พาณิชย์ตอบ พ.ร.บ.สินค้าและบริการไม่สามารถนำมาใช้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำสุกรขุนได้

พาณิชย์ตอบ พ.ร.บ.สินค้าและบริการไม่สามารถนำมาใช้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำสุกรขุนได้

20 กุมภาพันธ์ 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ – กระทรวงพาณิชย์ไม่ตอบรับข้อเสนอผู้เลี้ยงสุกรที่ให้ใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มากำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อสุกรขุน และกำหนดราคาเนื้อสุกรให้สอดคล้อง โดยให้ใช้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อลดความสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่แบกภาระมาร่วม 4 เดือน

ภาวะการณ์ขาดทุนจากราคาสุกรขุนตกต่ำที่ดำเนินมากว่า 4 เดือน ที่เกษตรกรขาดทุนเฉลี่ย 1,500-2,000 บาทต่อตัว ซึ่งสามารถประเมินได้เป็นตัวเลขความเสียหายทั้งระบบประมาณ 8,400 ล้านถึง 11,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวเลขขาดทุนและหนี้สินเกษตรกรผู้เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งระบบ ที่ภาครัฐต้องตระหนักรู้มากกว่านี้ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการผลักดันและสนับสนุนให้ตัดวงจรการผลิตโดยที่ได้ดำเนินการแล้ว คือ นำลูกสุกร 100,000 ตัวมาทำเป็นหมูหัน ส่วนกรมการค้าภายในยังไม่มีท่าทีใดเลย ทั้งๆ ที่ทุกหน่วยงานทราบถึงต้นทุนสุกรขุนดีว่าอยู่ในช่วงประมาณ 55-60 บาทต่อกิโลกรัม

ตามข้อเสนอของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ผลักดันโดยคณะกรรมการกฎหมายของสมาคมฯ  กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในตอบกลับมาเพียงว่าได้มีการสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศกำกับดูแลการขายเนื้อสุกรในพื้นที่ว่าให้สะท้อนราคาสุกรขุน 

กระทรวงพาณิชย์แจ้งเพิ่มเติมว่า อำนาจตาม พ.ร.บ.สินค้าและบริการไม่สามารถนำมาใช้กำหนดราคาขั้นต่ำสุกรขุนได้ ทั้งๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้กับอุตสาหกรรมสุกรในปี 2554 ช่วงที่ราคาสุกรขุนปรับตัวขึ้นตามปริมาณการออกสู่ตลาดที่ลดลงจากปัญหาผลกระทบจากภาวะโรคระบาด โดยกำหนดเพดานไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปต่างประเทศ(ประเทศรอบบ้าน)  

จากสภาวะที่ผิดปกติที่หนังสือข้อเสนอของสมาคมฯ ยื่นเสนอ กับ คำตอบที่ได้รับ เทียบกับในทางปฏิบัติจะมีเพียงแต่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่เท่านั้นที่สะท้อนราคาสุกรขุน ซึ่งสภาวะแบบนี้ทำให้ปัญหา 2 ตลาดที่เกิดการได้กำไรส่วนเกินที่มากกว่าปกติในตลาดชุมชน กับราคาที่ถูกกว่าราคาตามโครงสร้างต้นทุนในร้านค้าสมัยใหม่ คือ จำนวนที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากราคาที่ต่ำเกินปกติ

ทั้งกำไรส่วนเกินที่พ่อค้าคนกลางได้มากกว่าปกติจากราคาเนื้อสุกรในตลาดชุมชน กับ ราคาที่ประหยัดได้ของผู้บริโภคจากการจับจ่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เมื่อรวมแล้วจะเป็นตัวเลขเดียวกับผลขาดทุนและสภาวะหนี้สินเกษตรกรผู้เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น คือ 8,400 ล้านถึง 11,200 ล้านบาท สำหรับช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา

ในวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์นี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะมีการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ตามวาระปกติ จะมีการหารือเพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤตราคาสุกรในครั้งนี้ ก่อนที่ปัญหาหนี้สินเกษตรกรจะขยายวงไปมากกว่านี้

Visitors: 395,651