สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติพร้อม CPF ส่งมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่เชียงแสนวันนี้

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติพร้อม CPF ส่งมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่เชียงแสนวันนี้ ครบทั้ง 5 แห่ง ตามโครงการความร่วมมือ Public Private Partnership

9 กรกฎาคม 2562 ด่านกักกันสัตว์เชียงราย - อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานในพิธีรับมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ณ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย สาขาเชียงแสน ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งที่ 5 ครบตามโครงการความร่วมมือระหว่างผู้เลี้ยงสุกรและบริษัทต่างๆ

ในขณะที่การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้คืบคลานสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และขยายวงกว้างในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการเข้าไปช่วยเหลือทั้งสองประเทศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุน อุปกรณ์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และสนับสนุนด้านสุกรมีชีวิตไปกัมพูชา ด้วยระบบการทอยหมู ที่ FAO เรียกว่านวัตกรรมทางความคิด เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนอาหารโปรตีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้มีการลักลอบการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามซึ่งมีการระบาดเกือบครบทุกจังหวัดแล้วในขณะนี้

ศูนย์ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ แหล่งที่ 5 นี้ ตั้งอยู่ที่ด่านกักกันสัตว์จังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน ซึ่งเป็นการให้การสนับสนุน งบประมาณในการจัดสร้างโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต เป็นประธานรับมอบ พร้อมด้วย คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้บริหารจาก CPF ผู้แทนแม่ทัพภาค 3 และผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์

ระหว่างการกล่าวเปิดศูนย์และรับมอบ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ กล่าวถึงการดำเนินงานปัจจุบันของกรมปศุสัตว์ ว่าได้มีการประชุม ผ่าน Video Conference เมื่อวันที่ศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2562 โดยมีการสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเป็นประธาน War Room โดยตำแหน่ง ให้มีการจัดการประชุม เพื่อปฏิบัติตามคู่มือ ที่ได้ออกมาแล้วจำนวน 1,000 เล่ม และสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ โดยให้ซักซ้อมตามคู่มือและเข้าประชุมเพื่อวางแผนการเฝ้าระวังป้องกันถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใน 16 จังหวัดที่ประกาศเป็นความเสี่ยงที่สุดก็ตาม

ซึ่งในขณะนี้ห้องปฏิบัติการ 8 แห่ง พร้อมทั้งห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ มีความพร้อม ซึ่งปัจจุบันได้มีการตรวจสอบผลิตพันธุ์สุกรที่มีการลักลอบเข้ามาเป็นระยะ โดยการตรวจสอบดังกล่าวอธิบดีกล่าวว่าไม่ประสงค์ที่จะให้เกิดการตรวจสอบในลักษณะการติดเชื้อดังกล่าวในประเทศ  เพราะไม่อยากให้มีการเข้ามา ของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรแต่อย่างใด โดยในส่วนของ การจัดสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์อย่างถาวรเพิ่มเติมมีการกำหนดจุดไปแล้วประมาณอีก 10 ที่ โดยได้เริ่มพิจารณาในส่วนของพื้นที่ที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ในฝั่งตะวันตกของประเทศไทยไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามนอกเหนือการตรวจสอบ เฝ้าระวัง ป้องกัน ในแนวชายแดนนอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว กรมปศุสัตว์ได้มีการตรวจละเอียดลงไปถึง การตรวจโรงฆ่าสัตว์ในลักษณะของการตรวจอวัยวะภายในของสุกรที่ผ่านการชำแหละแล้ว เช่น ตรวจตับ ตรวจม้ามว่าโตผิดปกติหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นการกรองอีก 1 ชั้นในกรณีมีเชื้อแทรกไปยังสุกรในฟาร์มต่างๆ ซึ่งการตรวจในลักษณะดังกล่าวจะทำให้มีการทราบถึงเชื้อที่อาจจะแทรกซึมเข้ามา

ในการร่วมเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ในครั้งนี้ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ได้มีการให้ผู้บริหารทุกๆ ภาคส่วนที่ร่วมงานในวันนี้ ได้มีการร่วมปลูกต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ได้แก่ต้นรวงผึ้งทั้งหมด 10 ต้นด้วยกันซึ่งจะเป็น เสมือน อนุสรณ์ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นความร่วมมือที่ นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านสัตวแพทย์บริการวิชาการ ซีพีเอฟ ได้กล่าวว่าเป็นการร่วมมือครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในวงการปศุสัตว์ของไทย เรื่องของการร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐเอกชน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ อุตสาหกรรมในเรื่องของความร่วมมือกันในอนาคต โดยในส่วนของ CPF เองที่ผ่านมาได้ให้ความรู้ความเข้าใจวิธีการป้องกัน การดูแลฟาร์มให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย อย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าเกิดความเสียหาย ไม่ใช่แค่รายใดรายหนึ่งที่จะเสียหาย จะเป็นการเสียหายร่วมกันทุกคนในอุตสาหกรรมและต่อประเทศชาติโดยรวม

ตามรายงานล่าสุดถึงวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2562 การระบาดของ ASF ในประเทศกัมพูชาโดยเครือเวทโปรดักส์ ได้รายงานว่า กระทรวงเกษตรกัมพูชา ประกาศการเกิด ASF ในประเทศ จำนวน 2 การระบาดเพิ่มเติมใน 2 จังหวัดใหม่ รวมถึงปัจจุบัน 10 การระบาด 5 เขต 4 จังหวัด 

  1. อำเภอ Svaychroum จังหวัด Svayrieng (ซึ่งเป็นจังหวัดใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรก) ไม่ระบุฟาร์มและจำนวนสุกรที่ติดเชื้อASF
  2. อำเภอ Angkorborey จังหวัด Takeo (ซึ่งเป็นจังหวัดใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรก) ไม่ระบุฟาร์มและจำนวนสุกรที่ติดเชื้อASF

อย่างไรก็ตามให้ผู้เลี้ยงสุกรพึงระลึก 4+1 ของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คือ

  1.       ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
  2.       ยังไม่มียารักษา
  3.       ถ้าติดเชื้อในฟาร์ม สุกรมีอัตราการตายสูงมาก
  4.       เชื้อมีความทนทาน

 

ประการสุดท้ายอีก 1 คือ เชื้อ ASF ไม่ติดต่อสู่คน  โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคที่เกิดจาก DNA virus ต่างจากโรคอหิวาต์สุกร ซึ่งเป็น RNA virus ซึ่งธรรมชาติของ DNA virus จะมีความคงทนในสิ่งแวดล้อมสูงมาก ส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรคหากพบการติดเชื้อในฟาร์มแล้วและเนื่องจากเชื้อนี้ซึ่งเป็น DNA virus มีขนาดใหญ่ทำให้ในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตวัคซีนเพื่อการป้องกันโรคได้ทำให้เมื่อสัตว์ติดเชื้อแล้วมีอัตราการตายที่สูง

Visitors: 396,882