ปศุสัตว์ขอครม.กรอบงบประมาณ 1,822 ล้านบาทพร้อมขออนุมัติถ้า ASF ระบาด เร่งขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยง

ปศุสัตว์ขอครม.กรอบงบประมาณ 1,822 ล้านบาทพร้อมขออนุมัติถ้า ASF ระบาด เร่งขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศด่วน

25 กุมภาพันธ์ 2562 กรมปศุสัตว์ – นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เรียกภาคการเลี้ยงสุกรประชุมด่วนเพื่อเร่งรัดแนวทางป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หลังโรคคืบคลานสู่เวียดนาม

          นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมร่วมกรมปศุสัตว์และเอกชนภาคการเลี้ยงสุกรเพื่อเร่งรัดแนวทางป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หลังโรคคืบคลานสู่เวียดนามเป็น 4 การระบาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานเพิ่มในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อีก 3 การระบาด หลังรายงาน 1 การระบาดแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ประกอบด้วย

  1. เขต Yên Định จังหวัด Thanh Hoa ( จังหวัดใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรก)
  2. เขต Ân Thi จังหวัด Hưng Yên
  3. เขต Đông Hưng จังหวัด Thái Bình

          โดยนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ได้รายงานที่ประชุมว่านำเรื่องวาระแห่งชาติถ้ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562 โดยประเมินความเสียหายถ้ามีการระบาดแบ่งเป็นประมาณการณ์ผลกระทบโดยตรง 60,000 ล้านบาท จากตัวเลขผลผลิตสุกรขุนทั้งปีที่ 22 ล้านตัว แม่พันธุ์ 1.1 ล้านตัว ประมาณการณ์ผลกระทบทางอ้อม 40,000 ล้านบาท โดยขอกรอบงบประมาณที่ความเสียหาย 30% ของผลกระทบโดยตรงที่จำนวน 1,822 ล้านบาท ซึ่งถ้ามีการระบาดจริงจะมีการขออนุมัติเป็นงบประมาณจริงต่อไป โดยเรื่องดังกล่าวได้ส่งต่อไปให้สํานักงบประมาณแผ่นดินพิจารณา เพื่อส่งกลับมาคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

          โดยตัวเลขการชดเชยยังต้องรอการพิจารณาสุดท้าย โดย ศาสตราจารย์.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ชดเชยกรณีเริ่มแรกที่ 120% ของราคาตลาด เพื่อป้องกันการปล่อยหมูป่วยสู่ตลาดซึ่งจะสร้างปัญหาที่แก้ยาก โดยเปรียบเทียบลักษณะที่เกิดระบาดในต่างประเทศจากความพยายามลดความสูญเสียโดยเกษตรกรเอง โดยตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 บัญญัติการชดเชยที่ 70% ของราคาตลาด

          นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ได้เสนอให้แต่ละจังหวัดตั้ง War room โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน เพราะแต่ละจังหวัดมีหอการค้าจังหวัดอยู่แล้ว โดยให้เกษตรกรร่วมมือเฝ้าระวังจุดเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดการระบาดตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จึงจะแก้ปัญหา ASF ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องดูแลผู้ประกอบการรายย่อยให้ดีเพราะจะเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดโรคมาก โดยฝากให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้ไปหารือกันต่อในเรื่องการระดมเงินเข้ากองทุน เพื่อกำหนดเงินพิเศษเพื่อจูงใจให้เกษตรกรแจ้งกรณีมีหมูติดเชื้อ

         นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กังวลอย่างยิ่งว่าถ้าไม่มีการกำหนดเงินชดเชย จะมีการขายทิ้งหมูป่วยสู่ตลาดซึ่งจะเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคให้สูงยิ่งขึ้น โดยรายย่อยตามตัวเลขกรมปศุสัตว์ 190,000 ราย จะต้องช่วยกันตรวจระดับความเสี่ยงของฟาร์มรายย่อยด้วยกันเอง ซึ่งจะเป็นการช่วยกันด้านอาชีพนี้ด้วยเพราะถ้ามีการระบาดกลุ่มนี้จะหายจากการเลี้ยงสุกรไป

          คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวว่าเรื่องนี้สมาคมฯ ไม่นิ่งนอนใจ การดำเนินการสร้างจุดทำความสะอาดและพ่นเชื้อทั้ง 5 ด่านกักกันสัตว์ได้ขออนุญาตไปแล้วทั้ง 5 ด่านโดยด่านหนองคายได้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว ยินดีให้การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์กับประเทศลาว

          ผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร กรมปศุสัตว์ ได้นำเสนอเรื่องการขึ้นทะเบียนฟาร์ม ที่เป็นอำนาจตามกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย

  1. ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
  2. กฎกระทรวงว่าด้วยระบบการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2561
  3. ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ.2560

 

โดยการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสุกรจะได้ประโยชน์หลักๆ 2 ประการ คือ 1) เป็นระบบควบคุมกรณีเกิดโรคระบาด และการจ่ายชดเชย 2) ได้ข้อมูลการเลี้ยงการผลิตเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ

โดยการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสุกรจะมีการพิจารณาพร้อมกับผลกระทบกรณีความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดกรณีมีการระบาดของ ASF ในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 นี้โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ท่านกฤษฎา บุญราช เป็นประธานการประชุมของคณะกรรมการ

 

Visitors: 398,108