Autogenous Vaccines DLD
กรมปศุสัตว์-สัตวแพทยสมาคมฯ ผนึกกำลังยกระดับการใช้ "วัคซีนออโตจีนัส" พัฒนาปศุสัตว์ไทยสู่การผลิตที่ยั่งยืน
วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 กรมปศุสัตว์และสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมมือกันจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ "บทบาทของวัคซีนออโตจีนัสในการพัฒนาปศุสัตว์ไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน" เดินหน้าส่งเสริมการใช้ วัคซีนออโตจีนัส (Autogenous vaccines) ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคและลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะ ในฟาร์มปศุสัตว์ ยกระดับระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ ให้กับเกษตรกร ฟาร์มปศุสัตว์ ผู้ผลิตยาสัตว์ ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลตามมาตรฐานสากล
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า วัคซีนออโตจีนัส เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรค ที่แยกออกจากฟาร์มโดยตรง ทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ และเป็นนวัตกรรม ที่สามารถเสริมสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของไทย ช่วยให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูงและตรงจุด มากขึ้น ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ ซึ่งการนำวัคซีนมาใช้ในระบบการผลิตจะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางอาหารและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ที่สำคัญวัคซีนชนิดนี้ จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลตามเป้าหมายของรัฐบาล
ด้านนายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโรคอุบัติใหม่และโรคประจำถิ่นที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญจากการเจ็บป่วย และการตายของสัตว์ ต่อเนื่องไปถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์เพื่อควบคุมและรักษาโรคที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยาในอนาคต การใช้วัคซีนออโตจีนัสจะช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโรคในฟาร์มและลดการพึ่งพาการใช้ยาปฏิชีวนะได้
การใช้วัคซีนชนิดนี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีความจำเพาะต่อเชื้อโรคที่ระบาดในพื้นที่ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคได้อย่างทันท่วงที สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์อย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางของกรมปศุสัตว์ ซึ่งการพัฒนาวัคซีนออโตจีนัสให้ได้ผลสูงสุดและใช้ตามมาตรฐานสากลจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับการจัดการสุขภาพสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยในอนาคต
“สำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณากำหนดมาตรฐานและแนวทางที่สมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม และการคุ้มครองความปลอดภัยที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ความปลอดภัยต่อสัตว์ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำวัคซีนออโตจีนัสมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด./
ข้อมูล : สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ เรียบเรียงและเผยแพร่ข่าวโดย สลิลรัตน์ ชูโชติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
ข้อมูลเพิ่มเติม : แนวทางการกำกับดูแลการผลิตและการให้ออโต้จีนัสวัคซีนในราชอาณาจักรไทย โดย หาญชัย วงศ์จักรแก้ว, คณะนิติศาสตร์
ออโต้จีนัสวัคซีน เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อจุลชีพที่เป็นต้นเหตุของการระบาดในฟาร์ม เมื่อผลิตเสร็จจะนำวัคซีนนั้นกลับไปใช้ ณ ฟาร์มที่เกิดปัญหา
ดังนั้นจึงเป็นวัคซีนที่มีความจำเพาะต่อโรคระบาดที่เกิดขึ้นและสามารถลดความเสียหายและควบคุมการระบาดของโรคได้รวดเร็ว อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และเครือรัฐออสเตรเลีย การออกใบอนุญาตการผลิต จะต้องออกตามใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้น โดยได้รับการยกเว้นจากการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อนำไปใช้กับสัตว์ที่วินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรค เฉพาะในกรณีที่พบว่าไม่มีวัคซีนขึ้นทะเบียน หรือมีวัคซีนที่มีทะเบียนแต่ไม่ตรงสเตรนของสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคหรือมีหลักฐานแสดงว่าวัคซีนที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กฎหมายต่างประเทศที่ใช้ในการกำกับดูแล มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง โดยขึ้นกับบริบทต่อการบริหารจัดการและปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อจำกัดของแต่ละประเทศ
เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ที่ใช้ในการบริหารจัดการเพื่อกำกับออโต้จีนัสวัคซีน อยู่ภายใต้การกำกับของพระราชบัญญัติยา พุทธศักราช 2510 ในมาตรา 4 เป็นสาระสำคัญหลัก ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตสถานที่ ผลิต นำเข้า ขาย และขึ้นทะเบียน คือมาตรา 12 มาตรา 79 และ มาตรา 83 (3) สำหรับเรื่องการกำหนดและข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิต ขาย นำสั่ง ในราชอาณาจักรไทยจะอาศัยมาตรา 13 (1) และ 13 (5) ซึ่งเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต และมาตรา 13 (2) ยังคงมีข้อให้ตีความทางกฎหมายกับแนวทางปฏิบัติตามข้อเท็จจริง อันเนื่องมาจาก ระบบการเลี้ยงสัตว์เป็นระบบ “ฝูง” โดยมาตรา 13 (1) ได้กำหนดข้อยกเว้น ไม่ใช้บังคับแก่ “(1) การผลิตยาซึ่งผลิตโดยกระทรวง ทบวง กรม ในหน้าที่ป้องกันหรือบำบัดโรค สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม”
กฎหมายที่เห็นว่าน่าจะถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อระเบียบการกำกับดูแลออโต้จีนัสวัคซีน โดยปัจจุบันบทบาทหน้าที่และอำนาจการรับผิดชอบหลัก เป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่เพียงผู้เดียว ตามกระบวนการกรอบการปฏิบัติเดิม เพราะแท้จริงแล้ว หากกรมปศุสัตว์ จะกระทำการแทนก็ย่อมจะกระทำได้โดยชอบ
มีผู้เสนอให้มีการออกร่าง “กฎหมายเฉพาะ” สำหรับบริหารจัดการโดยเฉพาะ โดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับยา สารชีววัตถุ หรือวัคซีนสัตว์โดยตรงเป็นการเฉพาะ หรือทำการส่งเสริมสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ (Bureau of Veterinary Biologics) ของกรมปศุสัตว์ ที่มีอยู่แล้วให้มาบริหารจัดการออโต้จีนัสวัคซีนเป็นการเฉพาะโดยประกอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นผู้ทำงานที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับออโต้จีนัสวัคซีนอย่างแท้จริง