ทีมปกป้องผู้เลี้ยงหมูเปิดเกมส์รุกจี้อย.ยกเลิกทะเบียนยาผสมแรคโตพามีนโดยด่วน

ทีมปกป้องผู้เลี้ยงหมูเปิดเกมส์รุกจี้อย.ยกเลิกทะเบียนยาผสมแรคโตพามีนโดยด่วน

7 พฤษภาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ – คณะกรรมการกฎหมายสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรับลูกที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยื่นหนังสือด่วนถึงสำนักงานอาหารและยา ให้ยกเลิกทะเบียนยากับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเวชภัณฑ์ยาแห่งหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติปรับสภาพซากสุกรที่มีส่วนผสมของสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มแรคโตพามีน 

          จากมติที่ประชุมของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเมื่อ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันจุดยืนไม่มีการใช้แรคโตพามีนและสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ตามบัญญัติห้ามของกฎหมายเพื่อนโยบายอาหารปลอดภัยของชาติ จึงมีมติเห็นชอบร่วมกันให้คณะกรรมการกฎหมายของสมาคมทำหนังสือยื่นขอให้คณะกรรมการอาหารปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด โดยขอให้ยกเลิกทะเบียนยาผลิตภัณฑ์ของบริษัทเวชภัณฑ์ยาแห่งหนึ่ง ที่มีส่วนผสมของสารแรคโตพามีน ที่เป็นสารเร่งเนื้อแดงจากผู้ผลิตสัญชาติอเมริกัน เพื่อความสอดคล้องและชัดเจนกับกฎหมาย

          กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายในระดับประกาศกระทรวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นําเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ คุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นสวนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ. 2545 ในข้อ 3 ที่ห้ามใช้ยา เภสัชเคมีภัณฑ์และเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (β-Agonist)  เป็นวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 9 สิงหาคม 2545

ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่  269) พ.ศ. 2546 เรื่อง  มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์  โดยประกาศมีการระบุถึงสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ซึ่งช่วยในการขยายหลอดลม แก้อาการหอบหืดในมนุษย์ ไปใช้ในวงจรการผลิตอาหารอันเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เพื่อลดไขมันและ เพิ่มปริมาณ เนื้อแดงในสุกร เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์  โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์  (β-Agonist) และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) ของสาร  (β-Agonist)

          ปรากฏว่าสารแรคโตพามีน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ยังบรรจุอยู่ในทะเบียนยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากบริษัทผู้ผลิตสัญชาติอเมริกัน ซึ่งไม่สอดคล้อง กับ การไม่อนุญาตให้นําเข้าเพื่อขาย และ กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์จากสารดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งจะขัดกับกฎหมายจากประกาศกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ในขณะที่หน่วยงานราชการผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง แต่กลับปรากฏว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการอนุมัติขึ้นทะเบียนยากับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแรคโตพามีนดังกล่าว ซึ่งเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

         หนังสือดังกล่าวจะยื่นตรงถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อย. ในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561 เพื่อมิให้มีการเลื่อมล้ำทางกฎหมาย และมิให้ขัดต่อกฎหมายที่เข้มงวดกวาดล้างเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ฝ่าฝืน แต่กลับมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมผิดกฎหมายได้รับการขึ้นทะเบียนยาชนิดที่เป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งถ้าหลังการยื่นถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ จะมีการยื่นบังคับในกระบวนการทางศาลต่อไป

 

 
 

Visitors: 397,121