Secretary PM at Government House
เลขาพีระพันธ์รับจะดำเนินการเร่งรัดให้ ขอเอกสารร้องเรียนหมูกล่องจากทุกหน่วยงาน พร้อมแนะผู้ให้สุกรนัดพบกรมศุลกากรต้นทางของการกระทำผิด
29 มีนาคม 2566 ทำเนียบรัฐบาล – เลขาธิการนายกรัฐมนตรีนายพีระพันธ์ สาลีรัตนวิภาค ขอให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจากทั่วประเทศนำข้อเรียกร้องที่เคยเรียกร้องจากทุกหน่วยงานราชการและสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะรับหน้าที่ในการเร่งรัดทุกหน่วยงาน โดยแนะนำให้ผู้เลี้ยงสุกรนัดเข้าพบกรมศุลกากรที่เป็นต้นทางของการกระทำความผิดเพื่อ หารือรายละเอียด เพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ
หลังจากที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำโดย นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ฟาร์มสุกรวันวิสาข์ฟาร์ม และ นายอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ แห่งฟาร์มหมูยโสธรดอทเน็ต ในนามชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ยื่นร้องเรียนผลกระทบจากการนำเข้าหมูอย่างผิดกฎหมายต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตั้งแต่ 29 กันยายน 2565 และได้มีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสวน ต่างๆ เป็นระยะ โดยล่าสุดเมื่อ 8 มีนาคม 2566 ได้มีการแจ้งเบาะแสและประเด็นนำสืบให้แก่เจ้าหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ที่ทำงานร่วมกับ ปปช.ในเรื่องร้องเรียนนี้ และประชุมร่วมกัน โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรให้ร้องเรียนในภาพใหญ่ต่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นที่มาของการยื่นข้อเรียกร้องในวันนี้
ในระหว่างการพบเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกลุ่มผู้เลี้ยงได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเดือดร้อน ตั้งแต่มี ชิ้นส่วนสุกรนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เข้ามาแย่งตลาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมาและเพิ่มจำนวน มากขึ้นจนเริ่มส่งผลกระทบ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 หลังจากที่เกษตรกรที่เสียหายและหยุดเลี้ยงไปในช่วงการระบาดของโรค ASF ในสุกร กลับมาเลี้ยงใหม่และเริ่มมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด จึงทำให้ปริมาณเข้าสู่ตลาดปกติของสุกรที่เลี้ยงโดยเกษตรกรไทยและผู้เลี้ยงที่ยังคงประกอบการอยู่ ผสมผสานกับชิ้นส่วนเนื้อสุกรนำเข้า สร้างผลกระทบ กับ ความต้องการสุกรหน้าฟาร์มเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบัน ราคาสุกร หน้าฟาร์มที่มีการซื้อขายอยู่ในระดับ 86 ถึง 88 บาท โดยในช่วงก่อนหน้านี้มีราคาที่ตกต่ำลงไปถึง 70 ต้นๆ ทำให้มีการขาดทุน ต่อตัวถึง 2,000-3,000 บาท สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในทุกภูมิภาคทั้งประเทศ
ในการร้องเรียนดังกล่าว มี 2 ประเด็น โดยแยกเป็น
1) การเร่งรัดให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาชิ้นส่วนเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า และ
2) มาตรการรัฐในการกำกับดูแลสินค้าสุกรที่มีความเหลื่อมล้ำ กับ สินค้าควบคุมอื่นๆ ที่เป็นต้นทางของต้นทุนการผลิต โดยผู้ร้องเรียนในภาคอีสานให้รายละเอียดว่าพาณิชย์จังหวัดในหลายพื้นที่กลับนำเนื้อสุกรไปจำหน่ายในราคาเพียง 100 บาทต่อกิโลกรัม บิดเบือนกลไกตลาดเสียเอง ในขณะที่ปล่อยให้พืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นเฉพาะราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์ เฉลี่ยทั้งปีกิโลกรัมละ 12.5-14.00 บาท แต่ราคาที่เกษตรกรข้าวโพดขายได้เฉลี่ยทั้งปีกิโลกรัม 8.40-9.80 บาท โดยบางช่วงยังคงใช้งบประมาณแผ่นดินสำหรับการประกันราคาที่เกษตรกรขายได้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.50 บาท ในขณะที่ผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ แต่กลับอนุญาตให้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดูเหมือนว่าเป็นการสร้างราคา FOB สำหรับส่งออกที่ไม่น่ามีการส่งออกจริง และนำราคา FOB นั้นมาเป็นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงานอาหารสัตว์ ที่เกษตรกรภาคปศุสัตว์และสุกรต้องแบกส่วนต่างที่สูงเกินควรหลังหักส่วนต่างผู้รวบรวม ที่ไม่ควรเกิน 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยเป็นต้นทุนที่สูงเกินควรสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับการผลิตสุกรถึงกิโลกรัมละ 3 บาท คิดเป็นต้นทุนการผลิตสุกรที่จะลดลงได้อีกประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้านำกากถั่วจากเมล็ดนำเข้าที่สูงเกินจริง 3-4 บาทเช่นกันในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับกากถั่วนำเข้าโดยตรงในปัจจุบัน ถ่วงน้ำหนักด้วยอัตราแลกเปลี่ยนแปรผัน ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรลดลงได้อีกในส่วนของสัดส่วนพืชโปรตีนได้อีกประมาณ 7-8 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิตสุกรสำหรับเกษตรกรที่ซื้อลูกสุกรเข้าขุนจะเหลือเพียง 82-83 บาทต่อกิโลกรัม จาก 100.70 บาทในปัจจุบัน และเมื่อคำนวณต่อที่ต้นทุนลูกสุกรพันธุ์หลังหย่านม(16kg.) ที่ลดลงมาแล้ว(ประมาณ -1,400 บาท) จะทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรกลุ่มนี้ลงมาอยู่ที่ 68-69 บาทต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงต้นทุนการผลิตสุกรในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม 70-73 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะลดโอกาสของกลุ่มลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรลงได้
โดยคุณพีระพันธ์รับที่จะเร่งรัดเฉพาะประเด็นของชิ้นส่วนเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า โดยให้ผู้ร้องเรียนรวบรวมเอกสารการร้องเรียนที่ผ่านมาทั้งหมดจากทุกหน่วยงานที่ยื่นและหารือมาให้ โดยแนะนำให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้าพบกรมศุลกากรที่เป็นต้นทางของการหลุดลอด เพราะการดำเนินคดีผู้กระทำผิดจะอยู่ที่กรมศุลกากรเป็นอันดับแรก เพื่อร่วมกันปิดช่องว่างแล้วสามารถส่งผลการหารือมาให้ได้ เพื่อร่วมทำงานด้วยกัน