FAO GAP Ratchaburi 27082024
สัมมนา FAO ราชบุรีคึกคัก นายกหมูราชบุรีกระตุ้นชาวหมูกลับมาเลี้ยง หลังราคาหมูขุนมีทิศทางดีขึ้น พบคนรุ่นใหม่ทำฟาร์มมากขึ้นที่ขอนแก่น แม้เผชิญสารพัดอุปสรรค
27 สิงหาคม 2567 ราชบุรี – สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 และ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 8 ให้ความรู้เรื่องโรคสุกรที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในประเทศไทย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร และ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร
นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัด ได้กล่าวก่อนเริ่มกิจกรรมสัมมนาในเชิงพูดคุยกับผู้เข้าร่วมประชุม ที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยกล่าวถึงความยากลำบากของการประกอบอาชีพสุกรในปัจจุบัน ที่เผชิญปัญหาสารพัดอย่างยาวนาน ตั้งแต่โรคระบาดที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยกรมปศุสัตว์ยินดีให้คำปรึกษา โดยในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ขอขอบคุณวิทยากรจากสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กับโครงการของ FAO ขอบคุณสำนักงานปศุสัตว์ เขต 7
นายสมศักดิ์ พลายมาต ผู้อำนวยการส่วนตรวจและบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 8 ได้นำเสนอในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร เนื่องจากฟาร์มสุกรมีการใช้น้ำมาก ที่เป็นน้ำเสียจากฟาร์มที่ต้องบำบัดก่อนการปล่อยสู่นอกฟาร์ม ที่มีการควบคุมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่มีการกำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานก่อนการปล่อยสู่นอกฟาร์มที่ประกอบไปด้วย ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง สารแขวนลอย ซีโอดี บีโอดี ไนโตรเจนในรูปทีเคเอ็น
กฎหมายกำหนดให้ฟาร์มติดตั้งระบบน้ำเสีย การจัดทำรายงาน ส่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตามรอบเวลาที่กำหนด การไม่ปฏิบัติตามมีการกำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้ ซึ่งจำเป็นที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตาม ป้องกันกรณีมีการร้องเรียนเรื่องต่างๆ จะทำให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ซึ่งต้องเตรียมกันไว้ก่อน
โดยกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำเสียจากการเลี้ยงสุกรจะเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ด้วย โดยกำหนดให้การเลี้ยงสุกรเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งผู้จะดำเนินการต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และออกข้อกำหนดท้องถิ่นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ
สัตวแพทย์หญิงมรกต พิชญาสาธิต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 ให้ความรู้ในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ.6403-2565) ซึ่งเป็นบทบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ 2566 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ 2551 ที่มีระดับมาตรฐานทั่วไป มาตรฐานบังคับ โดยในการอบรมจะเป็นมาตรฐานภาคบังคับ มีกฎกระทรวงกำหนดให้สินค้าเกษตรต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ผลิตต้องดำเนินการเพื่อได้รับเอกสารดังนี้
- ใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตจากสำนักงาน มกอช.
- ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAPที่มีอายุใบอนุญาตอายุ 3 ปี
- แสดงใบอนุญาต เครื่องหมายการรับรอง
สำหรับฟาร์มในเกณฑ์มาตรฐานบังคับซึ่งได้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์มจะมีการติดแผ่นป้ายเครื่องหมาย Q เป็นภาคบังคับไว้ ที่เรียกว่า กษ.02
ในการบรรยายจะพูดถึงคุณสมบัติผู้ประกอบการที่ขอรับรอง GAP ขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานฟาร์มตั้งแต่การยื่นแบบคำขอ จนกระทั่งถึงเรื่องเข้าประชุมคณะกรรมการเพื่อให้การรับรอง
ข้อปฏิบัติต่างๆ สำหรับผู้ได้รับการรับรอง รูปแบบการตรวจประเมินมาตรฐานฟาร์ม การพักใช้ใบรับรอง กรณีไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จนกระทั่งถึงการเพิกถอนใบรับรอง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องทำความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติกรณีได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเรียบร้อย รายละเอียดเอกสารประกอบผู้ร่วมสัมมนาจะได้รับเพื่อนำไปปฏิบัติที่ฟาร์มเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นตอนและแนวทางในการตรวจสอบเพื่อการประกอบการฟาร์มทั้งหมด
การนำเสนอเรื่องโรคสุกรจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ โสพิศพรมงคล และ นายสัตวแพทย์วีระเดช โพธาคณาพงศ์
โดยนายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ นำเสนอในหัวข้อเชื้อแบคทีเรียก่อโรคสุกร ที่มักพบในประเทศไทยโดยแยกเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคสำคัญในทางเดินหายใจของสุกร และทางเดินอาหารของสุกร การวินิจฉัยโรคและการเก็บตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติการใช้ยาต้านจุลชีพทางคลินิก และวัคซีนป้องกันโรคแบคทีเรียในสุกรเพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพ
โดยในส่วนของนายสัตวแพทย์วีระเดช นำเสนอทางเลือกการผลิตภัณฑ์ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ Alternative Antibiotics หรือ ATAช่วงสุดท้ายก็จะบรรยายถึงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มสุกร โดยการบรรยายของนายสัตวแพทย์วีระเดช เป็นการให้ความรู้ในการดูแลบริหารจัดการฟาร์มในด้านของความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่สามารถนำไปเป็นคู่มือในการปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการฟาร์มสุกรได้อย่างถาวร
ในวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 จะจัดขึ้นในพื้นที่เขตภาคใต้ ณ ห้องเพชรทอง ร้อยทองรีสอร์ท จังหวัดพัทลุง โดยจากงบประมาณครั้งนี้ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จัด 4 ครั้งที่ประกอบด้วย วันที่ 15 สิงหาคม ที่นครราชสีมา วันที่ 22 สิงหาคม ที่ขอนแก่น วันที่ 27 สิงหาคม ที่ราชบุรี และ วันที่ 28 สิงหาคมที่พัทลุง
คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเขต 7 และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่เป็นผู้จัดร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ ได้กล่าวถึงการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันยังคงมีความต้องการเข้าเชือดอยู่ในระดับประมาณ 64,000 ถึง 65,000 ตัวต่อวัน โดยพื้นที่ภาคตะวันตกจะมีประมาณ 30% ของทั้งประเทศ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่จำนวนผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศลดลงอย่างมาก ที่เคยอยู่ในระดับ 180,000 ถึง 200,000 ราย ปัจจุบันยังคงมีผู้ประกอบการการเลี้ยงอยู่ทั้งประเทศประมาณ 60,000 ราย จะเป็นเรื่องที่ต้องฟื้นฟูอาชีพกันเป็นภารกิจของทุกภูมิภาค ตามเจตนารมณ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ให้การสนับสนุนการสัมมนาสัญจรในครั้งนี้