Full Cumulation
Full Cumulation หรือการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเต็มส่วน เพื่อเป็นเกณฑ์ในการลดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสมาชิกที่อาจเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจหลายกลุ่มไขว้ไปมา
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญภาคเอกชนมาระดมความคิดเห็นในประเด็นมุมมองอาเซียนต่อการใช้การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเต็มส่วน ของโลกการค้าใหม่ ที่หลายประเทศเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจหลายกลุ่ม ที่บางหุ้นส่วนเศรษฐกิจมีลักษณะข้ามทวีป ทำให้มีความได้เปรียบเสียเป็นด้านต้นทุนวัตถุดิบ
นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมร่วมหารือระดมความเห็น โดยมีภาคเอกชนเข้าร่วม 13 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย
1. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2. กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ
3. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
4. กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ
5. สมาคมกาแฟไทย
6. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
7. สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
8. สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย
9. สมาคมผู้ผลิตอาหารสําเร็จรูป
10. สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
11. สมาคมผู้ส่งออกและนําเข้าสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ไทย
12. สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และ
13. สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และ
14. ผู้แทนจากภาครัฐ ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ
และกรมศุลกากร
ความเห็นของภาคเอกชนไทยต่อประเด็นการสะสมถิ่นกําเนิดสินค้า ภายใต้ความตกลง Upgraded ATIGA หรือ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) สรุปได้ คือ ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนําความเห็นของที่ประชุม ไปประกอบการพิจารณาท่าทีไทยประเด็นการสะสมถิ่นกําเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง Upgraded ATIGA ดังนี้
1) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมกาแฟไทย สมาคมผู้ส่งออกและนําเข้าสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ไทย (ยกเว้นสินค้าอาหารแปรรูป เช่น เนื้อโคแปรรูป ที่อาจขอให้มีระยะเวลาปรับตัวตามข้อ (3) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ยกเว้นบางสินค้า เช่น เหล็กและอลูมิเนียม ที่ต้องสอบถามเพิ่มเติม ตามข้อ (2) และ/หรือ (3)) ไม่ขัดข้องกับการใช้ Full Cumulation
2) สมาคมผู้ผลิตอาหารสําเร็จรูป อยู่ระหว่างพิจารณาไม่ขัดข้องกับการใช้ Full Cumulation หรือการปรับลดสัดส่วนของการสะสมถิ่นกําเนิดสินค้าแบบบางส่วน (Partial Cumulation)
3) กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ และสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย จะนําท่าทีของคู่แข่งขันในอาเซียน (มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอื่น ๆ) ประกอบการพิจารณา โดยให้มีระยะเวลาปรับตัวก่อนการบังคับใช้ Full Cumulation
ข้อมูลเพิ่มเติม Full Cumulation กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย
1. อุตสาหกรรมสุกรของไทยมีการส่งออกเนื้อสุกรแปรรูปต่อปีไม่มากนัก เป็นการใช้วัตถุดิบเนื้อสุกรภายในประเทศเป็นหลัก นอกนั้นก็จะเป็นส่วนของวัตถุดิบประกอบซึ่งอาจมีส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ
2. การส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกรไปประเทศญี่ปุ่น โดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจาก ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA)
3) ในอนาคตถ้ามีการเปิด FTA ไทย-อียู หรือ FTA ไทย-สหรัฐ ก็อาจจะมีการใช้วัตถุดิบจากทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความเป็นไปได้สูง ถึงเวลานั้นก็จะมีการศึกษากฎระเบียบของ Full Cumulation มากขึ้น