EASTERN PIG SUPPLY CUT

ผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกนำร่องก่อน ตัดวงจรลูก 6,000 ตัวภายใน 1 เดือนเริ่ม 11 มีนาคมนี้

5 มีนาคม 2567 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี - นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย พร้อมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกนำร่องโครงการตัดวงจรลูกสุกร 6,000 ตัวภายใน 1 เดือน โดยเริ่มตามกำหนด 11 มีนาคม 2567 นี้

          นายสัตวแพทย์นพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร  นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย เป็นประธานการประชุมหารือโครงการตัดวงจรลูกสุกรโดยเป็นการประชุมร่วมกับผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันออก ณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี  จากการที่สภาวะราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  โดยจากยอดการนำสุกรเข้าเชือดของกรมปศุสัตว์ในปัจจุบัน ที่มีการออกข่าวของกรมการค้าภายใน ที่มีปริมาณเข้าเชือดประมาณ 58,000 ตัวต่อวัน ที่เกินกว่าสภาวะปกติที่อยู่ในระดับ 50,000 ตัวต่อวัน จึงทำให้มีส่วนเกินที่ไปกดดันราคาของสุกรหน้าฟาร์มอยู่ในระดับประมาณ 5,000 ถึง 8,000 ตัวต่อวัน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการตั้งโครงการนี้ขึ้นมาโดยใช้เกณฑ์ฟาร์มสุกรที่มีจำนวนแม่พันธุ์ตั้งแต่ 2,000 ตัวขึ้นไป โดยมีการตั้งเป้าหมายจำนวนการตัดวงจรอยู่ที่ 450,000 ตัว ตลอดระยะเวลา 90 วัน หรือเป็นการตัดวงจรเฉลี่ยวันละ 5,000 ตัว สำหรับโครงการทั้งประเทศ

          จากการประเมินของผลผลิตสุกรในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการบริโภคสูง จะมีส่วนเกินของผลผลิตอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ  จากการประชุมร่วมกันในวันนี้ ที่จะผลักดันโครงการนี้ในลักษณะสมัครใจเฉพาะพื้นที่ก่อน  ซึ่งจะเป็นการนำร่องและเกิดประโยชน์ต่อผลของปริมาณที่จะลดลงให้เข้าสู่จุดที่สามารถทำราคาได้เกินกว่าต้นทุน 

          ที่ประชุมมีมติขอความร่วมมือฟาร์มสุกรในพื้นที่แสดงความประสงค์ ในการจะส่งลูกสุกรเข้าสู่โครงการตัดวงจร ลดการผลิตซึ่งจะไม่มีการนำไปเข้าขุน โดยใช้เกณฑ์ดังนี้

  • ฟาร์มที่มีแม่พันธุ์จำนวน 2,000 แม่พันธุ์ขึ้นไป
  • การประเมินทั้งพื้นที่จำนวน 120,000 แม่พันธุ์
  • การสมทบลูกสุกรจำนวน 5% จากจำนวนแม่พันธุ์
  • จำนวนลูกสุกรที่ตัดวงจรรวมทั้งสิ้น 6,000 ตัว
  • ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 1 เดือน เริ่มโครงการ 11 มีนาคม 2567 

ในขณะที่โครงการของภาครัฐยังคงต้องรองบประมาณซึ่งอาจจะทำให้การแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำทั้งประเทศล่าช้า ซึ่งโครงการของภาคตะวันออกจะดำเนินการของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในภายหลัง เช่นกัน โดยจะมีการส่งหนังสือถึงผู้ประกอบการฟาร์มสุกรในพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ เพื่อขอความร่วมมือที่จะสนับสนุนลูกสุกรเพื่อทำโครงการตัดวงจรทำหมูหัน โดยด่วนที่สุด

Visitors: 432,366