Seminar Vet Products

นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ตัดพ้อพาณิชย์ขอตรึงภาคปศุสัตว์มากไปจนขายเข้าเนื้อ อ.ณัฐวุฒิแนะปรับสูตรอาหารถูกแพงให้ดู  Feed Intake FCR และ ADG ด้วย และอย่ามองข้าม Enzyme

9 มีนาคม 2565 VET PRODUCTS GROUP – นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ตัดพ้อกระทรวงพาณิชย์ขอภาคปศุสัตว์มากไปจนขายเข้าเนื้อ แนะให้นำเงิน คชก. มาช่วย หลังแบงค์เมินปศุสัตว์ไทย อ.ณัฐวุฒิแนะปรับสูตรอาหารถูกแพงให้ดู  Feed Intake FCR และ ADG ด้วย และอย่างมองข้าม Enzyme

              การสัมมนา ในห้อข้อที่เข้ากับสถานการณ์ขณะนี้ “สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดมั้ย? กระทบภาคปศุสัตว์ขนาดไหน? รู้ก่อน จัดการก่อนได้เปรียบ” ที่จัดโดยเครือเวทโปรดักส์ (Vet Products Group) ช่วงบ่ายวันนี้ที่มีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 500 คน

              ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทย ที่เป็น 1 ใน 6 วิทยากรรับเชิญจากภาคปศุสัตว์และสัตว์น้ำ ได้กล่าวคล้ายกับวิทยากรหลายท่าน คือ ต้นทุนอาหารสัตว์ขยับตัวมานานแล้วร่วม 2 ปี  ยิ่งมาเจอกับวิกฤตสงครามระหว่างยูเครน และ รัสเซีย ยิ่งกระทบเป็นทวีคูณ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่ง ค่าพลังงาน ค่าน้ำมันขึ้นกันเป็นรายวัน ในขณะที่เกษตรกรไก่เนื้อขายสินค้าเริ่มไม่คุ้มทุนกันมากขึ้น ตั้งแต่ปัญหาราคาอาหารสัตว์แพงขึ้นมาร่วม 2 ปี ข้าวสาลีที่เคยเป็นทางเลือก ปัจจุบันมีราคาเสมอราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว

              ที่ผ่านมาภาคปศุสัตว์ถือว่าเป็นเกษตรกรที่คุยง่าย กรมการค้าภายในขอความร่วมมือราคาอย่างไรก็ยอม แม้ถึงขนาดขายขาดทุนก็ยังเคยมีมาเสมอๆ จึงเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุดของเกษตรกรไทย   โดยปัจจุบันสถาบันการเงินประเมินว่ากลุ่มปศุสัตว์ไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาก การจะปล่อยสินเชื่อให้นั้นยากเต็มที่ ในอดีตยุคไข้หวัดนก (Avian Influenza : AI) ระบาดในประเทศไทยช่วงปี 2547-48 รัฐบาลมีการนำเงินจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มาช่วยจำนวน 15,000 ล้านบาท ที่เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อฟื้นตัวขึ้นมา และได้คืนเงินกู้ทั้งหมดแก่รัฐบาลครบทุกบาททุกสตางค์

              ดร.ฉวีวรรณ จึงเสนอแนะให้นำเงินในลักษณะดังกล่าวมาช่วยอีกครั้ง ในช่วงวิกฤตในครั้งนี้ ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร อย่างไร ในขณะเดียวกันการปรับสูตรอาหารก็สำคัญ เกษตรกรต้องขยันหาสูตร ขยันปรับสูตรผสมอาหาร

              โดยในเรื่องสูตรอาหารสัตว์ ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ รัตนวณิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ฝากประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการปรับเปลี่ยนสูตรยามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ตัวหลักๆ แพงมาก ทั้งข้าวโพดอาหารสัตว์ กากถั่วเหลือง คือ ต้องพิจารณาอัตราการกินได้ต่อวัน Feed intake; FI. สัตว์กินอาหารได้เฉลี่ยวันละ กี่กรัมหรือกี่กิโลกรัม แตกต่างจากสูตรเดิมๆ หรือไม่ หลังจากนั้นต้องพิจารณา FCR และ ADG ควบคู่ไปด้วย เพราะจะเป็นตัววัดอีกชั้นหนึ่งว่าสุดท้ายแล้ว อาหารสัตว์ที่ถูกลงตามน้ำหนัก แท้จริงแล้วอาจแพงก็ได้เมื่อมีการถ่วงน้ำหนักทั้ง FCR และ ADG ที่อาจแย่ไปกว่าเดิม  โดยการใช้ Enzyme จะจำเป็นสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมอาหารสัตว์ ที่จะทำให้ตัวเลขวัด Performance ดีขึ้น ซึ่งก็ต้องประเมินตามช่วงอายุสุกรที่จะได้ประสิทธิภาพสูงที่สุดจากการใช้ Enzyme  

               ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิได้เสริมในประเด็นต้นทุนค่าลูกพันธุ์สุกรที่สูงมาก เช่น ปัจจุบัน 2,700 บาทที่ 16 กิโลกรัม คิดต่อกิโลกรัมที่ 168.75 บาท นับว่าเป็นต้นทุนเริ่มต้นที่สูงมาก การบริหารการกระจายตัวของต้นทุนสุกรพันธุ์ต่อสุกรขุนก่อนออกขายก็เป็นอีกแนวทางของการลดต้นทุน โดยการเลี้ยงเป็นสุกรขุนที่น้ำหนักสูงขึ้น 120-140 กิโลกรัม สามารถกระจายต้นทุนพันธุ์ได้ แต่ต้องคำนึงถึง ค่า FCR และ ADG ที่ปกติจะลดลงในช่วงน้ำหนักสุกรสูงขึ้น  เป็นข้อที่พึงให้ความเข้มงวดในการคำนวณให้มากขึ้น

 

 

Visitors: 397,167