THAILAND CPI 2022

ยุทธศาสตร์ปราบคอร์รัปชันต้องมีแผนแก้ไขชัดเจนและจริงจัง

รวบรวมเรียบเรียงโดย อานัน ไตรเดชาพงศ์ 

          ช่วงใกล้เลือกตั้งจะมีการหยิบยกดัชนีคอร์รัปชัน(Corruption Perceptions Index : CPI) มาให้ร้ายกันไปมา ทั้งๆ ที่ระดับดัชนีนี้ของประเทศไทยอยู่ในระดับนี้มาช้านาน ไม่เคยปรากฏว่ามีรัฐบาลไหนให้ความสำคัญเลย ไม่เคยตามไปดูในรายละเอียดของการประเมินเพื่อหาทางแก้ไข แต่กลับมีการตั้งเป้าหมายตัวเลขที่ดีขึ้นเป็นช่วงๆ โดยไม่คิดลงรายละเอียดแก้ไขอะไรกันเลย ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมามีเรื่องราวทุจริตคอร์รัปชั่นมากมายตามหน้าสื่อสาธารณะต่างๆ ซึ่งก็ไม่เห็นการลงมือที่จะจริงจังอะไรกันเลย

          ในวงการสุกรของไทยช่วงปี 2565 ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องชิ้นส่วนเนื้อสุกรลักลอบเข้ามาทำลายล้างผู้เลี้ยงสุกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่กล้าฟันธงว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน จุดไหน อย่างไรบ้าง แต่ก็มั่นใจว่ามีแน่นอน ยังไม่กล้ากล่าวว่าทุกกระทรวง ทุกกรม แตะตรงไหนมีตรงนั้น แต่การซื้อขายตำแหน่งระดับกรม ในบางกระทรวงมีให้เห็นกัน นั่นคือมะเร็งร้ายที่แพร่กระจายให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงหาค่าตำแหน่งคืน ซึ่งเป็นที่มาของนานาปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่

          องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลการจัดอันดับความโปร่งใส หรือดัชนีทุจริตคอร์รัปชันโลกประจำปี 2565 ประเทศไทย ได้คะแนนความโปร่งใส 36 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) ติดอันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ดัชนีคอร์รัปชันปี 2565 กระเตื้องจากปีก่อนหน้าเพียง 1 คะแนน

          ส่วน 5 ประเทศที่ได้คะแนนความโปร่งใสสูงที่สุดได้แก่ เดนมาร์ก ได้ 90 คะแนน, ฟินแลนด์ 87 คะแนน, นิวซีแลนด์ 87 คะแนน, นอร์เวย์ 84 คะแนน และสิงคโปร์ 83 คะแนน!! นี่คือกลุ่มประเทศหัวแถวที่คอร์รัปชันน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย

          เปรียบเทียบอันดับความโปร่งใสในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง สิงคโปร์ ครองอันดับ 1 ตลอดกาล มาเลเซีย รั้งอันดับ 2 ได้ไป 47 คะแนน เวียดนาม อันดับ 3 ได้คะแนนความโปร่งใส 42 คะแนน เวียดนามคะแนนมากกว่าไทยอันดับ 4 ไปถึง 6 คะแนน อินโดนีเซีย อันดับ 5 ได้ไป 34 คะแนน ฟิลิปปินส์ อันดับ 6 ได้ไป 33 คะแนน ฯลฯ ต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียนคือเมียนม่าร์ ได้คะแนนความโปร่งใส 23 คะแนน

          ประเทศที่น่าจับตาคือ “เวียดนาม” ปี 2564 ได้คะแนนโปร่งใส 39 คะแนน ปี 2565 กระโดดเป็น 42 คะแนน ดัชนีคอร์รัปชันเวียดนามดีขึ้นถึง 3 คะแนน คะแนนความโปร่งใสประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 คะแนน แม้ยังไม่น่าพอใจ แต่อย่างน้อยก็ไม่แย่กว่าเดิม

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้รายละเอียดว่า คะแนนความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น 1 คะแนน เป็นฝีมือการป้องกันและปราบปรามทุจริตของ ป.ป.ช.ที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม การที่ไทยได้คะแนนความโปร่งใสอันดับ 4 ในกลุ่มอาเซียนถือว่าดีขึ้นจากอันดับ 5 ปีที่ผ่านมา ฯลฯ

          สรุปว่าดัชนีคอร์รัปชันของประเทศไทยดีขึ้น 1 คะแนน บ่งชี้ว่าประเทศไทยยังสอบตกซ้ำซากตลอดกาล โดยแผนทุจริตคอร์รัปชันได้ตามที่กำหนดไว้ใน “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดว่า ภายในปี 2565 คะแนนความโปร่งใสของไทยต้องไม่ตํ่ากว่า 50 คะแนน และภายในปี 2570 คะแนนความโปร่งใสต้องไม่ตํ่ากว่า 57 คะแนน สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ได้ตามเป้า ทำให้คะแนนความโปร่งใสของไทยยังอยู่แค่ 35-36 คะแนน

          ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) มีวัตถุประสงค์ในการต่อสู้กับการทุจริตในทุกรูปแบบ ด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียของการทุจริต และเป็นภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศต่าง ๆ

          TI หรือ Transparency International ได้ประกาศ คะแนนดัชนี CPI เป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2538 โดยล่าสุดมีจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก

          สำหรับประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2538 ซึ่งการจัดทำดัชนีมีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และค่าคะแนนชี้วัดในปี 2555 โดยค่าคะแนนเต็มเป็น 0-100 คะแนน จากเดิมที่ก่อนหน้านั้น ค่าคะแนน 0-10 คะแนน

          การจัดทำค่าคะแนนของประเทศไทย มีการใช้ 9 แหล่งข้อมูล นำมาใช้คำนวณดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ดังนี้

 Varieties of Democracy Institute (V-DEM): วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

 Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)): ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านเศรษฐกิจ และ 3) ด้านการจัดการของรัฐบาล

Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU): วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ อาทิ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง การมีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณและด้านยุติธรรม เป็นต้น

Global Insight Country Risk Ratings (GI): ความเสี่ยงของการที่บุคคลหรือบริษัทจะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น เพื่อที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG): การประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง ที่นักธุรกิจมักพบได้โดยตรงและบ่อยครั้ง อาทิ การเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต

IMD World Competitiveness Yearbook (IMD): ข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4) โครงสร้างพื้นฐาน

The Political and Economic Risk Consultancy (PERC): สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ได้แก่ นักธุรกิจจากสมาคมธุรกิจ ผู้หอการค้าประเทศต่าง ๆ เป็นต้น

World Economic Forum (WEF):  ได้จัดทำรายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก (The Global Competitiveness Report: GCR) โดยรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ ผ่าน “แบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร” (The Executive Opinion Survey: EOS) ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับ “ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน”

World Justice Project (WJP): เป็นดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยมีเกณฑ์การวัด ประกอบด้วย 8 เกณฑ์ ได้แก่ ขีดจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) ปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ความสงบเรียบร้อยของสังคม (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

          ทั้งนี้ ค่าคะแนนของประเทศไทยมีการใช้แหล่งการประเมินทั้งหมด 9 แหล่งการประเมิน ยังสามารถสรุปจัดกลุ่มเป็น 4 ประเภท คือ

  1. การให้สินบนเพื่อการพิจารณาอนุมัติอนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวก มีแหล่งที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย WEF IMD PRS และ GI
  2. การใช้อำนาจ ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ มีแหล่งที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย PRS BF (TI) WJP และ EIU
  3. การใช้เงินงบประมาณไม่คุ้มค่าเอื้อประโยชน์ มีแหล่งที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย WEF และ EIU
  4. ประสิทธิภาพการดำเนินการต่อต้านการทุจริต มีแหล่งที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย BF (TI) PERC และ V-DEM

          CPI จึงเป็นดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชันมากที่สุด) – 100 (คอร์รัปชันน้อยที่สุด)

          ยิ่งค่า CPI สูง ประเทศมีความโปร่งใสมาก คอร์รัปชันต่ำ ยิ่งที่ค่า CPI ต่ำ ประเทศมีความโปร่งใสน้อย คอร์รัปชันสูง ดังนั้น ค่าคะแนน CPI จึงสะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งค่าคะแนนดัชนี CPI นับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่บรรดานักลงทุนใช้ในการประเมินความน่าสนใจในการลงทุนของแต่ละประเทศ

          หากประเทศใดมีค่าดัชนี CPI ในเกณฑ์สูง โอกาสจะเกิดการลงทุนจากทั่วโลกก็มีมาก แต่ในทางตรงกันข้ามหากมีค่าดัชนี CPI ต่ำ ความน่าสนใจในการลงทุนก็ลดลง เนื่องจากนักลงทุนมักจะมองว่าการทุจริตเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุน หรือ เป็นความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจ

          หากประเทศใดค่าคะแนนดัชนี CPI ที่สูงย่อมสะท้อนถึงถึงภาพลักษณ์องค์ประเทศที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ

          นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีดัชนีชี้วัดอีกมากมาย ที่สามารถนำมาเป็นตัวตั้งของ สสช.หรือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า แต่ละแผนการดำเนินงานที่ตั้งขึ้นมาต้องมีตัวเลขวัดความสำเร็จเป็นตัวตั้งต้น หรือแม้แต่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ปปช.ให้ขยายอำนาจถึงภาคเอกชน และ การยื่นสอบแม้ยังไม่มีหลักฐานก็ตาม เพื่อจัดการกับข้าราชการประจำเลว ข้าราชการการเมืองชั่ว เอกชนสามาลย์เอารัดเอาเปรียบ ที่เป็นมะเร็งร้ายในสังคมไทยมาอย่างช้านาน และหนักขึ้นทุกวัน

ที่มา : pptvhd36, www.transparency.org, www.nso.go.th

Visitors: 438,186