Swine Farmers Visit MOF MOAC Thai Chamber
ผู้เลี้ยงสุกรบุกกระทรวงคลัง ยื่นฝากรองนายกพิชัย ชุณหวชิร หัวหน้าทีมเจรจาสหรัฐ อย่าเอาเครื่องในหมูสหรัฐมาแลกต่อรอง
10 เมษายน 2568 กระทรวงการคลัง – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรวมตัวกันที่กระทรวงการคลัง หลังมติคณะรัฐมนตรีให้นำเข้าเครื่องในสุกรแก้ปัญหาสหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากรต่างตอบแทน 36% กับประเทศไทย หลังยื่นคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่าด้วยอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน เป็นอาชีพเดียวที่เกษตรกรใช้เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน แม้จะล้มลุกคลุกคลานเผชิญปัญหามากมายมาโดยตลอด แต่กลุ่มเกษตรกรและภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็มุ่งมั่นตั้งใจยกระดับ พัฒนา ปรับปรุง เพื่อผลิตเนื้อหมูให้คนไทยบริโภคด้วยคุณภาพหมูที่สะอาด ปลอดภัย เป็นความภูมิใจของคนเลี้ยงหมูทุกคน
เมื่อแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ อาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขเจรจาในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อเกษตรกรและอีกหลายภาคส่วน จึงรวมตัวมาเพื่อขอความเห็นใจจากท่านรองนายกฯ ให้ปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยให้สามารถยืนหยัดผลิตเนื้อหมูให้คนไทยบริโภคได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน รักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยขอนำเรียนข้อมูลเพื่อท่านโปรดพิจารณา ดังนี้
1. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สนับสนุนการนำเข้าพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ขาดแคลน หรือผลิตได้ไม่เพียงพอในบ้านเรา เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถเพิ่มดุลการค้าให้สหรัฐฯได้ถึงปีละ 84,000 ล้านบาท น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ได้ไม่น้อย ทั้งนี้ จะเป็นการนำเข้าในส่วนที่ประเทศไทยมีไม่เพียงพอ ซึ่งจะไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ในประเทศไทย นับว่าคุ้มค่ากว่าการนำอุตสาหกรรมสุกรและห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ไปแลกอย่างชัดเจน
2. ปัจจุบันปริมาณผลผลิตเนื้อหมูของไทย อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคของประชาชน หากปล่อยให้มีเนื้อหมูสหรัฐฯ เข้ามาปริมาณซัพพลายจะเกินกว่าดีมานด์ ส่งผลกระทบไปตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังเช่นสถานการณ์หมูเถื่อนที่เกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงปี 2564 ที่ทำให้ผู้เลี้ยงต้องสูญเสียอาชีพไปมากมาย
3. สินค้าทั้งชิ้นส่วนและเครื่องในสุกรของสหรัฐ ผลิตจากประเทศที่มีกฎหมายไม่ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง ในขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห้ามใช้ในการเลี้ยงและกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ห้ามปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สุกรทุกชนิดแม้จะมีการอ้างว่ามีการเลี้ยงโดยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในสหรัฐ ในขณะที่กฎหมายของสหรัฐไม่ห้ามการใช้ จะเป็นปัญหาเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศยุโรปไม่รับสินค้าไก่เนื้อจากประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งไก่เนื้อไปยังยุโรปและออกกฎหมายในลักษณะที่ห้ามใช้สารต้องห้ามในลักษณะเดียวกับกลุ่มยุโรปเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน
หากผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์หรือเครื่องในที่มีสารตกค้างดังกล่าว จะมีผลต่อระบบประสาทและหัวใจ เป็นความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และแม้จะนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มสุนัขและแมว ก็ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง และเกิดข้อจำกัดในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปตามมา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงรวมตัวเข้ามาขอความเห็นใจจากท่าน ปกป้องอาชีพเกษตรกรและประชาชนชาวไทย โดยยกเลิกการเสนอนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในทันที
หลังจากนั้นกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้เดินทางไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบผู้บริหารกระทรวงโดยมี นายบุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับ หลังศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางว่าภาคเกษตรเป็นภาพหลักที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนของประเทศ และมีความจำเป็นเป็นอาชีพของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันสถานการณ์การค้าไม่ปกติ ไม่คาดว่าจะมีกำแพงภาษีเกิดขึ้น กระทรวงพร้อมที่จะดูแลภาคการเกษตรไม่ให้มีผลกระทบหรือให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ถือว่าจบอยู่กับคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะหมู ต้องยอมรับว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้พบกับสถานการณ์ไม่ปกติ ในวันนี้สามารถปรับเข้ามาสู่ในภาวะมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สิ่งที่เป็นจุดแข็ง และเสริมภาคเกษตรให้มากขึ้นโดยเฉพาะต้นทุน คนเลี้ยงหมูจะต้องช่วยกัน ข้าราชการต่างๆ ได้รับนโยบายในเรื่องของเทคโนโลยีให้มาช่วยกันเสริม และขอฝากประชาชนให้มาร่วม โดยสถานการณ์ในวันนี้ได้มีการยื่นบังคับใช้ภาษีไปอีก 90 วันถือว่าเป็นข่าวดีในข่าวร้าย
ไทยต้องอาศัยการเจรจาด้วยจะลดนโยบายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และให้เกษตรกรอยู่ได้โดยต่อไป อาจจะมีการหารือกันเป็นระยะๆ ซึ่งอาจจะต้องมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมอาจจะต้องพบกันอีกหลายครั้ง แล้ววันนี้โครงอยู่ในระดับที่มีความเป็นธรรม
ในขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรอีกส่วนหนึ่งเดินไปหอการค้าไทย ที่มีข่าวเสมอว่าผู้บริหารหอการค้าไทยมักเสนอให้นำเข้าสุกร เพื่อลดแรงกดดัน ผู้เลี้ยงสุกรจึงจำเป็นต้องเดินทางเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องถึงความสำคัญของการเลี้ยงสุกรตลอดห่วงโซ่
อุตสาหกรรมสุกรไม่ต่างจากที่นานาประเทศชั้นนำ ที่ส่งเสริมและปกป้องอาชีพการเกษตร และเกษตรปศุสัตว์ เพราะเป็นเศรษฐกิจที่เข้าถึงพลเมืองเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสุกรของสหรัฐสามารถจ้างแรงงานได้ถึง 613,000 คน สร้าง GDP ปีล่าสุดได้สูงถึง 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.938 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกลุ่มอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์สุกรจะเป็นมูลค่าที่สูงมาก นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลสหรัฐต่อสู้ให้กับการเลี้ยงสุกรในประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ควรเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ใช่โยนปัญหามาให้อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยขาดข้อมูลที่ถูกต้อง