ข้าวโพด VS โรงงานอาหารสัตว์ กับ Handicap 831 ที่บอร์ดข้าวโพดต้องทบทวน

ข้าวโพด VS โรงงานอาหารสัตว์ กับ Handicap 831 ที่บอร์ดข้าวโพดต้องทบทวน

19 เมษายน 2561 กระทรวงพาณิชย์ – บอร์ดข้าวโพดเตรียมทบทวนมาตรการปัจจุบันที่ต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วนจึงจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน เพื่อผ่อนคลายเปิดให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เพิ่มการนำเข้าข้าวสาลีแก้ปัญหาผลผลิตข้าวโพดไม่เพียงพอ  ก่อนหน้าที่ขอให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ทั้ง 2 มาตรการส่งผลราคาข้าวโพดในประเทศทะยานสวนทางราคาสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ที่เกษตรกรภาคปศุสัตว์ต่างต้องต่อสู้กันเองกับสารพัดวิกฤตราคา และต้นทุนข้าวโพดอาหารสัตว์

ช่วงตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน จะเห็นข่าวการเคลื่อนไหวของเกษตรกรภาคปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ การรณรงค์ส่งเสริมการบริโภค การลดปริมาณการผลิต การตัดวงจรการผลิต หรือแม้แต่การลดแม่พันธุ์ไก่ไข่ แม่พันธุ์สุกรโดยวิธีธรรมชาติ ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะราคาข้าวโพดปัจจุบันทะยานสูงสุด 10.80 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางราคาสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ที่เกษตรกรภาคปศุสัตว์ต่างต้องต่อสู้กันเองกับสารพัดวิกฤตราคา

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือกับกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อข้าวโพดขั้นต่ำที่กิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งข้าวโพด อาหารสัตว์ แม้แต่สุกรและเนื้อสุกร ต่างเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตั้งแต่ฉบับที่ 1/2559 1/2560 และ 1/2561 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

การเข้าไปควบคุมผ่านนโยบายของกรมการค้าภายในกับสินค้าต่างๆ ที่อยู่ในประกาศถือว่าเป็นทางปกติของการกำกับดูแลกลุ่มสินค้าควบคุม แต่ลักษณะของสินค้าที่เป็นห่วงโซ่อุปทานต่อๆ กัน คงจะต้องพิจารณาในเรื่องของการเฉลี่ยประโยชน์โภชผลกันอย่างเสมอภาค ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาระหว่าง กลุ่มเกษตรกร พ่อค้าข้าวโพด กับ กลุ่มโรงงานอาหารเท่านั้น ถ้านับข้าวโพดและโรงงานอาหารสัตว์เป็นต้นน้ำ กับ กลางน้ำ เพราะห่วงโซ่อุปทานปลายน้ำอย่างเกษตรกรภาคปศุสัตว์กำลังแบกภาระราคาข้าวโพดที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีสยามประเทศ สาเหตุจากผลพวงที่เป็นปัญหาที่กำลังจะกลายเป็นมหากาพย์ของกลุ่มต้นน้ำกับกลางน้ำ อย่างปัญหาข้าวโพด ข้าวสาลี กับ กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์

มาตรการที่กลุ่มข้าวโพดได้รับคือ กรมการค้าภายในขอความร่วมมือกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในราคาขั้นต่ำ 8 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีมาตรการ 3 ต่อ 1 คือซื้อข้าวโพด 3 ส่วนจึงจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน ในขณะที่ผลผลิตเข้าโพดปีนี้ตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ที่ 4.4 ล้านตัน แต่ความต้องการข้าวโพด (อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต) ของธุรกิจอาหารสัตว์อยู่ที่ 8.2 ล้านตัน จากประมาณการปริมาณความต้องการอาหารสัตว์รวมทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำทั้งประเทศปีนี้ที่ 20 ล้านตัน

เทียบมาตรการของกรมการค้าภายในที่ใช้กับกลุ่มอาหารสัตว์ คือ เพดานอาหารสัตว์ที่ควบคุมที่ปรับล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2555 และใช้เป็นราคา Price List มาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นจาก 2 มาตรการทั้งที่เป็นปัจจัยบวกของกลุ่มข้าวโพด

ตลอด 6 เดือนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนจากปัญหาสุกรล้นตลาดไปแล้วร่วม 10,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นของราคาข้าวโพดเทียบจากราคา 8 บาทกับราคาที่เพิ่มขึ้นตลอด 4 เดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึง มีนาคม 2561 เป็นจำนวนสะสมแล้วประมาณ 800-900 ล้านบาท หรือคิดต้นทุนข้าวโพดปัจจุบันที่ราคา 10.80 บาทต่อกิโลกรัม ผู้เลี้ยงสุกรไทยจะต้องจ่ายส่วนเพิ่มราคาข้าวโพดดังกล่าวจากจำนวนสุกรที่ออกสู่ตลาด 40,000 ตัวต่อวัน ให้กับกลุ่มข้าวโพดเฉลี่ย 8 ล้านบาทต่อวันเลย สำหรับการขอมาตรการช่วยราคาขั้นต่ำเพื่อเป็นเครื่องมือลดความเสียหายยามราคาสุกรขุนตกต่ำเช่นเดียวกับที่กลุ่มข้าวโพดได้รับ ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติพยายามผลักดันมากว่า 3 เดือน ล่าสุดเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Pig Board เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บอร์ดข้าวโพด หรือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) จะร่วมกันพิจารณาให้รอบด้าน เพราะห่วงโซ่อุปานทานปลายน้ำ คือ กลุ่มปศุสัตว์รอเห็นความยุติธรรมของมาตรการแก้ปัญหาข้างต้น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของกลุ่มข้าวโพด กับ โรงงานอาหารสัตว์เท่านั้น

Visitors: 397,142