Reborn Mukdahan 19082022
สัมมนาสัญจรหมูอีสาน "หลังเว้นวรรค" 10 ครั้ง กับ 5 ภาพชัดเจนอุตสาหกรรมสุกรไทย
22 สิงหาคม 2565 มุกดาหาร - ปิดโครงการสัมมนาสัญจรอย่างสมบูรณ์แบบ กับ 10 จังหวัดหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับ ภาพอุตสาหกรรมสุกรไทยที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งแนวทางผู้เลี้ยง บทบาทกรมปศุสัตว์ และบทบาทกรมการค้าภายในที่ต้องผลักดันเศรษฐกิจการค้าการบริการภายในประเทศตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเสมอภาคในทุกสินค้าที่กำกับดูแล
ภาพการสัมมนาสัญจรที่ต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาจนถึงครั้งที่ 10 ครั้งสุดท้ายที่จังหวัดมุกดาหารเมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 กับภาพของผู้ติดตามข่าวอาจเหมือนการฉายภาพยนตร์เรื่องเดียวซ้ำ 10 รอบ ที่มีผู้ชมแน่นทุกรอบ กับ ผลลัพธ์ที่มีแนวโน้มที่ถูกทิศถูกทางมากขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันการกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ตัวเลขยังไม่สูงที่ 5-10% ของจำนวนที่หยุดไปจากผลกระทบของโรคระบาดร้ายแรง กับ 5 ภาพอนาคตที่ชัดเจนของวงการสุกรไทยที่พอสรุปได้ในเบื้องต้น
การสัมมนาสัญจรครั้งที่ 10 เริ่มจากการกล่าวรายงานของ น.สพ.ชูยศ เชาว์ศิริกุล กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากบริษัท สหไทยฟาร์ม จำกัด จังหวัดมุกดาหาร ต่อคุณพิภพ เพียววิเศษ ปศุสัตว์จังหวัด ประธานพิธีเปิด โดยปศุสัตว์จังหวัดได้เป็นวิทยากรด้วยในหัวข้อนโยบายกรมปศุสัตว์กับการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสุกร ปี 2565 ที่สรุปเป็นประเด็น คือ กรมปศุสัตว์เน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย โดยวาระแห่งชาติโรค ASF ของมุกดาหาร ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเฉลิมพล มั่งคั่ง มาร่วมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เรื่องการเคลื่อนย้าย การช่วยเหลือสถานการณ์การเกิดโรค ร่วมคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหาย โดยจำนวนฟาร์มสุกรในมุกดาหารมีจำนวน 1,800 ฟาร์ม เป็น GAP 20 ฟาร์ม GFM ใกล้ 100 ฟาร์ม ซึ่งกำลังผลักดันให้มีมาตรฐานในทุกฟาร์ม ขั้นต่ำคือ GFM โดยกลุ่มปศุสัตว์อื่นๆ ที่มีชื่อเสียงของมุกดาหารได้แก่ เนื้อโคหนองสูง(พันธุ์วากิว) และหมูหันแก่งกะเบา
คุณวัชรี จันทรสาขา นักวิชาการพาณิชย์ ชำนาญการพิเศษ ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดมุกดาหารที่มาอัพเดทนโยบายและประกาศต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุกรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเวทีสัมมนาได้ฝากให้กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลการค้าสุกรขุนให้สะท้อนต้นทุนการผลิตที่ปัจจุบันมีต้นทุนที่สูงมาก ที่มาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าลูกสุกรพันธุ์ ค่าพลังงานต่างๆ ที่ใช้ในฟาร์มและการขนส่ง โดยปัจจุบันความเสี่ยงกับโรคร้ายแรงในสุกรทำให้อัตราการสูญเสียที่ผันกลับมาเป็นต้นทุนการผลิตของสุกรที่รอด ยังอยู่ในอัตราที่สูงมาก ในขณะที่ยังมีการลักลอบนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรรายย่อยถึงรายกลาง
ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ได้กล่าวถึงการกลับมาเลี้ยงใหม่ต้องพิจารณา เงินทุน เพราะผู้เลี้ยงที่เสียหายจากโรคระบาดจำนวนมากที่ขาดเงินทุน บางส่วนอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ พิจารณาด้านเศรษฐกิจโดยรวม โดยเชื้อที่ยังฝังในฟาร์มหลังพ่นยาฆ่าเชื้อ น่าจะหมดและอาจมีเชื้อที่ไม่สมประกอบ อย่างไรก็ตามระยะปลอดภัยที่สุดจะเป็น 6 เดือนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด การมุ่งให้ฟาร์มปลอดเชื้อควรตรวจเชื้อจากดินรอบฟาร์มด้วย ติดมุ่งกันแมงวัน กันนกเข้าฟาร์ม ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพยังคงต้องเข้มงวด ระบบลด Contact Transmission ให้เชื้อเป็นศูนย์ทั้งหมด
ปัจจุบันโรงฆ่าสัตว์ฆ่าสุกรน้อยลง เชื้อลดลง ให้ผู้เลี้ยงกลับมาอย่างมีวิชาการ หมูที่รอดช่วงโรคระบาดสามารถนำมาต่อเชื้อได้ โดยเชื้อที่ยังอยู่ในร่างกายจะไปที่ข้อ และต่อมน้ำเหลือง หมูอมโรคให้แยกหรือกำจัดออก ผศ.น.สพ.คัมภีร์ยังคงให้น้ำหนักกับการดูแลสุขภาพสุกรไปที่การเสริมอาหารกลุ่มไขมันโมเลกุลเล็ก ที่เสมือนยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อไปในตัว
มุมมองที่เพิ่มเติมจากระบบ Bio Security ที่เป็นทางรอดหลักกับแนวทางที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว ที่พลั้งเผลอไม่ได้เลย การคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านโรคได้ดี เพราะวัคซีนในอนาคตที่อาจมาจากทั้ง เวกเตอร์วัคซีน หรือ วัคซีนรีคอมบิแนนท์ ที่ตั้งต้นจากการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัส โดยจีนเตือนวัคซีนเชื้อเป็นจากเวียดนามในปัจจุบัน มีโอกาสทำให้เชื้อกลายพันธุ์
ถึงแม้ในอนาคตจะมีวัคซีน การต่อสู้กับ ASF ต้องใช้หลายอย่างรวมกันต่อสู้ โดยอาจารย์คัมภีร์มองว่าปลายปี 2567 อุตสาหกรรมสุกรไทยจะกลับมาเป็นปกติ จากธุรกิจที่เกี่ยงข้องหายไป 30-40%
บทสรุป 3 ด้าน ใจความสำคัญประกอบด้วย
- การใช้วัคซีนที่เป็นทางเลือกในอนาคต และยังสามารถใช้ร่วมกับสูตรผสมตามข้อ 2 ได้ โดยวัคซีนจะเป็นใน 2 ลักษณะคือ เวกเตอร์วัคซีน และ วัคซีนรีคอมบิแนนท์
- การใช้สูตรผสมของสารเสริมต่างๆ เช่น วาโลซิน ที่สามารถต้านไวรัสได้ โดยผสมผสานกับ Fatty Acid และโมโนกลีเซอไรด์ และการใช้ Probiotics สู้ ASF กับบางฟาร์มดำเนินอยู่และประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยผลการให้อาหารกลุ่ม Fatty Acid และ Probiotics ที่มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับค่ายาสามารถเสริมคุณภาพการเลี้ยงได้ โดยสูตร Combination สามารถทำให้การตรวจเลือดสุกรเป็นลบได้
- ระบบ Bio Security ยังคงเป็นทางรอดหลัก
คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต คุณอุดมศักดิ์เปิดด้วยการฟันธงว่า ฟาร์ม GFM คือ มาตรฐานเพื่อความอยู่รอดสำหรับฟาร์มรายย่อย ปัจจุบันรายย่อยหายไปมาก แต่ไม่กระทบผลผลิตสุกรเหมือนกรณีฟาร์มรายใหญ่รายกลางหายไป คุณอุดมศักดิ์มุ่งเน้นไปในเรื่องของความเสี่ยงในฟาร์มเกษตรกรรายย่อย โดยมี 3 กลุ่มที่สามารถสร้างความเสี่ยง ประกอบด้วย 1) เกษตรกรเอง 2) พ่อค้าและเขียงสุกร 3) กลุ่มจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยความเสี่ยงสำหรับฟาร์มรายย่อยเองจะมี 5 จุดอ่อน จุดตายของรายย่อย ประกอบด้วย
จุดอ่อนที่ 1 รายย่อยขายหมูในฟาร์ม ไม่มีอุปกรณ์การขาย ปล่อยให้พ่อค้าเป็นคนดำเนินการเอง
จุดอ่อนที่ 2 รายย่อยซื้อหมูทดแทน ไม่มีคอกกักระยะฟักตัวยาว จะเป็นปัญหาในการทดแทนหมู
จุดอ่อนที่ 3 รายย่อยต้องพึ่งพาหมอรักษาหมูป่วยจากคนภายนอก มีโอกาสนำเชื้อมาสัมผัสหมูสูง
จุดอ่อนที่ 4 รายย่อยไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีคนเฝ้า คนนอก พ่อค้า เข้ามาคอกหมูได้ตลอดเวลา
จุดอ่อนที่ 5 รายย่อยมักขาดความตระหนักเข้าใจอย่างจริงจังว่าต้องทำ BioSecurity ขนาดไหนอย่างไรจึงจะ รอดพ้นจาก ASF
ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงรายย่อย ที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ จากการบรรยายของคุณอุดมศักดิ์ก็คือ ในเรื่องของการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เหมาะกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เช่น รองเท้า 3 คู่สู้ ASFที่หน้าฟาร์มนอกพิกโซน คู่ที่ 2 รองเท้าในบริเวณฟาร์มจุ่มยาฆ่าเชื้อใส่เฉพาะในบริเวณฟาร์ม คู่ที่ 3 รองเท้าเฉพาะในโรงเรือนใส่ทำงานภายในโรงเรือนเท่านั้น ทำงานเสร็จจะกลับบ้านถอดรองเท้า ย้อนกลับคู่ที่ 3 ถึงคู่ที่ 1 ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับรถขนหมูภายในฟาร์มที่จะขนถ่ายสุกรไปตามจุดต่างๆ ที่ไม่ให้สัมผัสกันและแยกตามส่วนต่างๆ ของงานในฟาร์ม
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นในเรื่องของฟาร์มเปิดในระบบปิด ซึ่งมีการใช้มุ้งเขียวกั้นป้องกันแมลงและสัตว์ที่เคลื่อนย้ายตัวจากที่อื่น เพื่อไม่ให้มีการเข้ามาในฟาร์มที่จะเป็นสาเหตุของการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในเล้า เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดก็จะต่อด้ามให้ยาว โดยเน้นให้คนห่างจากตัวหมูมากที่สุดไม่ให้สัมผัสตัวหมู
ใช้งานระบบอีแวป สลับกับอุโมงค์ลมธรรมดาในโรงเรือนสุกร เป็นอีกหนึ่งระบบที่สามารถทำเองได้ในฟาร์มที่สลับการทำงานกับระบบอีแวป ตามลิงค์ YouTube ของ MooYaso ChannelURL : https://www.youtube.com/watch?v=lhLqurnLjRY
คุณอุดมศักดิ์ ย้ำว่า ASF เป็นโรคที่กลัวคนรู้ทัน กลัวการเอาจริงเอาจัง พิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วน โดย ASF จะมาเปลี่ยนรูปแบบ “การเลี้ยงหมูแบบเดิมๆ” สามารถสรุปแนวทางเข้มงวดให้ฟาร์มต้อง ปิด-เปิด-ปรับ-เปลี่ยน ดังนี้
- ปิด - ปิดประตูฟาร์ม ปิดประตูคอกและบริเวณคอกให้มิดชิด ปิดรับปัจจัยเสี่ยงและปิดจุดอ่อน เลี้ยงระบบปิด การปิดฝูง
- เปิด - เปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับข่าวสาร วิชาการ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- ปรับ - ปรับรูปแบบการเลี้ยงรางแยก ลดการสัมผัสหมู ลดมื้ออาหาร ลดการเข้าคอกหมู ลดกิจกรรมกับหมู หรือลดการขายหมูบ่อยๆ
- เปลี่ยน - เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง AI เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง ผสมพันธุ์เอง ทำคลอดเอง ฉีดยาเอง ตอนหมูเอง จับหมูขายเอง(พ่อค้ารอจ่ายเงิน)
สพ.ญ.สุภัทรศร ฉัตรศิริยิ่งยง ผู้ชำนาญการ บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่ถือว่ามาจากกลุ่มบริษัทที่เป็นพี่ใหญ่สุดของวงการสุกรไทย ที่นำเสนอแนวทางความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มที่สามารถเป็นต้นแบบกับฟาร์มในทุกระดับ การที่จะเริ่มใหม่การทำความสะอาดโรงเรือนจะต้องมีระยะพัก โดยกรมปศุสัตว์กำหนดไว้ที่ 6 เดือน และใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นระยะ การเลี้ยงใหม่แนะนำให้ใช้ระบบ Sentinel หรือการใช้สุกรปลอดโรคเข้าเลี้ยงที่ 10% ของความจุปกติของฟาร์มก่อน โดยแนะนำเพิ่มเติมจากการนำเสนอครั้งที่ 9 ที่การนำเสนอในจังหวัดยโสธร ให้นำระบบ Automatic Feeding System มาใช้ในทุกฟาร์ม
สพ.ญ.สุภัทรศรกล่าวว่าตัวเชื้อมีเกาะ 5 ชั้น ตามซอกตามมุมสามารถมีเชื้ออยู่ได้ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำซ้ำๆ มีโอกาสที่จะทำให้หมดเชื้อได้ โดยแนะนำการใช้ผงซักฟอกผสมยาฆ่าเชื้อช่วยลดเชื้อได้มากกว่า 90% การใช้เครื่อง UV ระยะเวลา 30 นาที ฆ่าเชื้อได้ เช่น ในห้องเก็บอาหารสัตว์ หรือใช้วิธีแยกเก็บพักอาหารก่อนนำเข้าฟาร์ม โดยกรณีมีสุกรตายไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตามให้ห่อภาชนะมิดชิดก่อนเคลื่อนย้ายออกจากฟาร์ม
งดรถขนส่งทุกประเภทเข้าฟาร์ม แยกฟาร์มขายออก โดยการจัดการทั่วไปด้านคนงานในฟาร์มจะมีลักษณะเดียวกันกับวิทยากรท่านอื่นๆ โดยเพิ่มเติม Farm Quarantine เพื่อปล่อยเวลาคัดกรองการปลอดเชื้อเพื่อให้มั่นใจการปลอดเชื้อก่อนเข้าฟาร์มขุน ฟาร์มแม่พันธุ์
5 ภาพชัดเจนอุตสาหกรรมสุกรไทย
จากการสัมมนาสัญจรทั้ง 10 ครั้ง สามารถสรุป 5 ภาพอนาคตที่ชัดเจนของวงการสุกรไทย ที่ถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ทำงานร่วมกันเสมอมา เริ่มตั้งแต่
- ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่คลอบคลุมที่เป็นปัจจุบันที่สุดสำหรับปี 2565 ที่นำเสนอโดย สพ.ญ.สุภัทรศร ฉัตรศิริยิ่งยง ผู้ชำนาญการและทีมงาน บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่มีการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 จนถือว่าการนำเสนอในการสัมมนาทั้ง 10 ครั้ง สามารถนำมาเป็นต้นแบบสำหรับปีนี้และปีต่อๆ ไป สำหรับฟาร์มที่มีกำลังทุนเพียงพอ ในฟาร์มเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง
- ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มรายย่อยที่เกณฑ์ใหม่จะเริ่มต้นที่มาตรฐาน GFM ที่เรียกกันในปัจจุบันคือ ฟาร์มเปิดในระบบปิดที่นำเสนอโดย คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต และ คุณศราวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์.เอ็ม.ซี.ฟาร์ม จำกัด และรองประธานหอการค้า จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เหมาะกับฟาร์มรายย่อย โดยสามารถสร้างระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์แบบชาวบ้านได้ ตามแนวทางที่ได้มีการปฏิบัติจริง จากการนำเสนอของ ผศ.ดร.อภิชาติ อาจนาเสียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่
- การติดเซ็นเซอร์ควบคุมคนเข้าฟาร์ม
- การตั้งเวลาปิด-เปิดไฟควบคุมอุณหภูมิสูงต่ำในเล้าอนุบาล
- การตั้งเวลาเปิดปิดพัดลมอัตโนมัติระบายแก๊สในฟาร์ม
- ระบบการให้อาหารอัตโนมัติ ระบบหยอดน้ำผสมอาหารเม็ดเป็นระยะ
- การติดตั้งวงจรปิดเชื่อมสัญญาณ WIFI เปิดดูหมูในแต่ละเล้าได้ตลอดเวลาบนมือถือ
- ระบบเติมน้ำเข้าฟาร์มอัตโนมัติ
- ระบบเติมอาหารใส่ Hopper ข้างโรงเรือน
- ระบบซึ่งทั้งหมดเป็นการติดตั้งเองทั้งหมด สามารถประมวลผลผ่าน Smartphone ของเกษตรกรได้ โดยเงินลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งอาจารย์อภิชาติสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย และเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม แต่สามารถทำรายได้หลักมากกว่างานประจำ โดยผู้เลี้ยงสามารถติดตามแบบการติดตั้งต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube ในชื่อ Apichart Artnaseaw หรือ ขอคำปรึกษาระบบได้ที่ HP 081-266-7120
- ความช่วยเหลือและดูแลอย่างใกล้ชิดของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ระดับส่วนกลาง และภูมิภาคทั้งจากปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอที่เห็นได้ชัดจากทุกครั้งของการสัมมนาทั้ง 10 จังหวัด ในขณะที่ร่างประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดเกณฑ์การกลับมาเลี้ยงใหม่ของสุกร มีความสอดคล้องกับแนวทางนำเสนอที่สามารถปฏิบัติได้จริง
- การสัมมนาครั้งที่ 9 และ 10 มีพาณิชย์จังหวัดเข้ามาร่วมพบปะและเป็นวิทยากรบนเวที โดยประเด็นหลักจะนำเสนอในประเด็นอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่ดูแลการค้าตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค ตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เท่านั้น คือ "เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือ การกำหนดเงื่อนไข และวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม" กฎหมายป้องกันการผูกขาดฉบับนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว และอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เช่น ปรากฏการณ์บะหมี่ซองเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่เข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อขอปรับราคา เพราะแบกภาระต้นทุนแต่ถูกขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายปลีก ซึ่งผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ให้ข่าวผ่านสื่อสาธารณะว่า “มาม่าขายต่างประเทศสามารถขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มได้ แต่เมืองไทยทำไม่ได้” ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ผลิต ผู้ค้าสามารถทำได้ ไม่ต่างจากต่างประเทศ แต่ภาคการเมืองของไทยใช้ทุกอย่างที่สามารถหยิบยกได้ มาเป็นประเด็นทางการเมืองโจมตีกันไปมาโดยมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่รู้กันดีในทางสาธารณะ ถ้าพาณิชย์ปฏิบัติตามกรอบอำนาจตามกฎหมายจะสามารถตอบได้ทุกคำถาม การบริหารเศรษฐกิจ สังคม ของภาครัฐของไทยจะไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดี กับ คำมั่นที่จะดูแลทั้ง ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค ภายใต้อำนาจตามกฎหมาย
- ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมสุกร ให้ความช่วยเหลือดูแลกันด้วยดีเสมอมา ตั้งแต่
- ฟาร์มสุกรครบวงจรขนาดใหญ่ ขนาดกลางที่ให้การสนับสนุนทุกครั้งของการสัมมนาให้รายย่อย โดยฟาร์มสุกรครบวงจรจะเป็นคู่สัญญาที่ดีและเป็นพี่เลี้ยงที่จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกลับมาได้อย่างรัดกุมและเข้มงวดภายใต้การกำกับดูแลกันและกัน ช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะทำให้การหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ลดปัญหาหนี้สินภาคเกษตรกรและหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศ
- ผู้ผลิตอาหารสัตว์และผู้ค้า ผู้ประกอบการโภชนาการสัตว์ เวชภัณฑ์ต่างๆ อุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ ให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอ
- สถาบันการเงินของรัฐทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง
- ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ(ผศ.น.สพ.คัมภีร์) สมาคมนักอาหารสัตว์ไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการฟาร์มสุกรไทยในต่างประเทศ พร้อมให้ความรู้ทางวิชาการ แบ่งปันประสบการณ์ การบริหารจัดการฟาร์ม ที่เคียงข้างเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเสมอมา
คณะกรรมการบริหารของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝากขอบพระคุณมาดังนี้ “ตามที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการจัดอบรมให้แก่เกษตรกรทั้ง 10 ครั้งที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขอขอบพระคุณกรรมการและผู้เลี้ยงสุกรที่ช่วยให้กิจกรรมลุล่วงไปอย่างเรียบร้อย ขอขอบพระคุณ ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน และวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างสูงที่ได้เสียสละเวลามาให้ความรู้แก่เกษตรกร และที่ขาดไปไม่ได้ คือ สื่อสารมวลชนทุกสำนัก ที่มาช่วยงานให้ประสบผลสำเร็จ ในนามสมาคมขอขอบคุณเป็นอย่างสูง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : การสัมมนาย้อนหลัง
การสัมมนา ครั้งที่ 5 สัมมนากระตุ้นชาวหมูโคราชคึกคัก ฟาร์มใหญ่ร่วมให้ความรู้ แบงค์รัฐร่วมสนับสนุน
การสัมมนา ครั้งที่ 7 ผู้เลี้ยงสุกร 20 อำเภอในอุดรเข้าร่วม “เตรียมความพร้อมหลังเว้นวรรค” อย่างหนาแน่น