10 ประเด็นหมูสหรัฐฯ ที่ภาครัฐและผู้เลี้ยงสุกรไทยต้องเคลียร์ เพื่อความเข้าใจตรงกันกับกติกาทั้งกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร

10 ประเด็นหมูสหรัฐฯ ที่ภาครัฐและผู้เลี้ยงสุกรไทยต้องเคลียร์ เพื่อความเข้าใจตรงกันกับกติกาทั้งกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร

By Wu Xing Fu Efeedlink, Singapore

 

          เรื่องราวสงครามการค้าสหรัฐ-จีน สร้างผลกระทบสินค้าปศุสัตว์และเกษตรของสหรัฐ และกับสินค้าจีนตามกลุ่มสินค้าที่ตอบโต้กัน ทั้งด้านการขึ้นอากรขาเข้าระหว่างกัน และผลเชิงการต่อต้านเชิงพลเมืองระหว่างกัน ปรากฏการดังกล่าวสร้างผลกระทบการค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรของสหรัฐอย่างมาก ส่งผลให้ NPPC ของสหรัฐจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการผลักดันการส่งออกไปยังเป้าหมายต่างๆ มากขึ้น

         

ปัญหาเรื่องสินค้าสุกรจากสหรัฐที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาดนั้นมีสารพัดปมที่ภาครัฐและเอกชนไทยต้องเคลียร์ปมเพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกันประกอบด้วย

  1. สหรัฐฯ ผลักดันให้ Codex กำหนดค่า MRL Ractopamine สำเร็จ สหรัฐฯ ผลักดันการเปิดตลาดสินค้าสุกรเข้าไทยตั้งแต่ปี 2556 เพราะสหรัฐฯ ได้มีการผลักดันการกำหนดค่า MRL ของ Ractopamine ที่ 10 ppb สำเร็จในการประชุม CODEX ครั้งที่ 35 ปี 2555 โดยคณะที่ร่วมประชุมฯ ฝ่ายไทยมีนายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เป็นหัวหน้าคณะวางตัวเป็นกลาง งดออกเสียงในการโหวต เท่ากับไทยยอมรับในมติ MRL ของ Ractopamine ซึ่งมติต่างๆ ของ CODEX ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการลงมติใน CODEX จะต้องเป็นฉันทามติก็ตาม (ต้องไม่มีเสียงคัดค้าน) แต่สหรัฐฯ ก็ผลักดันให้มีการโหวตให้ใช้วิธีออกเสียงจนถึงลงคะแนนรับมติ ซึ่งนานาประเทศสามารถขอคำสงวนได้ เช่น การขอบันทึกไม่เห็นด้วย หรือขอคำสงวนในการไม่แก้กฎหมาย แต่คณะผู้แทนจากไทยกลับวางตัวเป็นกลาง ค้านกับสภาพความจริง ที่กฎหมายภายในประเทศของไทยห้ามใช้ ห้ามปนเปื้อน
  2. กระทรวงพาณิชย์เดินตามกติกา CODEX เจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทยมีการประชุมร่วมไทย-สหรัฐฯ ที่เรียกว่า TIFA กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA) โดยมีการจัดตั้ง Joint Council (JC) เพื่อติดตามการดำเนินงานของความตกลง TIFA โดยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative - USTR) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย เรียกชื่อเต็มว่า TIFA JC ในการประชุมแต่ละครั้ง สหรัฐฯ จะติดตามความคืบหน้าการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกร ซึ่งหลังการประชุมฯ คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะมีการรายงานความคืบหน้าเรื่องวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการตกค้างของสารแรคโตพามีนในเนื้อและเครื่องในสุกร 
  3. กรมปศุสัตว์เดินหน้ากวาดล้างผู้ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในประเทศตามกฏหมายไทย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะคุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 และล่าสุด จะเป็นประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่ 11 มกราคม 2559 ข้อ (3) ห้ามใช้ยา เภสัชเคมี เกลือของเภสัชเคมีและเภสัชเคมีกึ่งสำเร็จรูป กลุ่ม Beta-agonist เป็นวัตถุเติมในอาหารสัตว์ ออกตามพระราชบัญญัติควบคุณคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ซึ่งกรมปศุสัตว์เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายรองฉบับนี้ก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที
  4. ผู้เลี้ยงสุกรไทยกังขาในประเด็นที่ไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารฯ แต่จะยอมเปิดตลาดนำเข้าหมูสหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งฯ เกิดอะไรขึ้น? ลักลั่นเหลือเกินกับเรื่องนี้ สื่อสาธารณะออกข่าวมาเสมอกับทุกครั้งที่เกิดแรงกดดันเรื่องเปิดตลาดเนื้อสุกรที่ใช้สารฯ จากสหรัฐฯ แต่กลับไม่เคยมาเคลียร์กันว่าอะไร? เป็นอะไร? ทำไม? อย่างไร?
  5. NPPC ร้องรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ตอบโต้กรณีไทยที่ไม่เปิดตลาดเนื้อสุกรให้สหรัฐฯ ถึงแม้เป็นคนละเรื่อง แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยค้านไม่ออก  การนำเข้าชิ้นส่วนสุกรโดยเฉพาะเครื่องในสุกรนั้น ประเทศไทยมีการนำเข้าในแต่ละปีมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดประมาณ 20,000 ตัน จากหลายประเทศ เช่น จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี เกาหลีใต้ เบลเยี่ยม โปแลนด์ บราซิล  ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมไม่เปิดตลาดให้สหรัฐฯ ปัจจุบันไทยนำเข้าเครื่องในมาจากประเทศที่ไม่มีการใช้สารฯ ทั้งสิ้น จากการที่สหรัฐฯ ได้แก้ปมของตัวเองตาม ข้อ 1 แล้ว นี่จึงเป็นสภาพความเป็นจริงที่ระดับการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐยึดถือตามแนวทางกติการะหว่างประเทศ
  6. กระทรวงพาณิชย์ และกรมปศุสัตว์ เดินตามบทบาทหน้าที่ ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์เสมือนยอมรับในประเด็น MRL ของ CODEX ในการประชุม CODEX เมื่อปี 2555 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพราะบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลการค้าทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ย่อมจะต้องถือกติกาทางการค้าเป็นสำคัญ

    ส่วนการใช้อำนาจตามประกาศกระทรวงที่เกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดงของกรมปศุสัตว์นั้น ตามระบบกฎหมายระหว่างประเทศของไทย ยึดถือระบบทวินิยม (Dualism) ที่ภาคีสมาชิกหลังรับมติแล้ว จะต้องดำเนินการแก้กฎหมายภายในประเทศก่อน นี่ก็เป็นอีกปมสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจให้สอดคล้อง เพื่อเดินไปทางเดียวกัน เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นๆ ก็ต้องถือปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดเสมอ  

  7. สหรัฐอเมริกาถือตามแนวทางกรอบการค้าโลก ถึงแม้ไทยกับสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันก็ตาม แต่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งก็จะต้องปฏิบัติระหว่างกันตามกรอบการค้าของ WTO เสมอกัน โดยมี 2 ข้อที่สหรัฐฯ มีข้อกังขาต่อการปฏิบัติของไทย

1)      การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (The Most Favoured Nation Treatment : MFN) หมายถึง การที่ประเทศคู่ค้าใดได้ประโยชน์จากคู่ค้า ก็ต้องให้ตอบแทนในลักษณะที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ถึงแม้ GSP ทางปฏิบัตินำมาเป็นข้อต่อรองการเจรจาการค้าไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติไทยคงไม่สามารถโต้แย้งประเด็นนี้กับสหรัฐ และต้องตอบแทนทางการค้าให้สหรัฐที่เป็นคู่ค้า จึงเกิดกรณี NPPC และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ หรือ คองเกรส ลงนามกดดันเรื่องนี้เช่นกัน

2)      หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination Principles) เพราะสหรัฐกล่าวอ้างเรื่องที่ไทยเปิดตลาดเครื่องในสุกรให้นานาประเทศ โดยปัจจุบันนำเข้า 5 ประเทศหลัก จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี นอกนั้นจะมี เกาหลีใต้ เบลเยียม โปแลนด์ บราซิล แต่กลับไม่เปิดตลาดเครื่องในสุกรให้สหรัฐ จึงเป็นที่มาของแรงกดดันต่างๆ โดยปัญหาที่สหรัฐมีการเลี้ยงสุกรโดยมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงนั้น ได้มีการแก้ปมนี้ไปแล้วตามข้อ 1 ซึ่งไทยไม่ได้ใช้สิทธิไม่เห็นด้วย หรือขอคำสงวนใดๆ ในลักษณะที่จะไม่แก้กฎหมายภายในของประเทศ

  1. ปัจจุบันเวียดนามและฟิลิปปินส์เปิดตลาดเนื้อและชิ้นส่วนสุกรให้สหรัฐแล้ว แต่ปัจจุบันราคาสุกรไม่ได้เลวร้าย   โดยราคาสุกรขุนล่าสุด 16 ตุลาคม 2561 ตามรายงานของเครือเวทโปรดักส์ เวียดนามมีราคาซื้อขายทั้งประเทศอยู่ที่ 65-75 บาท ฟิลิปปินส์มีราคาซื้อขายทั้งประเทศอยู่ที่ 84.50-85.15 บาท ในขณะที่ประเทศไทยมีราคาซื้อขายทั้งประเทศอยู่ที่ 63-67 บาท จะเห็นว่าราคาของประเทศไทยที่ยังไม่เปิดตลาดสุกรให้สหรัฐกลับมีราคาสุกรขุนในประเทศต่ำกว่า 2 ประเทศที่เคยกล่าวอ้างว่าประสบปัญหาหลังมีการเปิดตลาดให้สหรัฐ เป็นการบ้านที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องไปสืบค้นข้อเท็จจริง ศึกษาแนวทางรับมือของทั้ง 2 ประเทศเพื่อเป็นกรณีศึกษาเอาไว้เลย ก่อนที่สถานการณ์ที่กังวลจำเป็นต้องเกิดขึ้นจริง
  2. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) น่าจะต้องออกมาชี้แจงปม CODEX   เพราะหลังจากการประชุมอื้อฉาว ของ Codex Alimentarius Commission ครั้งที่ 35 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555 เรื่อง รับรองร่างมาตรฐานค่าปริมาณยาสัตว์ตกค้างสูงสุดสำหรับแรคโตพามีน (Ractopamine) โดยคณะที่ร่วมประชุมฝ่ายไทยทำการงดออกเสียงวางตัวเป็นกลาง เท่ากับไทยยอมรับมติ MRL ของ Ractopamine นั้น

          กล่าวได้ว่าผลของเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นปมปัญหาตั้งต้นของเรื่องการกดดันของสหรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งการปล่อยเวลาเนินนาน ใยแต่จะสร้างปัญหาบานปลายรุกลามกระทบต่อการค้าไทย-สหรัฐในสินค้าอื่น

10.  การฟ้องร้องการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าคณะในการประชุม CODEX ต้องนำมาเป็นข้อแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย  ในเรื่องนี้ภาคเอกชนโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ยื่นฟ้องร้องไป 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับการประชุมของ Codex Alimentarius Commission ครั้งที่ 35 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยยื่นฟ้อง(คดีเลขรับที่ 3432(ปปท วันที่ 25 ธันวาคม 2560)) หัวหน้าคณะผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น และฟ้อง ยื่นฟ้องสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ-มกอช (คดีหมายเลขดำที่ 2058/2560 วันที่ 26 ธันวาคม 2560)ศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ มกอช. ดำเนินการยื่น CODEX เพื่อ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการยื่นบันทึกความไม่เห็นชอบในการรับรองหรือตั้งข้อสงวน หรือดำเนินการคัดค้านข้อมติผลการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ [Codex Alimentarius Commission] ครั้งที่ 35 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555

         

ทั้ง 10 ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องทางการค้าที่ไทยยังไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อและชิ้นส่วนสุกรให้สหรัฐฯ ยังคงเป็นภูเขาไฟที่รอการระเบิด ซึ่งมีการปะทุออกมาเป็นระยะๆ โดยทั้ง 10 ประเด็น หวังให้ภาครัฐและเอกชนหันหน้าคุยให้ตรงประเด็นเท่านั้น

 

 

 

Visitors: 395,760