"ทรัมป์"ส่งทีมไล่บี้ส่งออกไทย จี้รับมือเจรจาเอฟทีเอ"ไทย-สหรัฐ"

"ทรัมป์"ส่งทีมไล่บี้ส่งออกไทย จี้รับมือเจรจาเอฟทีเอ"ไทย-สหรัฐ"

7 กุมภาพันธ์ 2560 จับตาไทยถกผู้แทนการค้าสหรัฐ USTR นัดแรก หลัง "ทรัมป์" รับตำแหน่ง ประเดิมเวทีความตกลงการค้า-ลงทุน TIFA หารือปมร้อนมาตรา 301 PWL หวั่นสหรัฐงัดประเด็นคุ้มครองแรงงานกดดันให้สิทธิพิเศษ GSP ด้านอัครราชทูตพาณิชย์ไทยประจำวอชิงตัน ฟันธงระยะแรกส่งออกไทยได้ประโยชน์ แต่ระยะกลางคู่ค้าไทยในตะวันออกกลางถูกสหรัฐทุบราคาน้ำมันจนกำลังซื้อหด สุดท้ายการเมืองภายในบี้เงินดอลลาร์ เร่งรัฐบาลรับมือเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ

ทพ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการคาดการณ์ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า จะเกิดผลกระทบกับประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะเร่งด่วนช่วง 1-2 ปีแรก ปีที่ 3 และช่วงปีที่ 4 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ-การเมืองแตกต่างไปจากสมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามาเป็นอย่างมาก

ด่านแรก ม.301 - GSP แรงงาน

สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็คือการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ(TIFA)ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดในเดือนเมษายน 2560 เบื้องต้นคาดว่าสหรัฐจะสอบถามและประเมินการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของฝ่ายไทย ว่าเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่วางเอาไว้หรือไม่ โดยสหรัฐจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าสหรัฐตามกฎหมายการค้าพิเศษมาตรา 301 (Special 301) ก่อนที่จะประกาศผลการตัดสินในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกสหรัฐจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ Priority Watch List (PWL) ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 9 และจะขึ้นเป็นปีที่ 10 ในปีนี้ โดยกฎหมายการค้าฉบับนี้ได้ให้อำนาจสหรัฐประกาศตอบโต้ทางการค้าได้กรณีที่ประเทศนั้น ๆ ถูกจัดลำดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่พร้อมจะถูกตอบโต้เป็นอันดับแรก หรือ Priority Foreign Countries (PFC) ซึ่งประเทศไทยเคยถูกจัดลำดับอยู่ในกลุ่ม PFC ในปี 2535 กรณีการไม่คุ้มครองสิทธิบัตรยา-การละเมิดลิขสิทธิ์อย่างกว้างขวาง แต่ได้มีการเจรจาและแก้ไขกฎหมายจนกระทั่งถูกลดชั้นมาอยู่ในกลุ่ม WL ถึง PWL ตามลำดับ

สำหรับแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ล่าสุดสหรัฐเห็นว่าไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการละเมิดทั้งซอฟต์แวร์-อินเทอร์เน็ต-การปลอมเครื่องหมายการค้า-การขโมยสัญญาณเคเบิล/ดาวเทียมส่วนการแก้ไขกฎหมายในส่วนพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ภาคเอกชนสหรัฐยังเห็นว่ามีข้อบกพร่องอยู่รวมไปถึงการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย

"ประเทศไทยมีโอกาสการปรับลดสถานะ PWL ลง จากการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งยังมีคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ชุดรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง แต่หากเรายังติดอยู่ในสถานะ PWL ต่อไปเป็นปีที่ 10 ก็มีโอกาสที่สหรัฐอาจจะใช้มาตรการทางการค้าได้ แม้ว่าที่ผ่านมาในอดีตสหรัฐไม่เคยหยิบยกมาตรการตอบโต้ทางการค้ามาใช้จริง แต่หลักการนี้ก็ยังมีอยู่ในกฎหมาย" ทพ.ประโยชน์กล่าว

นอกจากนี้สหรัฐอาจจะมีการติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความคุ้มครองและสวัสดิภาพแรงงานต่างด้าวตามข้อร้องเรียนของสหภาพแรงงานสหรัฐด้วยการขอให้ฝ่ายไทยแก้กฎหมายแรงงานซึ่งสำนักงานได้มีการหารือในข้อกังวลนี้กับปลัดกระทรวงแรงงานแล้วและทางกระทรวงแรงงานรับที่จะนำไปพิจารณาในคณะกรรมการไตรภาคีต่อไป

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาสหภาพแรงงานสหรัฐเคยเรียกร้องให้ตัดสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร(GSP)ที่สหรัฐให้กับไทยในปัญหาการคุ้มครองแรงงานมาแล้ว โดยในปีนี้ฝ่ายไทยเตรียมเสนอให้สหรัฐพิจารณาให้สิทธิพิเศษ GSP สินค้าเครื่องเดินทาง เนื่องจากสหรัฐมีการนำเข้าสินค้ารายการนี้คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญ โดย 60% เป็นการนำเข้าจากจีน 10% จากเวียดนาม และ ไทยเพียง 1% ในมูลค่าประมาณ 90 ล้านบาท/ปี ดังนั้นหากไทยได้รับ GSP ในรายการนี้ (เสียภาษี 0%) ก็จะช่วยขยายตลาดส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น

"มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐจะหารือถึงประเด็นที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนตามที่ระบุไว้ในรายงาน National Trade Estimate (NTE) เมื่อปี 2559 อาทิ การใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสุกร และการขึ้นภาษีสินค้าบางรายการด้วย

เลิก TPP ส่งออกไทยได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ได้วิเคราะห์ผลกระทบการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อประเทศไทยไว้ 3 ระยะ ในช่วงเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง คือระยะสั้นช่วง 1-2 ปีแรก ระยะกลางในปีที่ 3 และระยะยาวในปีที่ 4

โดยระยะสั้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากโยบายทรัมป์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การยกเลิกการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และหวนกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีแทน จะส่งผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าของ 12 ประเทศสมาชิก TPP ได้ 2) การดำเนินนโยบายกดดันจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐอาจยกประเด็นที่เคยเป็นข้อพิพาทกับจีน เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การแกะรอยทางการค้า, การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนอ่อนค่าจนทำให้สินค้าจีนได้ประโยชน์ และข้อพิพาททะเลจีนใต้ มาเป็นเหตุผลในการใช้มาตรการทางการค้ากับจีน และ 3) นโยบายการดึงเงินลงทุนกลับสหรัฐ จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและกำลังซื้อฟื้นขึ้น

"ในประเด็นค่าเงินต้องติดตามต่อไปว่า สหรัฐจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำเนินการผ่านกลไกขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอให้พิจารณามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างไร ในประเด็นนี้มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐจะปรับขึ้นภาษีได้สูงเพราะจีนจัดเป็นประเทศ Non-Market Economy คือ มักจะไม่ใช้กลไกตลาดในการกำหนดราคา ซึ่งตามหลักแล้วจะมีโทษสูงกว่า หรือภาครัฐ/เอกชนสหรัฐอาจร้องให้รัฐบาลสหรัฐพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping หรือ AD) สินค้าจีนก็เป็นได้" ทพ.ประโยชน์ อัครราชทูตพาณิชย์ไทยประจำวอชิงตัน ดี.ซี.กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายแรกของรัฐบาลทรัมป์ก็คือ การฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวได้ 4% จากปัจจุบัน 2% ในประเด็นนี้จะเห็นว่า ประธานาธิบดีเดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ทันที เริ่มจากการยกเลิกข้อตกลง TPP ซึ่งเป็นคุณูปการกับไทย ทำให้เวียดนามไม่ได้มีแต้มต่อในการแข่งขันกับสินค้าไทยภายใต้ TPP ต่อไป ตามด้วยการดำเนินการกับประเทศที่สหรัฐเสียเปรียบทางการค้า ตามรายการสินค้าที่สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้าสูงจาก 4 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน สหรัฐนำเข้าสินค้าในสัดส่วน 20% หรือปีละ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่สหรัฐส่งออกไปจีนได้เพียง 500,000 เหรียญสหรัฐ "เท่ากับขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมาก" รวมไปถึงการรื้อฟื้นขอเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่ ซึ่งจะมีผลกับประเทศเม็กซิโก ในฐานะแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 2 ของสหรัฐในสัดส่วน 13% และแคนาดาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มีสัดส่วน 13%

"ประเทศไทยไม่อยู่ในเป้าหมายการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ เพราะไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 18 มีสัดส่วนเพียง 1.3% รองจาก เวียดนามที่มีสัดส่วน 1.8% ดังนั้นหากสหรัฐใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าจีน จะทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น มีผลทำให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ถือว่ากำลังซื้อของสหรัฐจะฟื้นและมีผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 1-2 ปีแรก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น กุ้ง ข้าว อาหารสำเร็จรูป และสินค้ากึ่งวัตถุดิบที่ไทยผลิตป้อนให้กับโรงงานในสหรัฐ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งให้กับโรงงานญี่ปุ่นในสหรัฐ" ทพ.ประโยชน์กล่าว

กดดันราคาน้ำมัน เสถียรภาพเงินดอลลาร์

ระยะที่ 2 ช่วงปีที่ 3 อาจจะเกิดผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้ามากเกินไป ส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกซบเซาลง เศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับผลจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานและการฟื้นฟูแหล่งผลิตน้ำมันเชลล์ออยล์ จะทำให้ปริมาณซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจจะปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบทางอ้อมกับประเทศผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย กลุ่มตะวันออกกลาง เป็นต้น

ส่วนระยะ 3 ในปีที่ 4 นั้น ทพ.ประโยชน์ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์มีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ อาจจะทำให้บทบาทความเป็นตำรวจโลกของสหรัฐลดลง มีผลเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อมั่นต่อสหรัฐและกระทบกับเสถียรภาพเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐว่า "จะเป็นอย่างไรต่อไป" อีกทั้งต้องจับตามองปฏิกิริยาการตอบโต้จากรัฐบาลจีนว่า "จะดำเนินการอย่างไร" หากสหรัฐใช้มาตรการทางการค้า (Protectionism) กับสินค้าจีนมากขึ้น อาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประชาชนตกงาน นำไปสู่ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศได้

FTA ไทย-สหรัฐเกิดแน่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมการรับมือกับนโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ก็คือ 1) ไทยต้องเตรียมท่าที "จุดยืน" ที่ชัดเจนว่า หากมีการฟื้นการเจรจาทวิภาคีเปิดการค้าเสรี FTA ไทย-สหรัฐแล้ว "ฝ่ายไทยจะรับได้หรือไม่" หากจะต้องเปิดการเจรจากับสหรัฐเพียงประเทศเดียว แต่ต้องยกระดับมาตรฐานการเจรจาให้เทียบเท่ากับความตกลง TPP และ 2) ไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ ๆ ของสหรัฐที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกกฎหมายใหม่ ๆ หากไทยสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานเหล่านี้ก็จะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐได้ แต่หากปรับตัวไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยอย่างมาก

"ขณะนี้มีคำกล่าวของนายปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อำนวยการสภาการค้าแห่งทำเนียบขาว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ระบุว่า การยกเลิก TPP อาจทำให้จีนมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ดังนั้นสหรัฐควรหันมาเจรจาความตกลง FTA กับประเทศญี่ปุ่น-สิงคโปร์-มาเลเซีย และไทย ซึ่งหากเป็นดังที่กล่าวจริงเท่ากับว่า ประเทศไทยอยู่ใน List ที่สหรัฐต้องการเจรจา FTA ด้วยแล้วไทยจะรับได้หรือไม่ หากต้องเจรจากับสหรัฐในมาตรฐานเดียวกับการเจรจา TPP" อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ตั้งข้อสังเกตไว้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 6-8 กุมภาพันธ์ 2560

Visitors: 424,260