เข้มชายแดน สระแก้ว-กัมพูชา ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกัน ASF

เข้มชายแดน สระแก้ว-กัมพูชา ภาครัฐ-เอกชนยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกัน ASF

10 เมษายน 2562 สระแก้ว - รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานประชุมยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพขยายการเข้มงวดแนวชายแดนมากขึ้น

            นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมเข้มเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจแนวผ่านแดน โดยคุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและคณะกรรมการสมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมประสานแนวทางเพิ่มความเข้มงวดในระดับฟาร์ม และเร่งการสร้างโรงพ่นยาฆ่าเชื้อมาตรฐานที่ด่านกักกันสัตว์อรัญประเทศที่ดำเนินงานโดย บริษัท ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

                ปัจจุบันจังหวัดจุดเกิดโรคที่กัมพูชาในเมืองรัตนคีรี ติดชายแดนเวียดนาม แม้ยังไม่มีพื้นที่ติดโดยตรงกับจังหวัดชายแดนไทย ซึ่งอยู่ในข่ายที่กรมปศุสัตว์จะประกาศจังหวัดแนวชายแดนของไทยเป็นเขตเฝ้าระวัง ซึ่งระหว่างรอประกาศการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวดมาตลอดอย่างต่อเนื่อง

               ในการประชุมกรมปศุสัตว์ได้ประเมินความเสียหายหากมีการระบาดในประเทศไทยสูงถึง 125,602 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  1. กระทบตรงกับอุตสาหกรรมสุกรขุน 43,000 ล้านบาท
  2. กระทบการส่งออกทันทีประมาณ 5,000 ล้านบาท
  3. ธุรกิจอาหารสัตว์ 40,000 ล้านบาท
  4. ธุรกิจเวชภัณฑ์สุกร 2,100 ล้านบาท
  5. งบประมาณการป้องกันและควบคุมโรค ประมาณ 15,875 ล้านบาท
  6. ผลกระทบจากการควบคุมโรค ประมาณ 19,627 ล้านบาท

            กรณีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(African Swine Fever : ASF) เป็นวาระแห่งชาตินั้น  นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า ทันทีที่ทราบมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ได้ให้ความเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นวาระแห่งชาตินั้น ผู้เลี้ยงสุกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ต่างยินดี เนื่องจากจะทำให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผลักดันเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้หากใช้กำลังเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์อย่างเดียวในการเฝ้าระวังโรค จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ  รัฐบาลสามารถบูรณาการหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ ช่วยกันดูแลตามแผนที่กำหนดไว้ได้ดียิ่งขึ้น

                ถือว่า มติครม. ดังกล่าวออกมาได้ทันสถานการณ์ หลังมีการระบาดของ ASF ที่ประเทศกัมพูชา ทางสมาคมฯ ได้ประสานกับผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ในกัมพูชาให้ควบคุมโรคโดยด่วนที่สุด เนื่องจากไทยส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาด้วย เมื่อใช้ยานพาหนะขนส่งเข้าไป โอกาสที่เชื้อโรคจะปนเปื้อนมาจึงเป็นไปได้ ขณะนี้จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างจุดฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามด่านชายแดน” นายสุรชัยกล่าว

Visitors: 398,112