MOC Meeting
รองจุรินทร์เข้าใจหมูแบกต้นทุนอาหารสัตว์และการป้องกันโรค เน้นดูแลผู้บริโภคผ่านห้างค้าปลีก และโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา
10 พฤศจิกายน 2564 รัฐสภา – ท่านรองนายกจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงภาคบริษัท ผู้บริหารซีพีเอฟ และเบทาโกร เข้าร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ การผลิต และตลาด เพื่อประเมินสถานการณ์หามาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค
สืบเนื่องจากข่าวหมูแพงในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ทำให้ท่านรองนายกและรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมทั้งคุณวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และคุณวิชัย โภชนกิจ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล กรมปศุสัตว์โดยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร่วมให้ข้อมูล จำนวนผลผลิต ความเสียหายจากโรคสุกร ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์
โดยเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตสุกรขุนปี 2563 กับปี 2564 ต่างกันสิ้นเชิง โดยปี 2563 ผู้เลี้ยงสุกรให้ความร่วมมือขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ราคาไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนตามกลไกลตลาด โดยผู้เลี้ยงสุกรมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 65.67 บาท ส่วนปี 2564 ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นราคาเฉลี่ยที่ผู้เลี้ยงสุกรขายได้เฉลี่ย 67-68 บาทต่อกิโลกรัมที่ต้นทุนประมาณ 78-80 บาท ตามการประเมินของคณะอนุกรรมการต้นทุนของ Pig Board ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 โดยมีราคาตกต่ำสุดช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ที่มีราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ตามข้อมูลจากตัวแทนผู้เลี้ยง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจึงจำเป็นต้องขอขยับราคาขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน เพื่อลดความสูญเสียให้เกษตรกร
วันพระล่าสุดที่ 4 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 80-82 บาท ผู้เลี้ยงต้องปรับราคาจำหน่ายขึ้น เพื่อลดภาระขาดทุน ที่ผู้เลี้ยงมีต้นทุนผลิตสุกรที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักประกอบด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงถึง 10-11 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองสัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ราคา 19.80 บาทต่อกิโลกรัมและมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสต็อกผู้ผลิตในต่างประเทศลดลง โดยมีค่าบริหารความเสี่ยงด้านโรคระบาดในสุกรที่เพิ่มขึ้น 300-400 บาทต่อตัว รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวคิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นปี 2564 ทำให้ต้นทุนการผลิตทั้งปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 78.40 บาท ซึ่งราคาสุกรหน้าฟาร์มที่สะท้อนต้นทุนไม่ควรต่ำกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม ตามการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสาธารณะของนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา กรณีข้อกังวลของกระทรวงพาณิชย์ ด้านราคาจำหน่ายปลีกสุกรเนื้อแดง ที่จะกระทบค่าครองชีพผู้บริโภคนั้น ได้ข้อสรุป คือ
- ให้กรมการค้าภายใน ประสานขอความร่วมมือกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ประกอบด้วย Makro Lotus Big C ตรึงราคาเนื้อแดง (ที่ราคาเท่าไรให้ไปหารือ) เป็นเวลา 1 เดือน โดยตรวจสอบราคาปลีกห้างฯ วันนี้ประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัมทั้ง 3 ห้าง และเตรียมสินค้าเนื้อสุกรร่วมโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา
- ลดต้นทุนการเลี้ยง และระบาย Stock ข้าวเปลือก ให้กรมการค้าภายใน เป็นตัวกลาง เชิญสมาคมโรงสีข้าว สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์(อคส.) เพื่อเจรจาต่อรองราคาที่เหมาะสม ใช้วัตถุดิบข้าวกะเทาะเปลือก เป็นวัตถุดิบทดแทน (คาดว่าภายในวันศุกร์นี้ 12 พฤศจิกายน 2564)
- ให้กรมปศุสัตว์ประสานฝ่ายเลขาท่านจุรินทร์ เพื่อเชิญประชุม คณะกรรมการอำนวยการ AFS แห่งชาติ เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อติดตามประเมินผลกระทบ และแผนฟื้นฟู ปี 2565
สรุปคือกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการขอความร่วมมือขายราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ราคาใดๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่จะบริหารจัดการความเหมาะสมเพื่อดูแลทั้งผู้เลี้ยงสุกรและผู้บริโภค