Civil Case SAT BAY

ย้อนรอย : คดีธนาคารกรุงศรีฯ ฟ้องขับไล่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

24 ธันวาคม 2564  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ – คดีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฟ้องขับไล่ให้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกจากสำนักงานอาคารฟอร์จูนคอนโด - สาธุประดิษฐ์ เป็นเรื่องที่สาธารณะต้องรับรู้ ว่าอะไร? เป็นอะไร? เพื่อจะได้หาทางจบให้ที่ทั้งสองฝ่ายไม่เสียหายเกินควร และไม่สร้างบาดแผลให้คนเลี้ยงหมู กับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซื้ออาคารชุดเลขที่ 315/116 ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2538 โดยชำระราคาครบในปี 2540 ในราคา 2,108,715 บาท ให้แก่ บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด (กลุ่มยูนิเวสท์กรุ๊ป) โดย บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด เข้าสู่กระบวนการล้มละลายในปี 2548 โดยยูนิเวสท์กรุ๊ป เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ไปก่อนในปี 2540

การขาดสภาพคล่องของ บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด ทำให้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดให้ลูกค้าทั้งหมดหลายสิบราย รวมทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ได้ ที่มีทั้งชำระครบ และชำระบางส่วน โดยสมาคมฯ มีหนังสือทวงถามไปเป็นระยะ แต่ บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด บ่ายเบี่ยงมาตลอด

ถึงแม้ข้อกฎหมาย สมาคมฯ เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะได้รับกรรมสิทธิ์ก่อน แต่ยังไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ จดทะเบียนกรรมสิทธิ์กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งจะสามารถแสดงหลักฐานการถือครองกรรมสิทธิ์ได้  

เมื่อ 30 ธันวาคม 2546 บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด กลับนำอาคารชุดที่ติดภาระจำนองกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นเงิน 437,618.97 บาท โอนกรรมสิทธิ์ชำระหนี้ให้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด ซึ่งเท่ากับมีสถานะล้มละลาย ในปี 2548 ก่อนระยะเวลาที่จะสามารถดึงกลับมาเป็นทรัพย์สินที่ บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ส่งผลให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินดังกล่าวได้ เป็นเรื่องที่น่ากังขา เพราะผู้ฟ้องล้มละลาย บริษัท คอนโดทาวน์ จำกัด เป็นลูกบ้านที่ซื้อคอนโดแล้วไม่ได้กรรมสิทธิ์ แทนที่จะฟ้องแพ่งบังคับชำระหนี้ หรือ ขออำนาจศาลบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ ก็เพียงพอ ซึ่งสามารถได้รับกรรมสิทธิ์ หรือชดใช้หนี้ได้เร็วกว่าการรอการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์   เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เปรียบกับห้องชุดอื่นๆ ที่ติดภาระในลักษณะที่คล้ายๆ กัน

ตลอดเวลา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พยายามหาทางออกโดยการเจรจากับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาตลอด 2 ครั้ง กลับไม่มีการหาทางออกใดๆ นอกจากให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขนย้ายของออกจากสำนักงาน ทั้งๆ ที่ความเสียหายของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพียง 437,618.97 บาท ซึ่งปรากฏในสำนวนโจทก์ (ธนาคารกรุงศรีฯ) ว่าถ้าศาลพิพากษาในกรณี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อยู่ในฐานะที่จะได้รับกรรมสิทธิ์ก่อน ก็ขอให้คงภาระจำนองไว้ ซึ่งเท่ากับสงวนสิทธิ์ที่ธนาคารจะได้รับชำระมูลหนี้จำนองที่  437,618.97 บาท ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ทางคดีความ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เคยมีคำร้องขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตัวกลางเจรจาในช่วงปี 2552 ปรากฎว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ไม่ยอมมาร่วมให้การขอหารือในครั้งนั้น โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ฝ่ายกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ในขณะนั้นได้ให้ข้อมูลว่า มีข้อร้องเรียนกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นจำนวนมาก เช่นกัน ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่าการทำธุรกิจธนาคารก็ต้องรัดกุมเรื่องหลักประกัน 

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ณ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้

1) ให้ สมาคมฯ ขนย้ายออกจากห้องพิพาท เลขที่ 315/116 อาคารฟอร์จูนคอนโดทาวน์

2) ให้สมาคมฯ ชำระค่าสินไหม 8,000 บาทต่อเดือน นับจากวันฟ้อง ประมาณ 10 ปี มูลค่าค่าสินไหม ประมาณ 960,000 บาท (สมาคมซื้อปี 2538 ราคา 2,108,715 บาท ล้าน ราคาตลาดปัจจุบัน 2 ห้องนอน 86 ตารางเมตร สำหรับขาย 5,445,000 บาท ข้อมูล www.dotproperty.co.th) เท่ากับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ต้องเสียหายถึง 6,405,000 บาท

3) ให้จำเลย (สมาคมฯ) ชำระค่าทนายโจทก์ 10,000 บาท

    1. ยกฟ้องแย้ง* เพื่อขอกรรมสิทธิ์อาคารชุด สำนักงานสมาคมฯ (ฟอร์จูนคอนโดทาวน์)

    2. ค่าฤชาธรรมเนียม "ตกเป็นพับ" หมายถึง ต่างฝ่าย ต่างรับผิดชอบกันเอง

 

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ไม่ได้ขัดแย้งอะไร กับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มาก่อน การต่อสู้ทางคดีเป็นเรื่องของกระบวนการ กฎหมายเป็นเพียงกติกาของสังคม บาดแผลที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้จำนวนมากในประเทศไทย สะท้อนการใช้ความได้เปรียบขององค์ประกอบทางด้านบุคลากรทางกฎหมายที่รู้กฎหมายเฉพาะทาง ที่มีโอกาสสูงในการสร้างความได้เปรียบของรูปคดี ที่จะเกิดในอนาคต สังคมไทยมีกรณีเยี่ยงนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเงินปี 2540 มีลูกค้าของลูกหนี้ธนาคารจำนวนมาก ที่ต้องสูญเสียทรัพย์จำนวนมหาศาล หรือแม้แต่ทรัพย์สินที่เก็บกันมาทั้งชีวิต  เพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัย สำนักงาน เพื่ออาศัย หรือ เป็นสถานประกอบการ

Philip Kotler นักการตลาดระดับโลก มองว่าการทำธุรกิจในปัจจุบัน ธรรมาภิบาล และ CSR Corporate Social Responsibility ควรที่จะต้องมีควบคู่กับการประกอบธุรกิจ มิใช่แยกส่วนการสร้างภาพลักษณ์องค์ให้สังคมรับรู้ ความเป็นจริงที่จะบริหารจัดการอย่างไรตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และ CSR ต้องกระทำทันที เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม ถึงแม้เรื่องเหล่านั้นจะไม่ได้เปิดเผยต่อสังคมในวงกว้าง

 

Visitors: 396,771