สภาเกษตรจูงมือสมาคมโรงสีข้าว

สภาเกษตรจูงมือสมาคมโรงสีข้าวพบกรมการค้าภายในขออาหารสัตว์ช่วยใช้ปรับสูตรอาหาร หลังส่งออกอาจพลาดเป้า ได้เพียง 5 ล้านตัน

6 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบ Zoom - สภาเกษตรกรฯ และสมาคม โรงสีข้าวแจงไม่สามารถส่งออกได้ หาแนวทางดูดซับผลผลิตข้าว ประเมินว่าอาจส่งออกปีนี้ได้เพียงประมาณ 5 ล้านตัน

          สภาเกษตรกรฯ และสมาคม โรงสีข้าวแจ้งถึงสถานการณ์ข้าวที่ไม่ปกติ ไม่สามารถส่งออกได้ทำให้แจ้งมายังกรมการค้าภายในเพื่อหาแนวทางดูดซับผลผลิตข้าว ซึ่งประเมินไว้แล้วว่าจะส่งออกปีนี้ได้เพียงประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น

          คุณรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย  แจ้งว่าสถานการณ์ข้าวเปลือกปีนี้อยู่ที่ 30 กว่าล้านตัน คิดเป็นข้าวสารประมาณ 21 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 10 ล้าน ส่งออกในปีนี้ได้อย่างมาก 5 ล้าน เหลือ 6 ล้าน จะต้องหาทางระบายส่วนนี้

          คุณบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล สมาคมโรงสีข้าวไทย  แจ้งเพิ่มเติมว่ากลุ่มโรงงานอาหารสัตว์มีการนำเข้ากลุ่มคาร์โบไฮเดรตมาใช้อยู่แล้วประมาณเกือบ ๆ 2 ล้านตัน อยากให้ช่วยดูดซับไปอีก 4 ล้านตัน เพื่อช่วยโรงสี  แต่ต้องหาทางไม่ให้กระทบต่อธุรกิจของอาหารสัตว์ด้วย  ตอนนี้ค่าขนส่งวัตถุดิบจากต่างประเทศปรับตัวสูงมาก จึงเห็นว่าการหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศน่าจะทำได้ และ ผลผลิตข้าวจะออกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

          นายวัชระ ศิริตันติ์ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ระบุฤดูกาลนี้กลุ่มอาหารสัตว์ จะมีการนำเข้าข้าวสาสี บาร์เลย์ รวมๆ ประมาณ 3 ล้านตัน เพิ่มเติมส่วนที่ขาดจากวัตถุดิบข้าวโพดภายในประเทศที่มีการประชุมร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย อยู่ที่ ประมาณ 9 ล้านตัน บางส่วนมีการนำเข้าข้าวโพด ยังไม่เพียงพอ จึงคิดว่าน่าจะหันมาใช้ข้าวทดแทนได้ซึ่งคุณภาพข้าวนั้นเทียบเท่าข้าวโพด เพียงแต่การนำมาใช้จะต้องพิจารณาต้นทุนด้วย โดยข้าวมีคุณค่าทางโภชนะใกล้เคียง  หรือเทียบเคียงกับข้าวโพด  ข้าวสาลี และบาร์เลย์ ส่วนเรื่องอัลฟ่าท๊อกชิน ของวัตถุดิบนำเข้าตรวจไม่พบหรือพบน้อยมากไม่เกินค่ามาตรฐาน

          คุณชยานนท์ กฤตยาเชวง อุปนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย   แจ้งว่าการใช้วัตถุดิบภายในประเทศนั้นทำได้อยู่แล้วแต่ขอทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในเวทีนี้ก่อนว่า เวลาวัตถุดิบในประเทศมีปัญหา จะกล่าวหาว่าเกิดจากการนำเข้าวัตถุดิบอื่นของโรงงานอาหารสัตว์ตลอด ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีตอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่พอสามารถส่งออกวัตถุดิบได้ กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ก็ถูกทอดทิ้งทำให้ต้องดิ้นรนนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาใช้ ที่ผ่านมาอาหารสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด และถั่วเหลืองมาโดยตลอด และสมาคมพยายามเสนอแนวคิดให้มองผลกระทบทั้งห่วงโซ่ เพราะปัจจุบันนี้ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกำไรมากเหมือนสมัยก่อนแล้ว

          ในส่วนของข้าวโพด ปลายข้าว หากมองในค่าโภชนะหลักๆ แล้วไม่ต่างกันมาก อาหารสัตว์มีการศึกษาวิจัยเพื่อลดต้นทุนอยู่ตลอดเวลา เพราะนอกจากจะต้องดูแลเกษตรกรผู้ปลูกแล้ว  จะต้องดูแลเกษตรกรภาคผู้เลี้ยงด้วย ขณะนี้สถานการณ์ไก่เนื้อและหมูก็ย่ำแย่ เพราะได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้การบริโภคลดลงพอสมควร การช่วยดูดซับข้าว 4 -5 ล้านตันนั้นจะต้องดูสถานการณ์ปศุสัตว์ประกอบกัน ทั้งนี้ก่อนจะคุยว่าอาหารสัตว์จะช่วยดูดซับปริมาณเท่าไหร่ รัฐควรผลักดันให้ผู้ส่งออกทำหน้าที่ส่งออกไปด้วยเพื่อรักษาตลาดต่างประเทศไว้ไม่ให้หายไป รัฐจะต้องอุดหนุนให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากนั้นหากต้องการให้อาหารสัตว์ช่วยซื้อก็จะต้องมาคุยกันในเรื่องของราคา ซึ่งหากราคาเหมาะสม ก็สามารถซื้ออยู่แล้วโดยไม่ต้องมาขอกันด้วยซ้ำ

          คุณวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ประธานที่ประชุม แจ้งว่าเราไม่ได้มองกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์เป็นผู้ร้าย แต่วันนี้โรงงานอาหารสัตว์ คือ พระเอกที่จะมาช่วยพวกเรา เพราะสถานการณ์หลายอย่างในตอนนี้บีบรัดมาก เราหันมาก็เจอแต่อาหารสัตว์

          คุณภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย   ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า สมัยก่อนข้าวโพดเป็นวัตถุดิบที่ มีราคาถูกที่สุด ข้าวโพดในตลาดโลกถูกกว่าข้าวโพดไทย 20 - 30% ผู้ผลิตอาหารสัตว์ศึกษาและมีการนำเข้าข้าวสาลีมาจากแหล่งที่จะไม่มีสารตกค้าง  เรามีนักวิชาการที่ศึกษาข้อมูลในต่างประเทศและในประเทศอยู่มาก  ต่อมามีการควบคุมการนำเข้า เราจึงต้องพึ่งพาข้าวบาร์เลย์เนื่องจากวัตถุดิบขาดแคลน แต่ข้าวบาร์เลย์ก็ยังเทียบข้าวโพดกับข้าวสาลีไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์   เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง  เราใช้ข้าวโพด และมันสำปะหลังในประเทศค่อนข้างเยอะ และรู้วิธีใช้ปลายข้าว ต้นข้าว ข้าวเปลือกแต่เราไม่ได้มองแค่โปรตีนเท่านั้น ต้องมองถึงกรดอะมิโน และค่าพลังงานซึ่งต่างกันด้วย ข้าวใช้ในสุกรได้ดีกว่าสัตว์ปีกแต่จะต้องดูราคาด้วย  ส่วนข้าวเปลือกเราพบว่ามีไฟเบอร์ที่สัตว์ย่อยไม่ได้ แต่ก็มีการนำมาวิจัยและใช้อย่างเหมาะสม ที่ผ่านมาราคาปลายข้าวยังไม่อยู่ในราคาที่เหมาะสมจะนำมาใช้   แต่ ณ วันนี้ข้าวโพดมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงเกิดอานิสงแก่ผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศ หรือ ส่วนอื่นซึ่งขอไม่กล่าวถึง และขอยืนยันว่า  หากราคาเหมาะสมอาหารสัตว์สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนข้าวกล้องก็สามารถนำมาใช้ได้แต่ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน ยกตัวอย่างรำสดต้องใช้ภายใน 2-3 สัปดาห์  ส่วนข้าวสาลีตอนนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงไม่คุ้มกัน

          ผศ. ณัฐพล พจนาประเสริฐ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นำเสนอข้อมูลการศึกษาว่า  ที่ผ่านมาปลายข้าวมีราคาแพงที่สุดอาหารไก่ไข่จะต้องใช้ข้าวโพดอย่างน้อย 40 % และไก่เนื้อจะต้องใช้ข้าวโพดอย่างน้อย 26% หากจะใช้ปลายข้าวแทนจะต้องเติมสารสี ซึ่งมีราคาสูงที่กิโลกรัมละ 2,100 บาท ส่วนมันสำปะหลังก็จะพบปัญหาเรื่องฝุ่น แต่ใช้ในไก่ไข่ได้ดี ส่วนสุกรรุ่นจะใช้ปลายข้าวทดแทนข้าวโพดได้ดี  โดยสามารถใช้ปลายข้าว 1 กิโลกรัมทดแทนข้าวโพดได้ถึง 1.26 กิโลกรัม สุกรขุนจะใช้มันสำปะหลังทดแทนได้ดีกว่า

          ข้อสรุปจากการหารือประธานที่ประชุม อยากให้แก้ไขปัญหาในปีนี้ก่อน ขณะนี้ต้นทุนข้าวในต่างประเทศต่ำกว่าไทย แต่จะพยายามผลักดันเรื่องการส่งออกเพื่อรักษาตลาดด้วย และขอสอบถามอาหารสัตว์ว่าจะสามารถรับซื้อข้าวในจำนวน 4 ล้านตันได้หรือไม่  โดยอาหารสัตว์แจ้งว่าในหลักการเราขาดวัตถุดิบ 3 ล้านตัน ก็น่าจะพอช่วยดูดซับได้ ทั้งนี้จะต้องดูข้อมูลวิชาการประกอบด้วยหากเข้าใจตรงกันก็สามารถคุยกันได้

          จากอดีตที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตอาหาสัตว์ไทยเคยไปช่วยอาหารสัตว์ที่ไต้หวัน โดยทางรัฐบาลไต้หวันได้นำผลผลิตข้าวส่วนเกินมาให้ทางโรงงานอาหารสัตว์นำไปใช้เป็นวัตถุดิบโดยกะเทาะเปลือกเป็นข้าวกล้องหักก่อนส่ง ใช้ราคาข้าวโพดเป็นฐานราคา โดยให้ข้าวกล้องต่ำกว่าเล็กน้อย

          ประธานที่ประชุม เห็นว่าโรงสีควรมีการการันตีปริมาณส่งมอบให้กับอาหารสัตว์ ไม่ควรขอให้ช่วยเพียงอย่างเดียว เมื่อทุกคนเห็นตรงกันแล้วจะขอนัดหารือรายละเอียดระหว่างสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กับสมาคมโรงสีข้าวไทยต่อไปในสัปดาห์หน้า

Visitors: 397,143