Reborn Yasothon 05082022
ปศุสัตว์แจงประกาศหลังเว้นวรรค....กลับมาเลี้ยงใหม่ สอดรับระบบไบโอแบบประหยัดฟาร์มหมูเล็กกลางย่อยทั่วไทยเริ่มต้นขั้นต่ำ GFM
5 สิงหาคม 2565 ยโสธร – การสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดยโสธร เกษตรกร 230 รายร่วมงาน เป็นภาพการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่รัฐบาลเร่งส่งเสริม สอดรับกับประกาศกรมปศุสัตว์เกณฑ์การกลับมาเลี้ยงใหม่กับฟาร์มในทุกขนาดที่ต้องเริ่มต้นกับมาตรฐานฟาร์มเท่านั้น โดยขั้นต่ำที่ GFM
การสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดยโสธร ที่ดำเนินการร่วมจัดโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนที่รัฐบาลเร่งส่งเสริม ที่เป็นรากฐานทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง หลังการสนับสนุนทั้งปศุสัตว์และพาณิชย์จังหวัด และวิทยากรตรงกับการจัดการฟาร์มหลังการเผชิญกับโรคร้ายแรงในสุกร หรือแม้แต่การจะเลี้ยงใหม่ในปัจจุบัน กับ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ต้องเข้มงวด
ในจังหวัดมีฟาร์มที่ถือว่าเป็นฟาร์มรายย่อยต้นแบบที่ดีของ คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ เจ้าของและผู้จัดการฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต ที่สามารถเป็นทั้งต้นแบบให้ฟาร์มรายย่อยในจังหวัด และทั้งประเทศ โดยมีแนวทางปฏิบัติตามประกาศกรมปศุสัตว์กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ พ.ศ.2565
การสัมมนาเริ่มจากเลขาธิการชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ จาก ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต กล่าวรายงาน น.สพ.อภิชาติ ภวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธรที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานสัมมนา โดยท่านปศุสัตว์จังหวัดได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Pig Sandbox ที่เริ่มในพื้นที่นำร่องเขต 5ไปแล้วตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2565สิ้นสุด 4 พฤษภาคม2566 โดยจะมีการเริ่มต้นในเขต 2,8,9 และเขต 7 ในจังหวัดราชบุรีในลำดับต่อไป โดยการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยจากนี้ไปจะมีมาตรฐานชัดเจน ตั้งแต่ GFM GAP หรือเลี้ยงในระบบ Compartment โดยกรมปศุสัตว์เตรียมออกประกาศกรมปศุสัตว์กำหนดเกณฑ์การกลับมาเลี้ยงใหม่ของสุกร ตามภาพประกอบ สรุป Check list และร่างประกาศดังนี้
คุณอลเวง ศรีหิรัญ พาณิชย์จังหวัดยโสธร ได้กล่าวถึงการดูแลการผลิต การค้าและการบริโภคของจังหวัดให้เป็นไปตามกลไกลของตลาดกับสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมู ไก่ ไข่ โดยติดตามการซื้อขายสุกรขุนหน้าฟาร์ม การค้าปลีกเนื้อสุกรทั้งห้างค้าปลีก และตลาดสด ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับการดูแลตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค ตามอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย จะมีการหารือเป็นระยะโดยกรมการค้าภายในและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยได้กล่าวถึงการดูแลผู้บริโภคในจังหวัดผ่านโครงการพาณิชย์ลดราคา ที่มีกลุ่มสินค้าราคาพิเศษออกมาเป็นระยะ
ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ให้มุมมองที่เพิ่มเติมจากระบบ Bio Security ที่เป็นทางรอดหลักกับแนวทางที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว ที่พลั้งเผลอไม่ได้เลย โดยให้มุมมองการให้สารเสริมชนิดต่างๆ และการคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านโรคได้ดี เพราะวัคซีนในอนาคตที่อาจมาจากทั้ง เวกเตอร์วัคซีน หรือ วัคซีนรีคอมบิแนนท์ ที่ตั้งต้นจากการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัส
ถึงแม้ในอนาคตจะมีวัคซีน การต่อสู้กับ ASF ต้องใช้หลายอย่างรวมกันต่อสู้ โดยอาจารย์คัมภีร์มองว่าปลายปี 2567 อุตสาหกรรมสุกรไทยจะกลับมาเป็นปกติ จากธุรกิจที่เกี่ยงข้องหายไป 30-40%
บทสรุป 3 ด้าน ใจความสำคัญประกอบด้วย
- การใช้วัคซีนที่เป็นทางเลือกในอนาคต และยังสามารถใช้ร่วมกับสูตรผสมตามข้อ 2 ได้ โดยวัคซีนจะเป็นใน 2 ลักษณะคือ เวกเตอร์วัคซีน และ วัคซีนรีคอมบิแนนท์
- การใช้สูตรผสมของสารเสริมต่างๆ เช่น วาโลซิน ที่สามารถต้านไวรัสได้ โดยผสมผสานกับ Fatty Acid และโมโนกลีเซอไรด์ และการใช้ Probiotics สู้ ASF กับบางฟาร์มดำเนินอยู่และประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยผลการให้อาหารกลุ่ม Fatty Acid และ Probiotics ที่มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับค่ายาสามารถเสริมคุณภาพการเลี้ยงได้ โดยสูตร Combination สามารถทำให้การตรวจเลือดสุกรเป็นลบได้
- ระบบ Bio Security ยังคงเป็นทางรอดหลัก
ผศ.น.สพ.คัมภีร์ เน้นย้ำว่าตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงเอง คือ หนทางสร้างความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่การนำเข้าสุกรแช่แข็ง
คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต คุณอุดมศักดิ์มุ่งเน้นไปในเรื่องของความเสี่ยงในฟาร์มเกษตรกรรายย่อย โดยมี 3 กลุ่มที่สามารถสร้างความเสี่ยง ประกอบด้วย 1) เกษตรกรเอง 2) พ่อค้าและเขียงสุกร 3) กลุ่มจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยความเสี่ยงสำหรับฟาร์มรายย่อยเองจะมี 5 จุดอ่อน จุดตายของรายย่อย ประกอบด้วย
จุดอ่อนที่ 1 รายย่อยขายหมูในฟาร์ม ไม่มีอุปกรณ์การขาย ปล่อยให้พ่อค้าเป็นคนดำเนินการเอง
จุดอ่อนที่ 2 รายย่อยซื้อหมูทดแทน ไม่มีคอกกักระยะฟักตัวยาว จะเป็นปัญหาในการทดแทนหมู
จุดอ่อนที่ 3 รายย่อยต้องพึ่งพาหมอรักษาหมูป่วยจากคนภายนอก มีโอกาสนำเชื้อมาสัมผัสหมูสูง
จุดอ่อนที่ 4 รายย่อยไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีคนเฝ้า คนนอก พ่อค้า เข้ามาคอกหมูได้ตลอดเวลา
จุดอ่อนที่ 5 รายย่อยมักขาดความตระหนักเข้าใจอย่างจริงจังว่าต้องทำ BioSecurity ขนาดไหนอย่างไรจึงจะ รอดพ้นจาก ASF
ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงรายย่อย ที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ จากการบรรยายของคุณอุดมศักดิ์ก็คือ ในเรื่องของการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เหมาะกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เช่น รองเท้า 3 คู่สู้ ASFที่หน้าฟาร์มนอกพิกโซน คู่ที่ 2 รองเท้าในบริเวณฟาร์มจุ่มยาฆ่าเชื้อใส่เฉพาะในบริเวณฟาร์ม คู่ที่ 3 รองเท้าเฉพาะในโรงเรือนใส่ทำงานภายในโรงเรือนเท่านั้น ทำงานเสร็จจะกลับบ้านถอดรองเท้า ย้อนกลับคู่ที่ 3 ถึงคู่ที่ 1 ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับรถขนหมูภายในฟาร์มที่จะขนถ่ายสุกรไปตามจุดต่างๆ ที่ไม่ให้สัมผัสกันและแยกตามส่วนต่างๆ ของงานในฟาร์ม
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นในเรื่องของฟาร์มเปิดในระบบปิด ซึ่งมีการใช้มุ้งเขียวกั้นป้องกันแมลงและสัตว์ที่เคลื่อนย้ายตัวจากที่อื่น เพื่อไม่ให้มีการเข้ามาในฟาร์มที่จะเป็นสาเหตุของการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในเล้า เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดก็จะต่อด้ามให้ยาว โดยเน้นให้คนห่างจากตัวหมูมากที่สุดไม่ให้สัมผัสตัวหมู
คุณอุดมศักดิ์ ย้ำว่า ASF เป็นโรคที่กลัวคนรู้ทัน กลัวการเอาจริงเอาจัง พิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วน โดย ASF จะมาเปลี่ยนรูปแบบ “การเลี้ยงหมูแบบเดิมๆ” สามารถสรุปแนวทางเข้มงวดให้ฟาร์มต้อง ปิด-เปิด-ปรับ-เปลี่ยน ดังนี้
- ปิด - ปิดประตูฟาร์ม ปิดประตูคอกและบริเวณคอกให้มิดชิด ปิดรับปัจจัยเสี่ยงและปิดจุดอ่อน เลี้ยงระบบปิด การปิดฝูง
- เปิด - เปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับข่าวสาร วิชาการ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- ปรับ - ปรับรูปแบบการเลี้ยงรางแยก ลดการสัมผัสหมู ลดมื้ออาหาร ลดการเข้าคอกหมู ลดกิจกรรมกับหมู หรือลดการขายหมูบ่อยๆ
- เปลี่ยน - เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง AI เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง ผสมพันธุ์เอง ทำคลอดเอง ฉีดยาเอง ตอนหมูเอง จับหมูขายเอง(พ่อค้ารอจ่ายเงิน)
สพ.ญ.สุภัทรศร ฉัตรศิริยิ่งยง ผู้ชำนาญการ บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่ถือว่ามาจากกลุ่มบริษัทที่เป็นพี่ใหญ่สุดของวงการสุกรไทย ที่นำเสนอแนวทางความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มที่สามารถเป็นต้นแบบกับฟาร์มในทุกระดับ การที่จะเริ่มใหม่การทำความสะอาดโรงเรือนจะต้องมีระยะพัก และใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นระยะ การเลี้ยงใหม่แนะนำให้ใช้ระบบ Sentinel หรือการใช้สุกรปลอดโรคเข้าเลี้ยงที่ 10% ของความจุปกติของฟาร์มก่อน งดรถขนส่งทุกประเภทเข้าฟาร์ม แยกฟาร์มขายออก โดยการจัดการทั่วไปด้านคนงานในฟาร์มจะมีลักษณะเดียวกันกับวิทยากรท่านอื่นๆ โดยเพิ่มเติม Farm Quarantine เพื่อปล่อยเวลาคัดกรองการปลอดเชื้อเพื่อให้มั่นใจการปลอดเชื้อก่อนเข้าฟาร์มขุน ฟาร์มแม่พันธุ์
จากการสัมมนาครั้งที่ 9 ถือได้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงที่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่สามารถสร้างอนาคตใหม่ให้ผู้เลี้ยงสุกรได้อย่างจริงจัง
สัมมนาสัญจร ครั้งที่ 10 ครั้งสุดท้าย จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งทั้งโครงการได้มีการให้ความรู้รวม 10 จังหวัด ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการกลับมาเลี้ยงใหม่ และการเริ่มต้นการเลี้ยงสุกรเพื่อให้การเลี้ยงสุกรของไทยเป็นเศรษฐกิจหนึ่งของชุมชนที่สามารถสร้างผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้