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จะได้ทำการผลิตวัคซีนและชุดทดสอบนี้ในอนาคต ปัจจุบันมีการทดสอบวัคซีน 3 ชนิดที่สามารถสร้างภูมิคุ้นกันโรคได้ในระดับสูง (95 - 100%) โดยโครงการนำร่องฉีดวัคซีนเหล่านี้ทำในประเทศลิทัวเนีย (สุกรป่า), ประเทศเคนยา (สุกรป่าพันธุ์ warthogs และสุกรป่าพันธุ์ bush pig) และกำลังเตรียมการทดลองวัคซีนในอีกหลายประเทศ (สุกรเลี้ยง) ในการศึกษาหลายกรณีซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วนั้นถูกทำเพื่อหาขนาดและปริมาณที่เหมาะสมของการใช้วัคซีน  การสร้างภูมิคุ้มกัน และผลของการให้วัคซีนเกินขนาดในสุกรเลี้ยงและสุกรป่า ส่วนการศึกษาที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเป็นการศึกษาความเสถียรทางพันธุกรรมเชื้อในร่างกายของสุกรการปรับตัวของวัคซีนต้นแบบเพื่อการเพาะเลี้ยงในเซลล์เนื้อเยื่อ  ระยะเวลาของการคุ้มกันโรคของภูมิคุ้มกันการทดลองสร้างภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่กับฝูงสุกรเลี้ยง  การปรับตัว DIVA(Differentiating Infected from Vaccinated Animals)  การคงอยู่ของเชื้อภายใต้สภาพแวดล้อมต่างๆ และการป้องกันการข้ามสายพันธุ์ในสุกรป่าและสุกรเลี้ยง Dr. Sánchez-Vizcaíno คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 1 - 2 ปี จึงจะได้รับการอนุมัติในขั้นสุดท้ายและทำการขึ้นทะเบียนต่อไป โดยความคืบหน้าของวัคซีนเพิ่มเติมจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

 

เอพีซี (APC) ยังได้เรียนเชิญ Dr. Javier Polo รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยและพัฒนาของเอพีซี (APC)นำเสนอเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพของสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (Spray Dried Plasma, SDP) และกลยุทธ์การผลิตสุกรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด  โดย Dr. Javier อธิบายถึงการนำเอาแนวคิด Multiple Hurdle Mitigation Technology ที่นิยมใช้ในการผลิตอาหารซึ่งช่วยลดและกำจัดเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ผลิตจากเลือดที่ได้จากสัตว์ที่มีสุขภาพดี ผ่านมาตราฐานการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์  เลือดดังกล่าวถูกส่งผ่านระบบฆ่าเชื้อด้วยแสง UV-C ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของเอพีซี (APC)สามารถกำจัดได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัสชนิดที่มีและไม่มีเปลือกห่อหุ้ม (enveloped) และผ่านกระบวนการพ่นแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dried) ทั่วทั้งพลาสมาเพื่อทำให้แห้งที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 80°C เป็นขั้นตอนทำลายไวรัสต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัส ASF ด้วยนอกจากนี้ขั้นตอนการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ภายหลังการทำให้แห้งที่อุณหภูมิ 20°C เป็นเวลา 14 วัน สร้างความมั่นใจได้ว่าถึงแม้จะมีการกลับมาปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) เชื้อไวรัส ASF จะถูกทำลายอย่างแน่นอน (Fischer et al., 2021) ขั้นตอนต่างๆในการผลิตสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) สามารถลดจำนวนล็อกของปริมาณเชื้อไวรัสทั้งหมด (ทั้งที่มีและไม่มีเปลือกห่อหุ้ม) ได้สูงกว่าล็อก 10(1010) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อไวรัส ASF ขั้นตอนการผ่านแสง UV-C, การพ่นแห้งแบบพ่นฝอย และการจัดเก็บภายหลังการทำให้แห้ง (20°C เป็นเวลา 14 วัน) สามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสได้ถึงล็อก 4.6(104.6), 4.1 (104.1) และ 5.1 (105.1) ตามลำดับ โดยมีจำนวนเชื้อไวรัสลดลงทั้งหมดเท่ากับล็อก 13.8 (1013.8) เมื่อเทียบกับมาตรฐานของน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ตามข้อกำหนดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)และ EPA การลดปริมาณเชื้อไวรัสที่ระดับล็อก 4 (104) ถือว่ามีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อไวรัสได้ถึง 99.99% และจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ASF ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ในปี 2564แสดงว่า โปรตีนไฮโดรไลซ์และผลิตภัณฑ์จากเลือดจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงต่ำสุด เนื่องจากใช้ขั้นตอนการผลิตและการดูแลแบบหลายขั้นตอน(multiple hurdle manufacturing process) จึงมั่นใจได้ว่าสามารถลดและกำจัดเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่คำนึงว่าจะมีต้นทางมาจากที่ใดหรือส่งไปยังที่ใด สเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP)จึงเป็นส่วนวัตถุดิบอาหารที่มีความปลอดภัยสูงมาก

สเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ยังมีส่วนประกอบของโปรตีนซึ่งให้เป็นประโยชน์  เช่นเดียวกับน้ำนมเหลือง และน้ำนมแม่สุกร รวมถึง แทรนส์เฟอริน (Transferrin) ที่ช่วยในการนำพาธาตุเหล็กไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไลโซไซม์ (lysozyme) ช่วยในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย  และเป็นปัจจัยการเจริญเติบโต (growth factors) ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและซ่อมแซมสเต็มเซลล์ ไซโตไคน์ (cytokines) ที่ช่วยลดการอักเสบ และ อิมมูโนโกลบูลิน จี (IgG) ที่ช่วยจับเชื้อโรคและสารพิษ ภายใต้ภาวะความเครียด (stressful) หรือสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อโรค สุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) มีความสามารถในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ประหยัดพลังงานและใช้สารอาหารที่ได้รับมาได้มากขึ้นและนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น

จากการรวบรวมผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2544 สรุปว่า การผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ในอาหารลูกสุกรเลียราง/อาหารสุกรอนุบาลหลังหย่านมที่ให้แก่สุกรหย่านมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน (ADG) ที่ 31%, เพิ่มปริมาณอาหารที่กินได้เฉลี่ยต่อวัน (ADFI) ที่ 25% และประสิทธิภาพการใช้อาหาร (FCR) ดีขึ้นโดยเฉลี่ย 4% การวิเคราะห์แบบ meta- analysis จากข้อมูลที่ถูกตีพิมพ์จำนวน 135 ฉบับ โดย Balan และคณะ ในปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มสุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) และกลุ่มควบคุมที่เลี้ยงด้วยโปรตีนทางเลือกอื่น พบว่ากลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ให้ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตต่อวันเฉลี่ย (ADG) ที่ดีกว่า 36 กรัมต่อวัน และ การกินอาหารได้เฉลี่ย (ADFI) ดีกว่า 38 กรัมต่อวัน ใน 40 วันแรกหลังหย่านม การศึกษาที่ดำเนินการในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Peace และคณะ ในปี 2554 โดยให้อาหารสุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ที่ระดับ 0%, 2.5% หรือ 5% เป็นเวลา 14 วันหลังจากหย่านม พบว่าอาหารผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ที่ระดับ 5% ช่วยลดอาการท้องเสียในสุกรหย่านมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลดสารไซโตไคน์ที่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อลำไส้ และการทำงานของเยื่อบุลำไส้ที่เป็นเกราะป้องกันลำไส้กลับคืนมา เมื่อเทียบกับสุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ที่ระดับ 0% หรือ 2.5% การศึกษาในสัตว์หลายชนิดภายใต้ความท้าทายของระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจสามารถสรุปได้ว่า สเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ช่วยลดปัญหาท้องเสียเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตต่อวันเฉลี่ย (ADG)  เพิ่มอัตราการรอด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหาร

การศึกษาระบาดวิทยาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดา (Dewey และคณะ ในปี2549) ประเมินผลกระทบของปัจจัยความปลอดภัยทางชีวภาพต่างๆ รวมถึงความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มสถานการณ์ของโรคการจัดการฟาร์ม และโภชนาการอาหารในสุกรอนุบาล ผลการศึกษาพบว่า การผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ในอาหารสุกรอนุบาลเบอร์ 1 และเบอร์ 2 มีความสัมพันธ์สูงกับอัตรารอดในสุกรอนุบาลที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยด้านน้ำหนักหย่านม

ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์แห่งเดนมาร์ก (SEGES) ได้เผยแพร่คำแนะนำในการผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ที่ระดับ 5% ในอาหารสำหรับสุกรหย่านมที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 7 กก. เพื่อทดแทนการใช้ซิงค์ออกไซด์ (ZnO)ที่ระดับสูงในอาหาร  ช่วยควบคุมการเกิดท้องเสียในสุกรหลังหย่านม

การผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ของโคหรือสุกรในอาหารนั้นได้ผลดีที่ไม่แตกต่างกันและดีกว่าเมื่อเปรียบกับอาหารที่ไม่ได้ผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) (Crenshaw และคณะ ในปี 2558) ผลการใช้แสดงอย่างชัดเจนว่าน้ำหนักตัวสุกรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (+750 กรัม) ที่อายุ 35 วันในกลุ่มสุกรหย่านมที่ได้รับอาหารที่ผสมด้วยสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ของโคและสุกรที่ระดับ 6% ในการศึกษากรณีที่พบปัญหา PEDV ในฟาร์ม (Duffy และคณะ ในปี 2561) พบว่า สุกรที่ได้รับอาหารที่ผสมสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) จากโคมีการตอบสนองของแอนติบอดีได้ดีกว่า ด้วยการกำจัด PEDV ที่ตรวจพบในอุจจาระได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

บทสรุป การผลิตสเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ภายใต้ขั้นตอนความปลอดภัยทางชีวภาพหลายขั้นตอนนั้น ทำให้สเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) ถูกจัดอันดับให้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ สเปรย์ดรายพลาสมาโปรตีน (SDP) มีส่วนประกอบของโปรตีนซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้สุกรมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทนต่อภาวะเครียดและสภาพแวดล้อมต่างๆที่เข้ามากระทบ เช่น ช่วงการหย่านม และช่วงเกิดปัญหาโรคต่างๆ ได้

 

Visitors: 396,728