สร้างมูลค่าเพิ่มให้มูลสุกร
สร้างมูลค่าเพิ่มให้มูลสุกร
โดย : สุกัญญา จัตตุพรงษ์
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ แก้ปัญหากลิ่นมูลสุกรที่เป็นมลภาวะรบกวนชุมชนในบริเวณใกล้เคียงฟาร์มสุกรส่วนใหญ่ และให้นำน้ำมูลสุกรและน้ำล้างคอกไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ปลูกพืช ”
มูลสุกรและน้ำล้างคอกสุกรยังคงเป็นปัญหาของฟาร์มสุกรหลายแห่งในหลายจังหวัด แต่สำหรับจังหวัดนครปฐมซึ่งเดิมขึ้นชื่อลือชาเรื่องกลิ่นของมูลสุกรมาก ใครเดินทางผ่านจังหวัดนครปฐมต้องได้กลิ่นกันทุกคน แต่มาบัดนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะแทบไม่มีมูลสุกรเหลือไว้ในฟาร์มให้เหม็นรบกวนชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงและผู้สัญจรผ่านไปมาอีกต่อไป เนื่องจาก
ฟาร์มส่วนใหญ่นำมูลสุกรและน้ำล้างคอกเข้าสู่ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในฟาร์ม ส่วนกากที่เหลือนำมาตากแห้งแล้วจำหน่ายเป็นปุ๋ยทางดินได้เป็นอย่างดี สำหรับน้ำที่เหลือจากการบำบัดในระบบก๊าซชีวภาพก็มีกลิ่นน้อยลงมาก และสามารถนำไปใช้รดแทนน้ำหรือเจือจางแล้วฉีดพ่นทางใบให้พืชได้ทุกชนิด
ทำให้แทบจะไม่ต้องใช้ปุ๋ยอื่นเลยในบางพืช หรือบางพืชอาจต้องการปุ๋ยอื่นเพิ่มเติมอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนฟาร์มสุกรที่มีขนาดเล็กและไม่สามารถทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพได้ ก็ใช้วิธีเก็บรวบรวมมูลสุกรนำมาตากแห้งแล้วขายให้กับผู้ปลูกพืชซึ่งขณะนี้เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากจนมีไม่เพียงพอกับการจำหน่าย หรือบางฟาร์มไม่สะดวกที่จะตากก็จะเก็บรวบรวมมูลสุกรสดทุกวันนำไปเลี้ยงปลาของตนเอง หรือจำหน่ายให้กับฟาร์มเลี้ยงปลาทั่วไป ดังนั้นแทบทุกฟาร์มจึงไม่ค่อยมีมูลสุกรที่จะปล่อยทิ้งสะสม ให้เกิดกลิ่นรบกวนดังกล่าวอีกต่อไป
สำหรับสาเหตุที่มูลสุกรและน้ำล้างคอกจากฟาร์มสุกรเป็นที่ยอมรับและนิยมนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืชชนิดต่างๆ มากขึ้นโดยลำดับขึ้น เนื่องจากมีผลงานวิจัยและผลการทดสอบในภาคสนามจากสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ ร่วมกับภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน และสาขาวิชาพฤกษ์เศรษฐกิจ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยเริ่มต้นดำเนินงานอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ.2549 ผู้วิจัยได้โจทย์มาจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ท่านประสาท พงษ์ศิวาภัย ต้องการแก้ปัญหากลิ่นมูลสุกรที่เป็นมลภาวะรบกวนชุมชนในบริเวณใกล้เคียงฟาร์มสุกรส่วนใหญ่ และให้นำน้ำมูลสุกรและน้ำล้างคอกไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ปลูกพืช เนื่องจากนครปฐมมีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากมายหลายชนิด ทั้งข้าว อ้อย ไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก หากทำได้ก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตามการนำมูลสุกรสดและน้ำล้างคอกไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืช อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติกับเกษตรกรในหลายด้าน อาทิ กลิ่นเหม็นของมูลสุกรที่ผู้ปลูกพืชบางคนอาจไม่คุ้นเคย การหาซื้อจากฟาร์มโดยตรง และการขนส่งในระยะทางไกล รวมทั้งปริมาณที่ต้องใช้หากเกษตรกรปลูกพืชจำนวนมาก ดังนั้น ทางผู้วิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาเป็นน้ำสกัดมูลสุกรและน้ำสกัดมูลสัตว์ซึ่งใช้มูลสัตว์หลายชนิดผสมผสานกันเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่าการใช้มูลสุกรแต่เพียงอย่างเดียว
วิธีการผลิตน้ำมูลที่คณะผู้วิจัยได้เผยแพร่ให้เกษตรกรและผู้สนใจใช้เองเป็นวิธีการที่ง่ายมาก เพียงนำมูลสุกร มูลไก่ไข่ และ/หรือมูลนกระทาที่แห้งแล้ว ใส่ถุงมุ้งเขียวนำไปใส่ในถังแล้วเติมน้ำ 10 เท่า (อัตราส่วนมูลสุกร : น้ำเท่ากับ 1 : 10) ปิดถังด้วยผ้าหรือพลาสติกเพื่อป้องกันแมลงวัน/แมลงที่มาวางไข่ แช่ไว้ 24 ชั่วโมง ยกถุงบรรจุมูลสัตว์ออก แล้วปล่อยน้ำสกัดที่ได้ไว้ในถังอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้เศษมูลสุกรที่แขวนลอยอยู่ในน้ำค่อยๆ ตกตะกอนนอนก้น ขณะเดียวกันจุลินทรีย์ธรรมชาติที่ติดมากับมูลสุกรก็จะย่อยสลายมูลสุกรเหล่านั้น และปลดปล่อยฮอร์โมนพืชออกมาในน้ำสกัดมูลสัตว์ ดังนั้น “ในน้ำสกัดมูลสัตว์นอกจากมีธาตุอาหารไม่น้อยกว่า 13 ชนิด ที่พืชต้องการแล้วยังมีฮอร์โมพืชด้วย” เมื่อนำน้ำสกัดมูลสัตว์ไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืชไม่ว่าจะใช้เป็นปุ๋ยทางใบหรือทางดินก็ตาม จึงส่งผลให้น้ำสกัดมูลสัตว์มีประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตพืชได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากการเจริญเติบโตของพืชที่เร็วขึ้น พืชสมบูรณ์แข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงได้ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากพืชได้รับธาตุอาหารครบถ้วนและเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอย่างเต็มที่นั่นเอง
อย่างไรก็ตามวิธีการผลิตน้ำสกัดมูลสัตว์ดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงวิธีการพื้นฐานในการผลิตเท่านั้น หากต้องผลิตเชิงการค้าจะต้องมีการประยุกต์วิธีการอีก ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ อาทิ
1) ต้องการให้น้ำสกัดมูลสัตว์มีปริมาณธาตุอาหารพืชและฮอร์โมนพืชสูงขึ้น เพื่อความสะดวกในการขนส่ง ลดการสิ้นเปลืองบรรจุภัณฑ์
2) ต้องการผลิตให้เป็นปุ๋ยน้ำหรือเพียงธาตุอาหารเสริมสำหรับพืช เพื่อให้ใช้ในปริมาณน้อยก็เพียงพอแล้ว
3) ต้องการให้ปุ๋ยมีความเฉพาะเจาะจงสำหรับพืชแต่ละชนิดหรือใช้ได้กับพืชทุกชนิด แต่ใช้ในปริมาณและความถี่ในการให้แตกต่างกัน หรือใช้กับพืชเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่น ช่วงเร่งต้น เร่งใบ/เร่งเพิ่มความหวาน เร่งเพิ่มขนาดของผลหรือหัว เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการวิจัยพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ก่อนที่จะนำออกจำหน่าย ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ก็มีความสำคัญในแง่ของการตลาดด้วย บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม น่าใช้ แม้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตสามารถปรับเพิ่มราคาขายได้เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ “การผลิตน้ำสกัดมูลสัตว์ ทดแทนปุ๋ยเคมีบางส่วนหรือทั้งหมดในพืชชนิดต่างๆ มีความเป็นไปได้สูงมากโดยเฉพาะการปลูกพืชแบบปลอดภัย อีกทั้งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณรวมทั้งผลผลิตพืชได้ด้วย” ส่วนการผลิตจำหน่ายเชิงการค้า แม้ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่ง่ายๆ ใครก็ทำได้ แต่การจะทำผลิตภัณฑ์น้ำสกัดมูลสัตว์หรือธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชให้ประสบความสำเร็จต้องมีการวิจัยและพัฒนาบางอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ให้เห็นผลเชิงประจักษ์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ยอมรับและบอกต่อๆ กันไป ส่งผลให้การทำตลาดง่ายขึ้นและเร็วขึ้นด้วย
ที่มา : เกษตรอภิรมย์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 พฤษภาคม-มิถุนายน 2559 (หน้า 23-24)