ปศุสัตว์ทุกอำเภอยินดีต้อนรับผู้เลี้ยงทั่วประเทศขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกร พร้อมประเมินความเสี่ยงฟาร์มสุกร ต่อโรค ASF ผ่านแอพพลิเคชั่น E-Smart+” ให้ฟรี!!

ปศุสัตว์ทุกอำเภอยินดีต้อนรับผู้เลี้ยงทั่วประเทศขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกร พร้อมประเมินความเสี่ยงฟาร์มสุกร ต่อโรค ASF ผ่านแอพพลิเคชั่น E-Smart+” ให้ฟรี!!

2 สิงหาคม 2562 พนัสนิคม ชลบุรี –กรมปศุสัตว์ทุกอำเภอพร้อมรับขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรพร้อมประเมินความเสี่ยงฟาร์มสุกร ต่อโรค ASF ผ่านแอพพลิเคชั่น E-Smart+” ให้ฟรี!!  

น.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล ผู้อำนวยการ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์กรมปศุสัตว์ กล่าวเชื้อเชิญเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ รีบลงทะเบียน ระหว่างการสัมมนา “แนวทางและมาตรการในการป้องกันโรค ASF” ที่หอประชุมเทศบาลอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยจะมีการประเมินความเสี่ยงฟาร์มสุกร ต่อโรค ASF ผ่านแอพพลิเคชั่น E-Smart+” ให้ฟรี ซึ่งการขึ้นทะเบียนฟาร์ม เกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอได้ทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งการขึ้นทะเบียน และการประเมินความเสี่ยงต่อโรค ASF

คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ยกระดับขึ้นทะเบียนฟาร์ม ก่อนเดินหน้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานทั่วประเทศ เพื่อความยั่งยืนกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยให้ไปติดต่อสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ เช่น สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์ม ตามเงื่อนไขการรับความช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากการระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และ เดินหน้าเข้าระบบฟาร์มมาตรฐานทั้ง GFM และ GAP เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ก่อนเดินตามแผนยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อน โครงการ "การบริหารจัดการการเลี้ยงสุกร 6 ภูมิภาค" ตามมติ Pig Board โดยเป็นประกาศกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมี สัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ เป็นประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการการเลี้ยงสุกร 6 ภูมิภาค ที่เดินหน้า ประชุมระดมความคิดไป 2 ภาคแล้ว ทั้งเขต 3-4 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ เขต 8-9 ในภาคใต้ โดยภาคใต้อยู่ระหว่างจัดทำข้อสรุปโดยนำข้อมูล จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ของการเลี้ยงสุกรภาคใต้ จากการประชุมร่วม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครั้งแรก เมื่อ 18 กรกฎาคม ที่พัทลุง เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนต่อไป

จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่กระจายตัวมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ล้อมรอบประเทศฝั่งตะวันออกในขณะนี้  โดยภาครัฐและเอกชนต่างร่วมแรงร่วมใจในการป้องกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การให้ความรู้ความเข้าใจในวงกว้างและระดับพื้นที่ การร่วมมือภาครัฐเอกชนในการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะสินค้าปศุสัตว์ ตลอดจนการระดมเงินสมทบกรณีจูงใจให้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐกรณีพบอาการต้องสงสัยกับสุกรในฟาร์มว่าติดเชื้อ ASF โดยสบทบเพิ่มจำนวนอีก 45% ของราคาตลาดหรือต้นทุนการผลิต(ขึ้นอยู่กับผู้สมทบ)

ในการขอรับความช่วยเหลือจากราชการตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่บัญญัติการชดเชยที่จำนวน 75% นั้น จะเป็นฟาร์มรายย่อยที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมปศุสัตว์แล้วเท่านั้น คือ ฟาร์มที่มีการเลี้ยงต่ำกว่า 500 ตัว ซึ่งฟาร์มขนาดกลางเชิงพาณิชย์ที่มีการเลี้ยงตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไปและยังไม่ขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกร ก็ขอให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรไว้ เช่นกัน เพื่อพัฒนาสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานที่สูงขึ้นของกรมปศุสัตว์ทั้ง GFM และ GAP เพื่อดำเนินการต่อเนื่องตามแผนการบริหารจัดการการเลี้ยงสุกร 6 ภูมิภาคต่อไป ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig board) เพื่อความมั่นคง ยั่งยืนกับผู้เลี้ยงสุกรทั้งระบบ

เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อรักษาสิทธิดังกล่าวข้างต้น และพัฒนาการจัดการฟาร์มของตัวเองให้สูงขึ้นต่อไป จึงขอให้ผู้เลี้ยงสุกร ผู้นำชมรม ประธานสหกรณ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค ผลักดันสมาชิกของท่านติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศเพื่อขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรเพื่อให้การดูแลจากภาครัฐสามารถกระทำได้ทั่วถึงมากที่สุด

Visitors: 398,101