DSI Action 23052023

DSI ระดมกำลังตรวจปลายน้ำหมูเถื่อน ห้องเย็นจังหวัดพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร ปศุสัตว์รับลูกคำขอสมาคมหมู บี้ห้องเย็นรายงานหมูฝากต้องสงสัย

23 พฤษภาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ - กองกำลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มุ่งเป้าการสอบขบวนการทั้งห่วงโซ่หมูเถื่อน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเป้าหมายปลายน้ำที่ห้องเย็นพื้นที่จังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร

          การบูรณาการภาครัฐ และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ หลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประกอบกับการยื่นเป็นคดีพิเศษโดยคุณอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อ 16 พฤษภาคม 2566 โดยล่าสุด DSI ตั้งกรรมการเสร็จแล้วเพื่อทำงานหมูเถื่อนหลังรับเป็นคดีพิเศษ และการทำงานร่วมต่อเนื่องของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์  กรมศุลกากร ที่ปิดช่องทางทุจริต โดยต่างฝ่ายต่างระดมความคิด ที่จะดำเนินการจัดการแหล่งที่เป็นที่สงสัยของการเก็บสินค้าเนื้อสุกรลักลอบเพื่อรอการระบาย

          สมาคมผู้เลี้ยวสุกรแห่งชาติได้ยื่นหนังสือเพิ่มเติมถึงกรมปศุสัตว์ สำเนาสำนักนายก และกรมศุลกากร ซึ่งสำนักนายกโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการตั้งแต่มีการประชุมร่วม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันความต้องการสุกรขุนจากฟาร์มเริ่มมากขึ้น ราคามีทิศทางบวก ในขณะที่อธิบดีกรมการค้าภายใน ขอให้ผู้เลี้ยงสุกรปรับราคาขึ้นตามต้นทุนและความต้องการของตลาดเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการขายต่ำกว่าทุนมากว่า 4 เดือน ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มบวก ในวันพระที่ 27 พฤษภาคมนี้  

          ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ยื่นแนวทางไป 2 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย

เมื่อ 12 พฤษภาคม 2566 สมาคมขอให้ขึ้นบัญชีผู้นำเข้าเนื้อสุกรที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เข้าลักษณะต้องตรวจสอบการผ่านพิธีการแบบ Red Line ทั้งหมด จนกว่าจะจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าจนถึงที่สุด

และวันที่ 18 พฤษภาคม สมาคมยื่นหนังสือขอให้กรมปศุสัตว์ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ สั่งการให้สถานประกอบการห้องเย็น รายงานปริมาณรับฝากในรอบ 2 ปี จนถึงยอดคงค้างในปัจจุบันของสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรแช่แข็ง ที่รับฝาก ที่มีลักษณะไม่ทราบแหล่งที่มา นำเข้าจากต่างประเทศ หรือ มีบรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจนว่านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อกวาดล้างสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรลักลอบนำเข้ามาและเข้มงวดกับการลักลอบนำเข้ามาใหม่

 

ผสมผสานกับการเปิดช่องของ DSI ให้มีการแจ้งเบาะแสเพื่อการกวาดล้างอย่างจริงจังในแหล่งพักสินค้า

         

          สำหรับอีกข้อเรียกร้องด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีการร้องเรียนไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ล่าสุดกรมการค้าภายในได้ตอบกลับในประเด็นที่ร้องเรียนแต่ยังไม่มีแนวทางที่จะช่วยลดภาระต้นทุนอาหารสัตว์ตามคำร้อง  โดยในการตอบกลับยังคงเป็นเหตุผลที่ผู้เรียนสุกรรับไม่ได้ซึ่ง เช่น อ้างปัจจัยเหตุผลในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่กรมการค้าต่างประเทศไม่ให้ไทยนำเข้าข้าวโพดเม็ดตามกรอบ WTO อยู่แล้ว สมาคมผู้เลี้ยงสุกรอยู่ระหว่างการทำความเห็นแย้งกลับไป

ประเด็นขอให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักรฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 (มาตรการ 3 ต่อ 1) ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความไม่ยุติธรรมและเป็นปัจจัยที่มีการตั้งข้อสงสัยในการเอื้อประโยชน์กันอย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวสาลีในต่างประเทศมีการร้องเรียนองค์การการค้าโลก(WTO) อย่างต่อเนื่อง ถึงมาตรการกีดกันทางการค้าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประกาศของกรมการค้าต่างประเทศมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจา FTA Thai EU เช่นกัน  ประเด็นนี้กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าจะเร่งหารือผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางแก้ไข

          โดยแนวทางของรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่ลงตัว แต่มีแนวทางที่จะทำให้มีการใช้ประโยชน์ของ FTA สูงสุดนั้น น่าจะเป็นประเด็นที่จะกดดันมาตรการดังกล่าวให้ยกเลิกไป

          โดยการปรับโครงสร้างราคาสุกรและเนื้อสุกรตามต้นทุนการเลี้ยง จะเป็นประเด็นสุดท้ายที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกำลังระดมความคิดทำงานอย่างหนักเพื่อจะประสาน กับ แนวทางของกรมปศุสัตว์ที่ประชุมงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่มีแนวทางเดียวกันที่จะหาแนวทางที่ให้ผู้เลี้ยงสุกร ขายราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายเริ่มคิดหาแนวทางที่แก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ที่เป็นปัญหาติดต่อมา 24 ปี ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

Visitors: 396,246