SAT First Board Meeting

ประชุมคณะกรรมการสมาคมหมูครั้งแรก ปี 67 แบ่งกลุ่มเดินหน้าทำงาน พร้อมดัน พรบ.สุกรฯ ก่อนครบวาระนายกสิทธิพันธ์

22 มกราคม 2567 โรงแรมเมเปิ้ล กรุงเทพฯ - สมาคมผู้เลี้ยงสุกรประชุมคณะกรรมการครั้งแรก ได้คณะกรรมการหลากหลายที่พร้อมเดินหน้าวงการสุกรในทุกมิติ พร้อมกำหนดกรอบอาชีพการเลี้ยง ผ่าน พรบ.สุกรและเนื้อสุกร   


นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ครั้งแรก ที่มีความหลากหลายของคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่และทีมคณะกรรมการที่ปรึกษา

ที่ประชุมมีการติดตาม 9 ข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ยื่นข้อเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล กับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งปัจจุบันข้อเรียกร้องทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ที่จะทำข้อสรุปและส่งไปยังคณะกรรมการร่วมฯ ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยประเด็นการแบ่งส่วนในการติดตามที่ประชุมมีการแบ่งกรรมการทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว 45 ท่าน โดยเริ่มต้นจะแบ่งตาม 9 ข้อ ที่เรียกร้อง ซึ่งปัจจุบันมีการจัดกลุ่มหมวดหมู่เรื่องเดียวกันเป็น 6 ข้อ และจะมีการติดตามการแก้ปัญหาดังกล่าวและรายงานที่ประชุมทุกเดือน โดยการประชุมคราวหน้าจะกำหนดเป็นพื้นที่ภาคตะวันตก

โดยคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งกรรมการสมาคม และกรรมการที่ปรึกษา มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ เช่น สพ.ญ.ดร.เมตตา เมฆานนท์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยคนปัจจุบันร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา โดย ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม โดยอดีตนายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยยังคงให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมฯ

โดยมีคุณอนันต์ จันทรานุกูล ผู้บริหาร บมจ.พันธุ์สุกรไทย-เดนมาร์ค (D-MARK) มาร่วมเป็นคณะกรรมการอีก 1 ท่าน เพื่อร่วมผลักดันงานต่างๆ ที่เป็นงานในส่วนของการต่อยอดและการสร้างตลาดผลิตภัณฑ์สุกร โดยคุณอนันต์ให้ความสนใจ 3 เรื่องเป็นพิเศษ ประกอบด้วยในเรื่องของการติดตามคดีหมูเถื่อน มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุนซึ่งมีผลกระทบมาจากการลักลอบนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย และการกำกับดูแลราคาสินค้าสุกรให้เกิดความเป็นธรรม

ในขณะที่ สพ.ญ.ดร.เมตตา ให้ความสนใจในเรื่องของการต่อยอดด้านการพัฒนาตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับแต่ละภูมิภาค และแต่ละประเทศ ที่มีการหยิบยกในที่ประชุม โดยเฉพาะการที่ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร การพัฒนาเมนูอาหารจากเนื้อสุกรในประเทศเป้าหมายต่างๆ   

โดยกรรมการสมาคมที่มาจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประกอบด้วยคุณเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยกรรมการที่ปรึกษาคุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ที่ล่าสุดได้ไปยื่นเร่งรัดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เร่งทำความเห็นสำนวนคดีพิเศษเลขที่ 59/2566 ของ DSI ที่เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 โดยคุณอุดมศักดิ์รายงานที่ประชุมว่าผู้บริหาร ปปช.ที่รับเรื่องในวันนั้นได้รับปากว่า ปปช.จะทำความเห็นและส่งสำนวนกลับ DSI ได้อีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งเมื่อถ้าครบกำหนดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ทางชมรมผู้เลี้ยงรายย่อยจะไปทวงถามอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีการส่งสำนวนและทำความเห็นกลับ DSI

คุณกิตติพงศ์ พวงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไผ่สิงห์ทอง จำกัด กรรมการสมาคมใหม่อีกท่าน จากฟาร์มไผ่สิงห์ทองฟาร์ม อ่างทอง ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานของวงการสุกรไทยให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ เพราะเป็นข้าราชการเกษียณ มีการทำงานที่กระชับและลงรายละเอียดทุกเรื่องที่ติดตาม เช่นเดียวกับคุณศราวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ ผู้บริหารรุ่นใหม่จากบริษัท อาร์.เอ็ม.ซี.ฟาร์ม จำกัด ที่โดดเด่นในด้านการจัดการ และ ดูแลฟาร์มสมาชิก ในขณะที่คณะกรรมการและคณะกรรมการที่ปรึกษาที่มาจากธุรกิจสุกรยังคงมีข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อวงการสุกรเป็นจำนวนมาก การจัดกลุ่มคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ซึ่งจะเพิ่มเติมงานด้านการผลิต การตลาด ที่พร้อมจะสานการทำงานในทันที เพื่อที่จะรายงานผลการทำงาน ทั้งกับวงการสุกร และในการประชุมครั้งต่อไป ที่จังหวัดราชบุรี

สำหรับพระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกรในที่ประชุมได้มีการแจกร่างพระราชบัญญัติให้คณะกรรมการสมาคม และกรรมการที่ปรึกษา ไปทำการศึกษาในรายละเอียด ซึ่งเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ. สุกร ในตอนร่างจะเน้นไปเรื่องของืการจัดการอุตสาหกรรมด้วยตัวเอง เช่น

  • การจัดการโครงสร้างด้านราคา
  • การรวมกลุ่ม และการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงและที่เกี่ยวข้อง
  • การจัดระเบียบที่เชื่อมโยง และมีโครงสร้างราคาที่เป็นมาตรฐาน

ที่จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  โดยร่างพระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกร มีการนำแบบอย่างมาจากประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยมีจุดเด่นในเรื่องของการกระจายสัดส่วนด้านผลผลิต การเพิ่มผลผลิตแบบกระจายตัวในสัดส่วนที่เท่ากัน การแบ่งตลาดซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ทั้งอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยนายกสิทธิพันธ์กล่าวในที่ประชุมว่าจะผลักดัน พ.ร.บ.สุกรฯ นี้ ให้เริ่มบังคับใช้ในสมัยของตัวเอง ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงในส่วนต่างๆ เพื่อที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีการประชุมหารืออีกครั้งในการประชุมในครั้งต่อไป สำหรับร่างพระราชบัญญัติที่ให้คณะกรรมการนำไปศึกษาเพิ่มเติม เคยมีการตั้งคณะทำงานที่มีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน ซึ่งจะมีการหยิบยกเพื่อผลักดันบังคับใช้ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพสุกรทั้งระบบ

Link : เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกร

Visitors: 396,859