รองอธิบดีเน้นย้ำคนเลี้ยงหมูต้องเข้าระบบฟาร์มมาตรฐาน

รองอธิบดีเน้นย้ำคนเลี้ยงหมูต้องเข้าระบบฟาร์มมาตรฐาน  ผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่ต้องมีใบอนุญาต เพื่อการตามสอบเส้นทางได้ ระหว่างเป็นประธานเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคฯ นครพนม – คำม่วน

 

วันที่ 14 มิถุนายน 2562 นครพนม - นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ โครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ สะพานมิตรภาพ 3 ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดสร้างจากเครือเบทาโกร

ในพิธีวันนี้นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับ นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กล่าวรายงาน และ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะฯ ให้แก่กรมปศุสัตว์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครพนม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ฝากถึงผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาด ให้เร่งเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน ซึ่งจะเน้นให้จัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ  โดยฟาร์มรายย่อยที่ต่ำกว่า 500 ตัว เป็นมาตรฐานฟาร์มแบบ GFM(good farm management) และฟาร์มขนาดใหญ่ในเชิงพาณิชย์ที่เริ่มตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป เป็นมาตรฐานแบบ GAP(good agricultural practices) ซึ่งระยะยาวจะลดการนำเข้าโรคต่างๆ และที่สำคัญคือลดความเสี่ยงต่อการนำเข้าโรค ASF ซึ่งมีการระบาดอย่างหนักในขณะนี้  ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน  ไม่มียารักษา  เชื้อไวรัส ASFV มีความทนทานสูง สุกรติดเชื้อแล้วตาย แต่เชื้อชนิดนี้ไม่ติดต่อในคน   โดยกรมปศุสัตว์จะกำหนดให้ตลอดห่วงโซ่การผลิตการค้าสุกร และเนื้อสุกร จะต้องมายื่นขอใบอนุญาตให้ถูกต้องเพื่อสร้าง Big Data เพื่อการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงทีในทุกๆ เรื่อง

จากการที่แผนเฝ้าระวังป้องกันเป็นวาระแห่งชาติ จึงได้รับความร่วมมือ ทั้งจากทหาร ตำรวจ พลเรือน ภาคการศึกษา เอกชน เพราะภาครัฐดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยการเป็นวาระแห่งชาติทำให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเป็นประธานเฝ้าระวังการเกิดโรค และโดยระยะทางของอาณาเขตติดต่อประเทศรอบบ้านมีระยะทางที่ยาวมาก เฉพาะสปป.ลาว กับประเทศกัมพูชามีระยะทางยาวถึง 2,605 กิโลเมตร กับ เขตแดนที่ติดต่อกับลาว ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี  เขตแดนที่ติดต่อกับกัมพูชา ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราดโดยนโยบายของไทยจะเข้าไปช่วยสนับสนุนแผนเฝ้าระวังป้องกันในประเทศเพื่อบ้านด้วย

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวสรรเสริญ ทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ ขอบคุณ สปป.ลาว หัวหน้าส่วนทุกภาคส่วน และขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่จะของบประมาณแผ่นดินมาดำเนินการสร้างศูนย์ฯ มากขึ้น เพื่อความครอบคลุม

คุณสมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหาร เครือเบทาโกร กล่าวขอบคุณมาตรการเชิงรุกที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน ลดความเสี่ยง และสร้างความมั่นใจ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือจะทำให้เราเข้มแข็ง

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนแต่เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หากสุกรติดโรคแล้วจะทำให้สุกรตายทุกตัว เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ รวมถึงเชื้อโรคมีขนาดใหญ่จึงตายยาก ทำให้สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือน ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ แต่นับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ หรือยานพาหนะที่ใช้บรรทุกนำเข้า-นำผ่าน-นำออกประเทศไทย อีกทั้งยังรวมถึงจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา ที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากเกิดการระบาดของโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทยอย่างมาก และมีผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศประเทศไทยจึงมีการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และอนุมัติให้แผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ 2562

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคของยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าสู่ประเทศ   ในจังหวัดชายแดนจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร  จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดลำดับที่ 4 ที่จัดทำพิธีส่งมอบและเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ณ สะพานมิตรภาพ 3 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ตามความร่วมมือระหว่าง   กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ASF ในสุกรเข้าประเทศได้

สำหรับศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ที่ด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จะเป็นศูนย์ที่ 5 สำหรับโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกศูนย์หนึ่งที่มีปริมาณการเคลื่อนย้ายสูงเช่นกัน สนับสนุนการก่อสร้างโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ซึ่งจะดำเนินการเปิดเป็นทางการเร็วๆ นี้ โดยศูนย์ที่เปิดแล้วทั้งหมดมีการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการตรวจสารพันธุกรรม ASF ที่สามารถติดมาได้กับคนขับรถ คนติดรถ เสื้อผ้า รองเท้า โดยจะมีการตรวจสารพันธุกรรมของ ASF เป็นระยะ ซึ่งยังไม่ปรากฏเชื้อปนเปื้อนมาแต่ประการใด และจากสภาพชายแดนด้านกัมพูชา กับ เวียดนามที่มีหลายจังหวัดของเวียดนามติเชื้อ ASF เป็นจำนวนมากนั้น ภาครัฐและเอกชนทั้งสองฝ่ายจะมีการประชุมหารือแนวทางให้การสนับสนุนกันมากขึ้น เพื่อจำกัดพื้นที่การระบาดในกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงมาก

Visitors: 398,092