Parliament Layer Pig Meeting

กรรมาธิการเกษตรสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยกรมปศุสัตว์ประกาศยกเลิกประกาศ
กรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่
วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2568 ห้องประชุม N403 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่อง "แนวทางการพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่และสุกรให้ได้มาตรฐาน" โดยมีคณะกรรมาธิการเข้าร่วมประชุมดังนี้

1. นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการ
2. นางฐิติมา ฉายแสง รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
3. นายณรงเดช อุฬารกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม
4. นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย โฆษกคณะกรรมาธิการ
5. นายศิริสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ โฆษกคณะกรรมาธิการ
6. นายชัชวาล แพทยาไทย กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
7. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
8. นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
9. นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
10. นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
11. นายธานินท์ นวลวัฒน์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
12. นายสรวีย์ ศุภปณิตา กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
13. นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน เลขานุการคณะกรรมาธิการ

และมีการเชิญกรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมการค้าภายใน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงไกไข่รายย่อยภาคกลาง เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


1. กรมปศุสัตว์

       ควรดำเนินการดังนี้
1.1. คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับกรมปศุสัตว์ในการออกประกาศยกเลิกประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2568 เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในการปรับปรุงฟาร์มสุกรให้ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานการจัดการฟาร์มสุกรที่ครอบคลุมถึงเกษตรกรรายย่อยมีความจำเป็นในระยะต่อไป เพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) และโรคระบาดอื่นๆ อย่างรอบด้าน

1.2. คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP : Good Agricultural Practice) สำหรับฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มสุกร รวมทั้งข้อกำหนดการจัดการฟาร์มที่มีระบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM : Good Farming Management) ในการกำกับดูแลมาตรฐานฟาร์ม แต่ทั้งนี้ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรในการออกประกาศและดำเนินการตามประกาศโดยคำนึงถึงเกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก


1.3. เร่งศึกษาวิจัยการพัฒนาวัคชีนป้องกันและรักษาโรคในสัตว์ตามฤดูกาล รวมทั้งโรคระบาดในสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะโรคอหิวาด์แอฟริกันในสุกร (ASF) เพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย


1.4. สนับสนุนค่าใช้จ่ายการตรวจสอบฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มสุกรให้เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การตรวจมาตรฐานน้ำ อาหารสัตว์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรที่มีต้นทุนไม่เพียงพอในการปรับปรุงฟาร์มให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด


1.5. เร่งผลักดันการออกกฎหมายสนับสนุนให้มีกองทุนทุนพัฒนาผู้เลี้ยงสุกร รวมทั้งเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อรับการสนับสนุนช่วยเหลือการพัฒนาการเลี้ยงสุกร เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการผู้เลี้ยงสุกรให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ประกอบกิจการฟาร์มสุกร ผู้จำหน่ายปลีกเนื้อสุกร ให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรและสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้อย่างมั่นคง 


2. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)

          กำหนดแนวทางในการผ่อนผันการบังคับใช้มาตรฐานบังคับสำหรับฟาร์มไก่ไข่กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ.2563 เพื่อมิให้เกษตรกรต้องได้รับโทษ รวมทั้งเร่งผลักดันร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 1,000 – 9,999 ตัว ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและการรับรองตามมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยที่ยังขาดเงินทุนในการปรับปรุงฟาร์มเพื่อขอการรับรองมาตรฐาน


3. ขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

          พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นกรณีพิเศษให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่และผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ไม่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อปรับปรุงการจัดการฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มสุกรให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ภาครัฐ
กำหนด


4. กรมการค้าภายใน(คน.)
          ควรดำเนินการกำหนดแนวทางการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศโดยไม่กระทบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ รวมทั้งควรควบคุมราคาไข่ไก่และสุกรให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาด
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งผลักดันร่างกฎกระทรวงในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ รวมทั้งเพื่อเสนอมาตรการในการส่งเสริม สนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่และสุกร

กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
สำนักกรรมาธิการ 1

Visitors: 470,914