‘จีน’เร่งจีบ‘ทรัมป์’ร่วมจับมือกันทางเศรษฐกิจ ขณะ‘นโยบายปักหมุด’ของสหรัฐฯซวนเซหนัก

‘จีน’เร่งจีบ‘ทรัมป์’ร่วมจับมือกันทางเศรษฐกิจ ขณะ‘นโยบายปักหมุด’ของสหรัฐฯซวนเซหนัก

20 พฤศจิกายน 2559 ขณะที่ทั่วทั้งเอเชียเฝ้าจับตามองนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เข้าพูดจาหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ จีนก็เร่งเคลื่อนไหวหนักเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯผู้นี้ ทั้งชักชวนให้เข้าร่วมในข้อตกลงตั้งเขตการค้าเสรีอื่นๆ ซึ่งจะเข้าแทนที่ข้อตกลง TPP ที่กำลังร่อแร่ใกล้ตายสนิท และทั้งโน้มน้าวให้เป็นสมาชิกรายหนึ่งของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย

       ประเทศต่างๆ ในเอเชียต่างเฝ้าจับตามองเมื่อนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เดินทางไปเยือนอาคาร “ทรัมป์ ทาวเวอร์” (Trump Tower) ที่นครนิวยอร์ก ในวันพฤหัสบดี (17 พ.ย.) ประเทศต่างๆ เหล่านี้ที่มีความแตกต่างกันหลายหลาก ตั้งแต่จีน, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, ไปจนถึงเกาหลีใต้ ล้วนใช้สายตาอันแหลมคมมองไปที่ ทรัมป์ ทาวเวอร์ ขณะที่อาเบะเดินเข้าไปข้างใน โดยที่อินเดียก็ควรต้องทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย

       อาเบะกลายเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้พบปะหารือกับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงแม้มีรายงานว่าทรัมป์เป็นคนที่รังเกียจญี่ปุ่นมาตั้งแต่เก่าแก่นมนานแล้ว แต่เขาก็ตกลงด้วยเมื่ออาเบะเสนอให้พูดจากัน (ระหว่างที่ทั้งสองพูดคุยกันทางโทรศัพท์หลายวันก่อนหน้านี้)

       มีการคาดเดากันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ “ประเด็นสำหรับการหารือ” ซึ่งอาเบะเตรียมไปในคราวนี้ เขาจะขอคำรับประกันในเรื่องที่สหรัฐฯในยุคของทรัมป์จะยังคงยึดมั่นกระทำตามความผูกพันด้านความมั่นคงที่มีอยู่กับเหล่าชาติพันธมิตรของตนในเอเชียหรือเปล่า? เขาจะโต้แย้งแสดงเหตุผลอย่างมีพลังเพื่อให้ทรัมป์ยอมเดินหน้าผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement หรือ TPP) ออกมาบังคับใช้หรือไม่? หรือ ณ จุดนี้เขาจะจำกัดตัวเองให้พอใจอยู่เพียงแค่การสร้างสมการส่วนบุคคลที่ดีกับทรัมป์เท่านั้น? เพราะถึงอย่างไร พวกเขาทั้งสองก็ยังจะต้องพบหน้ากันอีกมากมายหลายครั้งนัก โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า ตัวอาเบะเองจะยังคงครองอำนาจต่อไปเป็นเวลาอีก 4 ปี ซึ่งยาวนานพอๆ กันกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์

       การที่มีการคาดเก็งกันไปต่างๆ เช่นนี้ เหตุผลสำคัญอยู่ตรงที่ว่าไม่มีใครทราบเลยว่า วาระสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของทรัมป์นั้นจะออกมาในรูปไหน มีความน่าจะเป็นสูงเอามากๆ ที่ข้อตกลง TPP กำลังกลายเป็นเรื่องอดีตอย่างแทบจะเป็นการแน่นอนแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็จะทำให้ยุทธศาสตร์ “ปักหมุนหวนกลับไปสู่เอเชีย” ของสหรัฐฯต้องอ่อนแอลงอย่างมากมายมหาศาล

       บรรดาประเทศในเอเชียดูเหมือนกำลังมองเลยไกลไปจากข้อตกลง TPP กันแล้วด้วยซ้ำ การประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในประเทศเปรู ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน กำลังได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าธรรมดา ถึงตอนนี้จีนจะใช้ความพยายามของตนเพิ่มมากขึ้นในการหาความสนับสนุนให้แก่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกแบบที่ปักกิ่งเป็นผู้นำ ในระหว่างซัมมิตคราวนี้ รวมทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็กำลังไปเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำคราวนี้ด้วยตนเอง

       แน่นอนทีเดียว จีนก็กำลังได้ยินเสียงระฆังมรณะป่าวร้องถึงความตายของข้อตกลง TPP ในบทบรรณาธิการที่มีเนื้อหาฮึกห้าวของ “ไชน่าเดลี่” หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/opinion/2016-11/15/content_27376480.htm ) ได้ให้คำแนะนำแก่สหรัฐฯว่าอย่าไปเศร้าเสียใจกับมรณกรรมของ TPP เลย เพราะอันที่จริงแล้วมันจะกลายเป็นคำอำนวยพรซึ่งแอบซุกซ่อนเอาไว้สำหรับให้แก่ประชาชนชาวอเมริกันด้วยซ้ำ บทบรรณาธิการนี้เดินหน้าแจกแจงถึงลู่ทางโอกาสอันยั่วน้ำลายเอาไว้ดังนี้:

       “การพังครืนลง (ของ TPP) ตามที่คาดหมายกันไว้ คือการเสนอโอกาสอันมีค่ายิ่งให้แก่เหล่าผู้วางนโยบายทั้งในปักกิ่งและในวอชิงตัน สำหรับการประเมินทบทวนกันอีกครั้งถึงสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ และสำหรับการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีดำเนินการที่ทั้งสองฝ่ายได้ใช้มา ... คณะบริหารที่กำลังจะเข้ามารับงาน (ของสหรัฐฯ) ควรที่จะตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งเปิดกว้างและพร้อมต้อนรับทุกฝ่ายให้เข้าร่วมมากกว่า นั่นแหละจะสามารถกลายเป็นพาหะที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่ามากมายนัก สำหรับการผลักดันผลประโยชน์ของสหรัฐฯให้คืบหน้าขยายตัวออกไป วอชิงตันน่าที่จะต้องการฉวยใช้ประโยชน์จากการที่แพลตฟอร์มพื้นฐานของข้อตกลงนี้ยังคงอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้นพัฒนาคลี่คลายตัว และเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมส่วนด้วยกันตั้งแต่ในขั้นตอนของการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ อิทธิพลของสหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิกจะไม่ลดน้อยถดถอยลงไป ถ้าหากคณะบริหารทรัมป์เลือกที่จะเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้อย่างสร้างสรรค์”

       เอ้อเฮอ ช่างกล้าพูดจาห้าวหาญราวกับวางตัวเป็นเพื่อนมิตรแท้ซึ่งยังคงอยู่ข้างเคียงในยามที่เพื่อนมิตรต้องการเสียจริงๆ ! อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่ามันไม่มีความเป็นไปได้แม้กระทั่งน้อยนิดเลยที่ทรัมป์จะให้ความสนใจกับข้อตกลง RCEP ในเมื่อเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีความกระตือรือร้นใดๆ ต่อข้อตกลง TPP ซึ่งต้องถือว่าเป็นข้อตกลงการค้าเสรีเกรดแพลทินัม หรือแม้กระทั่งข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจทำนองเดียวกันในภูมิภาคแอตแลนติกที่จะทำกับพวกพันธมิตรในยุโรปของสหรัฐฯ ขณะที่คาดหมายกันว่า ข้อตกลง RCEP จะครอบคลุมเรื่องมาตรฐานทั่วๆ ไปที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งหลาย เป็นต้นว่า การค้าในด้านตัวสินค้า และการค้าทางด้านบริการ, การลงทุน, การแก้ไขข้อพิพาท แต่ข้อตกลง TPP ไปไกลกว่านั้นมาก โดยครอบคลุมเนื้อหาด้านอื่นๆ อย่างเช่น สิ่งแวดล้อมและแรงงาน ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ฯลฯ และเป็นการเจาะตลาดทั่วทั้งเอเชียให้เปิดแผ่กว้างสำหรับพวกบริษัทอเมริกัน

       ในความเป็นจริงแล้ว การที่ฝ่ายจีนส่งคำเชื้อเชิญสหรัฐฯให้เข้าร่วมข้อตกลง RCEP เช่นนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าในภูมิภาคแถบนี้ จีนเป็นเพียงร้านรายเดียวในเมืองที่ยังคงเปิดบริการอยู่ นั่นคือเป็นผู้ขับดันรายหลักของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแถบนี้ที่ยังเหลืออยู่ โดยทีข้อตกลง RCEP จะรวมเอาทั้ง 10 รัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เข้าร่วมกลุ่มกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทว่าเวลานี้ยังไม่ได้รวมสหรัฐฯเอาไว้ด้วย

       ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯก็ไม่ได้แสดงความสนอกสนใจอะไรเช่นกันในข้อเสนอเพื่อจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอีกฉบับหนึ่งที่ฝ่ายจีนยื่นเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ได้แก่ข้อตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific หรือ FTAAP) ซึ่งจะนำเอาพวกประเทศเอเปกและชาติริมชายฝั่งแปซิฟิกทั้งหลายเข้ามารวมตัวกัน จีนนั้นได้ออกแรงผลักดันครั้งใหม่ต่อข้อตกลงเรื่องการจัดตั้ง FTAAP ในการประชุมเอเปกซึ่งตนเองเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2014 ในตอนนี้เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า TPP น่าจะถึงแก่กรรมไปเสียแล้ว จีนก็จึงเร่งฉวยคว้าโอกาสอันดีเลิศสำหรับการก้าวเข้าไปในสุญญากาศที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยการเสนอ FTAAP เข้าแทนที่ TPP

       พิจารณากันในภาพรวมแล้ว คณะบริหารทรัมป์จะต้องตัดสินเลือกระหว่าง

  • การหวนกลับมาพิจารณา TPP อีกครั้งหนึ่ง (ซึ่งจะเป็นยาขมที่ยากจะกลืนลงคอเสียแล้ว),
  • การเข้าไปร่วมใน RCEP,
  • การเข้าไปร่วมใน FTAAP, หรือ
  • การวางตัวถอยห่างไกลออกมาจากกระบวนการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้ง 3 อย่างนี้ และแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือถ้าหากจะกล่าวให้แตกต่างไปจากนี้ ก็สามารถพูดได้ว่า คณะบริหารทรัมป์จำเป็นที่จะต้องทำการตัดสินใจอันยากลำบาก ระหว่างการพลิกฟื้นชุบชีวิต TPP ขึ้นมาอีกครั้ง หรือไม่ก็ต้องเข้าทำงานเป็นหุ้นส่วนกับจีนในแผนแม่บท FTA สักแผนหนึ่ง

       ดูเหมือนว่าการดำเนินการทางการทูตด้านการค้าของจีน จะสามารถพลิกแพลงเอาชนะเหนือสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้เสียแล้ว เมื่อพันธมิตรผู้เหนียวแน่นมั่นคงของสหรัฐฯรายหนึ่งอย่างออสเตรเลีย ยังออกมาส่งเสียงสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อการจัดตั้ง FTAAP ที่มีจีนเป็นผู้นำ (ดูรายงานข่าวในไฟแนนเชียลไทมส์ เรื่อง Australia snubs US by backing China push for Asian trade deal (ออสเตรเลียเชิดหน้าใส่สหรัฐฯโดยประกาศหนุนจีนผลักดันข้อตกลงการค้าสำหรับเอเชีย) (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.ft.com/content/23cdd7d4-abba-11e6-9cb3-bb8207902122)

       เหล่าประเทศในเอเชียทั้งหลายต่างสังเกตเห็นกันแล้วว่า ทีมงานเปลี่ยนผ่านรับมอบตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ได้เริ่มต้นบอกกล่าวมุ่งลดทอนลู่ทางโอกาสที่จะเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนขึ้นมา การกระทำเช่นนี้นับว่ามีเหตุผลอันเหมาะสมทีเดียว ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องที่ทรัมป์ข่มขู่ที่จะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรซึ่งจัดเก็บจากสินค้าจีนที่นำเข้าสหรัฐฯไปอีก 45% รวดนั้น หากนำเอามาปฏิบัติกันจริงๆ แล้วในที่สุดมันก็จะหมายถึงการที่สินค้าจำนวนมหึมาซึ่งห้างวอล-มาร์ต (Wal-Mart) จำหน่ายอยู่ในสหรัฐฯจะต้องปรับราคาสูงขึ้นไป และผู้สูญเสียตัวจริงก็จะรวมถึงบรรดาคนงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ออกเสียงแกนหลักของทรัมป์นั่นเอง

       ตามรายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.wsj.com/articles/u-s-workers-to-lose-in-china-trade-war-1479188319)  สมมุติฐานต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการออกมาข่มขู่จีนในเรื่องนี้ของทรัมป์ไม่ได้ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเลย โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า “การประกาศลงโทษอย่างเหวี่ยงแห (ขึ้นภาษีต่อสินค้าเข้าจากจีนทุกอย่าง 45% รวด) สมมุติว่าพวกรีพับลิกันในรัฐสภายินยอมเห็นพ้องเดินหน้าไปด้วย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สามารถรับประกันได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอนเลย ทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นก็คือรับประกันได้ว่าจะต้องเกิดความตื่นตระหนกขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลก, เกิดความโกลาหลในสายโซ่อุปทาน (supply-chain) ทั่วทั้งริมชายฝั่งแปซิฟิก, และกระทั่งสร้างความเจ็บปวดอย่างล้ำลึกเข้าไปอีกในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานซึ่งมิสเตอร์ทรัมป์ให้คำมั่นสัญญาที่จะเข้ามากอบกู้ช่วยชีวิต” ชัดเจนทีเดียวว่าหากเกิดสงครามการค้าขึ้น ทั้งสองประเทศต่างจะต้องบาดเจ็บกันทั้งคู่ ขณะที่จีนจะต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปอย่างมหาศาล ทว่า “ภาคบริษัทของอเมริกาก็เป็นจุดอ่อนที่อาจถูกตอบโต้แก้เผ็ด” โดยที่ โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์ในเครือของเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ออกมาพูดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการตอบโต้แก้เผ็ดจากจีนที่น่าจะเกิดขึ้นได้ ดังนี้: “คำสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งฝูงหนึ่ง จะถูกเปลี่ยนไปซื้อแอร์บัสแทน ยอดขายรถยนต์สหรัฐฯและไอโฟนในจีนจะเสียหายลดลงฮวบฮาบ ส่วนถั่วเหลืองและข้าวโพดสหรัฐฯที่นำเข้าจีนก็จะหยุดชะงักลง”

       ดูไม่น่าเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะอยู่ในฐานะที่ใกล้เคียงกับการให้คำมั่นสัญญาใดๆ แก่นายกรัฐมนตรีอาเบะของญี่ปุ่น –ยกเว้นแต่ในเรื่องทั่วๆ ไปเท่านั้น ชะตากรรมของ “การปักหมุดหวนกลับคืนสู่เอเชีย” ของสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน จีนก็กำลังใช้ความพยายามอย่างมากมายและกระตือรือร้นในการสร้างสายสัมพันธ์ต่อเชื่อมกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ สี จิ้นผิง บอกกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างสนทนากันทางโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. (ตามเวลาวอชิงตัน ขณะที่เวลาในปักกิ่งคือล่วงเลยเข้าสู่วันอังคารที่ 15 พ.ย.แล้ว) ว่า “ทางเลือกเพียงอย่างเดียว” ที่มีอยู่คือประเทศทั้งสองจะต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้หากพูดกันเป็นการทั่วไปแล้ว ความร่วมมือกันในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐนั้น ถือเป็นเรื่องการเลือกสรรของแต่ละรัฐ ทว่าในบริบทของความสัมพันธ์จีน-อเมริกันแล้ว มันกำลังกลายเป็นบทบัญญัติสำหรับสหรัฐฯทีเดียว ที่จะต้องมีความร่วมมือกับจีน (ดูรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน ที่พาดหัวว่า US election: China pushing trade deals as American pivot to Asia fades. เลือกตั้งสหรัฐฯ: จีนผลักดันข้อตกลงการค้าขณะ ‘ปักหมุดสู่เอเชีย’ของอเมริกาคลายมนตร์ขลัง http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/foreign-affairs/us-election-china-pushing-trade-deals-as-american-pivot-to-asia-fades/news-story/97c3590909486f80f0f24c324c274c22)

       ในเวลาเดียวกันนี้ จีนก็กำลังแสดงท่าทีรุกคืบหนักในการอ้าแขนต้อนรับทรัมป์ ในวันเดียวกับที่ทรัมป์นั่งลงสนทนากับอาเบะนั้นเอง บทบรรณาธิการชิ้นหลักของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ ได้ยื่นข้อเสนอแนะอย่างเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ต่อว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นการตัดสินเชิงยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจ โดยบอกว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างเหลือเกินสำหรับสหรัฐฯที่จะกลายเป็นสมาชิกรายหนึ่งของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB)

       บทบรรณาธิการชิ้นนี้ของไชน่าเดลี่ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/opinion/2016-11/17/content_27400943.htm)  เสนอแนะทรัมป์เอาไว้ดังนี้: “ธนาคาร AIIB วางแผนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเติมเต็มส่วนที่ยังไม่เพียงพอในความสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศซึ่งให้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการต่อเชื่อมโยงกันระดับภูมิภาคในเอเชีย การลงทุนที่เสนอกันออกมาทั้งในภาคการขนส่ง, พลังงาน, และโทรคมนาคมของเอเชีย ยังเป็นการเสนอโอกาสทางธุรกิจอันใหญ่โตมหึมาให้แก่บริษัททั้งหลายจากบรรดาประเทศสมาชิก ทว่าดังที่คำพังเพยของจีนบทหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “ไม่สายเกินไปหรอกที่จะซ่อมแซมคอกหลังจากแกะตัวหนึ่งสูญหายไปแล้ว” สหรัฐฯนั้นไม่ได้มีอะไรต้องสูญเสียเลยในการเข้ามาเป็นสมาชิกรายหนึ่งของธนาคาร AIIB”

       จีนดูเหมือนกำลังได้รับสัญญาณหลายประการซึ่งบ่งบอกว่า ทรัมป์น่าจะมีความคิดเปิดกว้างสำหรับเรื่องสมาชิกภาพของ AIIB ขณะที่ผู้บริหารใหญ่คนหนึ่งที่เป็นคนจีนของธนาคารแห่งนี้ ก็ได้บ่งบอกเป็นนัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์ไชน่าเดลี่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เวลานี้ธนาคาร AIIB กำลังกลายเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของ “แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road Initiative) ซึ่งอินเดียได้ตัดสินใจอย่างโง่เขลาที่จะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมด้วย

       ปีศาจตนที่กำลังหลอกหลอนพวกข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียอยู่ในเวลานี้ก็คือ คณะบริหารทรัมป์อาจจะตัดสินใจเชื่อมต่อกับธนาคาร AIIB และแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งจะเป็นการสร้างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้แก่พวกบริษัทของสหรัฐฯ ดังนั้น พื้นดินข้างใต้เท้าของนโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) ของอินเดีย  กำลังเกิดการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร การทูตของอินเดียกำลังสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติ จากการมุ่งโฟกัสอย่างมากมายเหลือล้นจนเกินไปยังเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) แทนที่จะให้ความสนใจกับเรื่องภูมิเศรษฐศาสตร์ (geoeconomics)

       เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

       ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

       หมายเหตุผู้แปล

       รายงานข่าวของสื่อมวลชนหลังจากการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน ไม่ค่อยมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก

       ตามรายงานของรอยเตอร์บอกว่า อาเบะออกมาแถลงข่าวว่า เขามีความมั่นอกมั่นใจว่าสามารถสร้างความไว้วางใจกับทรัมป์ขึ้นมาได้ ภายหลังทั้งคู่พบปะหารือกัน โดยที่เขามุ่งขอความกระจ่างเกี่ยวกับคำพูดในช่วงหาเสียงเลือกตั้งของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งก่อให้เกิดความข้องใจสงสัยขึ้นในบรรดาชาติที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ยาวนานของอเมริกัน

       ตามรายงานข่าวของรอยเตอร์บอกว่า ภายหลังการหารือเป็นเวลา 90 นาทีที่อาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ แล้ว อาเบะพูดถึงทรัมป์ว่าเป็นผู้นำที่สามารถไว้วางใจได้ ถึงแม้เขากล่าวว่าเขาจะไม่เปิดเผยรายละเอียดของการพูดจากัน เพราะการสนทนาคราวนี้อยู่ในลักษณะไม่เป็นทางการ

       “การพูดจากันคราวนี้ทำให้ผมรู้สึกมั่นใจว่าเราสามารถสร้างความสัมพันธ์แห่งความไว้วางใจกันขึ้นมาได้” อาเบะกล่าว โดยบรรยายถึงการสนทนากันคราวนี้ว่า “ตรงไปตรงมา” และมีขึ้นใน “บรรยากาศอันอบอุ่น” เขากล่าวเสริมด้วยว่า “กลุ่มพันธมิตรใดๆ ย่อมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถ้าหากปราศจากความไว้วางใจกัน เวลานี้ผมเชื่อมั่นแล้วว่า ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้นำที่สามารถไว้วางใจได้”

       เขากล่าวว่า ได้ตกลงกับทรัมป์ที่จะพบปะกันอีก “ในเวลาที่สะดวกโดยที่จะครอบคลุมเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่านี้มากมาย” ทั้งนี้รอยเตอร์บอกว่าไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการพบปะดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นก่อนพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์หรือไม่

       (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.atimes.com/article/abe-trump-meeting-says-hes-confident-trust-can-built/)

       เรื่องที่สหรัฐฯในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกรายหนึ่งของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เอเชียไทมส์ได้รายงานข่าวเอาไว้ดังนี้:

       มีเสียงเชียร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้สหรัฐฯในยุคทรัมป์เข้าร่วม AIIB

       โดย เอเชียไทมส์ และเอเจนซีส์

       Growing campaign for US to join AIIB under Trump

       By Asia Times and agencies

       16/11/2016

       กำลังบังเกิดความคาดหวังกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าสหรัฐฯจะเข้าร่วมธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ที่มีจีนเป็นผู้นำ ภายหลังการเลือกตั้งในสหรัฐฯที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่

       สื่อมวลชนหลากหลายซึ่งรายงานข่าวในทั้งสองประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้อ้างอิงระบุถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ขณะเดียวกับที่ส่งเสริมสนับสนุนทัศนะความคิดเห็นที่ว่า การที่คณะบริหารบารัค โอบามา คัดค้านการจัดตั้งธนาคาร AIIB นั้น คือความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์

       ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้นมาจาก เกิ่ง ส่วง (Geng Shuang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่เมื่อวันอังคาร (15 พ.ย.) ได้อ้างคำพูดของเขาที่กล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร” ถ้าหากสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นชาติเจ้าของเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของโลก จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในธนาคาร AIIB “เรื่องนี้ยังถือเป็นท่าทีของจีนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทีแรกๆ แล้ว” เขากล่าวต่อ

       การแสดงความเห็นของเขาคราวนี้มีขึ้นภายหลังการให้สัมภาษณ์ของ จิน ลี่ฉิว์น (Jin Liqun) ประธานของธนาคาร AIIB ซึ่งได้รับการรายงานเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยที่เขากล่าวว่า สหรัฐฯสามารถที่จะขบคิดพิจารณาใหม่อีกครั้ง เรื่องที่ยังลังเลที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของ AIIB ในเมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเช่นนี้

       “ผมได้ยินเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของคณะบริหารโอบามา พูดอะไรดีๆ เกี่ยวกับธนาคาร AIIB และหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะ ผมได้รับการบอกเล่าว่าคนจำนวนมากในทีมงานของเขามีความเห็นกันว่า โอบามาทำไม่ถูกหรอกที่ไม่เข้าร่วม AIIB” จินกล่าวในการให้สัมภาษณ์เหรินหมินรึเป้า ปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

       “ดังนั้นเราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้หรอกว่า รัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่กำลังรับรอง AIIB หรือกำลังแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในฐานะสมาชิก”

       มีรายงานว่า ในสัปดาห์ที่แล้ว ที่ปรึกษาระดับท็อปผู้หนึ่งของทรัมป์กล่าวว่า การที่คณะบริหารโอบามาคัดค้านธนาคาร AIIB คือ “ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์”

       ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเสนอเรื่องการจัดตั้งธนาคารแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน และ AIIB เริ่มต้นดำเนินงานในเดือนมกราคมปีนี้ โดยที่มีประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งรวม 57 ราย และมีเงินทุนที่ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะลงขันด้วยรวม 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ทางธนาคารวางแผนการจะลงทุนในโครงการต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้

       กลุ่มชาติสมาชิกใหม่ๆ กลุ่มต่อไปของ AIIB ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งชาติพันธมิตรสำคัญยิ่งของสหรัฐฯอย่างแคนาดาด้วย จะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2017 ทั้งนี้กำหนดเวลาเส้นตายสำหรับการยื่นเข้าเป็นชาติสมาชิกใหม่ของกลุ่มล่าสุดนี้ คือวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

       สำคัญประเทศสำคัญๆ ที่สุดซึ่งยังคงไม่ได้เข้าร่วมในธนาคาร AIIB ได้แก่ ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ

       “ในตอนที่ก่อตั้งธนาคาร AIIB ขึ้นมานั้น สหรัฐฯ ... มองหน่วยงานใหม่แห่งนี้ว่าจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อฐานะครอบงำของตนและต่อความสำคัญของตนในระเบียบเศรษฐกิจโลก ... ทว่าเราเชื่อว่ายังคงมีช่องมีที่ทางอย่างเพียงพอในเวทีเศรษ,กิจของโลก สำหรับให้หน่วยงานต่างๆ มากมายดำเนินงานได้” เหรินหมินรึเป้าอ้างคำให้สัมภาษณ์ของประธานจิน

       (เก็บความจาก http://www.atimes.com/article/growing-campaign-us-join-aiib-trump/)

       “แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า OBOR) หรือบางทีก็เรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า The Belt and Road (ใช้อักษรย่อว่า B&R) ตลอดจนเรียกกันในชื่อเต็มว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road) เป็นยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการพัฒนาซึ่งเสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งมุ่งโฟกัสไปที่การต่อเชื่อมโยงและความร่วมมือในหมู่ประเทศต่างๆ ซึ่งที่สำคัญแล้วตั้งอยู่ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ ส่วนอื่นๆ ของมหาทวีปยูเรเชีย

       แผนการริเริ่มนี้มีองค์ประกอบหลักๆ อยู่ 2 ส่วน ได้แก่ แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt ใช้อักษรย่อว่า SREB) ที่อยู่ทางภาคพื้นดิน และเส้นทางสายไหมทางทะเล (the 21st-century Maritime Silk Road หรือ MSR) ทั้งนี้ SREB ได้รับการประกาศเปิดตัวในเดือนกันยายน 2013 และในเดือนตุลาคม 2013 ก็มีการเปิดตัว MSR

       พื้นที่ครอบคลุมของแผนการริเริ่มนี้ ที่สำคัญแล้วคืออยู่ในเอเชียและยุโรป รวมทั้งสิ้นประมาณ 60 ประเทศ ขณะเดียวกันก็ครอบคลุมไปถึงภูมิภาคโอเชียเนียและแอฟริกาตะวันออกอีกด้วย การดำเนินการในแผนการริเริ่มนี้ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ขณะที่มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งหมดก็มีการคาดหมายกันไว้แตกต่างกันมากตั้งแต่ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปจนกระทั่งถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

       สำหรับองค์ประกอบส่วนที่เป็นแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมนั้น ประกอบด้วยประเทศตั้งๆ ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมสายโบราณดั้งเดิม ซึ่งออกจากจีนผ่านเอเชียกลาง, เอเชียตะวันตก, ตะวันออกกลาง, ไปจนถึงยุโรป แผนการริเริ่มนี้เรียกร้องให้บูรณาการภูมิภาคเหล่านี้เข้าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีการผนึกประสานกัน ด้วยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ, เพิ่มการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม, และการขยายการค้า นอกเหนือจากเขตดังกล่าวนี้ซึ่งส่วนใหญ่เทียบเคียงได้กับเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งกล่าวกันว่าจะถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนขยายของ “แถบ” นี้ด้วย ได้แก่ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

       ทางด้านองค์ประกอบที่เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นแผนการริเริ่มซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความร่วมมือทางด้านการลงทุนและการช่วยเหลือกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, โอเชียเนีย, และแอฟริกาเหนือ ผ่านทางผืนน้ำใหญ่ที่อยู่ประชิดติดกับภูมิภาคเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ทะเลจีนใต้, มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้, และพื้นที่กว้างขวางของมหาสมุทรอินเดีย

       นอกจากนี้ ภูมิภาคในแอฟริกาตะวันออก (โดยเฉพาะแซนซิบาร์) จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลด้วย ภายหลังมีการปรับปรุงยกระดับท่าเรือต่างๆ ในท้องถิ่น และมีการก่อสร้างทางรถไฟรางมาตรฐานสมัยใหม่เชื่อมระหว่างกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา กับกรุงกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดาแล้ว

       ขณะเดียวกัน ยังมีพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor หรือ CPEC) และระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า (Bangladesh-China-India-Myanmar (BCIM) Economic Corridor) ได้รับการจำแนกอย่างเป็นทางการว่าเป็นโครงการซึ่งมี “ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CPEC มักถูกถือเป็นตัวเชื่อมระหว่างเส้นทางสายไหมทางทะเลและเส้นทางสายไหมทางบกของจีน โดยที่เมืองท่ากวาดาร์ (Gwadar)ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดของโครงการ CPEC

       (ข้อมูลจาก Wikipedia)

       นโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) ของอินเดีย เป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งเป็นการปรับปรุงและสืบต่อจากนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) ที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1991 ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี พี.วี. นราซิมฮา ราว แต่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในยุครัฐบาลชุดต่อๆ มาทั้งของนายกรัฐมนตรี อตัล พิหารี วัชปายี และ นายกรัฐมนตรีมานโมหัน ซิงห์ ทั้งนี้ในตอนแรกๆ นั้น นโยบาย “มองตะวันออก” มุ่งเน้นที่การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้นกับพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งสำหรับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือกันในทางด้านความมั่นคงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเวียดนาม และญี่ปุ่น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นโยบาย “มองตะวันออก” เป็นตัวแทนความพยายามของอินเดียในการบ่มเพาะสร้างสมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวางกับชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนฐานะของอินเดียในการเป็นมหาอำนาจหนึ่งของภูมิภาค และคอยทัดทานฐานะอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

       ตั้งแต่ขึ้นมาบริหารประเทศใหม่ๆ คณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโมดี ก็ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับพวกเพื่อนบ้านในสมาคมอาเซียนและเอเชียตะวันออก เป็นนโยบายการต่างประเทศที่ทรงความสำคัญลำดับต้น รวมทั้งต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์นี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯประกาศ “ปักหมุดหวนกลับมาให้ความสำคัญต่อเอเชีย” ในเดือนสิงหาคม 2014 รัฐมนตรีต่างประเทศ สุชมา สวาราช (Sushma Swaraj) ได้เสนอทิศทางมุมมองใหม่ ซึ่งใช้ชื่อว่า นโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าอินเดียจะต้องแสดงบทบาทเชิงรุกในภูมิภาคแถบนี้ให้มากยิ่งขึ้นอีก

Visitors: 396,960