Pig Board เห็นชอบตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และคณะทำงานบริหารจัดการสร้างสมดุลทุกภาคส่วนทั้งการผลิต-ตลาด และผู้บริโภค

Pig Board เห็นชอบตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และคณะทำงานบริหารจัดการสร้างสมดุลทุกภาคส่วนทั้งการผลิต-ตลาด และผู้บริโภค

20 สิงหาคม 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – มติที่ประชุม Pig Board ครั้งที่ 1/2563 เห็นชอบตั้งกองทุนพัฒนาสุกรไทย บริหารจัดการสร้างสมดุลทุกภาคส่วนให้ “เกษตรกรอยู่ได้ดี ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน”

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ครั้งที่ 1/2563 โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานการประชุม มติ Pig Board เห็นชอบสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย มอบ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย (เป็นสมาคมที่จัดตั้งตามมติ Pig Board ตั้งแต่ ปี 2551)โดยให้กรมปศุสัตว์ ร่วมกำหนดระเบียบ และที่มาของกองทุน กำหนดวัตถุประสงค์กองทุน และเพิ่มด้านการวิจัยและพัฒนา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ครั้งที่ 1/2563 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมเจรจาการค้าระหว่างประทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการอุปทานสุกรในประเทศ และบริหารจัดการปริมาณการส่งออกสุกรให้เกิดความสมดุลต่อทุกภาคส่วน

ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีหนังสือถึง กรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านปริมาณการผลิตสุกร และฝ่ายเลขานุการ Pig Boaard พิจารณาแนวทางบริหารจัดการอุปทานสุกรภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ข้อเท็จจริงด้านข้อมูลปริมาณผลผลิตสุกร แนวโน้มในระยะต่อไป รวมทั้งข้อมูลการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ ให้มีความเหมาะสมสร้างสมดุลต่อทุกภาคส่วนโดยไม่กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคในประเทศ และไม่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเสียโอกาสในการขยายตลาดสุกรในต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดให้มีการประชุม เพื่อพิจารณาสถานการณ์ราคาสุกรและมาตรการในการแก้ปัญหา ติดตามสถานการณ์การเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ในสุกร (ASF) สถานการณ์การผลิต-การตลาดสุกรของโลก และประเทศไทย ต้นทุนการผลิตสุกร และอื่นๆ ประกอบด้วย ความปลอดภัยอาหาร สุขภาพสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสุกรไทยโดยภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสุกร

Pig Board มีมติตั้งคณะทำงานร่วมกัน 5 หน่วยงาน ระหว่าง กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ร่วมกันบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทาน หารือตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดสัดส่วนปริมาณสุกรขุน ลูกสุกร เนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ โดยให้รายงานผลต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาสุกรให้เกษตรกรอยู่ได้ดี ผู้บริโภคในประเทศไทยไม่เดือดร้อน สร้างสมดุลแก่ทุกภาคส่วน และไม่เสียโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ

และสนับสนุนการจัดตั้ง "กองทุนพัฒนาสุกรไทย" โดยภาคเอกชน มอบ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย เป็นผู้บริหารจัดการ และให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาช่วยกำหนดระเบียบ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างความมั่นคงในอาชีพ และการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสุกร

ผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 และการระบาดของโรค ASF ในสุกรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังคงไม่พบการระบาดของโรค ASF สุกร ประกอบกับการผลักดันฟาร์มเชิงพาณิชย์ เข้าสู่มาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก ของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งการเจรจาเปิดตลาดส่งออกระหว่างกรมปศุสัตว์ไทย - เวียดนาม เป็นผลให้ปริมาณความต้องการนำเข้าสุกรมีชีวิตจากไทย ไปกัมพูชา เวียดนาม ลาว พม่า เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลต่อราคาตลาดสุกรขุนภายในประเทศ ซึ่งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในมิติผู้ดูแลด้านค่าครองชีพของประชาชน ได้เชิญประชุมหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการโรงเชือชำแหละ สมาคมตลาดสดไทย ห้างค้าส่งค้าปลีก 8 ห้าง ประกอบด้วย แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ วิลล่า มาร์เก็ท ฟู้ดแลนด์ ท็อป แม็กซ์ แวลู รวม 4 ครั้ง (วันที่ 17, 20, 24 และ 29 กรกฎาคม 2563) โดยกำหนดมาตรการความร่วมมือบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนผู้บริโภค

1.สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยสมาชิก ตรึงราคาสุกรขุนมีชีวิตไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม
2. ห้างค้าปลีกค้าส่ง ตลาดสดโดยสมาชิกตลาดสดของสมาคมตลาดสดไทย (กรุงเทพฯ ปริมณฑล) กำหนดราคาขายปลีก
สะโพก -ไหล่ ไม่เกิน 150 บาทต่อกิโลกรัม
สันนอก ไม่เกิน 160 บาทต่อกิโลกรัม
3. ผู้ประกอบการโรงเชือดชำแหละสุกรรายใหญ่ กำหนดราคาขายส่งเนื้อสุกร
สะโพก หัวไหล่ = 118 - 134 บาทต่อกิโลกรัม
สันนอก = 128-138 บาทต่อกิโลกรัม
4.กิจกรรม เนื้อหมูพาณิชย์ลดค่าครองชีพประชาชน ราคา 130 บาทต่อกิโลกรัม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จำหนายเนื้อแดง สะโพก-ไหล่ ในราคา 129-139 บาทต่อกิโลกรัม อาทิ แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ซุปเปอร์ชีพ และซีพีเฟรชมาร์ท 831 สาขา
5.กรณีมาตรการความร่วมมือไม่ได้ผล จะใช้มาตรการที่สูงขึ้น จะนำมาตรการทางกฎหมาย ของคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) เข้าควบคุมปริมาณส่งออกสุกรมีชีวิต และหรือระงับการส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นการชั่วคราว

กรมการค้าภายใน ดำเนินมาตรการบริหารตลาด ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้ปัจจุบันราคาสุกรมีชีวิต ทรงตัวที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม การบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน และมีความอ่อนไหว ต้องทำแต่พอเหมาะ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก โดยที่ประชุมมอบ คณะทำงาน 5 หน่วยงาน ร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด ร่วมหารือ ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดสัดส่วนปริมาณ สุกรขุน ลูกสุกร และเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความสมดุล ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการส่งออก ไม่กระทบต่อผู้บริโภค ขับเคลื่อนขยายตลาด เพิ่มโอกาสการส่งออกต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึง ประเด็นการปลอมปนสินค้าตามที่เป็นข่าว กรณีนำเนื้อไก่ผสมเนื้อหมูบด ขายที่ตลาดนครสวรรค์ ขอกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เข้มงวดตรวจสอบป้องปรามการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น กรมการค้าภายใน ขอทีมงานสคบ. ร่วมผนึกกำลังลงจุดตรวจทั่วประเทศด้วย โดยที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ดำเนินการตรวจไปแล้ว 600 จุด

นายองกรณ์ พลบุตร กล่าวในที่ประชุมถึง 2 ประเด็นหลัก คือ
1. การยกระดับมาตรฐานการผลิต การตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยใช้ QR Code และFood Industry Transformation การเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรมอาหาร โดยขอได้เชิญนายสัตว์แพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง เข้ามาช่วย และการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ศึกษาวิจัยพัฒนา เช่น สุกร อาหารสัตว์ ศึกษาด้านประสิทธิภาพอาหารสัตว์ให้มีโปรตีนสูง ลดต้นทุนการผลิต นำเทคโนโลยีด้านการผลิตอาหาร สร้างแบรนด์ เพิ่มมูลค่าการแปรรูปอาหาร
2. ด้านเสถียรภาพราคาสุกร ให้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ ใช้มาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้สูงเกินไป เกษตรกรต้องมีเครื่องมือคุ้มครองไม่ขายต่ำกว่าต้นทุน ต้องมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ ป้องกันไม่ให้เกษตรถูกกดราคาและต้องมีกำไร

สถานการณ์ Covid-19 ประเทศไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งประมง พืช ผัก ปัจจุบันไทยติดอันดับผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก อันดับที่ 11 แซงหน้าอินเดียมา 2 ปีซ้อนซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของภาคการเกษตรของไทย นายอลงกรณ์กล่าว

กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านสินค้าเกษตร อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และกฏหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะต้องนำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหาดังกล่าว ตามที่ประธานเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมสุกร และสินค้าเกษตรทั่วไปอย่างยื่น


Copyright (c) 2015 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 90/141 หมู่ 15 เพล็กซ์บางนา ถนนบางนา-ตราด ก.ม. 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
โทร 02-136-4797 โทรสาร 02-136-4798 สอบถามราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม โทร 02-136-4799
E-mail : swinethailand@yahoo.com Facebook : www.facebook.com/Thai Swine Raisers Sat

Visitors: 427,876