กองทุนวัคซีน หรือ “กองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย” พร้อมเดินหน้ากับยุทธศาสตร์สุกร 2561-2565 ของกรมปศุสัตว์
กองทุนวัคซีน หรือ “กองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย” พร้อมเดินหน้ากับยุทธศาสตร์สุกร 2561-2565 ของกรมปศุสัตว์
27 สิงหาคม 2561 กรมปศุสัตว์ - สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทยยื่นแผนพร้อมร่วมยุทธศาสตร์สุกร ปี 2561-2565 ของกรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เดินหน้าผลักดันกองทุนวัคซีน เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการปฏิรูประบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ
นายสัตวแพทย์นพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย เปิดแผนปฏิรูประบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบผ่านการจัดตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย ในที่ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาสุกร โดยเป็นการประชุมวาระหลัก เช่น การขอความร่วมมือคณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ การทำประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์สุกร ติดตามการแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ อัพเดทโครงการ Compartment การปฏิบัติการเฝ้าระวังของกรมปศุสัตว์ กับ ปัญหาการระบาดของ African Swine Fever ที่ประเทศจีน โดยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย เป็นวาระอื่นๆ ของภาคเอกชนภายใต้การสนับสนุนให้มีการผลักดันโครงการโดยกรมปศุสัตว์ เพื่อให้มีการทำงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สุกรปี 2561-2565
โดยรายละเอียดข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย มีดังต่อไปนี้
บันทึกหลักการและเหตุผล
โดยที่การเลี้ยงสุกรของไทย
- มีความสำคัญต่อสภาวะการด้านโภชนาการโปรตีนคุณภาพสูงราคาประหยัดต่อคุณภาพการ เติบโตทั้งทางร่างกายและสมองของประชากรชาติ
- เป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจที่บูรณการเป็นอย่างยิ่งต่อเกษตรกรรมแขนงอื่นๆ ที่เป็นพืชอาหารสัตว์ ถือเป็นอุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์เสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับปริมาณการผลิตสุกรที่เหมาะสมในแต่ละปีให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพื่อการรักษาเสถียรภาพระดับราคาสุกรมีชีวิต
- การวิจัยและการพัฒนาด้านสายพันธุ์ ประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ที่เป็นจำนวนลูกสุกรต่อแม่พันธุ์ต่อปีที่ส่งผลถึงต้นทุนการผลิต
- การดำเนินธุรกิจที่ไปในลักษณะไปด้วยกันกับผู้ประกอบการในทุกขนาดและการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เกษตรกรรายกลางถึงใหญ่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่เข้ามาควบคุมการขยายการผลิต ส่งผลร้ายต่อปริมาณสู่ตลาดโดยรวม โดยใช้ความสามารถเข้าสู่ตลาดได้ดีกว่ารายย่อย ส่งผลให้รายย่อยกับรับผลลบด้านราคาที่ลดลงตามแรงกดดันของอุปทานที่ขาดการบริหารจัดการ
- เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับความยุติธรรมด้านราคาที่สอดคล้องกับตลาดและคุณภาพสุกร กับ ผู้ค้า และผู้แปรรูปที่ต้องร่วมธุรกิจด้วยกันอย่างเอื้อเฝือเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เนื่องจากเกษตรรายย่อยจำนวนมากที่ยังไม่มีรวมตัว ขาดอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางทำให้ถูกกดราคาสุกรขุนหน้าฟาร์ม ในขณะที่ราคาลูกสุกรขุนไม่มีการกำหนดราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกอัตรากำไรที่เหมาะสม ทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่มีความยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นการเลี้ยง
จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า และผู้แปรรูป จำเป็นต้องให้มีองค์กรกลางรับผิดชอบ ดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสุกรของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร มีเอกภาพ สามารถดำเนินการไปได้อย่างอิสระ คล่องตัว โดยมีผลผลิตโปรตีนหลักของประเทศที่มีคุณภาพที่สอดคล้องมาตรฐานอาหารปลอดภัยของประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดทั้งผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ สมควรจัดตั้งกองทุนเพื่อการดูแลอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบขึ้น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนากิจการเกี่ยวกับการเลี้ยงสุกรและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรของประเทศ จึงจำเป็นต้องการจัดตั้งกองทุนภายใต้ชื่อ “กองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย”
การจัดตั้งกองทุนภายใต้ชื่อ “กองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย” ขึ้นมาเพื่อเป็นทุนระยะยาวในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาการค้าสุกรทั้งระบบ โดยมีแผนการทำงานรองรับที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการก่อนจะมีการจัดตั้งกองทุนภายใต้พระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกร ที่อยู่ในขั้นตอนดำเนินการผลักดันของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน
การจัดตั้งกองทุนภายใต้ชื่อ “กองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย” มีวัตถุประสงค์โดยยึดถือตามแนววัตถุประสงค์ในร่าง “พระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกร” ที่อยู่ระหว่างการผลักดัน เช่นกัน ดังนี้
- ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขึ้นทะเบียนฟาร์มโดยยึดถือแนวกฎกระทรวงออกตามมาตรา 5 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
- รวบรวมตัวเลขสถิติต่างๆ จากแต่ละผู้ประกอบการ แต่ละสหกรณ์ จากปริมาณสุกรพันธุ์ ปริมาณผลผลิตลูกสุกรพันธุ์ สุกรขุน ในปีที่ผ่านมา ปีปัจจุบัน เพื่อประเมินปริมาณการผลิตในปีต่อไป จัดสรรปริมาณการผลิตให้ยุติธรรม ตามร้อยละของการเพิ่มในแต่ละปี และจำนวนผลผลิตฐานเดิมโดยไม่ให้ขัดกับกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ดูแลพื้นที่การทำตลาดไม่ให้มีการแข่งขันในลักษณะตัดราคา หรือมีการใช้อำนาจเหนือตลาด โดยประสานเรื่องการค้ากับกระทรวงพาณิชย์
- ศึกษา วิจัย พัฒนาโภชนาการอาหารจากเนื้อสุกร และ ส่งเสริมการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาการเลี้ยงสุกร การร่วมเปิดตลาดทั้งในและต่างประเทศกับภาครัฐและองค์กรหน่วยงานต่างๆ การแปรรูปเนื้อสุกร และถนอมผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร
- รักษาเสถียรภาพของราคาสุกรและเนื้อสุกร เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า โดยไม่ใช้วิธีชดเชยราคาหรือการอุดหนุนราคาที่บิดเบือนไปจากราคาที่แท้จริง
- ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า ด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การปรับปรุงคุณภาพการผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกร และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ดีขึ้น
- การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน อีกทั้งรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
- การใช้จ่ายเงินกองทุนให้กระทำอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้บริโภค และประเทศชาติเป็นหลัก
คณะกรรมการพัฒนาธุรกิจสุกรไทย
กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรไทย แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย” ประกอบด้วย
- นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทยเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง โดยผู้จัดการสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทยทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ
- ผู้นำองค์กรหรือผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรในแต่ละภาคประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ภาคละ 1 ท่าน
- ตัวแทนจากภาคบริษัทๆ ละ 1 ท่าน
- ตัวแทนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามที่เหตุสมควร
หน้าที่ผู้บริหารกองทุนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ทำรายงานผลการดำเนินงานเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี รายงานความเคลื่อนไหวการสบทบกองทุน การใช้จ่าย และยอดคงเหลือเป็นรายเดือน
- ปฏิบัติงานธุรการ และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนฯ
- รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงสุกร และการใช้ผลผลิตเนื้อสุกร
- จัดทำแผนการผลิตสุกร การชำแหละเนื้อสุกร เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุกร
- จัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุกร
- วิจัยและพัฒนาการผลิตและการใช้ประโยชน์จากสุกร
- ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายสุกรตลอดจนสภาวะการตลาดของสุกรทั้งในและนอกอาณาจักร
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
- ส่งเสริมและสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตและระบบตลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า
- ส่งเสริมและจัดให้มีการพัฒนาบุคลากรและการบริหารจัดการเกี่ยวกับสุกร
- ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน องค์การต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
- จัดกิจกรรมอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ
การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน เกณฑ์การจัดเก็บและวิธีการ
นายสัตวแพทย์นพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย ได้กล่าวในที่ประชุมกรมปศุสัตว์เมื่อจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561 ถึงแนวทางที่จะรับการสมทบเข้ากองทุนฯ จะเป็นการขอสมทบจากจำนวนการซื้อวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยจากกรมปศุสัตว์โด๊สละ 1 บาท โดยแผนการบริหารกองทุนโดยละเอียดจะจัดทำอย่างละเอียด เพื่อเสนอสมาชิกฟาร์มขนาดใหญ่จนถึงขนาดกลางของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 50 อันดับแรก โดยการทำงานจะมีสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลจนถึงทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการทำงานที่ต่างจากที่เคยปฏิบัติ คือ จะเป็นการทำงานสอดผสานกับยุทธศาสตร์สุกร ปี 2651-2565 ของกรมปศุสัตว์ที่อยู่ระหว่างการขอความเห็นเพิ่มเติมจากผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศเพื่อความสมบูรณ์ที่สุดที่จะนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันกับแนวทางการบริหารกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทยเพื่อผลประโยชน์ที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมสุกรและที่เกี่ยวข้อง