SAT urge Antitrust Board set dumping pork price

สมาคมหมูยื่นขอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ใช้อำนาจ..กำหนดเกณฑ์ตั้งราคาปลีกเนื้อแดงต่ำเกินควร ให้ทั้งห่วงโซ่อยู่ได้!! ภายใต้กฎหมายป้องกันการผูกขาด
26 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงพาณิชย์ – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติหวังพึ่งกฎหมายช่วยอุตสาหกรรมสุกรไทย ยื่นคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร ทำให้เกิดความปั่นป่วน กระทบราคาต้นทาง ในกลุ่มสินค้าสุกรและเนื้อสุกร ตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
          นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงแนวทางสร้างความยั่งยืนให้ผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศว่า “ความพยายามแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ได้มีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ โดยการยื่นเรื่องขอเสนอแนวทางการตั้งราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนเนื้อสุกรเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบ กับ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 กับ กลุ่มห้างค้าปลีกชั้นนำ 5 รายแรก เพราะที่ผ่านมาสภาพการค้าสุกรและเนื้อสุกรเปลี่ยนไป การกำหนดราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรโดยเฉพาะส่วนเนื้อแดงมีลักษณะการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกในกลุ่มห้างค้าส่งค้าปลีกที่ต่ำมากเกินสมควร เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตสุกรของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในแต่ละไตรมาส

          อุตสาหกรรมสุกรมีการกำกับดูแล และมีคณะกรรมการในการดำเนินการ ในแต่ละองค์ประกอบต่างๆ ตั้งแต่การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกร การผลิตและการตลาด จนถึงนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ โดยคณะกรรมการพัฒนานโยบายและผลิตภัณฑ์สุกร หรือ Pig Board ที่จัดตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายในภาพรวม
          ในด้านต้นทุนการผลิตมีคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกร ที่จัดตั้งโดย Pig Board มีการประชุมคาดการณ์ต้นทุนในทุกไตรมาส ที่ควรนำต้นทุนการผลิตสุกร เพื่อเป็นเกณฑ์ในการนำไปใช้ต่อเนื่องในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสุกรของประเทศ เช่น เดียวกับสินค้าทางการเกษตรและปศุสัตว์ อื่นๆ
ในขณะเดียวกัน สินค้าสุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ 2542 ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลในประเด็นการค้าขายตลอดห่วงโซ่ที่เป็นธรรม ที่จะทำให้อุตสาหกรรมสุกรเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สร้างทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการประกอบอาชีพของพลเมือง เป็นห่วงโซ่กลางน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นวัตถุดิบอาหารโปรตีนหลักของประเทศ


          แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีจำนวนเนื้อสุกรลักลอบจากต่างประเทศเข้ามาในตลาดภายในประเทศ เกิดผลกระทบด้านราคาอย่างมาก ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา โดยลักษณะปัญหาที่เกิด คือ มีการนำต้นทุนชิ้นส่วนเนื้อสุกรลักลอบจากต่างประเทศที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า และไม่ได้มีการสำแดงพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ถูกต้องที่ปกติอยู่ในระดับที่ 30% ของราคานำเข้า ทำให้สินค้าดังกล่าวสามารถตั้งราคาได้ต่ำกว่าผลผลิตสุกรของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศ โดย               จากการทำคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษปรากฏแจ้งชัดว่า จำนวนเนื้อสุกรลักลอบดังกล่าว เข้าสู่ตลาดค้าปลีกในประเทศผ่านเครือข่ายของห้างค้าส่ง ค้าปลีก ทำให้มีความชัดเจนว่าราคาที่จำหน่ายในช่วงตั้งแต่ปี 2566 ที่ต่ำลงอย่างมากน่าจะมีส่วนหนึ่งที่ไปอิงราคาสุกรลักลอบจากต่างประเทศ เพราะมีการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกที่ต่ำมากเกินควร โดยกรณีการกระทำผิดดังกล่าว อยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจากการขยายผลของเลขคดีพิเศษที่ 126/2566 ที่เป็นรายการที่นำเข้าย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2564-2566 ที่มีจำนวนสินค้าลักลอบนำเข้าจำนวน 2,388 ตู้ ที่เป็นการขยายผลจากตู้สินค้าตกค้าง จำนวน 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบังตามเลขคดีพิเศษที่ 59/2566 เท่านั้น


          อย่างไรก็ตามจำนวนเนื้อสุกรที่เข้าสู่ตลาดภายในประเทศโดยไม่ถูกกฎหมาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่สามารถตรวจจับได้ ที่คาดว่ายังคงมารบกวนตลาดสินค้าสุกรจากผู้ผลิตภายในประเทศจนถึงปัจจุบัน สร้างผลกระทบด้านราคาสะท้อนกลับไปยังราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ที่ผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มนำการตั้งราคาจำหน่ายปลีกของห้างค้าส่ง ค้าปลีก มากดดันราคาสุกรหน้าฟาร์มของผู้ผลิตภายในประเทศ
          จากที่อ้างถึงโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ผ่านคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกร ที่มีการคำนวณต้นทุนการผลิตสุกรเป็นรายไตรมาส จึงควรได้รับการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดในเรื่องของสร้างความเป็นธรรมให้กับธุรกิจสุกร เพื่อสร้างความยั่งยืนของการประกอบอาชีพที่สามารถจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มได้เกินกว่าต้นทุนการผลิต
          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร) ที่มีอำนาจหน้าที่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 9(6) ที่บัญญัติว่าอาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาสินค้าหรือบริการตามมาตรา 29 วรรค 2

โดยขอเสนอแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

1. ให้ใช้ต้นทุนการผลิตที่คาดการณ์โดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรรายไตรมาส เป็นตัวตั้งต้นในการกำหนดหลักเกณฑ์ โดยใช้สัดส่วนที่ห้างค้าปลีกกำหนดในการตั้งราคาชิ้นส่วนเนื้อแดงที่เป็นส่วนของสะโพกและหัวไหล่เพื่อกำหนดโครงสร้างการกำหนดราคาดังกล่าวไม่ให้ต่ำกว่าราคาใดๆ ตามเกณฑ์โครงสร้างที่กำหนดกัน

2. โดย ณ ที่นี้ ขอใช้โครงสร้างการกำหนดราคาราคาจำหน่ายปลีกกลุ่มสุกรเนื้อแดง ที่ประกอบไปด้วยส่วนสะโพกและหัวไหล่ ต้องไม่ต่ำกว่า ตามต้นทุนการผลิตสุกรขุนจากการคาดการณ์ของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกร ของ Pig Board รายไตรมาส x 1.7 เท่า โดยชิ้นส่วนอื่นๆ ให้ผู้ค้ากำหนดราคาตามความเหมาะสม กับ สภาพตลาดแต่ละพื้นที่ และ โครงสร้างกำไรขั้นต้น

3. สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ หรือ หน่วยงานราชการที่ กกร.เห็นชอบ จะมีหนังสือแจ้งผลการประชุมของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรรายไตรมาส ให้แก่กลุ่มห้างค้าส่งค้าปลีก ภายใน 3 วันทำการ หลังจากได้ผลการประชุมของคณะอนุกรรมการดังกล่าว

4. กรณีห้างค้าปลีก หรือ ผู้จำหน่ายปลีก เนื้อสุกรส่วนเนื้อแดงสะโพก หัวไหล่ กำหนดราคาจำหน่ายปลีกต่ำกว่าที่ กกร.กำหนด ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ 2542 ผู้พบเห็นสามารถกล่าวโทษพร้อมหลักฐาน ณ จุดจำหน่าย ไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02-507-5530 สายด่วน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทั่วราชอาณาจักร

 

 

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ในลักษณะขอความร่วมมือ แต่ไม่มีอำนาจบังคับกลุ่มห้างค้าส่ง ค้าปลีก และผู้จำหน่ายเนื้อสุกรให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดได้ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ 2542 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร เพื่อยุติปัญหาผลกระทบให้กับการค้าสุกรหน้าฟาร์มทั้งประเทศ ที่เป็นมาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมให้สังคม

สำหรับคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “กกร.” ประกอบด้วย

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็น ประธานกรรมการ
2. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็น รองประธานกรรมการ
3. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็น รองประธานกรรมการ
4. ผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 4 คน แต่ไม่เกิน 8 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นกรรมการ และ
5. ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

Visitors: 463,490