Illegal Pork CIB to ECD

กรมปศุสัตว์ส่งกรมศุลกากร 495 รายชื่อผู้ได้รับอนุญาตทำการค้าสุกรนำเข้า ต้องผ่านพิธีการศุลกากรช่อง RED LINE เปิดตรวจตู้ 100% เป็นหนึ่งในมาตรการเข้มงวดป้องกันเนื้อสุกรลักลอบ

9 มิถุนายน 2566 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - คณะทำงานร่วมแก้ปัญหาสินค้าเนื้อสุกรลักลอบ ทะยอยเพิ่มมาตรการเข้มงวดระหว่างหน่วยงานราชการ โดยกรมปศุสัตว์ส่งกรมศุลกากร 495 รายชื่อผู้ได้รับอนุญาตทำการค้าสุกรนำเข้า ต้องผ่านพิธีการศุลกากรช่อง RED LINE เปิดตรวจตู้ 100% เป็นหนึ่งในมาตรการเข้มงวดป้องกันเนื้อสุกรลักลอบ

          หลังการประชุมร่วมคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วยกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 แต่ละฝ่ายมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยกรมปศุสัตว์แจ้งผ่านหนังสือลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ลงนามโดยรองอธิบดีกรมปศุสัตว์นายโสภัชย์ ชวาลกุล ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ชนิดซากสุกรประเภทนำเข้าในราชอาณาจักรที่มีผลการรับรองในช่วงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยได้ส่งให้กรมศุลกากรขึ้นบัญชีกลุ่มผู้นำเข้า ที่ต้องผ่านพิธีการในลักษณะตรวจสอบทั้งหมด(RED LINE) โดยมีรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตทำการค้าซากสุกรนำเข้าในร้านอาณาจักร ทั้งสิ้น 495 ราย ตามคำขอของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวด และปิดประตูสำหรับการลักลอบนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศโดยไม่รับอนุญาต

          อย่างไรก็ตามปัจจุบันปริมาณสินค้าเนื้อสุกรลักลอบยังคงฝังตัวตามห้องเย็นต่างๆ ที่น่าจะแอบทะยอยออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังคงไม่สามารถผลักดันให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มเข้าถึงจุดต้นทุนได้ตามที่คาด โดยเกษตรกรขาดทุนติดต่อกันมาขึ้นเดือนที่ 5

          ข้อกังวลของผู้เลี้ยงสุกรกรณี 161 ตู้สินค้าสุกรตกค้างที่สำนักงานท่าเรือแหลมฉบับ ปัจจุบันถือเป็นของกลางที่ไม่สามารถออกมาสู่ตลาดได้ หลังนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากรได้ยื่นหนังสือกับ พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รองผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง ตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เนื่องจากที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งหรือหมูเถื่อน เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เป็นจำนวนมากถึง 4.5 ล้านกิโลกรัม และเมื่อรวมซากหมูเถื่อนทั้งหมดในช่วงปีเศษที่ผ่านมา จับกุมได้รวมถึง 4.8 ล้านกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีความกังวลใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสุขอนามัยของผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งซากหมูเถื่อนเหล่านี้จะถูกส่งมาจากประเทศบราซิล สเปน และเดนมาร์ก เป็นต้น

          โดยคดีกรณี 161 สินค้าสุกรตกค้างจะรับผิดชอบคดีโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ECD หรือ บก.ปอศ) โดยจะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีเหล่านี้ต่อเพื่อยับยั้ง หยุดความพยายามในการลักลอบสินค้าดังกล่าว ระหว่างกระบวนการสอบสวนและต่อเนื่องการส่งฟ้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา 161 ตู้สินค้าสุกรตกค้างจะอยู่ในสถานะ"ของกลาง" ที่รอคดีสิ้นสุดเพื่อส่งทำลายสถานเดียว ไม่มีการหลุดรอดสู่ตลาดที่จะทำให้ผู้เลี้ยงสุกรเสียหาย

 

Visitors: 396,844