รักษาหมูเคียงคู่อาจารย์ศรีสุวรรณ ชมชัย

รักษาหมูเคียงคู่อาจารย์ศรีฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ คัมภีร์ กอธีระกุล

        เนื้อหาในบทความนี้มีขึ้นเนื่องด้วยวาระที่ท่านอาจารย์ศรีสุวรรณจะเกษียณราชการในปีนี้ อันเป็นวาระสำคัญยิ่งของข้าราชการทุกท่านที่จะปิดฉากชีวิตราชการลง หลังจากตรากตรำทำภารกิจยาวนานถึง 36 ปี ทิ้งผลงานจำนวนมากให้กับหน่วยราชการที่สังกัด ให้กับชื่อเสียงของสถาบัน ให้กับการช่วยเหลือเกษตรกร เจ้าของฟาร์มตั้งแต่ยุคประเทศอยู่ในขั้นด้อยพัฒนาสู่กำลังพัฒนา และปัจจุบันที่ได้พัฒนาแล้ว ในด้านอื่นๆ ยังได้ผลิตลูกศิษย์จำนวนมากมายเป็นบัณฑิตออกสู่สังคมทั้งในและต่างประเทศ ให้ทำงานประสบความสำเร็จในองค์กร สร้างชีวิต สร้างครอบครัวของแต่ละคนกัน เพื่อเป็นการรำลึกความหลังและผลงานของท่าน ในส่วนหนึ่งที่ผมได้มีปฏิสัมพันธ์กับท่าน ได้รู้จักท่าน และได้ร่วมงานกับท่านในกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากของวงการปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะวงการสังคมผู้เลี้ยงสุกร ความหลังบางตอนของท่านอาจารย์ศรีฯ และผม สามารถสื่อถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในวงการหมูและในทางวิชาการในยุคนั้น เปรียบเทียบกับปัจจุบันได้ดี รวมถึงสิ่งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นบันทึกไว้เพื่อเก็บเป็นข้อคิดในการทำธุรกิจ ตลอดจนแนวทางและพัฒนาการของการเลี้ยงสุกร ตั้งแต่ยุคการเลี้ยงใต้ถุนบ้านสู่การทำระบบฟาร์มเป็นฟาร์มใหญ่ ฟาร์มบริษัทต่างๆ นานา ในประเทศไทย ทั้งในแง่ของการจัดการฟาร์ม การผสมเทียม โรคสุกรต่างๆ ที่เคยมีขึ้นในอดีต และการอยู่รอดในการทำธุรกิจฟาร์มสุกรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

        ผมและท่านอาจารย์ศรีสุวรรณเข้ารับราชการในเวลาไล่เลี่ยกัน รุ่นติดๆ กัน ผมเรียนหลักสูตรหกปี ท่านอาจารย์ศรีฯ เรียนหลักสูตรสี่ปี อาจารย์จบด้านสัตวบาล วิทยาศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2520 แล้วเรียนต่อหลักสูตร ป.โท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงจบไล่ๆ กัน ท่านอาจารย์ศรีฯ เข้ารับราชการกรมปศุสัตว์ปี 2522 ก่อนทำงานที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งขณะนั้นเป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับกรมปศุสัตว์ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ 4-5 ปี คือรับราชการอยู่ถึงปี 2528 แล้วขอโอนมาอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ๆ ในตอนนั้น ดำรงตำแหน่งนักวิชาการเกษตรก่อนแล้วบรรจุเป็นอาจารย์ในปี 2530 ส่วนผมจบสัตวแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2523 แล้วทำงานอยู่ บริษัทสายฟาร์มที่หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ซึ่งมีสุกรพันธุ์ GP 1,600 แม่สุกรพันธุ์ 8,000 ตัว (หรือคือ บ.ซีพี) หนึ่งปีเศษ แล้วในเมษายน ปี 2524 กลับมาสอบเป็นอาจารย์ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผมจบการศึกษาออกมา โดยประจำอยู่ที่โรงพยาบาลปศุสัตว์ ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม หรือไร่ฝึกนิสิตสัตวแพทย์จุฬาฯ ซึ่งกรมการสัตว์ทหารบกแบ่งที่ดินมาให้จุฬาฯ (ชื่อก่อน 14 ตุลาคม 2516 คือไร่ฝึกนิสิตจารุเสถียร) จึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2524 เราสองคนต่างพกประสบการณ์มาพอสมควร ก่อนออกมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกัน อันนี้ทำให้เราสองคนไม่ยึดถือแต่ทฤษฎีจนเกินไป การต้องมาออกภาคสนามที่นครปฐมแหล่งเลี้ยงหมูมากที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น ผมไม่รู้สึกลำบากใจอะไรมากมายนักเพราะงานที่กำแพงเพชรต้องขี่มอเตอร์ไซด์ซูซูกิ (รุ่นวิบาก) ออกรักษาหมูตามหมู่บ้าน งานจึงคล้ายกันกับที่ รพ.ปศุสัตว์จุฬาฯ นครปฐม ด้วยผมดูแล 1,600 แม่มาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นพาร์มสุกรที่มีขนาดใหญ่สุดของประเทศ และในขณะนั้นฟาร์มใหญ่สุดในจังหวัดนครปฐมคือฟาร์มบรรยงมีแม่พันธุ์ 700 แม่ แต่แรกผมกับท่านอาจารย์ศรีไม่ได้รู้จักกันเลย กระทั่งราวปลายปี พ.ศ.2530 เราต่างคนต่างทำงานสอน ต่างพานิสิตฝึกงานนอกสถานที่เรียน คือพาออกฟิลด์ภาคสนามเพื่อการเรียนรู้จากสถานที่จริง ให้เจอะเจอกับปัญหาจริง ด้วยท่านอาจารย์ศรีฯ ทำงานกรมปศุสัตว์มาก่อนจึงมีจิตวิญญาณของการให้บริการและช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อท่านได้มาจับงานสอน ผมว่านั่นเป็นเรื่องโชคดีของเหล่าลูกศิษย์ท่านเลยทีเดียว จนได้เวลาหนึ่งต่างมีประสบการณ์สะสมมากพอที่จะแสดงผลผลิตออกสู่สังคม ก็เป็นเวลาที่เหล็กร้อนแดงพอดี เพราะเป็นจังหวะที่ฟาร์มสุกรในประเทศไทยเริ่มพัฒนาขึ้นเป็นมาเลี้ยงบนโรงเรือนยกแสล็ทปูนสูง ขยายตัวเป็นฟาร์มใหญ่ขึ้นมากัน ความซับซ้อนของการทำฟาร์มเริ่มมีมากขึ้น เริ่มมีการเจ็บป่วยที่เป็นรูปแบบซ้ำๆ เช่น เต้านมอักเสบ มดลูกอักเสบ ไข้นมแห้งหลังคลอด (MMA) พบการคลอดยาก ลูกหมูท้องเสีย ต้องเจาะเลือดตรวจโรคบรูเซลโลซิสกับแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์ทุกตัวปีละครั้ง สุกรขุนมีโรคโพรงจมูกอักเสบ มีโรคระบาดพิษสุนัขบ้าเทียมที่ผู้คนกลัวกันในสมัยนั้น มีโรคอหิวาต์สุกรที่พบความถี่ของโรคสูงอยู่ มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดในบางปีมักเป็นฟาร์มสุกรขุน ผู้คนยังไม่กล้าทำการผสมเทียม เพราะกลัวเรื่องผสมไม่ติดและเปอร์เซนต์เข้าคลอดต่ำ จึงเลือกผสมจริงกัน ในรายย่อยไม่ได้เลี้ยงพ่อหมูก็จะมีพ่อหมูรับจ้างผสมขึ้นรถเข็น-รถสาลี่โดยใช้มอเตอร์ไซด์ลาก โดยคนขับนั่งทับคานจับรถเข็น เอาพ่อหมูไปทิ้งไวที่บ้านรายย่อยสองวัน ผสมเสร็จก็ไปรับพ่อหมูกลับ ค่ารับจ้างผสม 80-120 บาท ด้วยการขยายการเลี้ยงเพิ่มจำนวนตัวหมูมากขึ้น มีการสร้างโรงเรือนให้แม่หมูมาอยู่รวมกัน แยกเป็นฝั่งอุ้มท้องฝั่งเลี้ยงลูก หรือแยกโรงเรือนกันเลย ระบบฟาร์มจึงเริ่มพบปัญหาใหม่ๆ ขึ้น ที่ปรากฏชัดเจนในขณะนั้นก็คือ บุคลากรที่เข้าทำงานในฟาร์มมีหน้าใหม่ๆ เสมอ ยังทำงานไม่เป็น เนื้องานมากขึ้นแบ่งงานซับซ้อนขึ้น ไม่ใช่การทำฟาร์มเล็กๆ ดังแต่ก่อนแล้ว การเริ่มเป็นระบบฟาร์มขึ้นมา ทำให้ผมและท่านอาจารย์ศรีสุวรรณได้รับเชิญให้เข้าดูปัญหาในฟาร์มทั้งในเวลาราชการและในวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมได้พบกับอาจารย์ศรีฯ ครั้งแรกๆ คือฟาร์มที่ภาคตะวันออก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้แก่ ศรีราชาฟาร์มและยูเนี่ยนฟาร์ม ช่วงนั้นสังคมรู้จักกันในนามฟาร์มคู่แฝดที่ทันสมัย เราทั้งสองคนมาจากต่างมหาวิทยาลัยแต่ได้รับเชิญเข้าฟาร์มในวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้วยเจ้าของฟาร์มทั้งสองสนิทกันจึงเชิญเข้าคนละฟาร์มและสัปดาห์ต่อไปหรือเดือนต่อไปเราทั้งสองก็จะเข้าสลับฟาร์มกัน การเข้าฟาร์มสามารถยืดหยุ่นกันได้ถ้าอาจารย์ท่านใดติดภารกิจมาไม่ได้ การเข้าฟาร์มสมัยนั้นใช้เวลาอยู่ในฟาร์มเช้าจรดเย็น เจ้าของฟาร์มมักจองโรงแรมให้พักเสมอ แล้วเราก็ขับรถกลับกรุงเทพฯ ในบ่ายแก่ๆ ของวันถัดไป การเข้าฟาร์มแต่ละครั้งทางฟาร์มจะเตรียมการต้อนรับอย่างดีพร้อมสรุปปัญหาในฟาร์มที่มีรอคุยกับเรา ด้วยยังไม่มีถือถือในยุคปี 2530 ก็ใช้โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์คณะฯ ประสานนัดหมาย ผมใช้วิทยุติดตามตัวขององค์การโทรศัพท์-ศูนย์บางรัก ซึ่งจะส่งสัญญาณดังปี๊บๆ แล้วมีเสียงคนอ่านข้อความที่ฝากไว้ราวห้าวินาที รัศมีทำการแค่ชานกรุงเทพฯ เราก็จะโทรกลับเข้าหาฟาร์มได้ เมื่อเข้าฟาร์มความเป็นครูเป็นอาจารย์ก็ต้องเล่าต้องชี้แจงต้องสอน และต้องเรียกประชุมพนักงาน ในสมัยนั้นผมมีหมัดเด็ดอันหนึ่งที่เสริมการขยายความการอธิบายความต่อปัญหาหนึ่งๆ หมัดเด็ดอันนั้นก็คือสไลด์แผ่น (ซึ่งต้องใช้เครื่องฉาย ตัวเป็นหมื่นสมัยนั้นถือว่าแพงมากทั้งสองฟาร์มนี้มี) เพราะผมสมัยเรียนเล่นกล้อง และฝึกการถ่ายภาพมาก่อน เมื่อเข้าฟาร์มพบปัญหาหนึ่งๆ ก็ทำการถ่ายรูปด้วยกล้อง Nikon F3 อันเป็นโมเดลมืออาชีพขณะนั้น (ได้จากการเก็บออมเงินจากทุนที่ได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น และซื้อรุ่นล่าสุดกลับมา) การฉายสไลด์จะเป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจกับพนักงานในฟาร์มทุกระดับ เพราะเขาเหล่านั้นได้เห็นภาพของฟาร์มอื่นๆ ด้วย จึงเป็นการขยายทัศนคติ และฉายภาพโรคสุกรต่างๆ ที่ฟาร์มไม่เคยพบก็เป็นข้อเตือนใจให้ระวัง ไม่ประมาทไม่เผลอปล่อยให้โรคใหม่เข้ามา และแน่นอนหลายท่านคงจำได้ว่ามีเครื่องฉายแผ่นใสหรือที่เรียกโปรเจคเตอร์ พร้อมปากกาเขียนและวาดรูปประกอบแผ่นใสที่เตรียมไปอาจมีซีรอคซ์รูปขาวดำทับ หรือตาราง ขณะนั้นไม่มีซีรอคซ์สี เขียนคำอธิบายไปพูดไปยืนหน้าเครื่องนานๆ เปิดเครื่องนานๆ จะร้อนเหงื่อผุดออกหน้าผากและคอ ผมและอาจารย์ศรีฯ จึงได้เข้าไปช่วยทั้งสองฟาร์ม ช่วยกันอุดช่องว่างให้ฟาร์มสองเรื่อง หนึ่งเรื่องโรคผมเข้าไปดูหมูป่วย บอกแนวทางรักษา ผ่าซากชันสูตรดูตัวป่วย อธิบายเรื่องราวแต่ละโรคโดยการฉายสไลด์ เขียนอธิบายบนแผ่นใส บนกระดาน สรุปให้แนวทางการป้องกันโรคให้น้อยลงหรือไม่ให้เกิดขึ้น อีกเรื่องเป็นส่วนของท่านอาจารย์ศรีฯ ซึ่งจะเข้าไปสอนวิธีทำผสมเทียมและวิธีการจับสัด-การผสม การจัดชุดผสมในระบบสัปดาห์ที่นิยมกันในประเทศไทย ต้องช่วยกำกับบุคลากรให้โฟกัสยอดผสมต่อสัปดาห์ ผลักดันผลผลิตฟาร์ม ด้วยการลงมือสอนภาคปฏิบัติ ลงมือทำให้ดู สัตวบาลในฟาร์มจะเดินตามอาจารย์กันเป็นพรวน ปัญหาที่ท่านอาจารย์ศรีฯ เผชิญในขณะนั้นคือ การแท้งลูกจากฟาร์โวไวรัสและผสมไม่ติด หนองไหล แต่ทั้งสองฟาร์มนี้เอาอยู่อย่างรวดเร็ว เปอร์เซ็นต์เข้าคลอดมากกว่า 83-85% อาจารย์ศรีฯ ผลักดันจนได้ 85-88% ซึ่งหรูมากแล้วในสมัยนั้น ด้วยอาจารย์ศรี ต้องผลักดันการผสมเทียม คุณภาพน้ำเชื้อพ่อพันธุ์จึงสำคัญสุด เราเผชิญกับคุณภาพน้ำเชื้อที่มี “การตกท้องช้าง” ปีละสองครั้งเสมอ เช่น เมย.-พค. น้ำเชื้อตกครั้งหนึ่งอันเป็นผลกระทบจากฤดูร้อนเพราะสมัยนั้นเป็นโรงเรือนเปิด ครั้งที่สองน้ำเชื้อมักตกในสองสามเดือนของปลายฝน คือ กย.-ตค. ดูได้จากกราฟผสมติด กราฟเข้าคลอดที่ตกหย่อนลงเหมือนท้องช้าง คุณไมตรี ศรีราชาฟาร์มจึงกล้าติดแอร์ให้พ่อพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ขณะนั้นองค์ความรู้เรื่องอีแว็ปฯ ไม่มี) และเน้นเรื่องคุณภาพน้ำเชื้อที่รีดได้ พนักงานถามและสนอกสนใจกับการดูแลอสุจิจากกล้องและคำอธิบายของท่านอาจารย์ศรี การซักถามก่อให้เกิดความรู้และจดจำไปใช้ต่อ ผลงานของเราสองคนก็ต้องมาดูที่โรคในฟาร์มทั้งสองได้เกิดน้อยลง ปัญหาที่พบได้จบลง ผสมติดเข้าคลอดมากขึ้น ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมพนักงานไปได้ระยะหนึ่งลูกหมูในฟาร์มผลิตออกมาได้มากขึ้น จำนวนแม่หมูเข้าคลอดและจำนวนลูกหย่านมเป็นตัววัดผลนั่นเอง เพราะถ้าประคองได้ถึงหย่านมก็หายห่วงแล้ว ลงอนุบาลลงขุนจะไม่สูญเสียอะไรมากมายดังสมัยนี้ ยุคนั้นจึงเน้นความสำคัญของห้องคลอดเป็นจุดต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษอันดับแรก ศรีราชาฟาร์มมีความเสียหายในห้องคลอดเพียง 3-5% ถ้ายูนิตไหนอัตราตายลูกสุกรช่วงดูดนมอยู่ที่ 7-10% จะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขต้องขยันงานเพิ่มขึ้น ใครปล่อยตายสูงถึง 14% ต้องเอาปี๊บคลุมหัว ดังนั้นค่ำๆ ดึกๆ จะเห็นพนักงานฟาร์มมีการเดินดูหมูในยูนิตของตัวเอง สมัยนั้นโฟกัสกันดีมากครับ กรณีที่หากฟาร์มทั้งสองบริษัทมีปัญหาเร่งด่วนเราทั้งสองคนต่างเคยเจอแล้วทั้งคู่ ก็โดยการกันเวลาสลับนัดหมายไปให้ กรณีเกิดโรคระบาดหรือเจ็บป่วยผิดปกติเจ้าของฟาร์มทั้งสองค่อนข้างคิดและทำอะไรเร็วอยู่แล้ว เราก็ไปให้ด่วน ออกเดินทางไปหลังสอนเสร็จตอนเย็นก็เคยมี ผมขับรถมือสาม โตโยต้า Mark-II นำเข้า ซื้อต่อจาก จนท.สถานทูตอังกฤษใน กทม. ส่วนท่านอาจารย์ศรีไม่ได้นัดหมาย แต่รสนิยมตรงกันเลย ท่านก็ใช้รถมือสามเหมือนกัน รถนำเข้ารถยุโรปเหมือนกันยี่ห้อ Chysler รุ่น Simca ขับรถใช้เส้นทางเดียวกัน (ขณะนั้นไม่มีเส้นทางมอเตอร์เวย์ เส้นบางนา ก็ไม่มีลอยฟ้า เพียงถนนสองเลนแยกฝั่งด้วยคูน้ำ) เนื้องานการเข้าฟาร์มประกอบด้วย ถึงฟาร์มดื่มชา-กาแฟ รอเจอเจ้าของฟาร์ม (ศรีราชาฟาร์มคือคุณไมตรี ยูเนี่ยนฟาร์มคือคุณสุรชัย) เมื่อรับฟังปัญหาแล้วอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เข้าเดินดูฟาร์มพร้อมๆ กันกับเจ้าของ หรือผู้จัดการฟาร์ม หรือรอง ผจก.ฟาร์ม ซึ่งจะพาเดินนำใช้เวลาราวสองชั่วโมงเสมอ หัวหน้าหน่วยต่างๆ จะรอในเล้าของตนเพื่อคอยเล่าประวัติ และพาชี้ดูปัญหา กลับมาทานข้าวเที่ยง ขอดูสรุปตัวเลขฟาร์มซึ่งยุคนั้นใช้การจดบันทึก กดเครื่องคิดเลข สรุปตัวเลขทุกสัปดาห์ ตีตารางทำเป็นรายงาน ทุกอย่างเขียนด้วยมือ หมึกสีแดงและสีน้ำเงินเป็นตัวบอกขาดทุนหรือกำไร หลังจากอาจารย์ให้สัญญาณพร้อมเมื่อไรก็จะเรียกประชุมพนักงาน (ยุคนั้นใช้ walky-talky ยังไม่มีมือถือ) ยูนิตไหนอยู่ไกลก็มีการขี่จักรยานไปเรียกให้เข้าประชุม พนักงานทุกคนระดับบน-ล่าง เข้าประชุมพร้อมกัน คนที่ดูแลโรงผสมอาหารก็ต้องเข้าฟังเราเน้นเรื่องรำและข้าวโพดเพราะยุคนั้นมักมีปัญหาด้านคุณภาพเสมอ คนขายหมูว่างขายก็ต้องเข้าฟัง ทั้งสองฟาร์มนี้จะเหมือนกันที่ต้องการกระจายความรู้แนวปฏิบัติให้เข้าใจตรงกันทุกระดับ วิธีการเข้าฟาร์มรูปแบบนี้ เราทั้งสองคนยังคงถือปฏิบัติมาถึงทุกวันนี้ ไม่เคยเลิก ไม่ว่าจะเข้าเดินตรวจฟาร์ม กับฟาร์มผู้เลี้ยงทั่วไปหรือฟาร์มบริษัท หรือฟาร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ

        เล่าเรื่องประวัติศรีราชาฟาร์มและยูเนี่ยนฟาร์ม เพื่อท่านผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวสำคัญในอดีต และเกียรติประวัติเจ้าของที่ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และปัญหาจากราคาหมู (ราคาหมูตกต่ำในปี 20/24/28) การปฏิวัติรูปแบบการทำฟาร์มของทั้งสองฟาร์มและใช้การบริหารมาใช้ในฟาร์ม คือหน้าหนึ่งที่ควรได้รับการกล่าวขาน หรือถือเป็นเยี่ยงอย่างการคิดการบริหารแบบทันสมัยสุดของช่วงนั้น ศรีราชาฟาร์มมีแม่พันธุ์ 2,800-3,200 แม่ ยูเนี่ยนฟาร์มมี 1,600-2,000 แม่ เจ้าของฟาร์มศรีราชา คือคุณไมตรีเป็นนักบริหารสไตล์นักธุรกิจคนแรกของวงการฟาร์มหมูบ้านเรา บริหารฟาร์มในรูปแบบธุรกิจ พนักงานทุกคนทุกระดับ Job description เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน เน้นการจดบันทึกความเคลื่อนไหวหน้างาน-จำนวนสุกรรายวัน มีการสรุปตัวเลข วัดผลทุกเดือน มีขั้นของ incentive (ฟาร์มแรกประเทศไทยที่ใช้ระบบอินเซนทีฟ) กำหนดให้ทั้งระดับแรงงาน พนักงานสัตวบาล-ผู้ช่วยและผู้จัดการมีการประชุมทุกสัปดาห์ ศรีราชาฟาร์มที่ กม.7 เป็น GGP-GP และฟาร์ม PS อยู่ กม.8 (ปัจจุบันคือฟาร์มจระเข้ และส่วนซื้อเพิ่มเป็นสวนเสือศรีราชา) จุดเล้าขายสร้างเป็นสองโรงเรือนตำแหน่งแยกออกจากฟาร์มทั้งสองต่างหากและอยู่คนละฝั่งถนน ด้วยที่อำเภอศรีราชาปลูกสับปะรดกันมาก คุณไมตรีทราบเรื่องความเป็นกรดอ่อนช่วยปรับสภาพให้ระบบย่อยอาหารของลูกหมูดูดนม ระยะท้ายก่อนหย่านมถึงหลังหย่านมให้พร้อม คุณไมตรีให้ทุกยูนิตบีบน้ำสับปะรดให้ลูกหมูกินคร่อมการหย่าถึงช่วงต้นหลังลงอนุบาล ที่ฟาร์มนี้ยังสั่ง GGP จากต่างประเทศโดยเฉพาะสายพันธุ์ฟินแลนด์ นอร์เวย์ อังกฤษ เดนมาร์ค เป็นเจ้าแรกๆ เป็นฟาร์มแรกในเมืองไทยที่ติดแอร์คอนดิชั่น (เครื่องปรับอากาศ) ให้พ่อพันธุ์นำเข้าตลอดการเลี้ยงใช้งาน เพราะหมูพันธุ์นำเข้าเป็นระดับต้นน้ำจึงสามารถเห็นหมูหลังอูฐตั้งแต่สมัยนั้นแล้วนำมาใช้สร้างกล้ามเนื้อแผ่นหลังในรุ่นต่อไป ศรีราชาฟาร์ม ในประเทศไทยเป็นฟาร์มแรกที่ใช้การผสมเทียมตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 (ส่วนฟาร์มบริษัทจะเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทแรกในปี 2522 โดย ดร.หยี นักวิชาการชาวไต้หวัน และ น.สพ.วิระพล เตียวสุวรรณ) กล่าวถึงการผสมเทียมยุคแรกๆ นั้น อาจารย์ศรีฯ ต้องสวนกระแสต้านของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยและไม่กล้าทำการผสมเทียม อาจารย์ศรี ก็อดทนก้มหน้าสอนและแนะนำแม้จะถูกแขวะบ่อยๆ จากพนักงานหรือเจ้าของฟาร์มบางคนว่าเดี๋ยวเปอร์เซ็นต์เข้าคลอดก็ตกหรอก อาจารย์ศรีฯ สอนการทำผสมเทียมแบบมีขั้นตอน มีความัดกุม ไม่ได้เป็นความสามารถเฉพาะบุคคลที่ว่าพนักงานคนนั้นลาออกไปแล้วฟาร์มจะแย่ ถ้าล้มเหลวจะหาพ่อพันธุ์กลับมาผสมจริงไม่ทัน อาจารย์ศรีฯ สอนขบวนการและให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อฟาร์ม ไม่ใช่ทำผสมเทียมเป็นแล้วต่อรองรายได้กับเจ้าของฟาร์ม ผลการใช้ผสมเทียมมีความแรง (impact) ที่ทำให้กำไรฟาร์มเป็นเงินก้อนใหญ่ มีผลต่อราคาหมูหน้าฟาร์ม บาทต่อน้ำหนักสุกรมีชีวิต (กิโลกรัม) การพิสูจน์ตรงนี้จะยากในสมัยองค์ความรู้และ perception ของผู้คนสมัยนั้น การเป็นผู้กล้าทำก่อน เป็นผู้นำก่อนนั้นจะไม่ง่ายที่ต้องฝืนกระแสและความคุ้นเคย ตัวอย่างชัดเจนคือระหว่างยูเนี่ยนฟาร์มกับศรีราชาฟาร์มราคาสุกรหน้าฟาร์มจะต่างกันบาทสองบาท เพราะหุ่นหมูที่ยูเนี่ยนฟาร์มถูกติ คุณสรุชัยได้ปรึกษาผมสองคน เราจึงว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผสมเทียมคือการกระจายพันธุกรรมอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ดังนั้นจึงเสนอให้คุณสุรชัยไปเลือกซื้อพ่อพันธุ์ที่มีพันธุกรรมไปทางเจ้าเนื้อที่ DR ฟาร์ม อ.สามพราน นครปฐม เพราะผมได้ไปดูว่ากล้ามเนื้อเยอะมากและไม่มีโรค คุณสุรชัยไปเลือกซื้อเข้ามาใช้ ในสิบเดือนต่อมาคุณภาพสุกรขุนของยูเนี่ยนฟาร์มก็ดีขึ้นทันที ราคามาเท่าศรีราชาฟาร์มแล้ว “การผสมเทียมในสุกร” จึงพลิกผันคุณภาพซากให้กับสุกรขุนในฟาร์มหนึ่งได้อย่างรวดเร็วและเป็นทางลัด short cut ที่ไวมาก คุณไมตรีบังคับให้ทุกยูนิตรักษา MMA เข้มงวด ใช้สูตรรักษากาน่ามัยซินบวกซัลฟาไตรเมทโทรปริม และใช้น้ำเกลือจากคนมาประยุกต์ให้แม่หมูหลังคลอดโดยแทงเข็มเข้าหลอดเลือดดำที่หลังใบหู ตามคำแนะนำของผม รวมทั้งลดการฉีดอ๊อกซี่โตซินที่มากเกินไป ไม่ให้เรียกว่ายาลมเบ่ง แต่ให้เรียกว่ายาขับรก ให้ฉีดแคลเซี่ยมโบโรกลูโคเนทที่ใช้ในวัวนมแทนเพื่อแก้ไขภาวะมดลูกเฉื่อย คุณไมตรีได้รับเชิญจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรไต้หวันให้ไปปาฐกถาพิเศษและเล่าภาพรวมธุรกิจสุกรในไทยบ่อยๆ คุณไมตรีเป็นคน Probe ปัญหาให้ชัดเจน ไม่ให้พูดลอยๆ ไม่ให้พูดจากความรู้สึก และกำหนดความชัดเจนเรื่องวิธีแก้ไข (ซึ่งปัจจุบันเราใช้คำว่า action plan) ส่วนคุณสุรชัยเจ้าของฟาร์มยูเนี่ยม สร้างฟาร์มและเติบโตตามฟาร์มศรีราชา ทั้งสองฟาร์มได้เป็นเพียงสองฟาร์มอิสระในเมืองไทยที่ผ่านการคัดเลือกจากกรมปศุสัตว์และการตรวจตราฉีดวัคซีนปากและเท้าเปื่อย และให้ จนท.รัฐบาลสิงคโปร์มาตรวจและรับซื้อสุกรขุนจากประเทศไทยขนส่งไปทางเรือไปยังประเทศสิงคโปร์ เสียดายที่ซื้อขายกันเพียง 2 shipments เท่านั้นก็หยุดเพราะราคาหมูเมืองไทยดีดตัวสูงขึ้นจากความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจภาคตะวันออก โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้ไม่อาจส่งไปสิงคโปร์ต่อได้ จึงเป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งว่าเราเคยส่งหมูไปสิงคโปร์จากสองฟาร์มนี้ และศรีราชาฟาร์มยังส่งหมูขุนมีชีวิตลงเรือไปขายที่ฮ่องกงหลายรอบด้วย ความภูมิใจของเราทั้งสองคนที่ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของฟาร์มสองบริษัทนี้คือ หนึ่งเราได้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษากับฟาร์มใหญ่ที่ทันสมัยสุดในสมัยนั้น ที่ใช้การบริหารงานเชิงรุก การพัฒนาคุณภาพการทำงานของคนสไตล์ไต้หวันซึ่งในขณะนั้นเขานำหน้าเรา สองทำให้เราได้โมเดลไปสอนนิสิตของเรา เพื่อหลังการศึกษาพวกเขาจะได้เข้าใจปัญหาก่อนล่วงหน้าจะไปเห็นจะไปทำจริงขณะทำงานกัน พวกเขาต้องรู้การบริหารฟาร์ม บริหารปัญหาในเชิงรุก พวกเขาต้องการนำเกษตรกรไทยให้ก้าวหน้าได้ตามฟาร์มชั้นนำ ฟาร์มซึ่งปลอดโรคปากเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์สุกรเป็นมาตรฐานสูงในขณะนั้นที่ใช้ส่งออกได้ จึงมีไว้เป็นแม่แบบให้เราศึกษาและนำไปให้คำแนะนำ ให้วิธีการแก้ไขสู่ฟาร์มอื่นๆ ที่จะมีปัญหาทำนองเดียวกัน นั่นคือการได้กระจายองค์ความรู้ที่ได้พิสูจน์ทราบแล้วไปเป็นแนวปฏิบัติต่อๆ กันไป ซึ่งเมื่อวันเวลาผ่านไป เราได้หวนดูก็พบว่าแนวปฏิบัติได้ถูกใช้ต่อๆ กันและประยุกต์ให้ดียิ่งขึ้นในฟาร์มต่างๆ ตามกาลเวลา หลังจากสองฟาร์มใหญ่ที่เป็นโมเดลของเราแล้ว เราสองคนก็ได้ไปจุดประกายกลุ่มฟาร์มใหม่ ผู้เลี้ยงคนหนุ่มไฟแรงหน้าใหม่จำนวนหลายฟาร์มในภาคตะวันออกซึ่งอยู่ในวัยใกล้เคียงกับเราสองคน พนักงานศรีราชาฟาร์มเองหลายคนได้ลาออกไปเปิดฟาร์มตัวเองโดยคุณไมตรีได้สนับสนุนพันธุ์หมูให้เติบโตเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเองเป็นอย่างดี คนหนุ่มสาวเจ้าของฟาร์มรุ่นใหม่จึงก่อตัวขึ้น เราทั้งสองคนก็ได้ไปเข้าฟาร์มและเป็นพี่เลี้ยงให้ สร้างกลุ่มนิวเคลียสหรือแกนกลางขึ้นมา โดยสามฟาร์มแรกคือฟาร์มศิริไพศาล ของคุณรุจ ทั้งวิจิตรกุล, ฟาร์มมานัส ของคุณสุเมธ, มัครากุลฟาร์ม ของคุณนภดล (เจ๊กเมี้ยะ) จากนั้นก็ก่อเกิดเป็นคลัสเตอร์ขึ้นราวปี พ.ศ.2533-2535 ในนามกลุ่มอีที และจัดการประชุมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง ทำให้เฮียเล่งเคงหรือคุณประพันธ์ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครปฐม กล่าวยกย่องเจ้าของฟาร์มเลือดใหม่ไฟแรงและโจษจันกันในหมู่ผู้เลี้ยง จ.นครปฐม-โพธาราม (กลุ่มผู้เลี้ยงราชบุรียังไม่มีในขณะนั้น) จากนั้นปี พ.ศ.2533 ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งในยุคนั้นที่อำลางานสายราชการ ไปทำงานภาคเอกชน ยุคนั้นเป็นการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเนื้องานและเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ เพราะมีการลงทุนในมหภาค เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นต้น เรียกกันว่ายุคสมองไหล เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจกล้างใหญ่ขึ้น มูลค่ารวมการลงทุนเม็ดเงินต่างชาติเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมและ เป็นต้นแบบการพัฒนาประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจ ภาคการผลิตการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศเรา (ไล่หลังยุคโชติช่วงชัชวาลสมัยนายกเปรม ที่พบน้ำมันและก๊าซใต้ดิน ปี 2528) ฟาร์มสุกรมีการขยายตัวเกิดใหม่ขึ้นทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามในปี 2536 ราคาหมูได้ตกต่ำครั้งใหญ่อีกครั้ง

        ส่วนท่านอาจารย์ศรีฯ ก็ก้าวผ่านสู่ยุคที่ภาคราชการปรับใหญ่เช่นกัน ได้แก่ มีงบประมาณมากขึ้น เงินเดือนเพิ่มขึ้น เริ่มมีการตั้งหน่วยงาน สถาบันต่างๆ ขึ้นมาจาก ศูนย์การศึกษาเฉพาะเรื่อง แม่แบบการพัฒนาการผลิต พันธุกรรม การวิจัย ท่านอาจารย์ศรีฯ ก็มีงานเต็มไม้เต็มมือ แต่เราก็ยังพบปะกันทั้งโดยบังเอิญ และรับทราบล่วงหน้าเพื่อได้รับประทานข้าวเย็นด้วยกัน แต่บางครั้งไม่เจอกันแต่รู้ว่าอยู่ฟาร์มแถวๆ นั้นก็โทรเซย์ฮัลโหลกันเสมอ ท่านอาจารย์ศรีฯ มีกิริยามารยาทที่งดงามน่าเคารพ ผมสองคนยังให้คำปรึกษารวมถึงแถวสุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง (สายน้ำ) ต่อมาถึงตามฟาร์มต่างๆ ที่เกิดใหม่ ที่ อ.เมืองราชบุรี อ.ปากท่อ ในภาคตะวันตกที่เริ่มขับเคลื่อนไล่ตามการเติบโตของฟาร์มในภาคตะวันออกเพราะกรุงเทพฯ ขยายตัว เส้นทางพระรามสองสะดวกมากในการจัดหาเนื้อหมูป้อนกรุงเทพฯ ส่วนย่านอุตสาหกรรมภาคตะวันออก อาศัยหมูจากชลบุรี-แปดริ้ว-ระยอง-จันทบุรีเป็นหลัก โดยเฉพาะกำลังบริโภคมหาศาลของอีสเทิร์นซีบอร์ด ถึงระยองและพัทยาแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง

        หากต้องการจัดเส้นทางการเลี้ยงหมูของประเทศไทยตามลำดับพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงสุกรของประเทศไทย จากในอดีตถึงปัจจุบัน ต้องไล่ลำดับกันยาวสักเล็กน้อย คือจากในอดีตที่ยังไม่เป็นระบบฟาร์ม เป็นการเลี้ยงหมูแบบชาวบ้าน แต่ดั้งเดิมที่ปรากฏในหนังสือเกี่ยวกับโรคอหิวาต์สุกรของกรมปศุสัตว์ แหล่งเลี้ยงหมูที่ปรากฏอยู่ในชานเมืองกรุงเทพ ได้แก่ พื้นที่ดอนเมืองก่อนมีสนามบินพาณิชย์ วัคซีนอหิวาต์สุกรของกรมปศุสัตว์เกิดจากเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรที่ระบาดย่านเลี้ยงหมูแถวดอนเมืองสมัยนั้น เก็บมาเป็น Prototype ทำวัคซีนมาถึงปัจจุบันเมื่อกรุงเทพขยายตัวจากดินแดงไปถึงสนามบินดอนเมือง ดงการเลี้ยงหมูถูกขยับไล่มาฝั่งตะวันตกเป็นย่านเลี้ยงเป็ด-ไก่-หมู ที่บางแคก่อน แล้วไปสู่นครปฐมและสามพราน ทางตะวันออกก็ไปเป็นแปดริ้วและชลบุรี โดยป้อนการบริโภคแก่ผู้คนในเมืองหลวง กูรูด้านการเลี้ยงสัตว์สมัยนั้น ได้แก่ ท่านอาจารย์ทองก้อน สังกัดกรมปศุสัตว์ ท่านอาจารย์นาม ศิริเสถียร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นเปลี่ยนยุคขยายพื้นที่การเลี้ยงไปยังโพธาราม สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา อ.เมืองราชบุรี ถึง อ.ปากท่อ ถึง สระบุรี พันธุกรรมได้จากฟาร์มใหญ่ที่มีชื่อเสียงขณะนั้นที่มีฟาร์มอยู่ที่ อ.เมือง อ.สามพราน นครปฐม-อ.เมือง สุพรรณบุรี อ.ศรีราชา ชลบุรี และกลุ่มบริษัทที่เริ่มขยายฟาร์ม (ซีพี เซนทาโกร เบทาโกร แหลมทอง) ขายทั้งอาหารสัตว์ ทั้งพันธุ์สุกร ฟาร์มบริษัทมักตั้งอยู่ในรัศมีระหว่าง 120-170 กม. จากขอบเมืองหลวง การปรับปรุงพันธุ์เริ่มจากมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากไต้หวัน กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรแนวหน้านครปฐมระหว่างปี 2524-2528 เริ่มไปคัดหาพันธุ์เข้ามากันเองจากยุโรป มีจากอังกฤษ-ฝรั่งเศส-เบลเยี่ยม ผู้เลี้ยงนครปฐมตื่นเต้นกับหมูหุ่นนักกล้าม กล่าวกันว่าสาดน้ำแล้วเห็นน้ำขังบนหลังหมู ด้วยสันนอกทั้งสองอูมขึ้นมาเกิดร่องกลางหลัง เป็นต้น ซึ่งผู้บุกเบิกการนำเข้าสุกรพันธุ์สมัยนั้นคือ บริษัท อ๊อปวิน ของคุณชนะชัย สมบูรณ์กุลวุฒิ อดีตนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติหลายสมัย และเป็นบริษัทแรกที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีการผสมเทียมสุกรเข้ามาส่งเสริมให้ใช้ในฟาร์มสุกรของประเทศไทย ส่วนศรีราชาฟาร์มและฟาร์มนิวเคลียสที่ชัยนาท หมอสุรศักดิ์ และหมอทิวากร ศิริโชคชัชวาล เป็นผู้นำด้านสายพันธุ์จาก นอร์เวย์-ฟินแลนด์ พันธุกรรมจากเนเธอร์แลนด์ก็มีเข้ามาแจมระยะสั้นๆ ฟาร์มที่ปทุมธานีใช้อยู่จากนั้นเป็นคิวของอเมริกา (แคนาดาและสหรัฐอเมริกา) หมอเสริมศักดิ์ เจี๊ยบนา เป็นผู้เผยแพร่พันธุกรรมมาตรฐานของเดนมาร์ค หมูเดนมาร์คเป็นพันธุกรรมที่นิยมมากสุดและยาวนานสุดในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ส่วนหมอสมบูรณ์ ลิ้มศิริโพธิ์ทอง เป็นผู้นำพันธุกรรมจากไอร์แลนด์มาเสริมหุ่นฝั่งแม่พันธุ์ให้มีโครงร่างใหญ่ขึ้นยาวขึ้น หมูพันธ์ของอดีตนายกสมาคมหมู คุณอุดม  สุพรรณบุรี ช่วงต่อมาปี 2533-2536 ก็มีการขายหมูพันธุ์เพิ่มขึ้นหลายบริษัท ได้แก่ สุกรไทย-เดนมาร์ค แหลมทอง มิตรภาพ เป็นต้น (ขออภัยกับบางบริษัทบางฟาร์มที่ไม่ได้เอ่ยถึงในที่นี้อย่างทั่วถึง) ไม่ว่าใครฟาร์มใดจะเลี้ยงสุกรสายพันธุ์ไหน ก็ต้องตามท่านอาจารย์ศรีสุวรรณ เข้าไปสอนไปกำกับ และพัฒนารายละเอียดการผสมเทียม ให้เปอร์เซ็นต์ผสมติดเข้าคลอดสูงให้ได้ 88-93% ดังในทุกวันนี้ นี่คือเรื่องจริงครับ ท่านอาจารย์ศรีฯ จึงไปทั่วไทย ท่านไปทุกที่ที่มี AI จะมีปัญหาไม่มีปัญหาก็ต้องตามท่านไปตรวจสอบ audit เพราะกลุ่มพ่อพันธุ์เป็นไข่ในหิน ผมตั้งคำถามท่านว่า เล้าคลอดและเล้าพ่อพันธุ์ AI เล้าไหนต้องใช้ความสะอาด ความปลอดภัยทางชีวภาพอันดับหนึ่ง ในอดีตเราอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเข้าฟาร์ม จะเดินไปที่จุดสะอาดสุดของฟาร์มคือ โรงเรือนห้องคลอด แล้วไปอนุบาล จากนั้นเดินไปอุ้มท้อง พ่อพันธุ์ท้ายสุด ก่อนไปส่วนฟาร์มขุน ทุกวันนี้มีโรคอุบัติใหม่มาก คุกรุ่น วนเวียนในฟาร์ม เล้า AI พ่อพันธุ์ต้องเดินเป็นลำดับสองแล้วเพราะต้องสะอาดปลอดภัยในลำดับแรกๆ  ฟาร์มที่มีสเกลหมื่นแม่ ผมและท่านอาจารย์ศรีฯ วันนี้แนะนำให้มีศูนย์เอไอพ่อพันธุ์สองแห่งสำรองไว้ เพราะโรคระบาดในพื้นที่เลี้ยงสุกรหนาแน่น ไว้ใจอะไรไม่ได้

        การเลี้ยงหมูในเมืองไทยจุดตัดเปลี่ยนเป็นระบบฟาร์ม วัดกันง่ายๆ ที่เริ่มมีโรงเรือน เริ่มมีการยกพื้นแสล็ทให้แม่หมูห้องคลอดและให้ลูกหมูอนุบาล ซึ่งอยู่ในช่วงราวปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา บางท่านอาจจดจำคอกอนุบาลและสแล็ทเหล็กคาวี่ ที่พบคงทนมากกว่าสามสิบปี อาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพรวยเร็วอาชีพหนึ่ง (ก่อนมีฟาร์มกุ้งนะครับ) ซึ่งทำให้คนที่มีร้านขายทองหันมาเปิดฟาร์มหมู-ฟาร์มไก่ การขยายตัวของฟาร์มหมูในเมืองไทยให้ฟังเสียงเครื่องยนต์เขย่าทำแผ่นสแล็ทปูน ช่วงนั้นคึกคักกันมาก เป็นช่วงเหล็กร้อนแดง ต้องรีบตีขึ้นรูป ใครสามารถทำฟาร์มและมีกำไรในช่วง 2524-2536 ได้ต้องยอมรับว่าเก่ง เพราะมีช่วงที่ราคาหมูตกต่ำใหญ่ๆ สองครั้งคือ ปี พ.ศ.2528 และปี พ.ศ. 2536 ภาพรวมการขยายฟาร์มมีหลายขยัก ถ้ามีใครต้องการทำสถิติ ทำประวัติ จำเป็นต้องมาร์คชื่อฟาร์ม-ปี พ.ศ. ก่อตั้ง-จำนวนแม่พันธุ์-ที่ตั้งในแผนที่ ก็จะเป็นข้อมูลอย่างเป็นการเป็นงานว่า ช่วงบิ๊กบูมของฟาร์มหมูในเมืองไทยที่เริ่มต้นด้วยความรู้การเลี้ยงการจัดการฟาร์มจากประเทศไต้หวันและอ้ารับพันธุ์หมูจากยุโรปพร้อมกับความรู้ใหม่ๆ สู่ผลผลิตในรูปแบบฟาร์ม ว่าเป็นช่วงใดก่อนหรือหลังปี 2528 ของฟาร์มดังๆ ในนครปฐม ส่วนยุคฟาร์มใหญ่-ฟาร์มบริษัทเป็นช่วงใดก่อนหรือหลังปี 2536 แต่ที่แน่ๆ ช่วงเวลาการขยายเติบโตของฟาร์มสุกรเมืองไทยต้องสอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ วงการสุกรมียุคทองอยู่สามยุค (คือก่อนปี 2528 ก่อนปี 2536 ก่อนปี 2542) ที่ผมใช้ ปี 2542 มาขีดแบ่งเพราะประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 (1997) ลอยตัวค่าเงินบาทเดือนกรกฎาคม วงการหมูดูไม่มีอะไรเกิดขึ้น กระทั่ง พฤศจิกายน-ธันวาคม แชร์ล้มกันทั่วประเทศ แชร์คนเลี้ยงหมูก็เช่นกัน แชร์ล่มรายสุดท้ายของประเทศคือจังหวัดนครนายก ราคาหมูมาร่วงในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2540 และตลอดปี 2541 พอปลายปี 2542 เริ่มกระเตื้องขึ้น เดิมทีฟาร์มสุกรได้ทดลองนวัตกรรมโรงเรือนอีแว็ปฯ มาระยะหนึ่งแล้ว กำลังจะขยายผลแต่มาเจอช่วงหมูตกจากวิกฤติการต้มยำกุ้งดังกล่าวจึงปรับแผนจากอีแว็ปฯ มาเป็นอีอ่าง (เฮียเม้งบ่อปลาหรือคุณสิทธิ) เพราะปรับให้หมูสุขสบายได้เพียงทำอีอ่างให้ เพราะอีแว็ปฯ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะกับช่วงหมูตก กล่าวถึงการขยายฟาร์มเป็นฟาร์มใหญ่แบบครบวงจร (มีโรงงานผสมอาหาร-โรงฆ่า) อ.ปากท่อ ราชบุรี ปี 2538-2539 กาญจนากรุ๊ปก้าวขึ้นเป็น integrate farm รายแรกของฝั่งตะวันตก และปัจจุบันเป็นกลุ่ม mature integrate force ของประเทศไทย อันได้แก่ วีระชัยฟาร์ม, SPM ฟาร์ม, กาญจนากรุ๊ป และอีกหลายๆ ฟาร์ม ที่ปัจจุบันอัพเกรดเป็นฟาร์มครบวงจรเป็นบริษัทท้องถิ่น นำใช้นวัตกรรมใหม่ในช่วงนั้นคือโรงเรือนอีแว็ปฯ และไบโอแก็สหรือก๊าซชีวภาพ โดยรวมภาคตะวันตกเป็นภาคการผลิตสุกรสูงสุดในเมืองไทย ส่วนจังหวัดใดเป็นเมืองหลวงการเลี้ยงหมู ก็ต้องจัดลำดับใหม่ว่าเมืองหลวงการเลี้ยงหมูของไทยไม่ใช่นครปฐมอีกต่อไป ราชบุรีกลายเป็นเมืองหลวงเลี้ยงหมูแห่งใหม่นับแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ต่อมาคือระหว่างปี พ.ศ.2542-2545 การเมืองไทยตื๊อๆ ตันๆ เศรษฐกิจซึมยาวแล้วค่อยๆ กระเตื้องขึ้น ราคาหมูก็ต่ำซึมยาวมีเรื่องบังเอิญที่คิดไม่ถึงนั่นคือ อยู่ดีๆ ที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ที่เซื่องซึมนั้น เกิดการฮิตติดอันดับ บุฟเฟ่หมู 39 บาท เปิดริมถนน ปากซอย กลางซอย ท้ายซอย กระตุ้นการกินเนื้อหมูขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ คนกลับหันมากินเนื้อหมูกันอีก ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นยุคต้นทุนสูงกำไรต่ำ (ยุคโมเดิร์น Modern) คือฟาร์มใหญ่ๆ ต่างมีการลงทุนสูงด้านฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัยมาก แต่ต้องรอกำไรมาทอนเงินต้นที่ลงทุนไป แต่ราคาหมูได้ไม่ดีเลย บรรดาฟาร์มใหญ่ต้องทำธุรกิจกันอย่างระมัดระวัง ขายหมูขุนไปตลาดกำไรตัวละ 80-150 บาท ไม่พูดถึงช่วงขาดทุนที่ขาดทุนลงไปถึงตัวละ 500-800 บาท ราคาหมูไม่ได้วิ่งไปตามแผนแม่บทของสภาพัฒน์ฯ แต่เป็นผลที่ปฏิสัมพันธ์กับภาวการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงมากกว่า สมัยหนึ่งผู้เลี้ยงหมูจะดีใจถ้าจะมีการเลือกตั้งเพราะกำลังบริโภคจะขึ้น ราคาหมูโด่งขึ้นทันทีตอบรับการเลือกตั้ง แต่ก็หมดไปหลังการบัญญัติกฎกติกาควบคุมการหว่านเงินเพื่อใช้ซื้อเสียง การจัดเลี้ยงชาวบ้านกิจกรรมหัวคะแนนถูกตรวจตรา งานเลี้ยงไม่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลต่อราคาหมูจริง เพราะเป็นการสร้างงาน คนมีงานทำ เม็ดเงินจากการลงทุนสู่ครัวเรือน สู่การจับจ่ายระดับรากหญ้าถึงตัวจังหวัด แม้ราคาหมูดีกับเศรษฐกิจดีอาจไม่ไหลลู่ตามกันปีต่อปี เพราะการผลิตเนื้อหมูใช้เวลา 10 เดือน ยังขึ้นอยู่กับความยากง่ายของอาชีพอื่นๆ ในแต่ละยุค (ก่อนการขายตรงจะเฟื่องฟู ก่อนจะเป็นยุคของมือถือ) ยังขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร (ซึ่งปิดประตูฟาร์มหมูในช่วงหลังๆ นี้) ยังขึ้นอยู่กับศรัทธาต่ออาชีพของผู้เลี้ยง การเล็งเห็นจุดสำคัญการทำฟาร์ม ประสิทธิภาพบุคลากรในฟาร์ม หนทางการลดต้นทุนและการพึ่งเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับรูปแบบฟาร์มเมืองไทย อันเป็นเนื้อแท้ที่คนไทยจะต้องเห็นเองทำเอง

        ในยุคปัจจุบันวงการฟาร์มสุกรประเทศไทยได้ก้าวสู่ยุคใหม่มาพักหนึ่งแล้ว คือฟาร์มทุนใหญ่ปัจจุบัน (ยุค Post-modern) ขีดเส้นแบ่งด้วยปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ เพราะระหว่างปี 2547-2551 เป็นยุคกำไรต่ำ ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น หลังการทำไบโอแก๊ซ หลังจากพัฒนานำระบบโรงเรือนอีแว็ปมาใช้ (2539-2547) กันแพร่หลาย จากนั้นมาเป็นช่วงไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ นำใช้ในวงการหมูบ้านเราเลย การเลี้ยงหมูทำกำไรไม่ได้จากการควบคุมราคาหมูของนักการเมือง-ข้าราชการประจำ (ที่เกษียณไปแล้ว) วิธีการแก้ไขโดยการประกาศคุมราคาและปิดชายแดน หรือขู่จะนำหมูนอกเข้า (เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ทำดังนี้) วนเวียนใช้วิธีนี้ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคอุโฆษต่อการพัฒนาวงการเลี้ยงสุกรไทยให้เหมือนช่วงอาทิตย์อัสดง ในรอบ 7-10 ปี ที่ผ่านไป ผู้เลี้ยงเลิกไปจำนวนมาก หลายอำเภอของนครปฐมและแปดริ้วเป็นอดีตไป ไม่มีฟาร์มหมูเหลืออยู่แล้ว ฟาร์มรายย่อย-ฟาร์มเล็ก จากปีสหัสศวรรษ 2000 (2543) เป็นต้นมาค่อยๆ หดหายไปเรื่อยๆ ฟาร์มรายย่อยเกิดใหม่ต้องปรับตัวเป็นฟาร์มคอนแทร็คกับบริษัทใหญ่ ฟาร์มขนาดกลางก็ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะรุ่นลูกการศึกษาดี หน้าที่การงานดี บ้างก็อยู่ต่างประเทศ ไม่มีใครรับช่วงทำฟาร์มอีกต่อไป วงการฟาร์มหมูไทยจึงสู่ยุคของ Post modern เรียบร้อยไปแล้ว นั่นคือเป็นยุคของฟาร์มทุนใหญ่นั่นเอง

        ระหว่างที่วงการหมูไทยซึมยาวอาทิตย์อัสดง หมดการนำใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเวลายาวนานแล้ว ก็มีแต่โรคอุบัติใหม่ในสุกรที่แสดงตัวเป็นภาพใหญ่ทำความเสียหายในวงกว้างและตัดวงจรการผลิตหมูหายไปเป็นก้อนใหญ่ เกิดขึ้นอยู่สองครั้ง มาสร้างสีสันให้คลายการซึมเศร้าได้บ้าง คือ หน้าหนาวปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 เกิดโรคอุบัติใหม่ไวรัสพีอีดี PED type 2 ระบาดแพร่ลามอย่างรวดเร็วตั้งรับกันไม่ทัน เก็บลูกหมูไปจำนวนมากในแต่ละฟาร์ม และลามไปทั่วพื้นที่การเลี้ยงสุกรภาคกลาง ไม่แคร่ใครฟาร์มใหญ่ใครฟาร์มเล็กโรคเก็บลูกหมูดูดนมเป็นย่านเป็นแขวงเป็นเขต ทำให้ปี 2552 หมูขุนผลิตสู่ตลาดปริมาณลดต่ำลงเข้าจังหวะที่ภาคการส่งออกของประเทศลดปริมาณลงจาก US subprime เศรษฐกิจและกำลังกินของไทยอ่อนลงตามด้วย การสูญเสียจึงเป็นทุกข์ลาภ ช่วยให้ราคาหมูปรับตัวดีขึ้น  เลิกขาดทุนกัน  แล้วในปี  2553 โรคพีอาร์อาร์เอสสที่กลายพันธุ์ไวรัสที่มีความรุนแรงสูงจากประเทศจีน แพร่เข้าเวียดนาม แพร่เข้าลาว แล้วแพร่เข้าไทย ทางจังหวัดหนองคายในกลางปี 2553 (2010) กลุ่มวิชาชีพสัตวแพทย์สืบทราบทัน ประชาสัมพันธ์กัน และวงการการเลี้ยงหมูร่วมกันทั้งวงการ พยายามป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ลุกลามไปถึงใจกลางการเลี้ยงหมูคือภาคกลาง คงแพร่ทำความเสียหายอยู่ที่ภาคอีสานต่อเนื่องไปภาคเหนือเท่านั้น ยั้งโรคได้อยู่สองปี ปี 2555 ก็แพร่ลามไปทั้งประเทศ ปลายปี 2554 ถึงกลางปี 2555 ราคาหมูดีดขึ้นทำลายสถิติครั้งใหม่ ได้เห็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 86 บาท ถึงสองครั้ง จากนั้นได้เกิดอีกเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ นัก คืออยู่ๆ แหล่งผลิตใหญ่ภาคตะวันตกเกิดติดโรคอุบัติใหม่เรื้อรังบวกสองนี้ขึ้นมาในเวลาพร้อมๆ กัน หลายฟาร์มใหญ่จึงมีหมูเนื้อออกตลาดน้อยลงพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน หมูเนื้อจากภาคตะวันตกจึงลดจำนวนลง เป็นช่วงหมูขาดหลายเดือนมาก แล้วต่อด้วยฝั่งตะวันออกเกิดพีอีดีลุกลามร่วมกับพีอาร์อาร์เอส ลูกหมูหายไปก้อนใหญ่ต่อเนื่องอีกเช่นกัน ราคาหมูทั้งประเทศจึงดีมากจากปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557

        อย่างไรก็ตามด้วยประเทศเรามีการขยายตัวการลงทุนจากต่างประเทศและเคลื่อนไหวเร็วในภูมิภาค ด้วยข้อเด่นในศักยภาพบุคลากรเรา แต่ข้อเสียคือมาติดขัดด้านแนวคิดทางการปกครอง เป็นสังคมเลือกปฏิบัติ อภิสิทธิ์นิยม แก่งแย่งอำนาจ และมีอุบัติเหตุทางการเมืองบ่อยเกินไป รวมทั้งในวงการธุรกิจที่ถูกกลุ่มทุนใหญ่แข่งขันกันขยายและยึดครองพื้นที่ทางธุรกิจกันจนลืมความสำคัญของการจัดโครงสร้างประเทศและจัดลำดับความสำคัญการใช้ทรัพยากร ไม่สนับสนุนอะไรต่อบางทรัพยากรให้คงอยู่ จึงขาดความต่อเนื่องทางภาคการผลิต ส่งผลมาวงการหมูทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ต้องใช้วัตถุดิบมือสอง มีผลต่อสุขภาพสัตว์ต่อผลผลิต กระทบกับต้นทุน กระทบภาพรวมธุรกิจฟาร์มสุกร จากปี 2542-2543 (2000) ยุคโมเดิร์น ผ่านถึงยุคโพสโมเดิร์น ถึงปัจจุบันปี 2558 เป็นเวลา 16 ปี วงการหมูยังคงปรากฏภาพของการมีความผันแปรสอดรับการความไม่นิ่งไม่ต่อเนื่องทางภาคธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ การเมือง และเศรษฐกิจโลก ต้นทุนและคุณภาพแรงงานไม่อาจควบคุมได้ ปัญหาจึงมีอย่างต่อเนื่องจนไม่แน่ใจว่าต้องย้ายฟาร์มหมูไปอยู่พม่า-ลาว-กัมพูชาเจียกันหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้เลี้ยงสุกรในช่วงดังกล่าวยังคงมีวัฏจักรของการ  มีเกิด-มีดับ อยู่เช่นเดิม ส่วนในปีหน้า (59) ที่จะมีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมกลุ่มประเทศ AEC จึงน่าติดตามดูว่าฟาร์มสุกรไทย จะได้เปรียบไหมหรือมีได้มีเสีย หรือเปลี่ยนเป็นยุคลีดเดอร์ของฟาร์มหมูไทยในอาเซี่ยนหรือไม่ ให้ติดตามดู แต่จงมีศรัทธา

        เรื่องของเราสองคน ผมและท่านอาจารย์ศรีสุวรรณ ที่อยากเล่าต่อให้น้องๆ รุ่นหลังฟังด้วยในโอกาสเกษียณราชการ ด้วยประเทศไทยยุคที่เราสองคนจบมาใหม่ๆ นั้น ยังอยู่ในช่วงรอยต่อของประเทศด้อยพัฒนาสู่การเริ่มต้นเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เราสองคนจบมาในช่วงนั้น งบฯ หลวงมีน้อยมาก ตำแหน่งจะได้แต่ละครั้งต้องรอสามถึงห้าปีจะได้สักหนึ่งตำแหน่ง ข้าราชการมหาวิทยาลัยคนหนึ่งต้องทำหลายหน้าที่ วิ่งไปช่วยงานสอน งานภาคสนาม ดูแลอาคาร ดูแลศูนย์ฝึกฯ ดูแลงานนิสิต ตามดูเป็นพี่เลี้ยงงานค่าย งานพัฒนาชนบท งานวิจัย งานคณะ งานมหาวิทยาลัยตรงนั้นตรงนี้ รวมทั้งงานประชุม งามสัมมนาวิชาการที่คณะฯ ที่สมาคมฯ จัด สังเกตเนื้องานแล้วกับหนึ่งคนทำงานเท่าสมัยนี้ 3-5 คน แต่ก็ไม่มีใครบ่น เมื่อรับปากแล้วต้องทำ ทำแล้วลงมือทำจริงไม่กั๊กไม่เล่นๆ ความรับผิดชอบเป็นเกียรติยศตัวเรา อาจารย์ผู้ใหญ่ขอร้องอะไรมาไม่เคยปฏิเสธ ทำงานสนุก รายได้ไม่เยอะหรอก ทำงานไม่เคยหวังสองขั้น แต่ผู้บังคับบัญชาคืออาจารย์ผู้ใหญ่ของเรานั่นเองก็คอยเป็นห่วงเรื่องรถเรื่องรา ที่หลับที่นอน และแอบให้สองขั้นในจังหวะที่เราได้เปลี่ยนชีใหม่ๆ เท่ากับสองเด้ง สามเด้ง เราก็มาปลื้มภายหลัง เมื่อเปรียบกับข้าราชการสายกรมปศุสัตว์ เป็นข้าราชการมหาวิทยาลัยก็มีความได้เปรียบในความอิสระ แต่งานไม่ได้เบากว่าเลย แต่ยอมรับว่าความอิสระทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ ส่วนหน้าที่การงานรายได้ของเราสองคนเปรียบไม่ได้กับรายได้สมัยนี้ พูดไปจะไม่เชื่อกันว่าพวกเราอยู่ได้อย่างไง รุ่นน้องจบไปมีคลินิกพอรู้เงินที่เราเก็บได้ต่อปีก็อุทานว่าอะไรเก็บได้ทั้งปีแค่นี่เหรอพี่ เราเลยอาย ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุกอาชีพได้กินดีอยู่ดี เนื้องานและตำแหน่งมีความชัดเจน ทำตามงาน ตามหน้าที่ใน tract ของตัวเอง งบประมาณคณะ งบประมาณกรมฯ ก็มีอย่างเหลือเฟือ ไม่ฝืดเคือง งานก็ถูกซอยจนใช้กำลังคนมากพอ ประสบการณ์ที่อัตคัดประหยัดอดทนมุ่งมั่นของเรา มาคิดทบทวนแล้ว ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เราทั้งสองคนมีวันนี้ จึงอยากทิ้งข้อคิดและแนวทางการทำงานและดำรงชีวิตให้กับรุ่นน้องๆ และนิสิตทั้งสองสถาบัน และรวมความถึงบัณฑิตสัตวแพทย์-สัตวบาลที่จบจากสถาบันต่างๆ ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดและที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ ด้วย เพราะเราสองคนต่างเป็นอาจารย์พิเศษที่ได้รับเชิญให้ไปสอนตามคณะต่างๆ และสถาบันเกิดใหม่ๆ ในวงการสัตวแพทย์-สัตวบาล ตามที่ต่างๆ ทั้งของในประเทศและในต่างประเทศ หวังว่าเป็นข้อเขียนของเราจะเป็นข้อคิดที่ดีแก่นิสิตนักศึกษาและเหล่าบัณฑิตในอนาคต ได้รับรู้ไว้เผื่อเป็นประโยชน์เมื่อจบออกไป

        ในเวลาเรียนสั้นๆ สี่ปี หรือหลักสูตรหกปี จงตั้งใจในการเรียนคิดที่มาที่ไปของเนื้อหา อย่าสนใจเพียงผ่านการสอบ องค์ความรู้สำคัญๆ ของผู้สอนจดจำได้จะดีมาก เมื่อทำงานมันจะก้องอยู่ในหู และไหลออกมากับเนื้องานที่เราทำ เป็นฝิ่นดิบที่เราจะปรุงแต่งต่อเป็นยารักษาของเราเองที่จะเกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ รักในงาน รับผิดชอบในหน้าที่ มุ่งมั่นในจุดหมายชีวิต ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม แสวงหาคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ๆ รู้จักอาชีพอื่นๆ อยู่คบกับเขาเหล่านั้นได้อย่างองอาจภาคภูมิ จงเลือกคบคนที่เก่งกว่าเหนือกว่าฉลาดกว่า เพราะน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ จึงควรถ่อมตัวเข้าไว้

 

        ในท้ายที่สุดนี้ เราสองคนมาถึงช่วงทำงานตามภารกิจหน้าที่ที่กำลังจะสิ้นสุดลง ด้วยลูกศิษย์ลูกหามากมาย และด้วยองค์ความรู้ที่เราค้นคว้าและต่อยอดไม่สิ้นสุด ทำให้เราสองคนยังคงมีอะไรทำหลังเกษียณ แปลกมากที่เราสองคนมาโคจรพบปะกันบ่อยขึ้นในงานต่างประเทศ เป็นฟาร์มในต่างประเทศมากขึ้น และได้มีโอกาสร่วมงานกันอีกด้วย จึงไม่เหนียมอายที่จะกล่าวว่า เราเกษียณแล้ว ขอขอบพระคุณทุกท่านที่สนับสนุนและเมตตา ทุกท่านล้วนมีพระคุณกับเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้องขออภัยในสิ่งขาดตกบกพร่องต่างๆ ที่ผ่านไปเป็นการล่ำลา แต่จะได้พบกันอีก และเราสองคนจะได้เริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งของชีวิตใหม่ในเนื้องานของคนวัยหลังเกษียณ พบกันในสนามต่างประเทศครับทุกท่าน

Visitors: 396,847