Intention of Pig Pork Act

โดยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกรประกอบด้วย

จากการประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ครั้งแรก เมื่อ 22 มกราคม 2567 โดยนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เตรียมผลักดันกฎหมาย เพื่อการจัดการอุตสาหกรรมสุกรให้มีกฎเกณฑ์ที่ประสานประโยชน์ ให้กับผู้เลี้ยงสุกรทุกกลุ่ม ผู้ประกอบการค้าสุกรทั้งสุกรมีชีวิต ผู้จำหน่ายปลีกเนื้อสุกร ให้ได้รับความยุติธรรม เสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อให้ภาคปศุสัตว์ไทย เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่สอดคล้องทั้งยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570)  โดยเจตนารมย์ พระราชบัญญัตินี้ประกอบด้วย

 

1. ให้อุตสาหกรรมสุกรเป็นเศรษฐกิจหลักหนึ่งของประเทศ ที่ภาครัฐควรรับรู้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยกำหนดให้ฝ่ายบริหารภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสุกรและเนื้อสุกรแห่งชาติ(มาตรา ๑๓) เพราะตลอดระยะเวลาแห่งการสูญเสียของการประสบปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงในหลายๆ ครั้ง และที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ภาครัฐยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือน้อยมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการเกษตรปศุสัตว์เป็นเกษตรที่สามารถกำหนดการผลิตได้อย่างชัดเจน จากมาตรฐานการเลี้ยงของไทยที่เข้าสู่ภาคบังคับแล้วในปัจจุบัน

2. ตั้งกองทุนสุกรและเนื้อสุกรเกี่ยวโยงกับงบประมาณแผ่นดิน โดยกองทุนหลักมาจากการเก็บเงินสมทบจากผู้เลี้ยง ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ(มาตรา ๑๘) ให้มีดุลยภาพที่ไม่ส่งผลลบต่อราคา โดยเฉพาะราคาสุกรขุนหน้าฟาร์ม

3. บัญญัติการห้ามนำเข้าอย่างชัดเจนเป็นข้อกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็น(มาตรา ๒๗,๒๘ ) เพื่อบริหารจัดการสมดุลของตลาดถึงแม้บางส่วนจะต้องมีการนำเข้าตามความจำเป็น เช่น เครื่องในสุกร เช่น ตับสุกรเพื่อการจำหน่ายที่ผลผลิตในประเทศมีเพียงประมาณ 30,000 เมตริกตันต่อปี ไส้สุกรสำหรับอุตสาหกรรมไส้กรอก หนังสุกรสำหรับอุตสาหกรรมแคปหมูและเครื่องหนัง

4. มีโครงสร้างการกำหนดราคาขั้นต้นราคาสุกรและเนื้อสุกรเพื่อสร้างความยุติธรรม ระหว่างผู้เลี้ยง ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และผู้บริโภค (มาตรา ๒๙(๕)) โดยเฉพาะราคาสุกรขุนหน้าฟาร์ม และ ราคาเนื้อสุกรที่เป็นเนื้อแดงพื้นฐาน เช่น ส่วนสะโพก ส่วนหัวไหล่ โดยจะไม่ครอบคลุมไปถึงส่วนเนื้อตัดแต่งและสินค้าระดับพรีเมียมที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกของผู้บริโภค

5. มีบัญญัติการกำหนดปริมาณการผลิตตามประมาณการความต้องการการบริโภค ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างชัดเจน มีการจัดสัดส่วนการเพิ่มการผลิตอย่างเป็นธรรมตามฐานของปริมาณการผลิตตั้งต้น เพื่อป้องกันการครอบครองตลาดเกินควร เว้นแต่มีการสร้างตลาดใหม่ที่ไม่ได้ไปครอบงำตลาดเดิมของผู้เลี้ยงสุกรด้วยกัน(มาตรา ๒๙(๓)) โดยคณะกรรมการสุกรและเนื้อสุกรจะนำข้อมูลความต้องการบริโภค ตลาดแปรรูป ตลาดส่งออก มาเป็นตัวตั้งที่นำมากำหนดปริมาณการผลิตในแต่ละปี

6. บัญญัติให้มีการขึ้นทะเบียนฟาร์ม ขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้เลี้ยงต่อคณะกรรมการเพื่อง่ายต่อการวางแผนการผลิตในแต่ละปี(มาตรา ๒๕) โดยมีบทบัญญัติการให้เป็นสมาชิกรวมกลุ่มที่มีสภาพทางกฎหมาย เช่น กลุ่มสหกรณ์การเกษตร เพื่อบริหารจัดการเพื่อการต่อยอดในลักษณะเดียวกับบริษัทการเกษตรครบวงจรทั่วไป เพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างบูรณาการ

7. ให้อำนาจหน้าที่กับพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสุกรและเนื้อสุกรที่เป็นหน่วยงานของรัฐเข้าตรวจสอบฟาร์มสุกรต้องสงสัยว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดได้ (มาตรา ๕๐(๑)(๒)) เช่น มีจำนวนแม่พันธุ์ สุกรขุน มากกว่าที่รายงานจำนวนประชากรสุกรต่อคณะกรรมการ เนื่องจากการประกอบอาชีพสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องมีตัวเลขที่ชัดเจน ตลาดชัดเจน

8. บัญญัติบทลงโทษทางอาญาในกรณีที่ผู้เลี้ยง ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมการฯ (มาตรา ๖๐ ถึง ๖๔)

9. มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสุกรและเนื้อสุกร ที่มีการบัญชี การตรวจสอบและการประเมินการดำเนินงานของสำนักงาน (มาตรา ๓๙)

10. ผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการเข้ามาเป็นตัวแทนกรรมการที่มีทั้ง 3 คณะกรรมการ 1) คณะกรรมการสุกรและเนื้อสุกรแห่งชาติ (มาตรา ๘) 2) คณะกรรมการกองทุนสุกรและเนื้อสุกร (มาตรา ๑๙) 3) คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและกำหนดราคาสุกรและเนื้อสุกร (มาตรา ๒๙)

ขั้นตอนการพิจารณา

  • คณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ
  • คณะทำงานกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ
  • คณะรัฐมนตรี
  • สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ รัฐสภา

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศใช้)

ผู้ที่มีส่วนในวงการสุกรทุกขนาดทุกกลุ่มสามารถเสนอตัวเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณารายมาตราเบื้องต้น สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โทร.02-136-4797

อีเมล์ swinethailand@yahoo.com

Visitors: 422,972