มารู้จัก BCG Economy ที่ภาคปศุสัตว์อาหารสัตว์ต้องรีบขานรับ

มารู้จัก BCG Economy ที่ภาคปศุสัตว์อาหารสัตว์ต้องรีบขานรับ
เรียบเรียงโดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

          ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการพัฒนาดังกล่าวต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะ “ทำมากได้น้อย” เนื่องจากไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้เต็มศักยภาพ เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

          ย้อนหลังไปกว่า 1 ปีแล้ว กับการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามแก้ปัญหาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับจากการขาดนวัตกรรม ในยุคที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ที่เป็นหัวหอกปฏิบัติการเรื่องBCG เพื่ออรรถาธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับ BCG Model ที่เขามองว่าเป็นโมเดลสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าระดับเดิมก่อนที่จะมีวิกฤต COVID-19 โดยมองว่า “การพัฒนาประเทศไทยจะเริ่มจากศูนย์ไม่ได้ เราต้องพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ และเศรษฐกิจ BCG มีอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ใน 4 สาขา มาจากความหลากหลายทางชีวภาพ 2 สาขา คือ 1.อาหารและการเกษตร 2.สุขภาพและการแพทย์ และมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม 2 สาขา คือ 1.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 2.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

          โมเดลเศรษฐกิจใหม่ออกมาภายใต้ชื่อ BCG Model โดยคาดหวังว่า โมเดลตัวนี้จะเป็นสิ่งที่จะทำให้ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นรูปธรรมได้จริง และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เชื่อมโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ที่เป็นหัวหอกปฏิบัติการเรื่องนี้ ได้เคยอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับ BCG Model ที่เขามองว่าเป็นโมเดลสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

4 ธุรกิจมูลค่าเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท

          BCG Model เป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

          ฉะนั้น 4 สาขาที่สำคัญเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ณ วันนี้ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน(อิง GDP ปี 2561) รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างงาน 16.5 ล้านคน แต่เมื่อนำ BCG Model มาขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ที่เรียกว่า STI หรือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้ง 4 สาขานี้จะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP จะมีการจ้างคนเพิ่มอีก 20 ล้านคน

          นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรม เพราะวิธีการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ในครั้งนี้จะใช้กลไกของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ที่มีองค์ความรู้อยู่ไปทำงานร่วมกับเอกชนและชุมชน นอกจากนั้นจะต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

          “ต่อไปสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต้องนำเอาบริษัทที่มีองค์ความรู้มาลงทุนในประเทศไทย ไม่ใช่เอาบริษัทอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นบริษัทที่สามารถมาต่อยอดให้กับประเทศไทย ในด้านของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้”

 

PIC 2

ยกระดับการเกษตรของไทย

          ถามว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร ชาวนาจะกลายเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรอัจฉริยะได้อย่างไร ดร.สุวิทย์ยกตัวอย่างให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เข้าไปหาชาวบ้าน และชุมชน โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสนับสนุนให้ เพราะการพัฒนาภายใต้โมเดลนี้จะเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          มีตัวอย่างโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำงานร่วมกับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ นำเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์ และใช้เทคโนโลยีโรงเรือนและระบบการจัดการน้ำและปุ๋ย จะสามารถเพิ่มการผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ และจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ให้เป็น 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 50% ของมูลค่าการส่งออกในปัจจุบัน

          หรือโครงการยกระดับอุตสาหกรรมนมไทย นำการพัฒนาอาหาร การจัดการฟาร์ม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะมีการนำเทคโนโลยีการห่อหุ้มและกักเก็บ มาใช้ในการแปรรูปน้ำนม

          โครงการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีถังเลี้ยงปลาระบบน้ำหมุนเวียน น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถหมุนเวียนกลับไปใช้เลี้ยงปลาในถังได้ต่อไป สามารถใช้คนเพียงคนเดียวในการดูแลบำรุงรักษา ลดปริมาณการใช้น้ำต่อวันลงมากกว่า 95% ลดโอกาสติดเชื้อโรคจากภายนอก อัตราการรอดของปลาอยู่ในระดับ 90-100% ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ใช้พื้นที่น้อยลง ประหยัดพลังงาน เพิ่มความหนาแน่นของปลาจากบ่อดินที่ 900 กิโลกรัมต่อไร่ ไปเป็น 64,000 กิโลกรัมต่อไร่

          เมื่อเห็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว นั้นคือ การทำเกษตรของไทยจะไม่ใช่เกษตรดั้งเดิมอีกต่อไป ต่อไปต้องเป็นระบบเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากร

ขายสินค้าจาก “ตัน” เป็น “กรัม”

          ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรเกี่ยวข้องกับคนมากกว่า 12 ล้านคน แต่มากกว่า 90% ของพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยปลูกพืชเพียง 6 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐต้องเข้าไปอุดหนุนทุกปี

          ดังนั้น การยกระดับผลผลิตทางการเกษตร จะสร้างความแตกต่าง และมูลค่าเพิ่ม เช่น เนื้อวัวทั่วไปมีราคาจำหน่าย 250 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื้อวัวโพนยางคำราคา 750 บาทต่อกิโลกรัม จึงเป็นวิธีการเปลี่ยนรูปแบบจากการ “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่การผลิตสินค้าพรีเมียมที่ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก”

PIC 3

          ต่อไปภาคการเกษตรต้องใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการควบคุมการเพาะเลี้ยง เพาะปลูกที่ให้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิผลของวัตถุดิบการเกษตรให้สูงขึ้น เปลี่ยนจากการ “ขายเป็นตัน” เป็นการ “ขายเป็นกิโลกรัม” หรือกรัม เป็นอีกแนวทางที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น สารสกัดจากข้าวราคา 2,400 บาทต่อกิโลกรัม และสารสกัดแคปไซซินจากพริก 30,000 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

          หรือมีตัวอย่างในปี 2560 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ประมาณ 400,000 ล้านบาท คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านล้านบาท เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมรวมกันกว่า 100,000 ล้านบาท แต่ถ้าต่อไปประเทศไทยมีการพัฒนาตรงนี้ก็จะลดค่าใช้จ่ายออกนอกประเทศ ได้มหาศาล

 

พัฒนาพลังงานรวยมหาศาล

          สำหรับเรื่องพลังงาน พบว่าประเทศไทยนำเข้าพลังงาน 60% ของความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ ขณะที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนในระดับสูง เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตร ขยะ และของเสียจากกระบวนการผลิตจำนวนมาก รวมถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์

          จึงเอื้อต่อการผลิตเป็นพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นจาก 15.5% ในปี 2561 เป็น 30% ของปริมาณการใช้พลังงานภายในปี 2579

          ขณะที่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จะสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะเพิ่มจาก 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 487,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567

          เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกหลายเท่าตัว เช่น ชานอ้อยกิโลกรัมละ 1 บาท เมื่อพัฒนาเป็นสารประกอบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและอาหาร มูลค่าจะเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 260 บาท และเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาท เมื่อพัฒนาเป็นสารประกอบในการผลิตยา หรือใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

PIC 4

          หรือการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตก๊าซชีวภาพ ไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่สามารถนำชีวมวลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอเมทานอล (Biomethanol) ที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซล รวมทั้งใช้เป็นโครงสร้างเริ่มต้น (Building Block) ในการผลิตสารเคมี หรือชีวเคมีมูลค่าสูงหลายชนิด

          วิธีการข้างต้นเป็นการปรับเปลี่ยนจากระบบ “เศรษฐกิจเชิงเส้นตรง” (Linear Economy) คือใช้ทรัพยากรผลิตสินค้า ใช้งานและกำจัด มาเป็นระบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ได้อย่างสมบูรณ์ผ่านกระบวนการผลิตสินค้า ใช้งาน และนำกลับมาใช้ใหม่

 

ท่องเที่ยวไทยรูปแบบใหม่

          ในด้านของการนำ BCG MODEL มาพัฒนาการท่องเที่ยว ดร.สุวิทย์กล่าวว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยมากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่รายได้ 80% กระจุกตัวอยู่เพียง 8 จังหวัด ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น มีการแย่งชิงทรัพยากรจากคนในพื้นที่

          จึงต้องมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่โดยกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง จึงเป็นแนวทางด้วยการบริหารจัดการที่ดี การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) การชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ การท่องเที่ยวเชิงความรู้และยกระดับการท่องเที่ยวมูลค่าสูง

          นอกจากนี้ การพัฒนาระบบ Public Payment Gateway สำหรับการ ท่องเที่ยวเพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยวยุคใหม่

          ดร.สุวิทย์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในอนาคต BCG ต้องอยู่บนฐานดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น internet of Things, Big Data, AI จะต้องนำมาให้อยู่ในกระบวนการตั้งแต่การสร้างวัตถุดิบจนถึงการเพิ่มมูลค่า ในกระบวนการอาหารและการเกษตร การแพทย์ การท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ ประเทศไทยมีการเริ่มพัฒนาพวกนี้แล้วแต่ยังสะเปะสะปะ เมื่อรวบมาบริหารจัดการและใช้องค์ความรู้จะเปลี่ยนสิ่งที่เคยเห็น

          สำหรับการขับเคลื่อน BCG MODEL ต่อจากนี้ ดร.สุวิทย์ ระบุว่าอยู่ระหว่างหารือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับนโยบาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ BCG Model เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยในศตวรรษที่ 21

PIC 5

นายกฯ ดัน BCG Economy เป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย หวังเพิ่ม GDP อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี

          โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG"  หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม

          กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย

  1. อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
  2. บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน
  3. ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ
  4. สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ
  5. สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

 

          สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4  สาขายุทธศาสตร์ คือ

  1. เกษตรและอาหาร
  2. สุขภาพและการแพทย์ 
  3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ
  4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

          ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

          “ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ BCG Model คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

          คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

          ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

          ธรรมชาติไม่ใช่เพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป แต่ธรรมชาติจะเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน

          ยุทธศาสตร์ที่2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

          ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

          ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

          นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน

          ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

          เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปเพิ่มศักยภาพของชุมชน ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

          ทั้งนี้ ที่ประชุมฯได้เห็นชอบกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ยกเป็น “วาระแห่งชาติ” สำหรับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy) พร้อมให้นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ด้วย

          “ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า คือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การแปรปรวนของภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดลงของทรัพยากร ด้วยเหตุนี้การพัฒนาและขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และยังเปลี่ยนแรงกดดันหรือข้อจำกัดเป็นพลังในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเร่งรัดพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว”

PIC 6

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหาร ที่ภาคปศุสัตว์ อาหารสัตว์ต้องขยับตัว

          แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ภาคการเกษตรซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการผลิตอาหาร ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (robotics and AI) ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีด้านเซ็นเซอร์และการตรวจวัด ระบบอินเตอร์เนตของสรรพสิ่ง (Internet of things, IOTs) เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ระบบโรงเรือนและวัสดุปลูกแบบใหม่ ทำให้การผลิตอาหารถูกควบคุมได้ด้วยระบบอัตโนมัติ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ในปัจจุบันระบบฟาร์มอัจฉริยะหรือระบบการปลูกพืชแบบแนวตั้ง (vertical farm) ได้รับการพัฒนาและมีการประยุกต์ใช้ไปทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ทำให้มีพื้นที่ในการผลิตอาหารเพิ่มของโลกมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่เดิมที่มีการใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตอาหารลดลง ซึ่งเทคโนโลยีกลุ่มต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามามี

          บทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตและแปรรูปอาหารของโลก ทั้งการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติแทนมนุษย์ลดโอกาสการสัมผัสและปนเปื้อนของอาหาร รวมทั้งการประยุกต์ใช้ระบบตรวจวัดที่แม่นยำและระบบการคำนวณข้อมูลขนาดใหญ่ (big data analytics) ช่วยควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความสม่ำเสมอ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการติดตามและวางแผนการขนส่งอาหาร (logistics) การเก็บรักษาและการกระจายผลิตภัณฑ์อาหาร การบริหารจัดการ supply chain รวมไปถึงการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) เพื่อตรวจสอบอาหารตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบจะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถวางแผนการผลิตให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและวัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด

 

ตัวอย่างที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบ BCG ในต่างประเทศ

PIC 7

ไมโครซอฟท์ พัฒนาโครงการที่ชื่อว่า  FarmBeats  

          บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกจะกลายเป็นเกษตรกรอันดับหนึ่งของสหรัฐ ด้วยการครอบครองที่ดินเพื่อทำเกษตรกว่า 600,000 ไร่ แล้ว บริษัทดิจิตอลยักษ์ใหญ่และเป็นบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดของโลกล้วนแล้วแต่กำลังลงทุนในภาคเกษตรและอาหารแล้วทั้งสิ้น

          ไมโครซอฟท์ พัฒนาโครงการที่ชื่อว่า  FarmBeats   นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่ควบคุมผ่านระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์ เพื่อการทำฟาร์มที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพของดินน้ำ ข้อมูลพื้นฐานของพืชผลการเกษตร และข้อมูลภูมิอากาศที่ทันสมัย  บริษัทนี้ยังจัดทำโครงการ Microsoft4Afrika  โดยร่วมกับ AGRA เพื่อให้คำแนะนำและชุดเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรใน เคนยา ไนจีเรีย รวันดา กานา แทนซาเนียยู กันดา มาลาวี และเอธิโอเปีย

PIC 8

แอปเปิ้ล ร่วมมือกับ Agworld  ใช้ Apple Watch พัฒนา “การเกษตรแม่นยำ” 

          แอปเปิ้ล ร่วมมือกับ Agworld พัฒนา “การเกษตรแม่นยำ”  ใช้ Apple Watch เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม เช่น ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพืชไร่ ประวัติการเพาะปลูกในแปลงเกษตรกร การเงิน/บัญชีฟาร์ม การแจ้งเตือน พร้อมคำแนะนำของนักปฐพีวิทยาเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน  ข้อมูลภาคสนามเพื่อใช้ในการตัดสินใจสำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว  ตอนนี้ Apple watch ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจำหน่ายแล้วในสหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และชิลี แอปเปิ้ลยังได้ออก Resolution app ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์การจัดการฟาร์มบนคลาวด์  มีแผนที่ฟาร์มเพื่อบันทึกและจัดเก็บเหตุการณ์ และรายละเอียดการทำงานแต่ละวันในฟาร์ม

PIC 9

อเมซอนซื้อ WholeFood ใช้ Amazon Web Service (AWS) และ Farmobile นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่แม่นยำ

          อเมซอนยักษ์ใหญ่ ที่มีฐานข้อมูลบนคลาวด์ใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่งซื้อกิจการ WholeFood ในราคา 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐและลงทุนมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐในกิจการรวบรวมผลิตทางการเกษตรทั้งในอินเดียและออสเตรเลีย  อเมซอนยังมี Amazon Web Service (AWS) นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่แม่นยำจากการบริหารและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตรจากทั่วโลก ตอนนี้ผู้ที่ใช้ AWS ได้แก่ Indian Farmers Fertiliser Cooperative Limited (IFFCO) โครงการ WeFarm และร่วมกับบริษัทยันมาร์ของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินในเรือนกระจก ทั้งในญี่ปุ่นเอง และเวียดนาม  อเมซอนยังมีบริการ Farmobile เพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการทำเกษตรสำหรับการขายผลิตผลในราคาที่ดีและช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งการสร้างรายได้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

PIC 10

FACEBOOK เปิดตัวแอปบนมือถือที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายย่อยเกี่ยวกับเทคนิคการทำฟาร์มที่แม่นยำ

          เฟซบุ๊ก ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ลงทุน 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน Reliance Jio ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย  Jio เปิดตัวแอปบนมือถือที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายย่อยเกี่ยวกับเทคนิคการทำฟาร์มที่แม่นยำ และช่วยเหลือพวกเขาในการตัดสินใจ โดยใช้ด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืช การให้น้ำ และการควบคุมศัตรูพืช

PIC 11

GOOGLE เพื่อจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับข้อมูลสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและการเกษตร 

          กูเกิ้ล ยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาข้อมูลและแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศกำลังร่วมมือกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับข้อมูลสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและการเกษตร  ความสำเร็จของพวกเขาที่ได้พิสูจน์แล้วเกี่ยวกับแอพด้านแผนที่ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าจะทำให้กูเกิ้ลกลายเป็นเพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เกี่ยวกับการทำฟาร์มได้ไม่ยาก

PIC 12

Alibaba เดินหน้าไปสู่การบุกเบิกค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

          อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ของจีนกำลังเดินหน้าไปสู่การบุกเบิกค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกับ พวกเขาลงทุนไปแล้วกว่า 12.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเกี่ยวกับร้านค้าปลีก และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการซื้อกิจการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ Auchan ของฝรั่งเศสอีก 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ  บริษัทนี้ยังเข้าไปซื้อหุ้น 57% ในบริษัท Milk New Zealand Dairy เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งนมมากกว่า 9,500 ลิตรต่อสัปดาห์เพื่อลูกค้าชาวจีน

          เมื่อยักษ์ใหญ่ดิจิตอล “Go เกษตร” พวกเขาไม่ได้มีเพียงทุนขนาดใหญ่ที่พร้อมจะกลืนกินกิจการเกี่ยวกับเกษตรตั้งแต่ต้นทางเท่านั้น แต่การ “ผูกขาด” ข้อมูลขนาดใหญ่เอาไว้ในมือ จะทำให้พวกเขามีอิทธิพลในการกำหนดแบบแผนเกษตรกรรม ระบบการกระจายอาหารทั้งหมดทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ และความสามารถในการเรียนรู้พฤติกรรมและความคิดเกี่ยวกับการบริโภคของทุกคนในโลกได้อีกด้วย

          การมุ่งหน้าสู่เกษตรกรรมและอาหารของยักษ์ใหญ่ดิจิตอลนี้ จะนำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในระบบอาหารของโลก แต่การปฏิวัตินี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและผู้บริโภค หรือเพื่อผลประโยชน์และการรวมศูนย์ของบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้กันแน่?

PIC 13

          และนี่คือภาพอนาคตที่ประเทศไทยต้องเต็มที่กับ BCG Economy อย่างจริงจัง ทั้ง 4  สาขายุทธศาสตร์ ที่จะนำมาเริ่มต้น คือ 1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์  3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ภาคปศุสัตว์ไทยกำลังมีแนวคิดที่จะจับมือภาครัฐร่วมผลักดันให้เกิดขึ้น ตามแนวนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง มิฉะนั้นประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง...ซะเอง

 

อ้างอิง : กรมประชาสัมพันธ์, บางส่วนจาก Digital control : How Big Tech moves into food

and farming (and what it means) โดย GRAIN, January 2021

Visitors: 396,992