How to Survive of Thai Livestock

สารพันปัญหา ถาโถม อาหารสัตว์ดัน Carbon Emission อืด หมูซึมนาน ไข่ไก่เริ่มเข้าที่

2 สิงหาคม 2566 รามาการ์เด้นส์ – วงเสวนาอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ไทย ฝากความหวังพาณิชย์รัฐบาลใหม่ ในขณะที่หมูรอ DSI จบหมูกล่อง ไข่ไก่เริ่มบริหารจัดการตัวเองได้เข้าที่ ขายได้เกินต้นทุนแม้ไม่มาก 

           ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพิธีมอบรางวัลนักสัตวบาลดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อวงการปศุสัตว์ไทย รางวัลเชิดชูเกียรติ และยุวสัตวบาลดีเด่นประจำปี 2565

          การเสวนาหัวข้อ "สารพันปัญหาถาโถ ภาคปศุสัตว์ ทางลอด ทางออกเป็นอย่างไร"  ที่เป็นกิจกรรมที่ผู้คนในวงการปศุสัตว์ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมากเพื่ออัพเดทสถานการณ์จากบรรดาผู้นำในแต่ละวงการทั้งอาหารสัตว์และปศุสัตว์ ในการประชุมใหญ่สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ จากภาควิชาสัตวบาลคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มจากคุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่ยังคงผลักดันประเด็นลด Carbon Emission ที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์ทั้งหลายเริ่มนำมาใช้ ในขณะที่การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยยังไม่ขยับ แม้แต่มาตรฐานการปลูกข้าวโพดก็ยังไม่มี กระทรวงพาณิชย์ยังคงดูแลวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเกินควร ในขณะที่ยังเข้มงวดสินค้าภาคปศุสัตว์ไม่เปลี่ยน

          คุณพรศิลป์มองว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงไม่เปลี่ยน ต้นทุนเหมือนเดิมไม่ลดลงไปกว่านี้ ในขณะที่ปัญหาเอลนีโญเริ่มปรากฏให้เห็นและมีแนวโน้มลากยาวไป 1 ถึง 3 ปี เป็นสัญญาณอันตรายว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารและผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

          ล่าสุดรัสเซียปิดทะเลดำอีกครั้งทำให้การส่งออกธัญพืชจากยูเครนแหล่งเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์แหล่งใหญ่ของโลกต้องหยุดชะงัก

          ประเทศไทยยังคงวนอยู่กับการพูดแต่ว่าจะทำ แต่ไม่มีการลงมือ เช่น ไม่มีแผนที่จะดึงการปล่อยคาร์บอนลงมาเท่าไหร่? ปัญหาข้าวโพดหนีภาษีสวมสิทธิ์ในประเทศ ในขณะที่เวียดนามนำเข้าข้าวโพดได้ 100% และเริ่มปลูกข้าวโพด GMO แต่ไทยก็ยังนำเข้าถั่วเหลือง GMO สหรัฐต้องการส่งไก่มาประเทศไทย EU ต้องการเก็บภาษีคาร์บอน โดยต่อไปถ้ามีการลดการปล่อยคาร์บอน อย่าไปมองที่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวต้องเน้นลดที่ฟาร์มตัวเองก่อน

          คุณทวีเดช ประเจกสกุล จากบริษัท ท็อป ฟีด มิลล์ จำกัด กังวลเรื่อง Supply ของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่กลัวของแพง แต่กลัวไม่มีของมากกว่า การหาวัตถุดิบทดแทนโดยเชิงปริมาณแล้ว ยากที่จะทำได้ เช่น กากเบียร์ กากทานตะวัน กากงา ที่จัดหาได้เป็นเพียงฤดูกาลเท่านั้น

          นายสัตวแพทย์เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้กล่าวถึงภาวะการระบาดของ ASF ไม่มีข่าวการแพร่ระบาดใหม่ของไทย ปัจจุบันฟาร์มสุกรที่ได้รับเป็นฟาร์มมาตรฐาน มีจำนวนสูงขึ้นถึง 6,209 ราย ยิ่งสร้างความมั่นใจในเชิงประสิทธิภาพของการป้องกันโรค การแก้ปัญหา ASF ของไทยจะมีความคล้ายคลึงกับประเทศจีนที่จบในครั้งเดียวแล้วพัฒนาขึ้นมาอย่างเต็มที่

          ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาวงการสุกรมาตรฐานฟาร์มได้สูงขึ้น โดยคาดว่าปลายปีนี้จำนวนฟาร์มมาตรฐานจะเพิ่มขึ้นจากฟาร์ม GAP ภาคบังคับ

          โดยเมื่อพิจารณาจากตัวเลขเข้าเชือดในแต่ละวันประมาณถึง 55,000 ตัวต่อวัน ได้เป็น 80-90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของ ASF

          ผู้ประกอบการฟาร์มสุกรในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงการระบาดปี 2564-2565 จะต้องมีทุนรองรับการขาดทุนจาก ASF และมีทุนเพื่อการขยายตัว โดยมองว่าการขาดทุนในธุรกิจสุกรไทยอาจลากยาวถึงสิ้นปี

          นายสัตวแพทย์เกียรติภูมิ ให้ตอบคำถามในเรื่องของการคุมปริมาณหมู เริ่มมีการควบคุมมากขึ้น ผลักดันให้มีการจดทะเบียนฟาร์ม แต่ปัญหาเสรีการขยายแบบไม่จำกัดยังคงเป็นปัญหาในเรื่องของการควบคุมความสมดุลของอุตสาหกรรมสุกรไทย

          สำหรับปัญหา "หมูกล่อง" ต้องให้ทีมพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำงานการสืบสวนสอบสวนให้ถึงที่สุด เพราะ 161 ตู้เป็นแค่ส่วนน้อยที่ไม่สามารถมาทำพิธีการตรวจปล่อยได้เท่านั้น คาดว่าที่ปล่อยผ่านไปในช่วงปี 2565 มีจำนวนมหาศาล 

          คุณธนวุฒิ เอื้อละพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด Egg Board ให้รายละเอียดว่าผลผลิตของกลุ่มไก่ไข่ 95-97 เปอร์เซ็นต์เป็นการบริโภคภายในประเทศ  การส่งออกเป็นเพียงการปรับ Supply ในช่วงของการล้นตลาดเท่านั้น โดยมีฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นประเทศส่งออกหลัก โดยเป็นการส่งออกที่ขาดทุน

          ปัจจุบันการบริโภคไข่ของคนไทยอยู่ที่เฉลี่ย 223 ฟองต่อคนต่อปี ในช่วงปี 2560-2561 เคยมีแผนที่จะผลักดันให้ปี 2562-2563 ตั้งเป้าการบริโภคของคนไทยขึ้นเป็น 300 ฟองต่อคนต่อปี แต่ไม่สามารถดึงตัวเลขการบริโบคขึ้นมาได้

          กลุ่มผู้ประกอบการไก่ไข่ยังคงเดินหน้าพัฒนาสื่อผลักดัน หลังจากวงจรการตลาดไข่ยังวนเวียนเป็นวงจรเดิมๆ คือ จากฟาร์มสู่พ่อค้าคนกลางและสู่ตลาด

          การตั้งกองทุนของกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เรียกว่า “กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่” ช่วยบริหารจัดการผลผลิตได้เป็นอย่างดี โดยมีกรมปศุสัตว์เข้ามาช่วยในช่วงราคาตกต่ำ เช่น ช่วยเรื่องการลดแม่พันธุ์

          ปัจจุบันกลไกผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประสงค์ให้เกิดความสมดุลของการผลิตและความต้องการบริโภคเพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่ไม่แพงหรือตกต่ำจนเกินไป ปัจจุบันต้นทุนไข่ไก่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 อยู่ที่ฟองละ 3.67 บาทคิดเป็นต้นทุนอาหารสัตว์ที่ 71% ปัจจุบันไข่คละจำหน่ายได้ที่ฟองละ 4.0 บาท

Visitors: 397,158